โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สอนลูกอย่างไร ไม่ให้รังแกเพื่อน

Mood of the Motherhood

อัพเดต 24 เม.ย. 2562 เวลา 14.23 น. • เผยแพร่ 24 เม.ย. 2562 เวลา 12.30 น. • Features

ปัญหาอันดับต้นๆ ของโรงเรียนคือการกลั่นแกล้งและรังแก ทั้งต่อหน้าหรือใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ เด็กบางคนรังแกเพื่อนเพราะอยากเป็นที่รัก ต้องการเป็นที่สนใจ เด็กบางคนเกิดความเครียดจากที่บ้าน ถูกลงโทษอย่างรุนแรง จึงมาระบายอารมณ์กับเพื่อนที่โรงเรียน

คุณพ่อคุณแม่คงไม่อยากเห็นลูกแสดงพฤติกรรมไม่น่ารักเช่นนี้กับเพื่อน M.O.M รวบรวมวิธีสอนลูก ไม่ให้มีพฤติกรรมเกเร รังแกเพื่อน

1. สอนลูกให้เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น

ลูกเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่สอนตั้งแต่อายุสามขวบ โดยเริ่มสอนจากการให้ลูกแยกแยะและจัดการกับอารมณ์ของตัวเองอย่างเหมาะสม เพราะลูกไม่สามารถเห็นใจคนอื่นได้เลย ถ้าไม่รู้จักอารมณ์ของตัวเองก่อน และตั้งคำถามที่เกี่ยวกับ ‘ความรู้สึก’ กับลูก ยกตัวอย่างเช่น “ถ้ามีคนมาทำอย่างนี้กับหนูบ้าง หนูจะรู้สึกอย่างไร”

นอกจากนี้ควรสอนให้ลูกแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยใช้หลักการ STAR หรือ Stop-Think-Act-Review (หยุด-คิด-ทำ-ดูผล) ให้ลูกทำบ่อยๆ จนเป็นนิสัย

Stop - ให้ลูกหยุดคิด เพื่อประเมินสถานการณ์และปัญหา เช่น ‘เพื่อนร้องไห้’

Think - หาวิธีแก้ไขปัญหา เช่น ‘ถ้าเราแบ่งขนมให้เพื่อน เพื่อนจะรู้สึกดีขึ้นไหม’

Act - ให้ลูกเลือกทางที่ดีที่สุดและลงมือทำ

Review - ให้ลูกดูผลของการกระทำ และเอามาปรับใช้ในครั้งต่อไป

2. สอนลูกด้วยการเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น

หากคุณพ่อคุณแม่ยังแกล้ง แหย่ ตะคอกด่า ใช้อารมณ์รุนแรง นินทา หรือตัดสินคนอื่นจากภายนอก ส่งผลให้ลูกเข้าใจผิดคิดว่าการกระทำนี้เป็นเรื่องปกติ เรื่องสนุก และนำเอามาใช้กับเพื่อนๆ

3. สอนลูกให้รับผิดชอบกับสิ่งที่ทำ

สอนลูกให้รู้ว่าถ้าไม่รับผิดชอบกับสิ่งที่ทำ ผลที่ตามมามีใครเดือดร้อนบ้าง ยกตัวอย่างเช่น เล่นของเล่นแล้วไม่เก็บให้เข้าที่ คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นคนเก็บให้ แน่นอนว่าถ้าไม่สอนให้ลูกเข้าใจความรู้สึกของคุณพ่อคุณแม่ ลูกก็จะยิ่งไม่รับผิดชอบความรู้สึกของคนอื่น

นอกจากนี้คุณแม่ควรมอบหมายหน้าที่ให้ลูกทำ เช่น หยิบของ พาสุนัขไปเดินเล่น เพื่อให้ลูกรับรู้และเข้าใจปัญหาของคนอื่น และทำให้ลูกชอบการช่วยเหลือมากขึ้น

4. สอนลูกให้ภูมิใจในตัวเอง

เมื่อลูกมีความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเก่ง เป็นคนดี เป็นที่รัก แน่นอนว่าเด็กที่มีความรู้สึกแบบนี้จะทำสิ่งดีๆ เพื่อให้ตัวเองยังคงรู้สึกแบบนี้ต่อไป และพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะไปทำลายความรู้สึกเหล่านี้

ในทางกลับกันเด็กที่ชอบแกล้งคนอื่น เพราะรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง และรู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อย เพื่อแสดงให้คนอื่นเห็นว่าเราเจ๋งแค่ไหน จึงทำตัวให้เป็นที่สนใจ

5. สอนให้ลูกรู้ว่าการรังแกผู้อื่นเป็นพฤติกรรมรุนแรงที่ไม่ได้รับการยอมรับ

ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนต้องตั้งกฎระเบียบให้ชัดเจน เกี่ยวกับการรังแกคนอื่นลูกจะได้รับบทลงโทษอะไรบ้าง เช่น งดเล่นเกม งดขนม

นอกจากนี้ควรสอนให้ลูกเคารพสิทธิของคนอื่น ปฎิบัติกับทุกคนอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม

6. สอนลูกให้รู้จักควบคุมอารมณ์

สอนลูกให้ควบคุมอารมณ์เมื่อโกรธ เช่น นับ 1-10 หรือในกรณีที่โกรธจนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ สอนลูกให้บอกกับคุณครูว่ากำลังโกรธ เพื่อให้คุณครูเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้

7. สอนลูกด้วยนิทาน

ใช้นิทานช่วยปลูกฝังคุณธรรมให้ลูก ด้วยการเลือกนิทานที่มีตัวละคร เนื้อเรื่องเหมือนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับลูก และให้ลูกเห็นว่าในนิทานผลของการแกล้งเพื่อน หรือคนที่แกล้งเพื่อนจะเป็นอย่างไร

ระหว่างเล่าลูกอาจปรึกษาคุณพ่อคุณแม่เกี่ยวกับเรื่องที่โรงเรียน สาเหตุที่แกล้งเพื่อน เป็นโอกาสดีที่พ่อแม่จะแนะนำลูกให้รู้จักการแบ่งปัน การเสียสละ และการให้เกียรติซึ่งกันและกัน

อ้างอิง

Medium

Facebook

Parentsone

Dgsmartmom

Amarinbabyandkids

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น