โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

แอปฯTree Bank ธ.ก.ส. เก็บข้อมูลต้นไม้ “ประกันสินเชื่อ-ขายคาร์บอน”ลดโลกร้อน

ไทยพับลิก้า

อัพเดต 01 ก.ย 2565 เวลา 15.26 น. • เผยแพร่ 01 ก.ย 2565 เวลา 15.26 น.
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ธ.ก.ส. เปิด แอปพลิเคชัน Tree Bank หนุนศักยภาพ 6,800 ชุมชนทั่วประเทศ โครงการธนาคารต้นไม้ บันทึกข้อมูลต้นไม้ คำนวณมูลค่าและปริมาณกักเก็บคาร์บอนเครดิตผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นฐานข้อมูลสินเชื่อต้นไม้ เชื่อมการขายคาร์บอนเครดิตในตลาดทั้งไทยและต่างประเทศ ตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศ 26 ล้านไร่ใน 10 ปี

ในภาวะอากาศที่แปรปวน อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นทำให้ทุกคนต้องเริ่มต้นช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การเปิดแอปฯ Tree Bank ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จึงถือเป็นการปรับตัวของวิถีใหม่ในโลกดิจิทัลที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการดูแลโลกด้วยการปลูกต้นไม้

แอปพลิเคชั่น Tree Bank สามารถบันทึกชนิดของต้นไม้ พิกัดต้นไม้ที่ปลูก วันที่ปลูก ความโต ความสูง การนำข้อมูลมาประมวลผลจำนวนต้นไม้ที่ปลูกในประเทศไทย การคำนวณมูลค่าและปริมาณกักเก็บคาร์บอนเครดิตผ่านโทรศัพท์มือถือทดแทนการใช้กระดาษ สร้างการเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก รวดเร็ว นอกจากนี้ยังสามารถใช้ประโยชน์ โดยสามารถใช้ต้นไม้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน การสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในอนาคตได้

ธ.ก.ส.ถือเป็นธนาคารแรกที่เข้าไปส่งเสริมเกษตรกรในชุมชน ในการปลูกต้นไม้ ภายใต้โครงการธนาคารต้นไม้ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2553 มีชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วม 6,838 ชุมชน มีสมาชิก 123,424 คน และสามารถปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นกว่า 12.3 ล้านต้น

แต่ที่ผ่านมาการดำเนินการของชุมชนยังมีระบบการบันทึกข้อมูลต้นไม้ แบบการจดบรรทุกในการกระดาษ ทำให้ข้อมูลอาจจะผิดพลาด และขาดความแม่นยำทำให้ข้อมูลที่ได้บางครั้งผิดพลาดตกหล่นทำให้ ธ.ก.ส. พัฒนา Tree Bank เพื่อให้ทุกคนสามารถบันทึกและคำนวณมูลค่าต้นไม้ และคาร์บอนเครดิตได้

บันทึกต้นไม้จากกระดาษสู่แอป Tree Bank

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) บอกว่า เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตในยุคดิจิทัล จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันธนาคารต้นไม้ (Tree Bank) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล และอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกธนาคารต้นไม้ ธ.ก.ส. ในการเก็บข้อมูลต้นไม้บนโทรศัพท์มือถือแทนการจดบันทึกลงในกระดาษ ไม่ว่าจะเป็นบันทึกพิกัดต้นไม้ที่ปลูก วันที่ปลูก ชนิดของต้นไม้ ความโต ความสูง

นอกจากนี้ ยังสามารถคำนวณมูลค่าต้นไม้ และปริมาณกักเก็บคาร์บอนต้นไม้ได้อีกด้วย ซึ่งแอปพลิเคชัน Tree Bank จะทำให้ทราบว่า ต้นไม้ในโครงการธนาคารต้นไม้ มีพิกัดตั้งอยู่ที่ไหน มีต้นไม้ประเภทใดบ้าง แต่ละต้นมีมูลค่าเท่าไร ซึ่งข้อมูลดังกล่าว สามารถตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของจำนวนต้นไม้ที่ชุมชนได้ร่วมกันปลูกและดูแลรักษา

และยังสามารถนำข้อมูลมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ เช่น การนำต้นไม้มาใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อ การสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS) การรายงานปริมาณการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ กิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) รวมถึงบันทึกการขอสินเชื่อในโครงการรักษ์ป่าไม้ ไทยยั่งยืนและโครงการสินเชื่อสีเขียว (Green Credit)

สมาชิกและชุมชนธนาคารต้นไม้ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “ธนาคารต้นไม้ (Tree Bank)” ได้ที่ Appstore และ PlayStore พร้อมติดต่อลงทะเบียนใช้งานที่ ธ.ก.ส. สาขาเท่านั้น โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ

ธกส. หนุน 2 หมื่นชุมชนปลูกต้นไม้ 26ล้านไร่

นายธนารัตน์ กล่าวว่า ธนาคารสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงนำเทคโนโลยีคือ แอปฯTree Bank เข้ามาใช้ ให้ชาวบ้านได้ต่อยอดจากสิ่งที่เขาทำอยู่แล้วให้ถูกต้องแม่นยำสะดวกสบายมากขึ้นโดยใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ อีกทั้งยังสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการขายคาร์บอนเครดิตได้ โดย ธกส.มีโครงการคาร์บอนเครดิตซื้อคาร์บอนตันละ 100 บาท สูงสุด 5 หมื่นบาทต่อชุมชน ซึ่งข้อมูลเรื่อง คาร์บอนเครดิต นำในการเชื่อมกับองค์กรอื่นๆในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ด้วย”

โครงการธนาคารต้นไม้และชุมชนไม้มีค่า เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงาน ธ.ก.ส. ภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model) ซึ่งประกอบไปด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) เน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

นอกจากนี้เป็นการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำวัสดุทางการเกษตรต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล โดยวางเป้าหมายเพิ่มชุมชนไม้มีค่า 20,000 ชุมชน เพิ่มพื้นที่ป่า 26 ล้านไร่และมีประชาชนเข้าร่วมโครงการ 2.6 ล้านครัวเรือน พร้อมมุ่งหวังให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,040 ล้านบาท ภายใน 10 ปี

วิธีวัด และ ประเมินมูลค่าต้นไม้

การวัดเพื่อประเมินราคาต้นไม้ เพื่อใช้เป็นหลักประกัน และเพื่อหาปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกของต้นไม้ มีรายละเอียดดังนี้

1. การวัดเพื่อประเมินราคาต้นไม้ เพื่อใช้เป็นหลักประกันใช้การวัดความโตของต้นไม้ โดยวัดเส้นรอบของต้นไม้ตรงจุดที่ความสูงจากโคนต้นขึ้นมา 130 เซนติเมตร เมื่อรู้ชนิดต้นไม้ รู้เส้นรอบวง ก็ไปเปิดทะเบียนราคากลางต้นไม้ ก็จะทราบราคาของต้นไม้ต้นนั้น โดยแอปฯ tree bank จะประมวลราคาให้ทันทีหลังจากใส่ข้อมูล ความสูง ขนาด และ พิกัดต้นไม้

2. วัดเพื่อหาปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกของต้นไม้ นอกจากวัดเส้นรอบวงของต้นไม้แล้ว ยังต้องวัดความสูง ของต้นไม้ด้วยวิธีวัดความสูงของต้นไม้มีหลายวิธี เช่น ปีนขึ้นไปวัด , ใช้ไม้ไผ่ หรือ


นอกจากวัดเส้นรอบวงของต้นไม้แล้ว ยังต้องวัดความสูง ของต้นไม้ด้วย วิธีวัดความสูงของต้นไม้มีหลายวิธี เช่น ปีนขึ้นไปวัด , ใช้ไม้ไผ่ หรือ ท่อ PVC ที่ทราบความสูงแล้ว มาทาบวัด ซึ่งเมื่อใส่ข้อมูลต้นไม้ใน แอปฯ tree bank จะทราบปริมาณคาร์บอนเครดิตและราคาได้ทันที

“ชุมชนนางใน” โมเดลปลูกต้นไม้สร้างรายได้

ชุมชนบ้านเขานาใน ตำบลต้นยวน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นอีกชุมชนที่เริ่มต้นธนาคารต้นไม้มาตั้งแต่ปี 2553 โดยนายธนกฤต ขุนนำ ผู้ใหญ่บ้านบอกว่าขณะนี้มีสมาชิก 114 ราย เข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้

ปลูกต้นไม้ในชุมชนเพิ่มจำนวน 13,000 ต้น และมีการยกระดับชุมชนสู่ชุมชนไม้มีค่า โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนชุมชนในการเติมองค์ความรู้จากการศึกษาดูงานในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อนำมาเป็นกรณีศึกษาและนำไปต่อยอดในพื้นที่ของตนเอง

นอกจากนี้ชุมชน ได้พัฒนาการสร้างอาชีพและรายได้ เช่น การพัฒนาไปสู่ชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร การเยี่ยมชมอุทยานธรรมเจดีย์ลอยฟ้า กิจกรรมเดินป่าชมไพรแลไข่พ่อตา การทำโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยว การแปรรูปสมุนไพรอบแห้ง และการเลี้ยงและแปรรูปจิ้งหรีด การปลูกผักอินทรีย์และปลูกป่าสร้างรายได้ให้กับชุมชน

นายจำลอง สระทองเกี้ยว (กลาง)ประธานธนาคารต้นไม้
นายจำลอง สระทองเกี้ยว (กลาง)ประธานธนาคารต้นไม้

ขณะที่ นายจำลอง สระทองเกี้ยว ประธานธนาคารต้นไม้ บอกว่า เริ่มต้นปลูกต้นไม้เพราะใจรัก ตั้งแต่ปี 2553 เพราะขณะนั้นอยากปลูกต้นไม้ทดแทนไม้ที่ตัดไป ถึงตอนนี้ปลูกต้นไม้กว่า 50 ไร่ คิดเป็นมูลค่าไม่ได้เลย แต่สามารถนำไม้ที่ปลูกมาสร้างบ้านในพื้นที่ได้มากกว่า 3 หลังแล้ว

“การปลูกต้นของผมทำให้ชาวบ้านในชุมชนเห็น ความร่มรื่น และเห็นประโยชน์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการค้ำประกันเงินกู้กับธ.ก.ส.ได้ จึงมาพูดคุยกันและตั้งธนาคารต้นไม้ขึ้นมา มีสมาชิกที่รักการปลูกต้นไม้มาร่วมจนปัจจุบันเกือบสองร้อยราย”

นายจำลอง บอกว่า ธ.ก.ส. แอปฯTree Bank ช่วยให้ สามารถบันทึกข้อมูลต้นไม้ ได้แม่นยำมากขึ้นจากเดิมที่จะบันทึกในกระดาษ ซึ่งใช้เวลามาก โดยการบันทึกข้อมูลต้นไม้หลังจากมีแอปฯสามารถเอาลงในมือถือได้ โดยแอปฯคำนวณออกมาเป็นมูลค่าและจำนวนคาร์บอน์เครดิตที่ได้ โดยต้นไม้ของชุมชนนางในสามารถคำนวณออกมาเป็นคาร์บอนได้ 1,449 ตัน คิดเป็นเงินได้ 5 หมื่นบาท

นายสุเชาว์ ทูโมสิก นายอำเภอพนม จ.สุราษฏร์ธานี บอกว่า การที่ ธ.ก.ส.เข้ามาสนับสนุนชุมชนให้ปลูกต้นไม้ และทำให้เกิดรูปธรรมในการขายคาร์บอน และเป็นหลักประกันด้านสินเชื่อ ทำให้เป็นแรงจูงใจให้ชาวบ้านเห็นประโยชน์ในการปลูกต้นไม้ ที่จะช่วยลดภาระโลกร้อนได้ เพราะปัจจุบันพบว่าสภาพอากาศก็เปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้ทุกคนต้องมาช่วยกันในการรักษาสิ่งแวดล้อม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น