เคยเป็นไหมที่ถึงใจจะรักการวาดภาพมากขนาดไหน แต่จะให้ตัดสินใจส่งประกวดเป็นเรื่องเป็นราวแล้วก็ไม่รู้ว่าฝีมือถึงขั้นพอที่จะเรียกตัวเองว่าเป็น ‘ศิลปิน’ กับเขาได้หรือยัง?
หนึ่งในคนเหล่านั้นคือ เจสัน เอ็ม. อัลเลน ที่ไม่ได้ต่างอะไรกับคนที่รักงานศิลปะหลายๆ คนที่ประหม่าเกินไป เมื่อเตรียมจะส่งผลงานเข้าประกวดครั้งแรก เพียงแต่ผลงานที่มีชื่อว่า ‘Théâtre D’opéra Spatial’ หรือ ‘โรงโอเปราอวกาศ’ ของเขาสามารถชนะการประกวดรายการ Colorado State Fair Fine Arts Competition ในสาขาศิลปะดิจิทัล/ภาพถ่ายที่ผ่านการตกแต่งดิจิทัล
ความสำเร็จนี้เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่สำหรับอัลเลน ที่ปกติแล้วประกอบอาชีพเป็นเกมดีไซเนอร์ และได้รับเงินรางวัลมาเบาๆ 300 ดอลลาร์ หรือราว 10,000 บาท “ผมหลงใหลในภาพนี้มาก ผมรักมัน และคิดว่าทุกคนควรจะได้เห็น”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เหมือนอย่างที่คิดไหม? AI จำลองหน้าตัวละครใน Harry Potter โดยอ้างอิงจากคำบรรยายในหนังสือ
- นักวิจัยจีนเสนอระบบ AI โฉมใหม่ เข้าใจ ‘ความต้องการของมนุษย์’ มากขึ้น ปูทางสู่ความสัมพันธ์แบบสองทิศทาง
แต่ถึงจะเป็นแค่การประกวดเล็กๆ เงินรางวัลน้อยๆ ที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่อะไร แต่ชัยชนะครั้งนี้ของอัลเลนได้นำไปสู่การถกเถียงอย่างใหญ่โตในวงการศิลปะ เพราะผลงานนี้ไม่ได้เป็นผลงานของเจ้าตัวที่วาดมันด้วยมือของตัวเอง
สิ่งที่อัลเลนทำคือการป้อนคำเข้าไป และที่เหลือก็ให้เป็นหน้าที่ของระบบปัญญาประดิษฐ์ชื่อดังที่กำลังเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลกในเวลานี้อย่าง Midjourney รังสรรค์ภาพที่เหนือจินตนาการ ที่เกินกว่าสติปัญญาของมนุษย์จะคิดได้ขึ้นมา
ผลงานที่ได้คือภาพ Théâtre D’opéra Spatial ที่มีความสวยงาม วิจิตร เต็มไปด้วยรายละเอียดสลับซับซ้อนที่ดูเหนือจริง เพราะเป็นภาพผสมกันระหว่างยุคเรเนสซองส์ กับนิยายวิทยาศาสตร์ในกลุ่ม Steampunk ซึ่งชนะใจคณะกรรมการได้
คำถามสำคัญสำหรับวงการศิลปะคือ แบบนี้เรียกว่าผลงานศิลปะจริงหรือไม่? และตกลงแล้วอะไรคือศิลปินกันแน่? ระหว่างจิตรกรผู้รับใช้ศิลปะที่ขัดเกลาตัวเองผ่านการตวัดฝีแปรงนับครั้งไม่ถ้วน กับผู้ที่ป้อนคีย์เวิร์ดที่ถูกต้องแม่นยำ และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของปัญญาประดิษฐ์วาดมันขึ้นมา
เรื่องที่น่าสนใจคือ ในการประกวดครั้งนี้อัลเลนไม่ได้ส่งผลงาน Théâtre D’opéra Spatial แค่ภาพเดียว แต่ส่งถึง 3 ภาพ และในการประกวดทั้งหมดมีคนที่ทำแบบเดียวกันถึง 11 คน กับผลงานภาพถึง 18 ภาพในสาขาศิลปะดิจิทัล/ภาพถ่ายที่ผ่านการตกแต่งดิจิทัล
ทั้งนี้ เป็นเพราะในคำจำกัดความประเภทสาขาที่เปิดให้ประกวดนั้นระบุเอาไว้ว่า ‘สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ หรือกระบวนการในการนำเสนอได้’ ซึ่งทางด้านอัลเลนก็ยืนยันว่าเคยใช้ Midjourney ในการสร้างสรรค์ผลงานในการส่งเข้าประกวดมาก่อน
และเมื่ออัลเลนซึ่งมีความยินดีกับรางวัลที่ได้รับจนโพสต์ภาพนี้ และอีก 2 ภาพที่ส่งเข้าประกวดขึ้นบน Midjourney บนเซิร์ฟเวอร์ของ Discord เพื่อแบ่งปันเรื่องราว ก็กลายเป็นไวรัลในทวิตเตอร์ทันทีในอีกวันถัดมา โดยมีศิลปินจำนวนมากที่ไม่พอใจกับการที่อัลเลนได้รับชัยชนะเพราะเขาใช้ AI ในการสร้างสรรค์ ไม่ใช่ฝีมือของตัวเอง
“เรื่องแย่ๆ นี้คือเหตุผลเดียวกับที่เราไม่ควรให้หุ่นยนต์เข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิก” หนึ่งในผู้ใช้ทวิตเตอร์กล่าว ส่วนอีกคนบอกว่า “นี่คือคำนิยามของ กดแค่ไม่กี่ปุ่มเพื่อสร้างผลงานศิลปะดิจิทัล”
ขณะที่อัลเลนโต้ตอบว่า ถึงเขาจะไม่ได้ใช้เมาส์หรือปากกาแทนฝีแปรง แต่การสร้างผลงานแบบนี้ก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น และมีการทำงานเบื้องหลังอยู่หลายขั้นตอนที่คนไม่รู้ “มันไม่ใช่แค่ผสมๆ คำลงไปแล้วจะได้ภาพที่ชนะการประกวด”
เพราะถึงคนทั่วไปจะใส่คีย์เวิร์ดเข้าไปให้ Midjourney แค่ 3 คำ และจะได้ภาพที่เหลือเชื่อออกมาในเวลาแค่ไม่กี่วินาที แต่สำหรับอัลเลนเขายืนยันว่ากระบวนการกว่าที่เขาจะได้ภาพนี้มานั้นใช้เวลามากกว่า 80 ชั่วโมงเลยทีเดียว
โดยเขาเริ่มด้วยการใช้เวลาไปกับการลองใส่ประโยคที่ให้ Midjourney วาดภาพหญิงสาวที่สวมชุดฟูฟ่องแต่สวมหมวกอวกาศไปด้วย และเขาก็พยายามเติมสไตล์แบบวิกตอเรียนเข้าไปในภาพ ก่อนที่จะทดลองเปลี่ยนคำ ผสมคำ และอีกมากมาย รวมแล้วต้องลองมากกว่า 900 ครั้งกว่าที่เขาจะได้ภาพสุดท้ายที่พอใจ 3 ภาพด้วยกัน ก่อนจะนำภาพนั้นมาทำการตกแต่งต่อใน Photoshop ให้มีความสมบูรณ์
สำหรับอัลเลนแล้วผลงานนี้คือสิ่งที่เขาภูมิใจ และคิดว่าสิ่งที่ทุกคนควรสนใจจริงๆ คือการที่สามารถจะนำ AI เข้ามาใช้ช่วยสร้างสรรค์ผลงานที่น่าดึงดูดมากยิ่งขึ้น “แทนที่จะเกลียดเทคโนโลยีหรือคนที่อยู่เบื้องหลัง เราควรจะตระหนักถึงเครื่องมืออันทรงพลังที่สามารถนำมาใช้ในทางที่ดี เพื่อที่เราจะสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ มากกว่าที่จะมาขุ่นเคืองในเรื่องนี้”
ขณะที่ คาร์ล ดูแรน ศิลปินที่เป็นคุณครูศิลปะ และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของการประกวดยอมรับว่า ถึงอัลเลนจะระบุว่ามีการใช้ Midjourney แต่ระหว่างตัดสินก็ไม่ได้ตระหนักว่าภาพนี้ถูกสร้างขึ้นโดย AI และยังยืนกรานคำตัดสินเดิม เพราะคิดว่านี่เป็น ‘ภาพที่งดงาม’
“ผมคิดว่ามันมีหลายอย่างในผลงานชิ้นนี้ และผมคิดว่า AI เทคโนโลยีอาจจะเพิ่มโอกาสให้แก่คนที่อาจจะไม่คิดว่าตัวเองเป็นศิลปินได้พบหนทางใหม่”
สุดท้ายกับปริศนาว่าอัลเลนใช้คีย์เวิร์ดคำไหนในการสร้างผลงานชิ้นนี้? เรื่องนี้เกมดีไซเนอร์ที่กลายเป็นคนดังชั่วข้ามคืนยืนยันว่า เขาจะขอเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับจนกว่าจะเผยแพร่ผลงานที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ได้ ซึ่งวางแผนจะเปิดตัวไว้ในช่วงปลายปีนี้
ไม่รู้ว่าถึงตอนนั้นจะถกกันจบหรือยังว่าตกลงแล้ว ‘ศิลปิน’ คืออะไรกันแน่?
ภาพ: Jason Allen
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2022/09/03/tech/ai-art-fair-winner-controversy/index.html
- https://edition.cnn.com/2022/06/30/tech/openai-google-realistic-images-bias/index.html
- https://www.nytimes.com/2022/09/02/technology/ai-artificial-intelligence-artists.html
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP
ความเห็น 0