ไม่เพียงแต่ในแง่ของชื่อเสียงที่ “สตรีทฟู้ด” หรือ “อาหารริมทาง” ในประเทศไทย ที่สำนักข่าว CNN ยกให้เป็น 1 ใน 23 ประเทศที่มีสตรีทฟู้ดที่ดีที่สุดในโลกในปี 2018 ในแง่ของวัฒนธรรมนั้น สตรีทฟู้ดไทย ถือเป็นตัวแทนสะท้อนวัฒนธรรมการกินอยู่แบบไทยที่ชัดเจนที่สุด ไม่ว่าจะเป็นความสะดวกสบายในการเสาะหาแหล่งอาหารการกินที่มีให้เลือกรับประทานได้แทบจะทุกช่วงเวลา ไปจนถึงตัวอาหารที่มีรสชาติอร่อยถูกปาก เป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งยังมีประเภทของอาหารที่หลากหลาย ให้คนไทยและนักท่องเที่ยวได้แวะเวียนมาลองลิ้มทั้งอาหารคาว-หวาน
ด้วยรูปแบบวิถีชีวิตในเมืองที่เร่งรีบบวกกับเน้นความง่าย ๆ สบาย ๆ อย่างไรก็ได้ มีผลต่อวัฒนธรรมด้านการบริโภคของคนในสังคมที่มักคำนึงถึงเรื่องความ “อร่อย” และ “สะดวก” เป็นลำดับต้น ๆ แล้วให้ความสำคัญต่อเรื่องความ “สะอาด” และ “ปลอดภัย” เป็นเรื่องรองลงมา หรือบางครั้งเราอาจละเลยไปเสียด้วยซ้ำ
ในฐานะผู้บริโภคและผู้ประกอบการควรจะต้องมีจิตสำนึกด้านสุขภาพ (Health Conscious) และความปลอดภัย (Food Safety) โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ "4 ประเด็นความปลอดภัย" ดังนี้…
1. เชื้อโรคปนเปื้อนในอาหาร (Contamination Pathogen)
จำเรื่องของคู่สามี-ภรรยาชาวออสซี่ที่อ้างว่าติดเชื้อปรสิตเนื่องจากกินผัดไทยในบ้านเรา จนทำให้ล้มป่วยหนักเหมือนตกนรกกว่า 2 ปีได้ไหม? ที่ปรากฏว่าสอบสวนไปมา ผลสุดท้ายเรื่องก็เงียบหายเข้ากลีบเมฆไปโดยที่ประชาชนยังไม่รู้เลยว่าเป็นเรื่องจริงหรือจ้อจี้ แต่ก็เป็นอีกครั้งที่ช่วยสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมไทยให้หันกลับมาตระหนักถึงเรื่องเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนในอาหารมากขึ้น
“สุขอนามัย” เล็ก ๆ น้อย ๆ อย่ามองข้าม!
เคยไหม? เทน้ำชาหรือน้ำเปล่าลงในแก้วของทางร้านแล้วมีคราบไขมันลอยฟ่องเหนือผิวน้ำ ซึ่งอาจเกิดจากล้างแก้วไม่สะอาดดีพอหรือน้ำแข็งที่ไม่สะอาด เคยเจอไหม? ภาพอาเฮียขายข้าวมันไก่ใช้มือเปล่าวางเนื้อไก่สับลงบนจาน พลางใช้มือข้างเดียวกันนั้นหยิบเงินหรือทอนเงินให้ลูกค้า
ถือเป็นความปกติที่ “ไม่ควร” ปล่อยให้เป็นเรื่องปกติ
2. สารอาหารครบถ้วน (Complete Nutrition)
กลายเป็นไวรัลให้ชาวเน็ตตื่นตะลึงเมื่อไม่นานมานี้ กับคลิปคุณป้าเจ้าของร้านส้มตำแห่งหนึ่งใน จ.อำนาจเจริญ ที่เท “ผงชูรส” กว่าครึ่งกิโลฯ ลงในครกขนาดเขื่อง แล้วบอกว่าเป็นสูตรเด็ดเคล็ดลับความอร่อยที่สืบทอดกันมา ถึงแม้คุณป้าจะพยายามอธิบายว่าตำครกนึง ได้ปริมาณส้มตำที่จะขายลูกค้ามากถึง 40-50 จาน ไม่ได้ทำแบบนั้นเพื่อเสิร์ฟแค่จานเดียวก็ตาม
กรมอนามัยเตือน บริโภคอาหารใส่ผงชูรสมากเสี่ยงเป็นอัมพาต!
ข้อมูลจากกรมอนามัย ระบุว่า หากกินผงชูรสมากเกินไปอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการแพ้ผงชูรสที่เรียกว่า "ไชนีสเรสเตอรองซินโดรม" (Chinese Restaurant Syndrome) ทำให้รู้สึกชาที่ปาก ลิ้น ปวดกล้ามเนื้อบริเวณโหนกแก้ม ต้นคอ หน้าอก หัวใจเต้นช้าลง หายใจ ไม่สะดวก ปวดท้องคลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำ ส่วนผู้ที่แพ้ผงชูรสมาก ๆ จะเกิดอาการชาบริเวณใบหน้า หู วิงเวียน หัวใจเต้นเร็ว จนอาจเป็นอัมพาตตามแขนขาชนิดชั่วคราวได้
กระนั้น ก็ยังไม่อาจสรุปได้ 100% ว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นเพราะผงชูรสหรือไม่ เพราะในอาหารเองก็มีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นส่วนประกอบอีกหลายชนิด แต่อะไรที่เราบริโภคมากจนเกินไปก็ไม่น่าจะส่งผลดีต่อร่างกายนัก
ที่แน่ ๆ ผงชูรส ไม่ใช่ตัวการทำให้ "ผมร่วง" หรือ "หัวล้าน" แน่นอน อย่าปรักปรำค่ะ!
3. ภาชนะบรรจุปลอดภัย (Safety Container)
มีทั้งเรื่องเล็กน้อยที่พออะลุ่มอล่วยกันได้ เป็นต้นว่า เสิร์ฟอาหารมาในจานที่มีข้าวสุกแห้งเกรอะติดมากับจานที่เกิดจากล้างไม่สะอาด หนักกว่านั้นคือเรื่องของ “พิษภัย” ของสารแปลกปลอมที่แฝงมากับภาชนะที่บรรจุอาหาร เช่น การใช้กล่องโฟมบรรจุอาหารร้อนหรือของทอด เช่น ไข่เจียวที่เพิ่งขึ้นจากน้ำมันร้อน ๆ เนื่องจากโฟมจะละลายปนเปื้อนไปกับอาหาร ก่อให้เกิดสารอันตรายปะปนในอาหาร ได้แก่ สารสไตรีน (styrene) และสารเบนซีน (benzene) โดยสไตรีนส่งผลเสียต่อร่างกาย คือ ทำลายระบบฮอร์โมนในร่างกาย มีผลต่อระบบประสาท ขณะที่ เบนซีน ร้ายยิ่งกว่านั้น เพราะเป็นสารก่อมะเร็ง หากเรากินอาหารที่มีสารเบนซีนปนเปื้อนสูงและต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือด (ลูคีเมีย) และโรคโลหิตจาง
โดยเฉพาะบางร้านยังใช้ถุงพลาสติกรองในกล่องโฟมเข้าไปอีก โอกาสที่เราจะได้รับสารก่อมะเร็งก็ยิ่งเพิ่มขึ้นอีกเป็น 2 เท่า หากถุงที่ใช้นั้นผิดประเภท ถือเป็นโชค 2 ชั้นที่ใครก็คงไม่อยากได้
4. ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน (Safety of Life and Property)
อิหยังวะ? อ่านหัวข้อแล้วอาจจะงง ๆ ว่าความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน มาเกี่ยวข้องกับสตรีทฟู้ดได้อย่างไร
แต่จากงานวิชาการในต่างประเทศของ “จีแซล ยาสมีน” เรื่อง “ทิวทัศน์อาหารของกรุงเทพฯ: การรับประทานอาหารในที่สาธารณะ ความสัมพันธ์ระหว่างเพศ และการเปลี่ยนแปลงของเมือง” ระบุถึงสตรีทฟู้ดในกรุงเทพฯ ว่าภายใต้สีสันในยามค่ำคืนของบรรดาร้านอาหารข้างทางที่เรียงรายอยู่นั้น มีทั้งพ่อค้าแม่ขาย มีทั้งผู้คนที่มานั่งกินอาหารข้างทาง (หนำซ้ำยุคนี้ยังมี LINE MAN และบริการเดลิเวอรีต่าง ๆ ที่ผลัดเวียนกันมายืนออรอคิวอาหาร) เหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยทำให้ผู้คนรู้สึกอุ่นใจ รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น เพราะมีสายตาจับจ้องทั่วท้องถนน ประหนึ่งเป็นการสอดส่องโดยพลเมืองด้วยกันเองอย่างไม่เป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวไปทั้งหมดข้างต้นคงไม่ใช่ข้อควรระวังที่สงวนไว้ใช้พิจารณาแค่ “อาหารริมทาง” อย่างเดียว หากแต่ยังหมายรวมถึงอาหารที่เราบริโภคในทุก ๆ รูปแบบนั้น ก็ควรคำนึงถึงเกณฑ์ความปลอดภัยเหล่านี้ให้ติดเป็นนิสัย ประหนึ่งเป็นกลไกระวังตัวโดยอัตโนมัติ
เหมือนเวลาที่นึกไม่ออกว่ากลางวันนี้จะกินอะไร ปากก็โพล่งสั่งแม่ค้าไป “กะเพราไก่ไข่ดาว” นั่นแล
อ้างอิง:
งานวิจัย “การวิเคราะห์องค์ประกอบของทัศนคติการบริโภคอาหารริมทางของผู้บริโภคชาวไทย กรณีศึกษาร้านอาหารริมทางย่านเกาะโดยรอบวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” โดย เจริญชัย เอกมลไพศาล และ ณัฐสการณ์ ดีกาสโตร
หนังสือ “กรุงเทพเมืองน่าอยู่” โดย เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
https://edition.cnn.com/travel/article/best-cities-street-food/index.html
http://fic.nfi.or.th/MarketOverviewDomesticDetail.php?id=145
https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/317/
ความเห็น 52
Peace
ปัญหาคือการล้างชามและช้อน
02 พ.ย. 2562 เวลา 23.24 น.
ปัญญาอ่อน
จะสะอาด จะปลอดเชื้อไปทำไม
คนไทย ไม่มีภูมิคุ้มกัน กันพอดี
อาหารมันต้องกินสกปรกๆ จะได้แข็งแรง
02 พ.ย. 2562 เวลา 23.11 น.
PEAK224
ตะแกรงปิ้งย่าง หมู ไก่ ลูกชิ้น ขาย เสร็จ ไม่ต้องล้าง
ไม่ต้องเก็บมิดชิดที่ไหน
แค่ปล่อยไว้ข้ามคืน ข้างทาง ข้างตลาดสด
ก็จะมีกองทับหนูตัว เป้ง มารุมแทะ ซะเกลี้ยง เป็นการทำความสะอาดแบบ organic ไม่ต้องใช้สารโซดาไฟ
13 ต.ค. 2562 เวลา 12.21 น.
JP
บางร้านใส่ถุงมือเพื่อความสะอาด..หมายถึงเพื่อมือตนเองสะอาด เวลาจับอะไรก็จะไม่เลอะมือ จับอาหาร จับเงิน จับผ้าขี้ริ้ว จับหม้อ จับชาม จับอื่นๆอีกมากมาย ดีไม่ต้องล้างมือบ่อยๆ เพราะมือไม่เลอะ
13 ต.ค. 2562 เวลา 04.56 น.
Changnoi
อาหารรถเข็น ก็คือทำในรถเข็น จะหาน้ำเยอะๆที่ทางสะอาดสะอ้าน เครื่องล้างจานเครื่องอบ ให้ถูกสุขลักษณะ ดังใจหวัง มันก็ยากอยู่นะ
13 ต.ค. 2562 เวลา 03.39 น.
ดูทั้งหมด