โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

ม.มหิดล สร้างสรรค์ "นวัตกรรมชุมชน" ริเริ่ม "โครงการอาหารปลอดภัยใส่ใจผู้บริโภค" สร้าง "ระบบแหล่งอาหารปลอดภัย" เพื่อชุมชนยั่งยืน

สยามรัฐ

อัพเดต 19 พ.ค. 2565 เวลา 08.24 น. • เผยแพร่ 19 พ.ค. 2565 เวลา 08.24 น.
ม.มหิดล สร้างสรรค์

คงจะปฏิเสธกันไม่ได้กับข้อเท็จจริงที่ว่า "เมื่อชุมชนอยู่ได้มหาวิทยาลัยจึงอยู่ได้" ดังนั้นหน้าที่ใส่ใจดูแล และเป็นที่พึ่งของชุมชน จึงถือเป็นภารกิจสำคัญของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติ COVID-19 ที่ความปลอดภัยทางด้านสุขภาวะจะต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง

ทว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จู่ๆ ผู้ซื้อจะเดินเข้าไปขอตรวจสอบร้านอาหาร หรือแผงลอย ถึงสิ่งที่ตนกำลังรับประทานอยู่ว่าทำมาจากวัตถุดิบอะไร และมีความปลอดภัยเพียงใด หากไม่มีองค์ความรู้ และเครื่องมือที่ได้มาตรฐานคอยสนับสนุนพร้อมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เที่ยงตรง แม่นยำ และตรวจสอบได้ รวมทั้งการให้คำปรึกษาตามหลักสุขาภิบาล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ซื้อ และผู้จำหน่าย

จึงนับเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการนำคณาจารย์ และนักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาสาธารณสุขชุมชน ลงพื้นที่ให้บริการประชาชนตรวจสอบสุขอนามัยร้านจำหน่ายอาหารประจำปี และสร้างระบบให้กับชุมชนเพื่อการมีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน

อาจารย์ ดร.ศศิมา วรหาญ และ อาจารย์ วรารัตน์ หนูวัฒนาอาจารย์ประจำหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาสาธารณสุขชุมชน โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ โรงพยาบาลส่วนตำบลบ้านเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานพยาบาลหลักของชุมชน คือ เบื้องหลังสำคัญของการสร้างสรรค์ "นวัตกรรมชุมชน" จากการริเริ่ม "โครงการอาหารปลอดภัยใส่ใจผู้บริโภค" เพื่อสร้างระบบให้ชุมชนได้มีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยงบประมาณจาก กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจาก สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ซึ่งจากการนำนักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิตสาขาสาธารณสุขชุมชน โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์มหาวิทยาลัยมหิดล ลงพื้นที่ตรวจสอบอาหารปลอดภัย ตามร้านอาหารและแผงลอยในชุมชน ในระยะแรกได้พบกับปัญหาและอุปสรรคสำคัญที่เกิดจากความไม่เข้าใจในเป้าหมายร่วมกันของการมีสุขภาวะที่ยั่งยืน ทีมโครงการฯ จึงยังไม่สามารถบรรลุผลการดำเนินงานได้ 100% แต่เมื่อได้มีการให้ความรู้และคอยให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง และจริงใจ จึงได้รอยยิ้มกลับมา พร้อมความร่วมมืออย่างเต็มที่

"เราจะต้องไม่พยายามทำเหมือนกับว่าเรากำลังเข้าไปขอตรวจสอบเพื่อจับผิด แต่จะต้องพยายามแสดงให้เห็นถึงความห่วงใย ใส่ใจ พร้อมดูแล ที่สำคัญในฐานะสถาบันการศึกษา เราจะต้องทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาหารปลอดภัยให้กับทั้งผู้จำหน่ายและผู้ซื้ออย่างไม่ย่อท้อ และต่อเนื่องด้วย จึงจะเกิดความยั่งยืน" อาจารย์ดร.ศศิมา วรหาญ หนึ่งในแกนนำ "โครงการอาหารปลอดภัยใส่ใจผู้บริโภค" กล่าว

จากการลงพื้นที่ นอกจากจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชุมชนได้มีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน จากการสุ่มตรวจสอบสารเคมี และสารปนเปื้อนจุลินทรีย์กลุ่มโคลิฟอร์มในอาหารด้วยชุดทดสอบที่ได้มาตรฐาน ให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เที่ยงตรง แม่นยำ และตรวจสอบได้แล้ว ยังเป็นการฝึกให้นักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาสาธารณสุขชุมชน โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเปรียบเหมือนลูกหลานของชุมชน ได้ลงพื้นที่จริง ฝึกปฏิบัติจริงตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 - 4 เพื่อการเข้าถึงชุมชน และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคตอีกด้วย

จุดแข็งของโครงการฯ อยู่ที่นอกจากการให้นักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาสาธารณสุขชุมชนโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ฝึกตรวจสอบสารเคมี และจุลินทรีย์กลุ่มโคลิฟอร์มปนเปื้อนในอาหาร และสามารถแปลผลได้แล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาของหลักสูตรฯ ได้ร่วมสร้างสรรค์สื่อเพื่อการรณรงค์อาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืนให้กับชุมชน ซึ่งต่อไปจะได้จัดทำเป็นสติกเกอร์เพื่อรับรองอาหารปลอดภัยให้กับร้านค้าและแผงลอยที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค ทั้งที่เป็นคนในชุมชน และผู้มาเยือนในฐานะนักท่องเที่ยวต่อไปได้อีกด้วย

แม้ในวันนี้ COVID-19 จะยังคงอยู่กับเราต่อไป แต่สักวันจะต้องแพ้ภัยด้วยวัคซีนที่สร้างขึ้นจากความรู้รักสามัคคีของคนในชุมชนที่พร้อมฝ่าฟันความยากลำบากนี้ไปด้วยกันเพียงร่วมกัน "ใส่ใจอาหารปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค"

0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0