โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

บันเทิง

คนมองหนัง : '6 ดาวเด่นเอเชีย' บนเวที 'ออสการ์'

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 27 มี.ค. 2564 เวลา 09.56 น. • เผยแพร่ 28 มี.ค. 2564 เวลา 13.30 น.
cover คนมองหนัง

 

‘6 ดาวเด่นเอเชีย’

บนเวที ‘ออสการ์’

 

ภายหลังความสำเร็จครั้งสำคัญของภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง “Parasite” เมื่อปีก่อน การประกาศรางวัลออสการ์ในเดือนเมษายน อาจเป็นการช่วยยืนยันถึง “ยุคทอง” ของ “(คนทำ) หนังเอเชีย” ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อเมริกันอีกหนหนึ่ง

เมื่อภาพยนตร์เอเชีย, คนทำหนังเอเชีย และนักแสดงเอเชีย ต่างมีที่ทางน่าจับตา ในงานประกาศรางวัลตุ๊กตาทองสหรัฐประจำปีนี้

และนี่คือ “บุคลากรชาวเอเชีย” จำนวน 6 ราย ที่กำลังฉายแสงบนเวทีออสการ์ 2021

 

“ยุนยอจอง”

นี่คือนักแสดงหญิงวัย 73 ปี ชาวเกาหลีใต้ ที่มีประสบการณ์ทางด้านการแสดงมากว่าครึ่งศตวรรษ

ในภาพยนตร์ว่าด้วยครอบครัวผู้อพยพเกาหลีที่ไปใช้ชีวิต ณ ชนบทของสหรัฐอเมริกาเรื่อง “Minari” ยุนคือหนึ่งในนักแสดงที่โดดเด่น ซึ่งสามารถขโมยซีนและแบกรับภาระทางด้านอารมณ์ของหนังเอาไว้ได้อย่างน่าทึ่ง

กระทั่งเธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม นับเป็นนักแสดงเกาหลีรายแรกที่ได้เข้าชิงรางวัลตุ๊กตาทองอเมริกัน (แม้แต่ทีมนักแสดงฝีมือดีจาก “Parasite” เมื่อปีที่แล้ว ก็ยังไม่ได้รับโอกาสเช่นนี้)

 

 

“สตีเฟน ยอน”

นักแสดงหนุ่มเชื้อสายเกาหลี-อเมริกัน (เกิดที่เกาหลีใต้แต่ไปเติบโตที่สหรัฐ) ซึ่งหลายคนเริ่มรู้จักเขาจากผลงานการแสดงในซีรีส์ “The Walking Dead”

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง ยอนได้กลับไปร่วมงานกับผู้กำกับฯ ฝีมือดีชาวเกาหลี เช่น การร่วมแสดงในหนังเรื่อง “Okja” ของ “บงจุนโฮ” และ “Burning” ของ “อีชางดง”

ก่อนที่การรับบทบาทนำในหนังเรื่อง “Minari” จะผลักดันให้เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์

 

“อี ไอแซค ชอง”

คนทำหนังเชื้อสายเกาหลี-อเมริกัน ที่เริ่มต้นทำหนังยาวตั้งแต่ปี 2007 ผลงานเรื่องแรกของเขา คือ “Munyurangabo” ได้รับเสียงชื่นชมในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ แต่ผลงานเรื่องต่อๆ มา กลับไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

กระทั่งอีได้ลงมือทำหนังเรื่อง “Minari” ที่นำเค้าโครงเนื้อหามาจากประสบการณ์ชีวิตวัยเด็กของเขาในฟาร์มแถบรัฐอาร์คันซอ ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่จึงก่อตัวขึ้น เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลสำคัญจากเทศกาลซันแดนซ์ และคว้ารางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมบนเวทีลูกโลกทองคำ

และล่าสุด หนังเรื่องนี้ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 6 สาขา รวมถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และการได้เข้าชิงรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของ “ลี ไอแซค ชอง”

โดยเขานับเป็นผู้กำกับฯ เอเชียน-อเมริกันรายที่สอง และคนทำหนังผู้ชายเชื้อสายเอเชียรายที่สี่ ซึ่งได้รับโอกาสเช่นนี้

 

“โคลอี เจา”

คนทำหนังสตรีผู้เกิดที่ปักกิ่ง แต่มาเรียนภาพยนตร์และปักหลักทำหนังที่สหรัฐอเมริกา

เจาถือเป็นผู้กำกับฯ อินดี้ ที่ได้รับการจับตามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2015 ก่อนจะมาประสบความสำเร็จสูงสุดกับ “Nomadland” หนังอีกหนึ่งเรื่องที่ฉายภาพการใช้ชีวิตในชนบทสหรัฐ ซึ่งคว้ารางวัลสิงโตทองคำที่เวนิส แล้วได้รับรางวัลภาพยนตร์ดราม่ายอดเยี่ยมและผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในงานลูกโลกทองคำ

ล่าสุด ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 6 สาขา รวมทั้งรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ขณะที่ “โคลอี เจา” ก็กลายเป็นสตรีเอเชียคนแรกที่มีโอกาสคว้ารางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของอคาเดมี อวอร์ดส์

 

“ริซ อาห์เหม็ด”

ย้อนไปเมื่อปี 2017 เขาคือนักแสดงชายเชื้อสายมุสลิมและเอเชียรายแรกที่คว้ารางวัลบนเวทีเอมมี อวอร์ดส์ จากผลงานในซีรีส์เรื่อง “The Night Of”

นอกจากนั้น “ริซ อาห์เหม็ด” ยังเคยปรากฏตัวในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ เช่น “Nightcrawler” “Jason Bourne” และ “Rogue One”

ล่าสุด นักแสดงเชื้อสายบริติช-ปากีสถานผู้นี้ ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยการเป็นคนมุสลิมรายแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากหนังเรื่อง “Sound of Metal”

 

“ดีเร็ก เจิ้ง”

ขณะที่ภาพยนตร์เรื่อง “Minari” และ “Nomadland” เป็นผลงานของคนทำหนังเชื้อสายเกาหลีและคนทำหนังชาวจีนที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำงานในสหรัฐอเมริกา

“ดีเร็ก เจิ้ง” และภาพยนตร์เรื่อง “Better Days” ของเขา ที่เพิ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์นานาชาติ (ภาษาต่างประเทศ) ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ปีนี้ กลับเป็นผลผลิตของอุตสาหกรรมบันเทิงฮ่องกง

ดีเร็กเป็นลูกชายของ “เจิ้งจื้อเหว่ย” นักแสดง-ดาวตลกชื่อดัง (“พี่เป้า” แห่ง “เถียนมีมี่ 3,650 วันรักเธอคนเดียว”) ซึ่งเริ่มทำหนังมาตั้งแต่ปี 2003

“Better Days” ภาพยนตร์รักวัยรุ่นที่ตีแผ่ปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนและปัญหาชนชั้นที่ซึมแทรกอยู่ในโครงสร้างทางการศึกษาจีน คือผลงานเรื่องเยี่ยมของ “ดีเร็ก เจิ้ง” ที่กวาดรางวัลฮ่องกง ฟิล์ม อวอร์ดส์ ไปถึง 8 สาขา

และกวาดรายได้ไปกว่า 220 ล้านเหรียญสหรัฐ (รวมการฉายในจีนแผ่นดินใหญ่)

 

เหล่านี้คือ “คลื่นระลอกที่สอง” ของกระแสนิยมเอเชียบนเวทีออสการ์

ซึ่งอาจเป็นบทสนทนาโต้ตอบที่มีต่อพฤติกรรมการเหยียดเชื้อชาติคนเอเชียในสังคมอเมริกันร่วมสมัยก็เป็นได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น