โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

‘กสิกรไทย’ ติวเข้มลูกค้าลดก๊าซเรือนกระจกคว้าโอกาสสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืน

TODAY

อัพเดต 20 ธ.ค. 2566 เวลา 10.17 น. • เผยแพร่ 20 ธ.ค. 2566 เวลา 03.17 น. • workpointTODAY
‘กสิกรไทย’ ติวเข้มลูกค้าลดก๊าซเรือนกระจกคว้าโอกาสสร้างธุรกิจอย่างยั่งยืน

ด้วยสภาพโลกรวนตอนนี้ ต้องยอมรับว่า ‘ความยั่งยืน’ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ ‘ทางเลือก’ อีกต่อไป แต่เป็น ‘ทางรอด’ สำหรับเราทุกคน ในการมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ เพราะคงจะไม่มีโลกใบใหม่ที่มาแทนที่โลกใบเดิมได้

นอกจากมูฟเมนต์ในแง่สังคมแล้ว ความยั่งยืนก็เป็นอีกหนึ่งท็อปปิกสำคัญในโลกธุรกิจ เพราะจะกลายเป็นทั้ง ‘ความเสี่ยง’ ของคนที่ไม่ยอมปรับตัว และเป็น ‘โอกาส’ ของคนที่เริ่มลงมือปรับตัวก่อน

[ อีก 7 ปี การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของธนาคารต้องสุทธิเป็นศูนย์]

ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank ถือเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันเรื่องความยั่งยืนไปพร้อมๆ กับการทำธุรกิจ

โดย ‘ธนาคารดำเนินธุรกิจบนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน‘ (Bank of Sustainability) ซึ่งในด้านสิ่งแวดล้อม ธนาคารประกาศเป้าหมาย Net Zero

เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจากการดำเนินงานของธนาคาร (Scope 1 และ 2) เป็นศูนย์ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) หรืออีกเพียง 7 ปีต่อจากนี้เท่านั้น

และตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจากลูกค้าในพอร์ตโฟลิโอของแบงก์ (Scope 3) เป็นศูนย์ ภายในปี 2065

แม้จะเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แต่ถ้าได้ฟังสิ่งที่ธนาคารได้ทำไปบ้างแล้วในช่วงที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะไม่ยากจนเกินไป

[ ร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงทั้งองค์กร ]

หลังจากประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ธนาคารกสิกรไทยดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องจากการปรับเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์ ปรับกระบวนการทำงาน และส่งเสริมพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่ลูกค้าและพนักงาน

เช่น ปี 2566 ธนาคารเปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้ภายในกิจการธนาคารเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จำนวน175 คัน ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งรถที่ใช้ในสาขาและรถของผู้บริหารธนาคาร นอกจากนี้ ทยอยติดตั้ง Solar Cell ในอาคารสำนักงานหลักทั้ง 7 แห่ง เพื่อสนับสนุนเป้าหมาย Net Zero ของธนาคาร

และยังปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน โดยหันไปให้บริการบนดิจิทัลมากขึ้น เพื่อลดปริมาณการใช้กระดาษ รวมถึงการปรับไลฟ์สไตล์ทีละเล็กทีละน้อยให้แก่พนักงานอย่างการแยกขยะ ฯลฯ เหล่านี้ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในธนาคารเอง

ในส่วนของการสนับสนุนลูกค้า นอกจากการสนับสนุนเงินทุนแล้วธนาคารยังสนับสนุนองค์ความรู้ รวมถึงเข้าไปช่วยธุรกิจวางแผน ให้คำแนะนำ มอบเครื่องมือและโซลูชันเพื่อช่วยลูกค้าเปลี่ยนผ่านลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมุ่งสู่การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน

[ ลดคาร์บอนไม่ยาก ทำได้เลยตอนนี้ ]

นอกจากการลงมือทำของธนาคารแล้ว เป้าหมายสู่การเป็น Net Zero ของประเทศไทยจะประสบความสำเร็จไม่ได้ถ้าขาดความร่วมมือร่วมใจจากลูกค้าและสังคมโดยรอบ

จึงเป็นที่มาของการจัดงาน Decarbonize Now สัมมนาเชิงลึกให้กับลูกค้าธุรกิจ 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มธุรกิจส่งออกที่มีความเสี่ยงจากมาตรการ CBAM ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมแรกๆ ที่จะได้รับผลกระทบหากยังไม่ปรับตัวหรือกลุ่มธุรกิจที่ถูกระบุใน Thailand Taxonomy และมาตรการอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต

โดยได้ผู้เชี่ยวชาญอย่าง The Creagy ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการลดก๊าซเรือนกระจกมาให้ความรู้เชิงลึกรายอุตสาหกรรม ผ่านการบรรยายให้ความรู้ รวมถึงเวิร์คชอปคำนวณคาร์บอนของแต่ละธุรกิจ และวิธีลดคาร์บอน ทีมทูเดย์ขอสรุปขั้นตอนการลดก๊าซเรือนกระจกมาให้ธุรกิจที่สนใจได้ลองศึกษาและนำไปปฏิบัติกัน

8 ขั้นตอนสำหรับธุรกิจในการวางแผนลดก๊าซเรือนกระจก

1. วัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยธุรกิจควรทราบแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกกิจกรรมการดำเนินงาน เพื่อประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจ

2. กำหนดวัตถุประสงค์ เพื่อนำไปใช้วางแผนกลยุทธ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ให้สอดคล้องกับ Ecosystem ของธุรกิจ

3. ประเมินความเสี่ยงของธุรกิจซึ่งอาจเกิดจากโลกร้อนทั้งอันตรายและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน (Physical Risk) และความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในแง่นโยบาย กฎเกณฑ์ รวมถึงเทคโนโลยี (Transition Risk) รวมทั้งหาโอกาสให้กับธุรกิจจากการปรับต้นทุนพลังงานให้น้อยลง การมีผลิตภัณฑ์รักษ์โลกใหม่ๆ รวมทั้งเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับลดคาร์บอน

4. กำหนดเป้าหมายที่วัดได้เช่น ตั้งเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกต่อปี วางแผนการลงทุน และวิธีในการติดตามผลลัพธ์

5. วางแผนกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุแผนการดำเนินการลดคาร์บอนได้จริง

6. เตรียมความพร้อมให้องค์กรเช่น สร้างความรู้ให้กับคนในองค์กร เนื่องจากคือตัวแปรสำคัญที่จะทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมกับทาง supplier และสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม

7. ลงมือทำและวัดผลที่เกิดขึ้นจริงซึ่งการลงมือให้สำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในองค์กร

8. การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสสอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานของโลก รวมทั้งสอดคล้องกับความคาดหวังของผู้ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับงานสัมมนาเชิงลึก Decarbonize Now ในครั้งนี้มีลูกค้าให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 130 บริษัท และในปีหน้าธนาคารกสิกรไทยยังมีแผนจะขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้สำเร็จ

เมื่อถาม KBank ว่า ทำไมต้องผลักดันลูกค้าให้เปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียวสำเร็จ ก็ได้คำตอบว่า นี่เป็นสิ่งที่ธนาคารต้องทำ เพราะต้องการให้การเปลี่ยนผ่านนี้เป็นการเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืนเพื่อช่วยให้ธุรกิจของลูกค้าสามารถดำรงอยู่ได้ และยังเป็นการสร้างโอกาสให้ลูกค้าบนโลกธุรกิจในอนาคต ซึ่งท้ายที่สุดคือร่วมกันพาประเทศไทยของเราสู่ Net Zero นั่นเอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น