เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง หลังจากเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat(ป๊ามี้คีน) ถึงกรณีพบการติดเชื้อ โควิด-19 ของสุนัขและแมวในไทย โดยระบุว่า มีงานวิจัยจากทีมคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ รายงานในวารสารวิชาการเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา ตรวจพบสุนัข 3 ตัว จากการตรวจ 35 ตัว และแมว 1 ตัว จากการตรวจ 9 ตัว ติดเชื้อโควิด-19 โดยเป็นทั้งหมดที่ตรวจนั้นสัตว์เลี้ยงในครัวเรือนที่มีเจ้าของติดเชื้อโควิด-19 สุนัข 1 ตัว มีอาการเล็กน้อย ส่วนตัวอื่นๆ ที่ติดเชื้อนั้นไม่มีอาการ
ข้อมูลข้างต้นนี้ช่วยกระตุ้นให้เราตระหนักถึงความสำคัญว่าคนที่ติดเชื้อจะสามารถถ่ายทอดไปยังสัตว์เลี้ยงได้ ดังนั้น หากมีอาการไม่สบาย นอกจากควรจะแยกตัวออกจากสมาชิกในครอบครัวแล้ว ยังควรหลีกเลี่ยงการไปคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงในบ้าน ความรู้ปัจจุบัน เราทราบดีว่ามีการติดเชื้อจากคนสู่สัตว์ได้มากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว ตัวมิ้งค์ เฟอร์เร่ท์ อ๊อตเตอร์ เสือ กวาง ฯลฯ ส่วนการถ่ายทอดจากสัตว์สู่คนนั้น แม้ตอนนี้เชื่อว่าอาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการแพร่ระบาด แต่กันไว้ดีกว่าแก้ เพราะมีรายงานเกี่ยวกับการติดเชื้อจากตัวมิ้งค์ไปสู่คนจากหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในอเมริกา เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ฯลฯ
การไม่ไปคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงเวลาเราไม่สบาย นอกจากจะช่วยป้องกันสัตว์ไม่ให้ติดเชื้อ และไม่เป็นตัวนำพาเชื้อโรคไปยังคนอื่นในบ้านที่จะเข้ามาสัมผัสหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยงได้ด้วย ที่หยิบยกเรื่องนี้มาเล่าให้รับทราบกัน เพราะปัจจุบันไทยเรามีจำนวนคนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันจำนวนมาก โอกาสถ่ายทอดไปยังสัตว์ย่อมมีสูงขึ้นกว่าสมัยระลอกแรก ผลลัพธ์ของการควบคุมการระบาดที่เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนเท่านั้น
อ้างอิง Jairak W et al. First cases of SARS-CoV-2 infection in dogs and cats in Thailand. Transbound Emerg Dis. 5 November 2021.
ขอบคุณ เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat(ป๊ามี้คีน)
ความเห็น 0