โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

บิงซู Product of the year 2017

Positioningmag

อัพเดต 27 ธ.ค. 2560 เวลา 16.55 น. • เผยแพร่ 27 ธ.ค. 2560 เวลา 23.07 น.

ต้องเรียกว่าเป็น Product of the year แห่งปี 2560 สำหรับ “บิงซู” ขนมหวานฮอตฮิต จนติดอันดับสุดยอดคำค้นหาผ่าน Google ประจำปี 2560 ที่ต้องการนำเสนอมุมมองที่โดดเด่นของปีจากเหตุการณ์สำคัญมากมายที่เกิดขึ้นจากเทรนด์การค้นหาที่มาแรงในประเทศไทย

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่าขนมหวานสัญชาติเกาหลีอย่าง “บิงซู” ได้รับความสนใจจากคนไทยมากที่สุด ในขณะที่ร้านอาหารที่ถูกค้นหามากที่สุด ยังเป็น ร้านจุดสามจุด ซึ่งเป็นร้านที่ขึ้นชื่อในเรื่องของบิงซูอีกด้วย

นอกจากนี้ รายงานการวิจัยจาก Thoth Zocialหัวข้อ “Retail Food Consumer Insight” พบว่า“หมวดของหวานและเครื่องดื่ม” 5 อันดับแรกที่คนอยากกินคือ เค้ก ไอติม บิงซู กาแฟ และแพนเค้ก

ลึกลงไปเมื่อนำมาเปรียบเทียบแนวโน้มการค้นหาระหว่าง “บิงซู” กับ “อาหารคลีน” การันตีชัดว่า การค้นหาบิงซู จะมีมากขึ้น สวนทางกับอาหารคลีน ที่ความนิยมลดน้อยลงเรื่อย ๆ ด้วยซ้ำ

ปรากฏการณ์ “บิงซูฟีเวอร์” ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ แต่ถูกเผยแพร่และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จากการเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะบันเทิงและภาคธุรกิจ รวมทั้งไลฟ์สไตล์ที่ติดมากับบรรดาโอ้ปป้า บอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ปทั้งหลาย บวกกับความสวยงาม ดูน่ากินและรสชาติอร่อยของตัวบิงซูเอง ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากที่เคยเป็นแค่ขนมหวานประจำชาติเกาหลี บิงซูเลยมีอิทธิพลมากขึ้นจนโดมิเนตตลาดน้ำแข็งไสทั่วเอเชีย ที่แค่เอ่ยถึงใคร ๆ ก็รู้จัก และผู้รับอิทธิพลที่ดีอย่างไทย ก็ซึมซับรับรู้กันถ้วนทั่ว และทำให้ “บิงซู” เป็นคำที่เหมือนถูกเสกเข้าปากคนไทย ถูกพูดถึงมากที่สุด จนกลายเป็นโปรดักต์ออฟเดอะเยียร์ไปแล้ว 

มารู้จักบิงซูให้ลึกซึ้งอีกสักรอบ

บิงซู เป็นขนมแบบดั้งเดิมในเกาหลี ในสมัยก่อน บิงซู เป็นอาหารอันโอชะที่มีกินเฉพาะในกลุ่มคนรวยและขุนนาง เพราะคนทั่วไปไม่มีที่ไสน้ำแข็ง และไม่มีอุปกรณ์ทำความเย็นเหมือนสมัยนี้ นิยมรับประทานในช่วงฤดูร้อน เพราะจะมีการเปิดตัวรสชาติใหม่ในช่วงฤดูร้อน

แต่ละรสชาติจะแตกต่างกันไปตามชนิดของบิงซูที่นำเสนอตามส่วนผสมและท็อปปิ้ง มีตั้งแต่ นม ช็อกโกแลต ชาเขียว และรสผลไม้ที่เป็นผง แยม และเกล็ดธัญพืช ที่ปรุงด้วยไอศกรีม บางสูตรยังราดด้วยนมข้นหรือนมสดตามความชอบของแต่ละคน และการนำเสนอของร้าน

คุณลักษณะที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับ บิงซู คือการนำเสนอด้วยรสชาติและความคิดสร้างสรรค์ในการจัดแต่งที่ต่างกันทั้งปริมาณและรสชาติที่ไม่ซ้ำกันของแต่ละพื้นที่ แต่ละร้านว่าจะดึงอะไรมาเป็นจุดขาย

ที่นิยมในเกาหลีทั่วไป ๆ ได้แก่  binksu injeolmi (ข้าวเกาหลี) บิงซูถั่วแดง (Patbingsu) สตรอเบอร์รี่บิงซูง ทั้งแบบแยม และสตรอเบอร์รี่สด บิงซูช็อกโกแลต โยเกิร์ตบิงซูที่โรยหน้าด้วยโยเกิร์ตรสต่าง ๆ และชีสบิงซู ซึ่งชีสเป็นอาหารอีกชนิดที่เกาหลีนิยมนำมาราดบนอาหารสารพัดชนิด   

บิงซูไฮไลต์ของไทยที่แตกต่างก็ต้องบิงซูทุเรียน นอกจากนั้นก็ยังมีผลไม้ที่นิยมในกลุ่มคนเอเชียอย่างเมลอน

แต่ทุเรียนนี่เป็นซิกเนเจอร์ของไทยที่ลงตัวกับบิงซู ถึงขนาดร้านดังอย่าง อาฟเตอร์ยู ก็ยังต้องเปิดห้องเฉพาะเพื่อเสิร์ฟบิงซูทุเรียนที่สาขาสยามพารากอน ส่วนร้านอื่น ๆ บางร้านก็กระชากเรตติ้งด้วยการนำเสนอบิงซูทุเรียนถาด แบบกินให้จุใจกันไปเลยก็มี แถมถ้าใครชื่นชอบสไตล์ญี่ปุ่น ก็มีคากิโกริ น้ำแข็งไสสไตล์ญี่ปุ่นเสิร์ฟให้ด้วย

[caption id="attachment_1151939" align="alignnone" width="700"]

ภาพจาก : afteryoudessertcafe.com[/caption]

ผลของความนิยมบิงซูที่หลากหลายที่ไม่จำกัดเฉพาะในเกาหลี ยังวัดได้จากการจำหน่ายเครื่องทำบิงซู ซึ่งมีการนำเข้าจากเกาหลี รวมทั้งจากจีน และที่ผลิตเองในไทยที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

ใครที่เคยไปเดินงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับเครื่องจักร โรงแรม หรืองานอาหารต่าง ๆ ก็จะเห็นว่ามีบูธเครื่องทำบิงซูจากเกาหลีมาจัดแสดงสินค้าเพื่อขายในงานเหล่านี้ในบ้านเราเพิ่มขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา

บิงซูของชาติอื่นในเอเชีย เรียกว่าอะไร

สำหรับคนไทย บิงซู ที่เข้าใจง่ายสุดก็คือ น้ำแข็งไส แม้จะไม่วิจิตรอลังการเท่าก็ตาม แต่บิงซูดั้งเดิมอย่างบิงซูถั่วแดงก็มีหน้าตาไม่ต่างจากน้ำแข็งไสราดน้ำแดงใส่นมของไทยเท่าไร ส่วนประเทศอื่น ๆ ในเอเชียก็มีชื่อเรียกต่างกันไป

ในประเทศจีนเรียกว่า เป่าปิง (Baobing) ญี่ปุ่นเรียก คากิโกริ (Kakigori) มาเลเซียเรียก ไอซ์คาจัง (Ice Kacang หรือ Ice Kajang) ฟิลิปปินส์เรียก ฮาโล-ฮาโล (Halo-Halo) ซึ่งหน้าตาขนมจากชาติต่าง ๆ เหล่านี้ก็ไม่หนีบิงซูเท่าไร เพียงแต่คิดช้าไม่มีฟูดสไตล์ลิสต์มาปรับแต่ง จนโดนบิงซูเบียดตกขอบกันไปหมด

ในที่กันดารของจีนอย่างซินเกียงก็มีน้ำแข็งไสใส่โยเกิร์ตผสมน้ำผึ้งแสนอร่อย แต่ก็กินกันเป็นของพื้นบ้าน แต่บิงซูของเกาหลีโกอินเตอร์ ทำให้ทุกคนเรียกเป็นคำฮิตติดปาก จนดันให้บิงซูเป็นโปรดักต์แห่งปีได้ ก็เพราะเริ่มมากจากเรื่องของไอเดียล้วน ๆ

ทำไมบิงซู กลายเป็นน้ำแข็งไสที่เด่นที่สุดในเอเชีย 

เกาหลีเป็นประเทศที่พัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยไสน้ำแข็งให้เป็นเกล็ดนุ่มสวยละมุนละลายในลิ้นเมื่อตักเข้าปากอย่างจริงจัง แล้วในขณะเดียวกัน ก็พัฒนานวัตกรรมและดีไซน์ของกินให้ดูวิจิตรด้วยฟูดสไตล์ลิสต์

ที่สำคัญไม่ลืมใส่สตอรี่ให้กับบิงซู เพราะถ้าลองนึกดูให้ดี รวมทั้งเปรียบเทียบใกล้ตัวอย่างน้ำแข็งใสของไทย เรากินกันมานาน แต่เมื่อไม่มี “สตอรี่” น้ำแข็งใสของไทยก็เลยหยุดอยู่แค่นั้น

ในขณะที่เกาหลีบอกเล่าเรื่องราวของบิงซู ซึ่งเริ่มจากบิงซูที่มีส่วนผสมของถั่วแดง ไว้ว่าเป็นเรื่องราวที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สมเป็นขนมหวานประจำชาติ เพราะ Patbingsu หรือบิงซูถั่วแดงนั้น มีรับประทานกันมาตั้งแต่สมัยรางวงศ์โชซอน (ประมาณกลางศตวรรษที่ 15)

นอกจากสิ่งประดิษฐ์ ที่ทำบิงซูได้อร่อยขึ้น คือ สไตล์การนำเสนอด้วยส่วนผสมของอาหารเกาหลีสมัยใหม่ก็มีส่วนช่วยทำให้บิงซูกลายเป็นน้ำแข็งไสหรู ราคาแพง ที่ใคร ๆ ก็อยากสั่งมาถ่ายรูปแชร์ให้เพื่อน ๆ ดู แม้สุดท้ายจะกินไม่หมดและต้องจ่ายเงินอย่างน้อยเกือบ 200 บาท สำหรับบิงซูในร้านขนมหวานหรือร้านอาหารทั่วไป   

ร้านต่าง ๆ รวมถึงเชฟขนมหวาน ก็ยิ่งสนุกกับการผสมสี ปรุงรสชาติ ของบิงซู รวมทั้งปรับขนาดหลากหลาย เพื่อหวังดึงดูดลูกค้าให้ว้าว ทุกครั้งที่บิงซูถูกเสิร์ฟที่โต๊ะ

จากเมนูพื้นบ้านเกาหลีสู่ร้านขนมหวานหรูของเอเชีย

บิงซู รวมทั้งขนมหวานประเภทพาย เค้ก ถั่วแดง เค้กข้าว ของเกาหลี เหมือนได้รับการชุบชีวิตใหม่อีกครั้ง นับตั้งแต่ที่วัฒนธรรมเกาหลีถูกเผยแพร่ออกไป โดยเฉพาะผ่านสื่อบันเทิง อย่างซีรีส์ โดยเฉพาะช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ตลาดขนมเหล่านี้กลับมาได้รับการพูดถึง ยอมรับ และบรรจุเป็นเมนูอยู่ในร้านขนมดัง ๆ ทำให้ตลาดขนมดั้งเดิมของเกาหลีเหมือนเกิดใหม่อีกครั้ง จนถึงขั้นดึงดูดร้านขนมดังจากต่างประเทศต้องเข้ามาขอร่วมแชร์ส่วนแบ่งตลาดขนมในเอเชียและในเกาหลีเอง

ดังเช่นกรณีร้านเดอะชีสเค้กแฟคตอรี่ (The Cheesecake Factory) ร้านขนมชื่อดังจากอเมริกาก็บุกเข้าเกาหลีในช่วง 3-4 ปีก่อนหน้านี้ และขยายไปประเทศอื่น ๆ ในเอเชียรวมทั้งไทยด้วย และที่เห็นได้ชัดคือการเกิดปรากฏการณ์ของ คาเฟ่ขนม (dessert cafés) ที่มีลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละร้านเกิดขึ้นจำนวนมากในกรุงโซล

ปรากฏการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขนมหวานดั้งเดิม ที่เคยถูกมองว่าโบราณ อยู่นอกสายตาคนรุ่นใหม่กลับมานิยมอีกครั้ง ทั้งถั่วแดง น้ำแข็งไสบิงซู และเค้กข้าว

แน่นอน สำหรับประเทศไทย บิงซู เป็นวัฒนธรรมที่สาวกเกาหลีของไทยรับมามากขนาดไหน ไม่ต้องสืบให้มาก เอาแค่ทุกวันนี้จะกินน้ำแข็งไสราดนมธรรมดา คนรุ่นใหม่ก็แทบจะเปลี่ยนไปเรียกว่าเป็นบิงซูกันไปหมดแล้ว

แม้แต่ไอศกรีมสเวนเซ่นส์ก็ต้องยอมทิ้งลาย เอาไอศกรีมมาปั่นเป็นบิงซู เอาใจลูกค้า 

ความนิยมของบิงซู แรงขนาดทำให้ร้านไอศกรีมอย่าง สเวนเซ่นส์ ซึ่งมียอดขายตกต่อเนื่องติดกันมา 2-3 ปี ยังต้องเลือกหันมาเล่นเกมตามกระแส เอาไอศกรีมมาปั่นเป็นบิงซู เสิร์ฟเอาใจลูกค้ายุคนี้ เพราะโดนพื้นฐานบิงซู ก็คือการเอานมปรุงรสชาติแล้วมาปั่นเป็นเกล็ดหิมะดี ๆ นี่เอง แถมตั้งราคาขายได้แพงกว่าไอศกรีมด้วยซ้ำ สำหรับบิงซูสเวนเซ่นส์ที่ขายตั้งแต่ถ้วยละ 199-319 บาท

แม้แต่ ไทยดริ้งค์ เจ้าของน้ำอัดลมเอส หลังจากผลวิจัยตลาดพบว่า “บิงซู” คือที่ 1 ขนมหวานของวัยรุ่น จึงต้องนำเอา “บิงซู” มาใช้กับน้ำอัดลมสีตัวใหม่ คือ เอสเพลย์ กลิ่นเมลอนบิงซู เอาใจวัยทีนและเอสเพลย์ กลิ่นแมงโก้บิงซู เพื่อจับกลุ่เป้าหมายที่เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาหน่อย รวมถึงร้านอาหารญี่ปุ่น “โออิชิ” ยังต้องเพิ่มขนมคากิโกริใส่ในเมนูของหวานถึง 3 รสชาติ

เช่นเดียวกับ ร้านไอศกรีม ร้านขนมหวาน รวมถึงร้านอาหารอื่น ๆ ทั้งที่เป็นเชน และเป็นร้านเดี่ยว ไม่ว่าเหยียบย่างเข้าร้านไหน บิงซู ก็ถูกบรรจุเป็นเมนูขนมหวานสามัญประจำร้านกันทั่วทุกร้านแล้ว แถมยังต้องทำป้ายสวย ๆ เรียกแขกไว้หน้าร้านเป็นเมนูไฮไลต์อีกด้วย

ไม่น่าเชื่อจริง ๆ ว่ายุคนี้ แค่เปลี่ยนจากคำว่าน้ำแข็งไส แถมคำว่าทรงเครื่องให้ด้วย ถ้าทำเป็น บิงซู ให้เกล็ดน้ำแข็งนุ่มและมีรสชาติในตัว เท่านี้ก็อัพราคาจากถ้วยละหลักสิบ เป็นหลัก 2-3 ร้อยบาทได้สบาย ๆ

ของอร่อย กินง่าย รสชาติหลากหลาย ถ่ายรูปแชร์ต่อก็เริ่ด ยิ่งเป็นการเสริมยอดขายต่อยอดความดังให้บิงซู ติดท็อปชาร์ตอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้นั่นเอง.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0