"อังกฤษ" จ่อออกกฏหมายใหม่ ห้ามเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์ "อเมริกัน บูลลี่" มีผลบังคับใช้สิ้นปีนี้ หลังพบเหตุกัดคนหลายครั้ง เป็นอันตรายต่อชุมชนโดยเฉพาะลูกหลาน
หนังสือพิมพ์เดลี เมล ของอังกฤษ รายงานว่า รัฐบาลอังกฤษจะออกกฎหมายห้ามเลี้ยงสุนัขพันธุ์ "อเมริกัน บูลลี่" (American XL Bully) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่สิ้นปี 2566 เป็นต้นไป หลังมีรายงานหลายครั้ง กรณีสุนัขพันธุ์ดังกล่าวทำอันตรายคน และอธิบายเพิ่มเติมว่า เกณฑ์การห้ามนั้น พิจารณาถึงรูปแบบพฤติกรรมที่ไม่สามารถให้ทำต่อไปได้
การเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังมีรายงานว่า มีผู้ถูกสุนัขสายพันธุ์นี้กัดหลายครั้งด้วยกัน รวมถึง กรณีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา ที่ชายคนหนึ่งถูกสุนัขอเมริกัน บูลลี่ 2 ตัว รุมกัดจนเสียชีวิต เพียง 1 วัน หลังมีรายงานสุนัขทำร้ายเด็กชายวัย 10 ขวบ ขณะที่กำลังเล่นฟุตบอล อยู่บริเวณนอกรั้วหน้าบ้าน จนได้รับบาดเจ็บมีแผลตามแขนและขา
ภาพจากกล้องวงจรปิดเผยให้เห็นสุนัขวิ่งผ่านถนน ก่อนที่จะหันหลังกลับ และตะครุบร่างของเด็กชาย โดยลากลงไปที่พื้นขณะที่กัดแขนของเด็กชายแบบจมเขี้ยว
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้นายกรัฐมนตรีริชชี ซูแน็ก ของอังกฤษ ระบุว่า สุนัขพันธุ์อเมริกัน บูลลี่เป็นอันตรายต่อชุมชนโดยเฉพาะลูกหลาน
เขาบอกด้วยว่า ภาพจากคลิปวีดีโอ แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากการที่สุนัขได้รับการฝึกฝนมาไม่ดีเพียงไม่กี่ตัว แต่เป็นพฤติกรรมแบบหนึ่ง และไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ แม้ว่าเจ้าของมีหน้าที่รับผิดชอบในการควบคุมสุนัข แต่เขาต้องการให้ความมั่นใจกับประชาชนว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อหาวิธีหยุดการโจมตีเหล่านี้และปกป้องประโยชน์ของสาธารณะ
ผู้นำอังกฤษ ระบุว่า ได้มอบหมายให้บรรดารัฐมนตรี นำตำรวจและผู้เชี่ยวชาญมารวมตัวกัน เพื่อกำหนดสายพันธุ์ของสุนัขที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีเหล่านี้ก่อน เพื่อกำหนดให้สุนัขเหล่านั้นผิดกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันนี้ยังไม่ใช่สายพันธุ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ดังนั้นก้าวแรกที่สำคัญนี้จะต้องเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จากนั้นจะสั่งห้ามสุนัขพันธุ์นี้โดยอาศัยอำนาจของ พ.ร.บ.สุนัขอันตราย และกฎหมายใหม่จะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปีนี้
ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2534 รัฐสภาอังกฤษ ได้ผ่าน พ.ร.บ.สุนัขอันตราย สั่งห้ามเลี้ยงสุนัขพันธุ์ "พิทบูล เทอร์เรีย" (Pit Bull Terrier)” ด้วยเหตุผลถึงการเป็นอันตรายต่อชุมชนเช่นกัน ตามด้วยการสั่งห้ามเลี้ยงสุนัขพันธุ์พิทบูล โดสะ (Dosa-สุนัขพันธุ์ใหญ่ของญี่ปุ่น) โดโก อาร์เจนติโน (Dogo Argentino-สุนัขพันธุ์ใหญ่ของอาร์เจนตินา) และฟิลา บราซิเลโร (Fila Brasileiro-สุนัขพันธุ์ของบราซิล)
ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ผู้ที่ครอบครองสุนัขสายพันธุ์ต้องห้ามก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะต้องทำหมันสุนัข และขึ้นทะเบียนด้วยรอยสัก และการฝังไมโครชิป การพาสุนัขเหล่านี้ออกไปนอกเคหสถานต้องสวมอุปกรณ์ครอบปาก และเจ้าของต้องซื้อประกันบุคคลที่สาม ในกรณีที่สัตว์เลี้ยงไปทำร้ายผู้อื่น
อย่างไรก็ตาม ก่อนเส้นตายมีผลบังคับใช้ในปี 2534 พบว่า 3 ใน 4 ของผู้เลี้ยงสุนัขพิตบูลจำนวน 10,000 ตัวในอังกฤษล้มเหลวในการนำสุนัขไปขึ้นทะเบียน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ความเห็น 5
Matt
ไทยน่าจะเอาอย่าง
16 ก.ย 2566 เวลา 15.36 น.
ก.คนบ้านไกล
บ้านเราให้เลี้ยงเลยครับ อย่าห้าม แต่ขออวยพรให้กัดเจ้าของตายๆๆๆๆๆๆ
16 ก.ย 2566 เวลา 15.55 น.
Phairat
เยี่ยมมากๆขอชื่นชม
17 ก.ย 2566 เวลา 02.44 น.
Nattanit Keawngam
ความซวยบังเกิดกับหมา
16 ก.ย 2566 เวลา 15.42 น.
ดูทั้งหมด