โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

พระเจดีย์ 'กู่เต้า' บรรจุอัฐิเจ้าฟ้าสาวัตถี โอรสของพระเจ้าบุเรงนองจริงหรือไม่?

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 21 ก.ค. 2566 เวลา 13.20 น. • เผยแพร่ 21 ก.ค. 2566 เวลา 13.18 น.
เพ็ญสุภา 2240

พระเจดีย์ ‘กู่เต้า’ บรรจุอัฐิเจ้าฟ้าสาวัตถี

โอรสของพระเจ้าบุเรงนองจริงหรือไม่?

ความสับสนเรื่องสิ่งที่บรรจุอยู่ภายในพระเจดีย์ของวัดกู่เต้า ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 60 ถนนกู่เต้า ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ด้านรอบนอกคูเมืองฝั่งประตูช้างเผือก ทางไปมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่นั้น ก็คือข้อถกเถียงที่แตกเป็นสองกรณี มีมานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว

กรณีแรก เจดีย์กู่เต้าสร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระอัฐิของเจ้าฟ้าสาวัตถี โอรสของพระเจ้าบุเรงนอง ที่มอบหมายให้ปกครองเมืองเชียงใหม่ ใช่หรือไม่?

กรณีที่สอง เจดีย์กู่เต้าสร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุตามจารีตของวัดหลวงในล้านนาทั่วไป

ความเป็นจริงย่อมมีหนึ่งเดียว หากข้อมูลแรกถูกต้อง ข้อมูลที่สองย่อมคลาดเคลื่อน ในทางกลับกัน หากข้อมูลหลังเชื่อถือได้ แสดงว่าข้อมูลแรกย่อมผิดพลาด เป็นการยากหรือไม่ที่จะให้เอาอัฐิของฆราวาสแม้จะเป็นกษัตริย์ ไปบรรจุรวมไว้ในสถูปองค์เดียวกันกับเจดีย์ที่เชื่อว่ามีพระบรมสารีริกธาตุมาก่อนแล้ว?

อาจารย์ชุ่ม ณ บางช้าง

กับข้อมูลเรื่องเจ้าฟ้าสาวัตถี

รองอำมาตย์โท ชุ่ม ณ บางช้าง นักวิชาการด้านล้านนาศึกษา (มีอายุร่วมสมัยกับอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์) เป็นท่านแรกที่เปิดประเด็นข้อมูลว่า ภายในสถูปวัดกู่เต้า เป็นที่บรรจุอัฐิของเจ้าฟ้าสาวัตถี

กษัตริย์พระองค์นี้มีหลายพระนาม อาทิ เจ้าฟ้าสารวดี/ฟ้าสาวัตถีนรถามังคะยอ/พระเจ้ามังทรา/อโนรธาเมงสอ/นรธามังช่อ ท่านเป็นราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์แห่งราชวงศ์ตองอูผู้เกรียงไกร ยกทัพมาตีล้านนาแตกปี พ.ศ.2101 เจ้าฟ้าสาวัตถีประสูติแต่มเหสีลำดับสามของพระเจ้าบุเรงนอง ชื่อ “นางราชเทวี” และถูกส่งมาครองเมืองเชียงใหม่ระหว่าง 2121-2156

อาจารย์ชุ่มเอาข้อมูลนี้มาจากไหน พบว่าท่านเขียนไว้ในหนังสือ “ตำนานวัดกู่เต้า” พิมพ์จำหน่ายในงานฉลองอุโบสถวัดกู่เต้า วันที่ 7-9 มีนาคม 2513 ความปรากฏในหน้า 14 โดยท่านอ้างว่า พงศาวดารพม่าฉบับหนึ่งในจำนวนสี่ฉบับ? ได้กล่าวถึงการสร้างเจดีย์กู่เต้าองค์นี้ไว้อย่างสังเขปว่า

“เป็นที่บรรจุพระอัฐิและพระอังคารธาตุของพระมหาราชเม็งซานรธามังคุย (อโนรธามังช่อ/ฟ้าสาวัตถี) ซึ่งเป็นราชโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ซึ่งมาครองเมืองเชียงใหม่แทนนางพญาวิสุทธิเทวี”

ข้อความดังกล่าวไม่ระบุว่า พงศาวดารพม่าต้นฉบับที่อาจารย์ชุ่มนำมาใช้อ้างอิงนั้นคือเล่มใด จึงทำให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือถูกลดทอน บังเกิดความคลางแคลงน่าสงสัยเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องราวดังกล่าว อาจสอดคล้องกับการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ที่เคยสัมภาษณ์คนเฒ่าคนแก่ ขณะที่สำรวจพระเจดีย์เพื่อทำการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ.2523 คนสูงอายุเล่าว่า

ครั้งหนึ่งเมื่อพม่ายกทัพมาตีนครเชียงใหม่เข้าหักเอาเมืองไม่ได้ จึงท้าพนันสร้างเจดีย์แข่งกัน ฝ่ายไหนทำเสร็จก่อนเป็นผู้ชนะ ทางพม่าสร้างเจดีย์กู่เต้า ทางเชียงใหม่สร้างพระเจดีย์ใหญ่กลางใจเมือง แต่เชียงใหม่สร้างได้เพียงแค่ฐาน ทางพม่าสร้างเสร็จกว่าครึ่งองค์แล้ว ฝ่ายเชียงใหม่จึงใช้อุบายสานเสื่อลำแพนหลายผืนทาสีดินแดงคล้ายอิฐ ใช้ไม้ไผ่ลำยาวเอาโคนฝังดินทำเป็นรูปเจดีย์ แล้วเอาเสื่อล้อมติดโครงไม้ไผ่จนถึงยอด มองไกลๆ คล้ายเจดีย์ใหญ่เพื่อให้พม่าเห็นเข้านึกว่าตนแพ้จะได้เลิกทัพกลับไป

เรื่องที่กล่าวมานี้ ถือว่าเป็นเพียงมุขปาฐะบอกเล่าสืบต่อกันมา ไม่สามารถระบุตัวบุคคลและศักราชได้ หากจะพูดถึงความสัมพันธ์ของวัดกู่เต้ากับชาวพม่าแบบเป็นรูปธรรมก็คือ พ.ศ.2380 สมัยเจ้าหลวงพุทธวงค์ (แผ่นดินเย็น) แห่งเชียงใหม่ โปรดให้มีการคัดลอก “โคลงมังทรารบเชียงใหม่” ที่วัดกู่เต้าแห่งนี้

แล้วเราจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้อย่างไร ในเมื่อทางวัดกู่เต้าเอง ก็ไม่มีการพบจารึก หรือบันทึกหลักฐานด้านประวัติการก่อสร้างพระเจดีย์แต่ประการใดเลย

ถอดหัสจารึกวัดเวฬุวันอาราม

วัดกู่เต้า เป็นคำที่เรียกกันแบบลำลอง มาจากคำสองคำ คำแรก “กู่” แปลว่าที่บรรจุอัฐิ หรือเถ้าถ่านที่เผาศพ กับคำว่า “เต้า” เป็นการเรียกตามรูปทรงเจดีย์ที่คล้ายผลแตงโม (ภาษาล้านนาเรียก ผลบะเต้า) ในขณะที่กรมศิลปากรใช้คำว่าเจดีย์ทรง “บาตรซ้อน 5 ชั้น” ซึ่งนักโบราณคดีกรมศิลปากรพิจารณาแล้ว เห็นว่าเจดีย์กู่เต้าควรได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะจีนมากกว่าพม่า

ส่วนชื่อดั้งเดิมคือ “วัดป่าไผ่” บ้างเรียก “วัดป่าหก” ตรงกับภาษาบาลีว่า “เวฬุวัน” หรือ “เวฬุวนาราม” เกี่ยวกับชื่อเวฬุวนารามนี้มีการศึกษากันหลายกระแส กระแสแรกปรากฏในตำนานพระเจ้าเลียบโลก กัณฑ์ที่ 5

“สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงประทับนั่งที่โคนไม้หกกอหนึ่ง แล้วพยากรณ์ว่า ต่อไปภายหน้า สถานที่นี้จะได้ชื่อว่า ‘ป่าเวฬุวนาราม’ แล้วพระอรหันต์และพระเจ้าอโศกราช ก็ทูลขอพระเกศาธาตุหนึ่งองค์ บรรจุไว้ในที่นั้นปรากฏชื่อว่า ‘เวฬุวันวัดป่าหก’ บัดนี้แล”

กระแสที่สอง อาจารย์จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะให้ความเห็นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 ช่วงลงพื้นที่ทัศนศึกษาวัดกู่เต้า กิจกรรมหนึ่งของงานเปิดตัวกองทุนสงวน โชติสุขรัตน์ ว่า

“ชื่อวัดในทำนอง ‘เวฬุวัน’ หรือ ‘ป่าไผ่’ ที่ตั้งอยู่ในเมืองเชียงใหม่นี้ เท่าที่ค้นพบหลักฐานมีอยู่สองแห่ง แห่งแรกคือวัดอุโมงค์ (หลัง มช.) ชื่อวัด ‘เวฬุกัฏฐาราม’ ที่แปลว่าวัดไผ่ 11 กอ

กับอีกวัดชื่อ ‘เวฬุวันอาราม’ มีการพบจารึกหลักนี้ที่วัดร้างแห่งหนึ่ง อยู่แถวบ้านสันมะค่า รอยต่อ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน กับแถววัดปันเจียง อ.สารภี จ.เชียงใหม่ แต่เนื้อหาของจารึกหลักนี้ ระบุถึงพระมหาเถระชั้นสูงที่ประทับจำพรรษาในเมืองเชียงใหม่ทั้งหมด ทำให้ชวนสงสัยว่าวัดเวฬุวันที่กล่าวถึงในจารึกน่าจะหมายถึงวัดกู่เต้ามากกว่าจะเป็นวัดใดวัดหนึ่งในเมืองลำพูน”

ดร.ฮันส์ เพนธ์ แห่งสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการปริวรรตถอดความจารึกวัดเวฬุวันอาราม หรือ ลพ.18 ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน ไว้ว่า

“พ.ศ.2031 พันยี่ ซาวกลุ่ม (หรืออาจเป็น ซางคุณ/ส่างขุน) สร้างอารามนี้ชื่อ เวฬุวันนะ และนิมนต์พระครูจุฬาไพยมาเป็นเจ้าอาวาส พระครูอุทิศบุญที่สร้างวัดนี้แด่ พระมหาเทวี ณ ที่ลานพระมหาธาตุ (ไม่ทราบแน่ชัดว่าหมายถึงลานพระธาตุหริภุญไชย ลำพูน หรือที่ไหน?) ต่อหน้าพระสงฆ์มีต้นว่า มหาสามีญาณโพธิ เจ้าอาวาสวัดป่าแดง และมหาเถรสวรศรี เจ้าอาวาสวัดมหาโพธิ (วัดเจ็ดยอด เชียงใหม่)…”

อาจารย์จิรศักดิ์ ชี้ว่าหากจารึกเวฬุวันอาราม หลัก ลพ.18 หมายถึงวัดกู่เต้าจริง ก็เท่ากับว่า วัดกู่เต้ามีมาแล้วอย่างน้อยในปี 2031 อันเป็นปีแรกๆ ของรัชกาล “พระญายอดเชียงราย” กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ 10 ผู้ครองราชย์สืบต่อจากพระเจ้าติโลกราช ซึ่งสิ้นพระชนม์ปี 2030

กู่เต้าค่อนไปทางจีนมากกว่าพม่า?

ความที่พระเจดีย์กู่เต้ามีรูปทรงบาตรคว่ำคล้ายผลบะเต้าซ้อน ลดหลั่นจากใหญ่ไปหาเล็ก 5 ชั้น แต่ละชั้นมีซุ้มจระนำ (ซุ้มพระพุทธรูป) 4 ด้าน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ ดูโดยรวมแล้วคล้ายศิลปะแบบจีนมากกว่าพม่า

อาจารย์จิรศักดิ์ จึงชวนให้พิจารณาถึง “สายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างจีนกับล้านนาในสมัยพระญายอดเชียงราย” ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่

สอดคล้องกับข้อมูลของอาจารย์ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร นักประวัติศาสตร์ระดับชาติผู้ล่วงลับ ที่ได้แปลและจัดทำคำบรรยายสรุปเอกสารจดหมายเหตุสมัยราชวงศ์หมิง หรือที่คนไทยรู้จักในนาม “หมิงสื่อลู่” ที่จีนบันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับแว่นแคว้นในล้านนา หมิงสื่อลู่กล่าวถึงพระยอดเชียงราย “ตาวเย่าเจิ่งไล่” ดังนี้

“ปี 2032 ตาวเย่าเจิ่งไล่ นัดดาของตาวหล่านนา (พระเจ้าติโลกราช) ข้าหลวงเมืองปาไป่ต้าเถี้ยน (เชียงใหม่) ได้เข้ามาถวายสิ่งของพื้นเมืองและขอรับตำแหน่งสืบต่อจากปู่ …ปี 2036 ตาวเย่าเจิ่งไล่ ส่งขุนนางระดับโถวมู่มาถวายราชบรรณาการ”

เห็นได้ว่าในช่วงเวลา 4-5 ปีแรกของการครองบัลลังก์ พระญายอดเชียงรายเจริญสัมพันธไมตรีอันดีงามกับจีนถึงสองครั้ง จนถึงกับพระองค์ถูกทำรัฐประหารโดยพระมเหสีชื่อพระนางโป่งน้อย ดังที่อาจารย์ ดร.วินัยดึงข้อความมาจากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ แล้วเรียบเรียงให้เข้าใจง่ายว่า

“ปี 2038 ขุนนางถอดเจ้ายอดเชียงรายออกจากราชบัลลังก์ด้วยข้อหาว่าทรงเอาใจและผ่อนปรนต่อข้อเรียกร้องของพวกจีนฮ่อ (กรมการเมืองยูนนาน) มากเกินไป ยิ่งกว่านั้นยังทรงรักลูกเลี้ยงที่เป็นเชื้อสายฮ่อยิ่งกว่าเจ้าแก้ว (พระเมืองแก้ว) พระราชโอรสแท้ๆ อันเกิดแต่พระนางโป่งน้อย อัครราชเทวี ซ้ำยังส่งเสริมให้พระโอรสเลี้ยงเชื้อสายฮ่อไปเป็นเจ้าเมืองแห่งหนึ่งด้วย”

ข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ทำให้นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า เจดีย์ทรงน้ำเต้าที่วัดกู่เต้าก็ดี หรือกลุ่มเจดีย์ที่คล้าย “ถะ” ของจีน ได้แก่ ที่วัดร่ำเปิงตะโปทาราม วัดเชียงโฉม และวัดพวกหงส์ก็ดี ล้วนเป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลจีน ซ้ำยังปรากฏรูปแบบเฉพาะขึ้นในช่วงสั้นๆ รัชสมัยพระญายอดเชียงรายเท่านั้น

สถูปอัฐิเจ้าฟ้าสาวัตถีอยู่ที่ไหน?

ส่วนปริศนาที่ว่า แล้วกู่บรรจุอัฐิเจ้าฟ้าสาวัตถี อโนรธามังช่อนั้นอยู่ที่ไหนกันเล่า ในเมื่อนักวิชาการส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าเจดีย์กู่เต้าสร้างขึ้นราวต้นรัชกาลของพระญายอดเชียงรายเสียแล้ว อันเป็นระยะเวลาที่ห่างไกลจากการปลงพระศพเจ้าฟ้าสาวัตถีถึง 200 ปี

จากการสัมภาษณ์พระครูประภัศร์ธรรมรังษี (ครูบาจันทรังสี) เจ้าอาวาสวัดกู่เต้า ถึงเรื่องสถูปอีกองค์ที่อาจารย์ชุ่ม ณ บางช้าง ได้ข้อมูลมาว่าบรรจุสรีรางคารของโอรสพระเจ้าบุเรงนองนั้น ท่านพระครูสันนิษฐานว่า สถูปองค์ดังกล่าวคงเคยมีอยู่จริง เพราะบริเวณด้านหน้าวัดไกลออกไปเคยเป็น “ป่าเห็ว” (ป่าช้า) ใช้เป็นที่เผาศพ แต่ปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนพื้นที่การใช้สอยไปแล้ว

เราจึงไม่เหลือหลักฐานเชิงรูปธรรมของสถูปบรรจุอัฐิเจ้าฟ้าสาวัตถีใกล้วัดกู่เต้าแต่อย่างใดแล้ว

ส่วนสถูปองค์ที่เห็นภายในวัดกู่เต้าก็คือเจดีย์เวฬุวันอาราม ที่สร้างในสมัยพระญายอดเชียงราย ระหว่าง พ.ศ.2032-2037 ช่วงที่พระองค์เจริญสัมพันธไมตรีอันแนบแน่นกับจักรพรรดิจีนราชวงศ์หมิง ก่อนจะถูกรัฐประหารในปี 2038 •

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ

สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj

— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น