ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ของ สศก. โดยศูนย์ประเมินผล เพื่อติดตามประเมินผลโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ของกลุ่มแปลงใหญ่กาแฟบ้านป๊อก ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 16-21 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มแปลงใหญ่กาแฟบ้านป๊อก ถือเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ เกษตรกรมีการผลิตและกำหนดมาตรฐานอย่างเข้มงวด จนสามารถพัฒนาไปสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์และการเชื่อมโยงตลาด สร้างรายได้ให้กับกลุ่มถึงปีละ 16 ล้านบาท
สำหรับกลุ่มแปลงใหญ่กาแฟบ้านป๊อก เดิมเกษตรกรมีการทำไร่กาแฟพันธุ์ Arabica ซึ่งเป็นพันธุ์เหมาะสมกับพื้นที่สูง โดยปลูกแซมในพื้นที่ป่า ต่อมาได้มีการรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกชา-กาแฟคุณภาพบ้านป๊อก และเข้าร่วมโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ในปี 2561 มีสมาชิกกลุ่ม 30 ราย พื้นที่ 400 ไร่ มี คุณไพบูรณ์ พรหมเป๊ง เป็นประธานแปลง โดยทางกลุ่มได้รับการส่งเสริมการพัฒนาตามแนวทางของโครงการตลอด 3 ปีอย่างต่อเนื่อง เช่น การดูแลต้น การแต่งกิ่งและผล การลดต้นทุนการผลิตผ่านการใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ การใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อให้ได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพ ตลอดจนการพัฒนาไปสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์และการเชื่อมโยงตลาด ซึ่งปกติเกษตรกรจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคมของทุกปี ทั้งนี้ พื้นที่ 1 ไร่ เกษตรกรจะเก็บผลกาแฟสดได้ประมาณ 300 กิโลกรัม และเมื่อผ่านการแปรรูปแล้ว กลุ่มจะได้ผลผลิตทั้งหมดปีละประมาณ 32,000 กิโลกรัม
จุดเด่นสำคัญของกลุ่มแปลงใหญ่กาแฟบ้านป๊อกคือ กระบวนการผลิต โดยเกษตรกรให้ความสำคัญในการกำหนดมาตรฐาน ตั้งแต่การปลูก กระบวนการเก็บเกี่ยว จนถึงกระบวนการแปรรูป ซึ่งปัจจุบันทางกลุ่มจะแปรรูปเมล็ดกาแฟเป็น 2 แบบ คือ
แปรรูปโดยใช้น้ำทุกขั้นตอน (Washed Process) ด้วยการเก็บผลกาแฟสด แกะเอาเฉพาะส่วนเมล็ดแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน เพื่อให้เมือกที่หุ้มเมล็ดหลุดออก และล้างน้ำสะอาดก่อนตากแดดทิ้งไว้ ใช้ระยะเวลาประมาณ 8 แดด จะได้เมล็ดแห้งที่มีเปลือกหุ้มหรือเมล็ดกะลา และ
การแปรรูปแบบกึ่งเปียกกึ่งแห้ง (Honey Process) ซึ่งเมื่อปอกเอาเมล็ดที่มีเมือกหุ้ม จะใช้การหมักเมล็ดกาแฟพร้อมกับเนื้อกาแฟและตากแห้งโดยที่มีเมือกคงไว้ ทั้งนี้ เมื่อทั้ง 2 กระบวนการแปรรูปสิ้นสุด เกษตรกรจะเก็บเมล็ดกาแฟใส่ถุงซิปล็อกเพื่อควบคุมคุณภาพ ในช่วงเวลาที่พอเหมาะไม่เกิน 8 เดือน ก่อนจะนำเมล็ดกาแฟไปสี (กะเทาะเปลือกออก) จนได้ผลิตภัณฑ์เป็นเมล็ดกาแฟสาร (Green beans) โดยการคั่วจะสามารถแบ่งรสสัมผัสของกาแฟออกได้ 3 ลักษณะ คือ
เมล็ดกาแฟคั่วอ่อน จะใช้การคั่วประมาณ 13 นาที ลักษณะกาแฟที่ได้จะเปรี้ยวนำ
เมล็ดกาแฟแบบคั่วกลาง จะใช้เวลาคั่วประมาณ 15 นาที เมล็ดกาแฟที่ได้จะมีลักษณะขมอมเปรี้ยว และ
กาแฟคั่วเข้ม จะใช้เวลาคั่ว 16-17 นาที รสชาติที่ได้จะขม โดยภายหลังจากการคั่วเมล็ดกาแฟที่ได้ต้องบรรจุถุงปิดสนิทเก็บไว้อย่างดี เพราะเมล็ดกาแฟที่ผ่านการคั่วแล้ว จะซึมซับกลิ่นรอบข้างเสมอ ซึ่งกระบวนการการผลิตในทุกขั้นตอน ทางกลุ่มแปลงใหญ่กาแฟบ้านป๊อก ได้เน้นถึงมาตรการ คุณภาพ มาตรฐาน และสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด
ด้านมูลค่าผลิตภัณฑ์ ทางกลุ่มจำหน่ายเมล็ดกาแฟที่คั่วแล้วในราคากิโลกรัมละ 500 บาท และในอนาคตจะมีการพัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการคั่วกาแฟเมล็ด การคั่วบด การคั่วกาแฟดริป และกาแฟคั่วสมุนไพร ซึ่งจะสามารถเพิ่มมูลค่าราคาจำหน่ายได้เป็นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 600 บาท (คั่วบด/เมล็ด บรรจุถุง 250 กรัม ราคาจำหน่ายถุงละ 150 บาท) ขณะที่ด้านการตลาด ทางกลุ่มมีการส่งผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายยังร้านค้าที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น ร้านวิสาหกิจแปลงใหญ่ ร้านกาแฟท้องถิ่น จำหน่ายออนไลน์ Facebook และส่งผลผลิตเข้าโครงการหลวง
“ปัจจุบัน ทางกลุ่มแปลงใหญ่กาแฟบ้านป๊อก สร้างรายได้มากถึงปีละ 16 ล้านบาท สามารถมีเงินทุนเพื่อใช้รับซื้อเมล็ดกาแฟจากสมาชิก เกษตรกรมีการนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรม มาร่วมกันซื้อปัจจัยการผลิต รวมกลุ่มทำน้ำหมักชีวภาพและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และในอนาคตทางกลุ่มแปลงใหญ่กาแฟบ้านป๊อก มีเป้าหมายที่จะผลักดันสินค้ากาแฟให้ได้รับมาตรฐานสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย หรือ GI และจะผลักดันเป็นสินค้าพรีเมี่ยม ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว การพักผ่อนแบบโฮมสเตย์ ส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชนให้ยั่งยืนร่วมกัน ซึ่งหากท่านใดสนใจผลิตภัณฑ์ของทางกลุ่ม หรือต้องการเข้าไปศึกษาดูงาน สามารถติดต่อได้ที่ประธานกลุ่ม คุณไพบูรณ์ พรหมเป๊ง โทร. 080-682-9568 ซึ่งยินดีต้อนรับและให้คำแนะนำกับเกษตรกรหรือผู้สนใจทุกท่าน” รองเลขาธิการ สศก. กล่าว
ความเห็น 0