โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

พระพุทธโสธร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ลอยน้ำในตำนานแต่ครั้งรัชกาลที่ 5

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 18 พ.ค. เวลา 13.37 น. • เผยแพร่ 18 พ.ค. เวลา 00.29 น.
ภาพปก-หลวงพ่อโสธร
ภาพถ่ายหลวงพ่อโสธรจากป้ายจัดแสดงขั้นตอนการอนุรักษ์โดยวัดโสธรวรารามวรวิหาร ร่วมกับกรมศิลปากร ในการปฏิบัติงานอนุรักษ์หลวงพ่อโสธร (ภาพถ่ายโดย Nontapron Youmangmee เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2565)

“…พระประธานในพระอุโบสถวัดนี้ เป็นพระศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจังหวัดนี้นับถือมาก มีคนมานมัสการไม่ขาด และมีการไหว้ประจำปี กำหนดในวันเพ็ญเดือน 12 ถึงวันนี้ มีเรือมาเป็นอันมาก นอกจากไหว้พระ มีการออกร้านและแข่งเรือ…” พระดำรัส สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรส คราวเสด็จตรวจคณะสงฆ์ในมณฑลปราจีนบุรี พ.ศ. 2459 โดยพระประธานในข้อความข้างต้นคือพระพุทธโสธร หรือ “หลวงพ่อโสธร” แห่งวัดโสธรวรารามวรวิหาร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา

ประวัติความเป็นมาของ พระพุทธโสธร นั้น มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปดังนี้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบันทึกไว้ในพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อเสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรี ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ตอนหนึ่งว่า

“…พระพุทธรูป ว่าด้วยศิลาแลงทั้งนั้น องค์ที่สำคัญว่าเป็นหมอดีนั้น คือองค์ที่อยู่กลางดูรูปตักและเอวงาม ทำเป็นทำนองเดียวกันกับพระพุทธเทวปฏิมากร แต่ตอนบนกลายไปเป็นด้วยฝีมือผู้ที่ไปปั้นว่าลอยน้ำก็เป็นความจริงเพราะเป็นพระศิลาคงจะไม่ได้ทำในที่นี้…”

พันเอกหลวงรณสิทธิ์พิชัย อธิบดีกรมศิลปากร (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2493-2498) บันทึกเรื่องการสำรวจของโบราณในเมืองไทยเกี่ยวกับพระพุทธโสธรว่า

“…หลวงพ่อโสธรเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิหน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง 1.98 เมตร เป็นพระพุทธรูปที่บูรณะขึ้นในปลายสมัยอยุธยา หรือต้นสมัยรัตนโกสินทร์ และช่างผู้บูรณะนั้นเข้าใจว่าจะเป็นฝีมือช่างผู้มีภูมิลําเนาอยู่ทางภาคอีสาน ประวัติที่ข้าพเจ้าพึง กล่าวได้นั้นมีเพียงเท่านี้ และที่กล่าวนี้โดยอาศัยวัตถุที่เห็นเท่านั้น…”

นายตรี อมาตยกุล อดีตหัวหน้ากองวรรณคดี กรมศิลปากร ก็กล่าวถึงพระพุทธโสธรไว้ในเรื่องนําเที่ยวฉะเชิงเทราว่า

“….พระพุทธโสธรเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ลงรักปิดทอง มีขนาดสูง 1 เมตร 94 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 1 เมตร ๖๕ เซนติเมตร เท่าที่ตรวจดูรูปภายนอกซึ่งลงรัก ปิดทองไว้ ปรากฏว่าเป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างแบบลานช้าง หรือซึ่งเรียกกันเป็น สามัญว่า พระลาว’ พระพุทธรูปแบบนี้นิยมทํากันมากที่เมืองหลวงพระบาง ในประเทศ อินโดจีนฝรั่งเศส และทางภาคอีสานของประเทศไทย…”

จากพระบรมราชวินิจฉัย และความเห็นข้างต้น พอจะสรุปได้ว่า หลวงพ่อโสธร ไม่ได้ทําขึ้นในจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ได้นํามาจากที่อื่น เพราะองค์พระทําด้วยศิลาแลง เป็นพระพุทธรูปฝีมือแบบชาวล้านช้างหรือที่เรียกว่า “พระลาว” ได้บูรณะหรือสร้างขึ้นในปลายสมัยอยุธยาหรือต้นสมัยรัตนโกสินทร์

หนังสือประวัติของพระพุทธโสธร พิมพ์โดยนายทองใบ ภู่พันธ์ มีบทสัมภาษณ์ เจ้าคุณพระเทพกวี วัดเทพศิรินทราวาส อดีตเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรี ระหว่างปี 2472-2442 ได้ความต้องกันเป็นส่วนมากว่า พระพุทธโสธร เดิมที่เกิดปาฏิหาริย์ลอยมาตามกระแสน้ำจากทางเหนือลําแม่น้ำบางปะกงนั้น เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิแกะด้วยฝีมือ ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 2 คืบเศษ

ข้อที่ว่าจะลอยมาจากแห่งหนตําบลไหน ตั้งแต่เมื่อใด ยังไม่มีใครสอบสวนได้ความ ส่วนที่ว่าพระพุทธโสธรลอยตามน้ำมาจริงหรือไม่ ท่านเชื่อว่าจริง โดยมีเหตุผลพอจะสันนิษฐานได้ว่า พระพุทธโสธรองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปแกะด้วยไม้โพธิ์ ซึ่งเข้าใจว่าสร้างขึ้นโดยฝีมือชาวเวียงจันทน์ หรือลาวนครเชียงรุ้ง หรือลาวโซ่งอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะเคยทราบมาว่า พวกลาวชาวพื้นเมืองที่กล่าวนี้นิยมสร้างพระพุทธรูปด้วยไม้โพธิ์และน่าคิดว่า พระพุทธรูปลอยน้ำมาจากทางเหนือลําแม่น้ำบางปะกง

นอกจากนี้ยังมีคำบอกเล่าเกี่ยวกับพระพุทธโสธร ปรากฏในประวัติหลวงพ่อวัดบ้านแหลมว่า มีพระพุทธรูป 3 องค์ที่เป็นพระพี่น้องกัน คือ หลวงพ่อวัดบ้านแหลม สมุทรสงคราม, หลวงพ่อ วัดบางพลี สมุทรปราการ และหลวงพ่อโสธร ฉะเชิงเทรา ลอยน้ำมาจากทางเหนือของไทย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดฉะเชิงเทรา, จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มิถุนายน 2563

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : พระพุทธโสธร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ลอยน้ำในตำนานแต่ครั้งรัชกาลที่ 5

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0