โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ประวัติศาสตร์ (ไม่) ลับฉบับ 'เหา' (3) เหาโบราณกับตำนานแห่งดินแดนพันธสัญญา

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 27 ธ.ค. 2566 เวลา 02.03 น. • เผยแพร่ 27 ธ.ค. 2566 เวลา 02.03 น.
ป๋วย copy

ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ

ประวัติศาสตร์ (ไม่) ลับฉบับ ‘เหา’ (3)

เหาโบราณกับตำนานแห่งดินแดนพันธสัญญา

ในปี 2021 ขณะที่แมเดลีน แมมคูโอกลู (Madeleine Mumcuoglu) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮิบรูที่เยรูซาเลม (Hebrew University of Jerusalem) กำลังหาภาพประกอบรายงานการค้นพบของเธอเกี่ยวกับเหาดึกดำบรรพ์ที่เธอศึกษาอยู่

ตาของเธอก็ไปสะดุดกับร่องรอยบางๆ บนรูปหวีงาช้างอันหนึ่งที่เธอถ่ายเก็บเอาไว้ในไอโฟนของเธอ และเมื่อแมเดลีนขยายภาพในจอของเธอให้ใหญ่ขึ้น เธอก็ตื่นเต้นกับการค้นพบของเธอ บนหวี มันเหมือนมีภาษาหรือรหัสบางอย่างสลักเอาไว้อยู่บางๆ บนหวีดึกดำบรรพ์อันนี้

บางที บนหวีนี้อาจจะมีความนัยอะไรซ่อนอยู่

หวีงานี้มาจากยุคสำริด (Bronze age) เพิ่งถูกขุดพบเมื่อปี 2016 จากแหล่งอารยธรรม “เทล ลาชิช (Tel Lachish)” ในตอนใต้ของประเทศอิสราเอล และที่น่าสนใจคือมันมีขนาดเล็กมากแค่ราวๆ หนึ่งนิ้วคูณหนึ่งนิ้วครึ่งเท่านั้น

เธอเริ่มตั้งสมมุติฐาน “บางที มันก็อาจจะเป็นหวีเล็กๆ ที่พ่อแม่สั่งทำขึ้นมาให้พวกเด็กๆ ก็ได้”

แต่คำถามคือตัวอักษรบนหวีนั้นเขียนว่าอะไร

แมเดลีนเล่าว่า ตอนนั้นเธอแค่ถ่ายรูปเก็บๆ เอาไว้ในไอโฟนเฉยๆ แบบไม่ได้คิดอะไรมาก รูปเลยไม่ดีขนาดจะเอามาใช้อะไรได้

และหลังจากที่เธอค้นพบรอยสลักปริศนาที่ฝังอยู่บนหวี เธอก็ตัดสินใจย้อนกลับไปที่ห้องทดลองของเธอเพื่อถ่ายรูปหวีอีกครั้ง คราวนี้ จัดแสงแบบจัดเต็ม

เธอพบว่ารอยสลักนี้ เป็นตัวอักษร 17 ตัวจากภาษาโบราณที่เรียกว่าภาษาแคนัน (Canaanite) ที่ร้อยเรียงออกมาเป็นถ้อยคำ 7 คำ ที่ถอดความออกมาได้ว่า “ขอให้งาช้างนี้ขจัดปัดเป่าเหาออกไปจากผมและเครา (May this tusk root out the lice of the hair and the beard)”

เดี๋ยวนะ เด็กที่ไหนมีเครา…มีเคราก็ไม่เด็กแล้วมั้ย

“บางที ในช่วงนั้นคนอาจจะอายที่มีเหาก็เป็นได้ ก็เลยทำหวีพกติดตัวไว้สำหรับใช้แอบสางผมและเคราก่อนเข้าสังคม” แมเดลีนเริ่มตีความไปไกล

“ไม่เคยมีใครเคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน นี่ไม่ใช่รอยสลักของราชวงศ์ นี่ไม่ใช่ของกษัตริย์ นี่เป็นของคนธรรมดา คุณสามารถเชื่อมโยงกับเจ้าของหวีได้แทบจะในทันที มันเป็นอะไรที่สื่อถึงความเป็นคนมากๆ” โยเซฟ การ์ฟินเกล (Yosef Garfinkel) ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดี และหัวหน้าทีมวิจัยของแมเดลีนจากมหาวิทยาลัยฮิบรูกล่าว

โยเซฟเผยต่อว่ามนุษย์เริ่มบันทึกประวัติศาสตร์ราวๆ ห้าพันปีก่อน ในช่วงแรก มนุษย์ใช้ภาพและสัญลักษณ์ในการบันทึกและการนำเสนอไอเดีย อย่างเช่น ภาษาคูนิฟอร์ม (cuneiform) ของพวกสุแมเรียน (Sumarian) และภาษาฮีโรกริฟฟิก (Hieroglyph) ของอียิปต์

แต่ภาษาแรกที่ใช้ตัวอักษรประกอบเป็นคำเพื่อสื่อถึงเสียงก็คือภาษาแคนัน ซึ่งต่อมากลายเป็นรากฐานและต้นกำเนิดของภาษาฟีนิเชียน (Phoenician) ที่วิวัฒน์ขึ้นมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นภาษาอารยัน (Aryan) ภาษาแองโกลแซกซัน ภาษากรีก ภาษาละติน และในที่สุด ก็เป็นภาษาอังกฤษ

“ถ้าคุณใช้ภาษาอังกฤษ ก็เหมือนคุณใช้ภาษาแคนันนั่นแหละ” โยเซฟกล่าว “และการที่ชาวแคนันประดิษฐ์ระบบตัวอักษรขึ้นมาได้ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จทางสติปัญญาครั้งยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ และนั่นทำให้หวีนี้คือความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของผมในการขุดค้นครั้งนี้”

ชัดเจนว่าโยเซฟก็ตื่นเต้นไม่แพ้แมดิลีน แต่การตีขลุมแบบนี้ของโยเซฟ สำหรับผมแอบไม่เห็นด้วยเล็กๆ เพราะภาษาอื่นที่ไม่ได้มีรากมาจากแคนันหรือฟีนิเชียนก็มีไม่น้อยเหมือนกัน

แต่ที่น่าสนใจที่สุดก็คือ “อาณาจักรแคนัน” ถ้าว่าตามหนังสือแห่งการอพยพ (the Book of Exodus) จากพระคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิม ก็คือ “ดินแดนสันติภาพที่อุดมไปด้วยนมและน้ำผึ้ง” หรือ “ดินแดนแห่งพันธสัญญา (Promised land)” ที่พระเจ้าสัญญาไว้กับโมเสส ซึ่งในปัจจุบันคือ ประเทศอิสราเอล ฉนวนกาซา เวสต์แบงก์ จอร์แดน และบางส่วนของประเทศซีเรียและเลบานอน

หวีนี้จึงอาจจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ช่วยให้เราเข้าใจวิถีแห่งชาวแคนัน ผู้อยู่อาศัยให้ดินแดนแห่งพันธสัญญามากขึ้น

และด้วยประโยคที่สลักอยู่บนหวี “ขอให้งาช้างนี้ขจัดปัดเป่าเหาออกไปจากผมและเครา” ที่ฟังดูบ้านๆ มากๆ แม้จะไม่ช่วยบอกอะไรเท่าไรเกี่ยวกับความรุ่งเรืองแห่งอาณาจักร แต่ก็ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงภาพชีวิตความเป็นอยู่อารยธรรมในอดีตของชาวบ้านแห่งอาณาจักรแคนันที่เดินทางติดต่อค้าขายไปทั่วแถบเมดิเตอร์เรเนียน

“ในยุคนั้น งาช้างนั้นเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ต้องนำเข้ามาจากอียิปต์” โยเซฟตั้งข้อสังเกต “และแน่นอนว่าพอพูดถึงเครา ชัดเจนว่าเจ้าของหวีนี้ต้องเป็นผู้ชายและผู้ชายคนนี้จะต้องมีอันจะกิน ไม่งั้นคงไม่มีปัญญาซื้อหวีงาช้างที่มีราคาแพงระยับ”

“แต่ก็ไม่แน่ อาจจะเป็นของขวัญจากอาคันตุกะ สำหรับพวกครอบครัวขุนนางหรือเศรษฐีก็เป็นได้เช่นกัน” แมเดลีนแย้ง

“แต่ที่ชัดเจนคือหวีนี้เป็นของพวกชนชั้นนำในสังคมอย่างแน่นอน”

“การค้นพบและการไขรหัสภาษาครั้งนี้ของทีมเยรูซาเลม (ทีมวิจัยของโยเซฟและแมดิลีน) ช่างงดงามอย่างที่สุด” คริสโตเฟอร์ รอลล์สตัน (Christopher Rollston) นักภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอร์ชิงตัน (George Washington University) กล่าว “แต่น่าเสียดายที่ยังไม่ชัดว่าอายุของหวีนั้นจะเก่าแก่แค่ไหน”

โยเซฟและแมเดลีนเผยว่าทางทีมวิจัยของพวกเขาพยายามใช้การคำนวนครึ่งชีวิตของคาร์บอนกัมมันตรังสี (radiocarbon dating) ในการประเมินอายุของหวีให้แน่ชัดมาแล้วสองรอบ แต่เสียดายที่ผลสรุปอะไรไม่ได้ พวกเขาก็เลยต้องย้อนกลับไปใช้การกะประมาณอายุเอาคร่าวๆ จากการเทียบแบบแผนของจารึกกับโบราณวัตถุอื่นๆ ที่พอจะทราบอายุแล้ว และจากสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่ขุดพบหวีเอาแทน

พวกเขาเชื่อว่าหวีนี้มีอายุตีเป็นเลขกลมๆ ก็น่าจะอยู่ที่ราวๆ สามพันเจ็ดร้อยปี หรือราวๆ พันเจ็ดร้อยปีคริสตกาล ก่อนที่จะมีการเขียนคัมภีร์ไบเบิลขึ้นมาเป็นพันปี

ในอดีต มีการค้นพบจารึกภาษาแคนันมาบ้างแล้วตามพวกอาวุธโบราณ อย่างเช่น หัวลูกศร หรือไม่ก็ตามพวกภาชนะเครื่องปั้นดินที่ขุดพบ แต่ทั้งหมดที่เคยเจอมักจะมาเป็นคำคำ ไม่เคยเจออะไรที่มาแบบเต็มประโยคมาก่อน

และนั่นทำให้การค้นพบครั้งนี้น่าตื่นเต้นยิ่งขึ้นไปอีก เพราะถ้าว่ากันตามความโบราณ ตัวอักษร 17 ตัวบนหวีงาช้างจากดินแดนแห่งพันธสัญญาที่รวมๆ กันแล้วได้มาประโยค 7 คำมา 1 ประโยคนี้ คือ “ประโยคที่เก่าแก่ที่สุดของมวลมนุษย์ชาติ” เท่าที่เคยมีการค้นพบมา

โยเซฟและแมเดลีนตีพิมพ์ผลงานของพวกเขาในวารสาร Jerusalem Journal of Archaeology ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2022

ตอนแรกไม่เคยรู้ว่าประโยคที่เก่าแก่ที่สุดของมวลมนุษย์เขียนว่าอะไร ก็ยังไม่รู้สึกอะไรเท่าไร แต่พอได้รู้ ก็เริ่มแอบรู้สึกแสบๆ คันๆ ขึ้นมาจากความคาดหวังของตัวเอง ส่วนตัวแอบหวังเอาไว้ว่าประโยคเก่าแก่ที่สุดที่มนุษย์รู้จักจะเป็นอะไรที่ฟังดู “ว้าววววววว” หรือฟังดู “อมตะนิรันดร์กาล” กว่านี้นิดนึง

ที่ไหนได้ กลับพูดถึงเหาในเครากับผมซะงั้น

แต่อย่างน้อยที่สุด มองในแง่ดี หวีดึกดำบรรพ์ใช้ได้ผลค่อนข้างดีในเรื่องการสางเหา เพราะถ้าไม่มีเหาดึกดำบรรพ์ติดอยู่บนหวีนี้ให้แมเดลีนไปศึกษา ก็คงบอกได้ยากว่าเมื่อไรจะมีใครไปสังเกตหวีจนเห็นจารึก 7 คำทรงพลังที่สลักอยู่ลางๆ อยู่บนนั้น

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า งานวิจัยอาจจะให้อะไรได้มากกว่าที่คุณคิด!!

ใครเล่าจะรู้ การศึกษา “เหา” ในหวีโบราณ จะสามารถโยงไปถึงองค์ความรู้ใหม่ในด้านวิวัฒนาการของภาษาได้

สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj

— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น