จากพฤติกรรมของเด็กยุคใหม่ที่กล้าจะตั้งคำถามและเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง บทบาทของครูในฐานะผู้ถ่ายทอดวิชาการนั้นมีความสำคัญลดลง แต่ถูกแทนที่ด้วยการเป็น “โค้ช” ในการเรียนการสอน โค้ชในที่นี้ไม่ใช้แค่คอยแนะนำวิชาการอย่างเดียว แต่ครูจะต้องถ่ายทอดทักษะด้านอารมณ์ หรือ Soft Skills ด้วยทำให้เกิดคำถามาว่าในยุคนี้ครูควรจะมีทักษะอะไรบ้าง นำมาสู่เทรนด์ของครูยุคใหม่ที่จะต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง
3 บทบาทใหม่ครูยุคอัลฟ่า
สะท้อนภาพลักษณ์ครูยุคใหม่ รับวันครูแห่งชาติ 2562
โดยวันครูแห่งชาติ 2562 ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นำทีมอาจารย์สจล.ถ่ายโฟโต้ซีรีย์รับวันครู ที่มีกระแสตอบรับในโลกออนไลน์ สู่การเปิดมุมมองอาจารย์สุดสมาร์ทที่เข้าไปนั่งในหัวใจนักศึกษา ที่ทำให้คำว่า “ครู” ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การสอนเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงที่ใกล้ชิดนักศึกษามากขึ้น ทำลายกำแพงให้เด็กกล้าเข้าหา ภายใต้แนวคิด “เด็กคือผู้ออกแบบครู” พร้อมเปิด 3 ทักษะที่ครูยุคใหม่จะต้องปรับตัวรับเด็กเจนเนอร์เรชั่นหน้า
1. ครูผู้เปิดโลกที่ถูกเชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยี
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันโลกถูกเชื่อมโยงเข้าหากันด้วยการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างมาก ทำให้เด็กๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย อาจจะพูดได้ว่า กูเกิล (Google) ก็สามารถเป็นครูให้กับเด็กๆ ได้ การที่จะเป็นครูในยุคที่เทคโนโลยีเข้าครอบงำนี้ ครูจะต้องมีทักษะได้มากกว่าการสอนในเชิงวิชาการ หรือที่เรียกว่า ทักษะทางอารมณ์ (Soft Skills) ทักษะทางอารมณ์นี้เป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างการเรียนที่รู้สมบูรณ์ให้กับเด็ก และเป็นการสนอให้เขาเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงบนโลกใบนี้ โดยจะมุ่งเน้นในเรื่อง การติดต่อสื่อสาร การอยู่ร่วมกันในสังคม การมองโลกในแง่ดี การแสดงออกทางสังคม ไปจนถึงการความเป็นมิตรและบุคลิกลักษณะ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทักษะใหม่ในยุคดิสรัปชัน (disruption)
2. ต้องเข้าไปในหัวใจผู้เรียน
สิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นครูยุคใหม่ คือการยอมรับความเปลี่ยน ยอมรับว่าโลกในปัจจุบันกับโลกห้าปีที่แล้ว หรือโลกในอีกห้าปีข้างหน้าล้วนมีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด จากผลของการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ มากมายมาตอบสนองความต้องการและการเรียนรู้ของเด็กๆ ในเจนเนอร์เรชั่นใหม่ การยอมรับความเปลี่ยนแปลงจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำมาสู่การพัฒนาตัวเอง กล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทดลองทำในสิ่งที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ อาจารย์สจล.เองก็ลุกขึ้นเปลี่ยนลุคปรับตัวเข้าหาเด็กยุคใหม่ เพื่อจะทำให้เด็กๆ มั่นใจว่าสถาบันจะสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนการสอนที่ดีที่สุดให้กับพวกเขา ครูอาจารย์เหล่านี้จะเป็น “โค้ช” ที่ดีทั้งด้านวิชาการและการใช้ชีวิต เป็นเพื่อนที่ให้คำปรึกษากับพวกเขาได้ เพราะครูคือคนสำคัญในการสร้างสรรค์เด็ก
3. การออกแบบความสำเร็จร่วมกัน
เชื่อเหลือเกินว่าในยุคที่เด็กเป็นศูนย์กลางในการออกแบบครู เด็กยุคใหม่คือผู้กำหนดสิ่งที่เขาอยากจะเป็น ดังนั้นการมีออกแบบวิธีการเรียนการสอนหรือเนื้อหาวิชา คือสิ่งที่ครูยุคใหม่จะต้องเปิดพื้นที่ให้กับพวกเขา ยุคของการถ่ายทอดความรู้ทางเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและรับฟังการตอบรับแบบสองทางเป็นสิ่งจำเป็นในการเรียนการสอนเด็กในเจนเนอร์เรชั่นอัลฟา ดังนั้นการมุ่งเน้นการคิดสร้างสรรค์ (Creative) และจิตวิญญาณของการทำงานเป็นทีม (Team spirit) คือจุดหมายสำคัญของการถ่ายทอดความรู้สองทาง เพื่อผลิตบัณฑิตที่พร้อมด้วยทักษะด้านวิชาการและทักษะด้านอารมณ์
ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
สุดท้ายนี้ “ครูยุคใหม่” คือครูที่พร้อมเปิดรับความเปลี่ยนแปลงและปรับตัวเข้าหาเด็ก โดยวางตัวเป็น “โค้ช” กำกับแนะแนวและปล่อยให้เด็กได้ลงมือทดลองทำด้วยตัวเอง ผ่านการดีไซน์ความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขา มีทัศนคติ แรงจูงใจ และมุมมองการใช้ชีวิตที่ดี อันจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ความเห็น 0