โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

แปลกแต่จริง หญิงไทยสมัยก่อน “ทำชู้” แล้วยังมีสิทธิบอกเลิก “ผัว” ได้อีก

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 04 ธ.ค. 2565 เวลา 01.48 น. • เผยแพร่ 04 ธ.ค. 2565 เวลา 01.46 น.
1
ภาพหญิงไทยสมัยต้นศตวรรษที่ 20 จากสมุดภาพของ Karl Döhring

ขออภัยกับภาษาที่อ่านแล้วคนไทยสมัยใหม่เห็นแล้วอาจรู้สึกขัดเคือง เพราะเรื่องที่ผู้เขียนจะเล่าเป็นเรื่องสามี-ภรรยา ในสมัยเมื่อครั้งที่คำว่า “ผัว-เมีย” ไม่ใช่คำหยาบ แต่เป็นภาษาทางการที่ใช้ในตำรับตำราที่ศักดิ์สิทธิ์ นั่นคือกฎหมายตราสามดวง (คัมภีร์กฎหมายสมัยก่อนเป็นของสูง)

ผัว-เมีย เป็นความสัมพันธ์ที่พัฒนาขึ้นมาจนมีแบบพิธีที่แตกต่างกันไปตามแต่สังคม เป็นข้อผูกมัดที่มีกฎหมายรองรับมาแต่ครั้งโบราณ แต่ถ้าคนคิดจะนอกใจกัน กฎหมายที่ไหนก็ยากจะห้ามได้ แม้แต่การแต่งงานในวัฒนธรรมที่มีศาสนาเข้ามาควบคุมสถาบันการแต่งงานอย่างใกล้ชิดก็ยังไม่อาจห้ามใจคน

เมื่ออิทธิพลของศาสนจักรอ่อนแรงลง การออกแบบกฎหมายสมัยใหม่จึงยึดหยุ่นมากขึ้น การแต่งงานไม่ใช่สิ่งที่จะคงอยู่นิรันดร์ถือเป็นข้อตกลงอันศักดิ์สิทธิ์ต่อหน้าพระเจ้า (แนวคิดแบบตะวันตก) อย่างเคร่งครัดดังเก่าก่อน ฝ่ายอาณาจักรได้เปิดเงื่อนไขให้คู่สมรสสามารถบอกเลิกอีกฝ่ายได้บนเงื่อนไขที่เหมาะสม โดยเฉพาะในกรณีที่อีกฝ่ายไม่เคารพสถาบันการแต่งงาน

ตัวอย่างเช่น ฝ่ายหนึ่งไปมีชู้ หรือยกย่องผู้อื่นเยี่ยงสามีหรือภรรยา อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิที่ฟ้องหย่าได้ หรือกรณีที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประพฤติชั่วเป็นเหตุให้อีกฝ่ายเสียหายทั้งชื่อเสียง หรือเป็นที่เกลียดชัง หรือเดือดร้อนเกินควร ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องหย่าฝ่ายที่ประพฤติชั่วได้

ในทางกลับกัน ฝ่ายที่นอกใจไปชู้ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องหย่าอีกฝ่าย เพื่อไปอยู่กับชู้ได้อย่างที่ปรารถนาง่ายๆ

แต่สังคมไทยในอดีตเห็นต่างออกไป เพราะในกฎหมายเก่าแก่ของราชอาณาจักรก่อนหน้าที่จะมาเป็นรัฐไทยได้บัญญัติไว้ว่า “ชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านว่าเปนหญิงหย่าชายหย่าได้” หมายความว่า หากฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายขอหย่าแล้ว ต่อให้ฝ่ายชายอยู่ดีๆ ไม่ได้ทำอะไรผิดก็มีสิทธิถูกบอกเลิกเอาได้

ใครได้ฟังแล้วก็คงจะถามว่า กฎหมายแบบนี้มันยุติธรรมตรงไหน? ใช่แล้วตั้งแต่กว่า 200 ปีก่อน กระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ก็ทรงเห็นว่าหลักการนี้ไม่มีความยุติธรรม หลักฐานปรากฏอยู่ในประกาศพระราชปรารภตอนต้นของกฎหมายตราสามดวงที่กล่าวถึงคดีของ อำแดงป้อมที่ไปทำชู้กับกับนายราชาอรรถแล้วกลับมาฟ้องหย่านายบุญศรีผู้เป็นผัว ความว่า

อำแดงป้อมภรรยานายบุญศรีฟ้องหย่านายบุญศรีๆ ให้การแก่พระเกษมว่า อำแดงป้อมนอกใจทำชู้ด้วยนายราชาอรรถแล้วมาฟ้องหย่านายบุญศรีๆ ไม่ยอมหย่า พระเกษมหาพิจารณาตามคำให้การนายบุญศรีไม่ พระเกษมพูดจาแพละโลมอำแดงป้อม แลพิจารณาไม่เปนสัจธรรมเข้าด้วยอำแดงป้อม แล้วคัดข้อความมาให้ลูกขุนสานหลวงปฤกษาๆ ว่าเปนหญิงหย่าชาย ให้อำแดงป้อมกับนายบุญศรีขาดจากผัวเมียกันตามกฎหมาย จึ่งทรงพระกรรุณาตรัสว่า หญิงนอกใจชายแล้วมาฟ้องหย่าชาย ลูกขุนปฤกษาให้หย่ากันนั้นหาเปนยุติธรรมไม่

แต่การตัดสินของพระเกษมก็ใช่ว่าจะเป็นการตัดสินตามอำเภอใจ เพราะเมื่อ รัชกาลที่ 1 ทรงเห็นว่า คำตัดสินดังกล่าวไม่เป็นธรรมก็ได้รับสั่งให้มีการตรวจสอบที่มาของกฎหมายดังกล่าวว่าถูกต้องหรือไม่เพียงใด ปรากฏว่า หลักดังกล่าวถูกต้องตรงกับกฎหมายทั้ง 3 ฉบับที่นำมาตรวจเทียบ ดังความว่า

จึ่งมีพระราชโองการตรัสสั่งให้เจ้าพญาพระคลังเอากฎหมายณสานหลวงมาสอบกับฉบับหอหลวง, [ฉบับ] ข้างที่ได้ความว่า ชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านว่าเปนหญิงหย่าชายหย่าได้ ถูกต้องกันทังสามฉบับ

ความอันฟังไม่เป็นยุติธรรมดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชดำริให้ชำระกฎหมายดังประกาศพระราชปรารภตอนเดียวกันความว่า

กระษัตรผู้จดำรงแผ่นดินนั้นอาไศรยซึ่งโบราณราชนิติกฎหมายพระอายการอันกระษัตรแต่ก่อนบัญหญัติไว้ได้เปนบันทัดถาน จึ่งพิภากษาตราสีนเนื้อความราษฎรทังปวงได้โดยยุติธรรม แลพระราชกำหนดบทพระอายการนั้นก็ฟั่นเฟือนวิปริตผิดซ้ำต่างกันไปเปนอันมาก ด้วยคนอันโลภหลง หาความลอายแก่บาปมิได้ ดัดแปลงแต่งตามชอบใจไว้พิภากษาภาให้เสียยุติธรรมสำหรับแผ่นดินไปก็มีบ้าง จึ่งทรงพระกรรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจัดข้าทูลลอองทุลีพระบาทที่มีสะติปัญญาได้…ชำระพระราชกำหนดบทพระอายการอันมีอยู่ในหอหลวง ตั้งแต่พระธรรมสาตรไป ให้ถูกถ้วนตามบาฬีแลเนื้อความมิให้ผิดเพี้ยนซ้ำกันได้ จัดเปนหมวดเปนเหล่าเข้าไว้ แล้วทรงพระอุสาหทรงชำระดัดแปลงซึ่งบทอันวิปลาดนั้นให้ชอบโดยยุติธรรมไว้ ด้วยพระไทยทรงพระมหากรรุณาคุณจให้เปนประโยชน์แก่กระษัตรอันจดำรงแผ่นดินไปในภายหน้า

ด้วยเหตุนี้หลักการดังกล่าวจึงได้ถูกเลิกล้มไป เพราะถือว่า “ไม่ยุติธรรม” แต่น่าเสียดายที่ไม่มีรายละเอียดให้สืบสาวราวเรื่องต่อไปได้ว่าสรุปสุดท้ายแล้วคดีรักสามเส้าของอำแดงป้อม นายบุญศรีและนายราชาอรรถจะจบลงอย่างใด

และที่น่าสนใจก็คือ เมื่อชายไม่ผิด หญิงจะหย่า หย่าได้ ถือว่าไม่เป็นธรรมแล้ว หากมองในมุมกลับ ถ้าหญิงไม่ผิด ชายจะหย่า หากยอมให้หย่าได้ก็ย่อมไม่เป็นธรรมเช่นกัน แต่พระไอยการลักษณะผัวเมีย กลับยอมให้ชายหย่าได้ แม้จะบอกว่าฝ่ายชายเป็น “อาธรรม” ก็ตาม ดังความในมาตรา 70 ที่ระบุว่า

มาตราหนึ่ง ผัวเมียอยู่ด้วยกัน ผัวไปค้าได้เมียใหม่มาด้วย ชายทำเคียดแก่เมียก่อนแลจะหย่ากันไซ้ ให้แบ่งสีนนั้นกึ่ง เพราะเมียก่อนนั้นหาโทษมิได้ ผู้ชายนั้นอาธรรม

ดังนั้น มุมมองความเป็นธรรมระหว่างผัวเมียระหว่างคนเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน กับคนสมัยนี้ก็ไม่ต่างกันมากนัก เพียงแต่กฎหมายสมัยก่อนยอมรับความความได้เปรียบของเพศชายเอาไว้แบบจะแจ้งมากกว่า

แต่เรื่องนี้ยังไม่จบ ไว้ผู้เขียนจะมาบอกเล่าต่อว่า เหตุใด “ชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านว่าเปนหญิงหย่าชายหย่าได้” อาจถือเป็นหลักการที่เหมาะสมในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

“ฎีกาของอำแดงเหมือนในรัชกาลที่ 4 กับการพลิกคดีอำแดงป้อมในรัชกาลที่ 1”. กำธร เลี้ยงสัจธรรม. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2555

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มกราคม 2560

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 6

  • เอ๋💗✝️
    ตามที่มโน คิดเอาเอง เข้าข้างผู้หญิง เดาว่า สมัยก่อน อนุญาตให้ผู้หญิงจะหย่าชาย ก็หย่าได้ แม้ชายจะไม่ทำผิดอะไรชัดเจน เพราะไม่ต้องการอยู่กินด้วยกันแล้ว อาจเพราะมีความทุกข์ ฝืนทนไม่ไหว (ถ้ามีความสุข คงไม่คิดหย่าขาด) แต่บางคนที่มีอำนาจก็ใช้ข้อกฎหมายนี้ ในกรณีผิดๆ อย่างในเรื่อง หญิงมีชู้ ก็ให้เขาหย่าสามีได้ ทั้งที่สามีไม่ยอมจะเสียภรรยาให้ชู้ ส่วนที่บทความเขียนต่อมาว่า ผู้ชายไปค้าขายแล้วได้เมียใหม่มา ก็หย่าภรรยาเก่าได้ แต่ต้องแบ่งสมบัติมาให้ เพราะภรรยาเก่าจะโดนทิ้ง อย่างน้อยก็ต้องมีเงินเลี้ยงตัวต่อ
    12 เม.ย. 2562 เวลา 12.18 น.
  • 😎😎😎 🎸 😎😎😎😎
    ขอแสดงความเห็นส่วนตัวนะครับผมคิดว่ายุติธรรมครับ เพราะไม่ใช่ทุกคู่จะอยู่กันราบรื่น มีเป็นพันๆคู่ที่อยู่กินกันไปพอนานวันเข้าเริ่มเข้ากันไม่ได้อยุ่กันไม่ได้ผมได้ศึกษากฎหมายข้อนี้เพราะมันมีในตำราและเห็นว่าสมควรอย่างยิ่งที่ฝ่ายหญิงมีสิทธิจะขอหย่าและคาดการณ์ว่าคดีอำแดงป้อมน่าจะมีเหตุผลมากกว่าคำว่าชู้ที่จะขอหย่านายบุญศรีเนื่องจากเราก็ไม่ทราบแน่ชัดว่าในสมัยนั้นนายบุญศรีไปทำประการใดให้ฝ่ายหญิงเจ็บช้ำน้ำใจรือไม่เพราะกระผมเชื่อว่าคนในสมัยก่อนนั้นมีขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีที่เคร่งครัดมากมายยิ่งกว่าในสมัยนี้
    29 พ.ค. 2563 เวลา 20.09 น.
  • โอโห้คุณพระ
    03 ส.ค. 2562 เวลา 23.27 น.
  • Zara Japan
    ในชีวิตจริงในเรื่องคาวฯถ้าเจอคนแรงที่เห็นตามข่าวฆ่ากันตายเพราะพิษรักแรงแค้นมีข่าวให้เห็นกันรายวันรายเดือนรายปี..
    29 พ.ค. 2563 เวลา 20.41 น.
  • กะเพา
    อาจจะเพราะสมัยก่อนแต่งเพราะ ใช้หนี้ เอาลูกสาว แต่ง ให้มันจบไป พอ สมควรแก่เวลาแล้ว เลิกแม่งเลย
    29 พ.ค. 2563 เวลา 18.57 น.
ดูทั้งหมด