โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

แม่น้ำ "แม่กลอง" แปลว่าอะไร? ชื่อนี้มาจากไหน?

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 17 ม.ค. 2565 เวลา 04.47 น. • เผยแพร่ 16 ม.ค. 2565 เวลา 00.59 น.
ต้นน้ำแม่กลองบริเวณแควน้อยกับแควใหญ่ไหลมาบรรจบกันที่ปากแพรก อ.เมือง จ.กาญจนบุรี (ภาพจากหนังสือ แม่น้ำแม่กลอง : พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม)
ต้นน้ำแม่กลองบริเวณแควน้อยกับแควใหญ่ไหลมาบรรจบกันที่ปากแพรก อ.เมือง จ.กาญจนบุรี (ภาพจากหนังสือ แม่น้ำแม่กลอง : พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม)

ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง เป็นบริเวณที่เก่าแก่มากและอาจเก่าแก่ที่สุด เพราะพบหลักฐานโบราณคดีหลายพันปีมาแล้วอยู่ทางต้นน้ำ คือ แควน้อย-แควใหญ่ หลังจากนั้นก็พบหลักฐานการตั้งหลักแหล่งแห่งหนเป็นบ้านเป็นเมืองแล้วเป็นรัฐ ขยายไปทางลุ่มน้ำท่าจีน

ถ้าไม่ทวนเรื่องลึกลงไปถึงยุค “ทวารวดี” จะพบว่ามีชุมชนมอญเก่าแก่ที่สุดบริเวณที่ราบภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา อยู่ที่ลุ่มน้ำแม่กลองนี้เอง โดยเฉพาะบริเวณวัดนครชุมน์ ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

คำว่าแม่กลองเป็นภาษาอะไร? มาจากไหน?

มีนักปราชญ์รุ่นก่อน ๆ อธิบายหลายแนวทาง ดังมีรายละเอียดอยู่ในพระนิพนธ์เรื่องชื่อลำน้ำแม่กลองฯ ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่สมเด็จฯ ก็มิได้ทรงชี้ชัดอย่างหนึ่งอย่างใดลงไป เพียงทรงรวบรวมความรู้ของผู้รู้ทั้งหลายไว้ให้ผู้สนใจสมัยหลังศึกษาค้นคว้าต่อไป

โดยทั่วไปแล้วมักโน้มคำจากภาษาอื่นให้เป็นคำไทยด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อน แล้วผูกนิทานใหม่ให้น่าเชื่อถือและเข้ากันได้ดีกับคำที่ริบมา มักพบทั่วไป เช่น ชื่อบางเชือกหนัง ในคลองบางกอกน้อย เดิมเป็นคำเขมร มอญว่าบางฉนัง มีอยู่ในโคลงกำสรวลสมุทรยุคต้นกรุงศรีอยุธยา หมายถึงบ้านหม้อ หรือบ้านปั้นหม้อ แต่นานเข้าก็ลืมรากเหง้า เลยโอนเข้าเป็นคำไทยว่าบางเชือกหนัง ตราบเท่าทุกวันนี้

กลอง ในชื่อลำน้ำแม่กลองตั้งแต่จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม ก็เช่นเดียวกันที่ถูกโน้มแล้วริบให้เป็นคำไทย หมายถึงเครื่องดนตรีประเภทขึงหนังใช้ตี แล้วรับนับถือเป็นข้อยุติสืบมาจนปัจจุบัน ดังพบว่าทำรูปสัญลักษณ์เป็นกลองทัด หรือกลองเพล

ขอให้พิจารณาใหม่ด้วย ว่า “กลอง” ตรงชื่อแม่น้ำไม่ใช่คำไทย แต่เป็นคำจากภาษามอญ แล้วกลายเสียงกลายรูปไปต่าง ๆ กันในหลายแห่ง เช่นเป็นชื่อแม่น้ำโขง แม่น้ำคง (สาละวิน) เป็นต้น จะขอยกข้อความจากคำนำเสนอในหนังสือมหากาพย์ของอุษาคเนย์ ท้าวฮุ่งท้าวเจือง วีรบุรุษสองฝั่งโขง ผมเขียนเมื่อ พ.ศ. 2538 มาลงไว้ดังนี้

“พจนานุกรมมอญ-ไทย (ฉบับทุนพระยาอนุมานราชธน, 2513) ให้ศัพท์มอญไว้ 2 คำคือโคฺลงฺ กังคฺลงฺ อ่านว่า โคฺล้งฺ เหมือนกันแล้วให้ความหมายว่าทาง**

คำมอญว่าโคฺลงฺกับคฺลงฺนี่แหละกลายเป็นคำไทยว่าคลอง แม้คำว่ากลองในชื่อแม่น้ำกลองก็เพี้ยนมาจากคำมอญนี้เอง ทำให้น่าคิดว่า ชื่อแม่น้ำโขงหรือของน่าจะมาจากคำว่าโคฺลงฺกับคฺลงฺ (ท่านหมุพัน บอกว่าชาวขมุ (ข่ามุ) ในลาวเหนือเรียกแม่น้ำนี้ว่าอมครอง) แต่สิ้นตระกูลไทย-ลาวออกเสียงอย่างมอญไม่ได้ จึงเรียกเป็นกาหลงก่อน นานเข้าก็กลายเสียงเป็นโขงหรือของตามถนัดลิ้นแต่ละท้องถิ่น แม้ชื่อแม่น้ำคง (สาละวิน) ในพม่าก็ได้ชื่อจากมอญเช่นกัน”

สรุปแล้วคำว่าคลองในชื่อลำน้ำแม่กลอง มาจากคำในภาษามอญว่าคลอง หมายถึง หนทางคมนาคมทางน้ำ  

อ้างอิงข้อมูล

สุจิตต์ วงษ์เทศ. “คำนำเสนอ” ใน ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ “เครือญาติ'” มอญ ลุ่มน้ำแม่กลอง*(กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 2547)*

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น