โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เมทานอล คืออะไร ทำไมพบได้ในแอลกอฮอล์?

The Bangkok Insight

อัพเดต 26 ส.ค. เวลา 23.16 น. • เผยแพร่ 26 ส.ค. เวลา 23.16 น. • The Bangkok Insight
เมทานอล คืออะไร ทำไมพบได้ในแอลกอฮอล์?

รู้จักสารเมทานอล คืออะไร ทำไมพบได้ในแอลกอฮอล์ หากกินเข้าไปอันตรายแค่ไหน

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าเคสผู้ป่วยที่ดื่มแอลกอฮอล์ผสมสารเมทานอล หลังดื่มสุราดองในพื้นที่ย่านคลองสามวา โดยมีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 คน และอาการน่าห่วงอีกหลายราย ล่าสุดรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย ส่งผลให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากกรณีดังกล่าวรวมเป็น 3 ราย และมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นรวมทั้งหมด 31 ราย

โดยก่อนหน้านี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้อัพเดตอาการของผู้ป่วยทั้งหมด พบว่ามีอาการหนัก ทั้งต้องใส่ท่อช่วยหายใจ13 ราย ต้องฟอกไต18 ราย และต้องปั๊มหัวใจ6 ราย ซึ่งผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา พบว่ามีอาการแบ่งเป็น ภาวะเลือดเป็นกรด21 ราย หายใจเหนื่อย19 ราย ภาวะไตวาย16 ราย ตาพร่ามัว14 ราย ชัก4 ราย และหมดสติ4 ราย

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าเมทานอลคืออะไร อันตรายแค่ไหนหากรับประทานเข้าไป วันนี้ thebangkokinsight จะพาไปทำความรู้จัก ดังนี้

เมทานอล คืออะไร ทำไมพบได้ในแอลกอฮอล์ ?

สารเมทานอล (methanol หรือ wood alcohol) จะเป็นแอลกอฮอล์ชนิดเชื้อเพลิง เป็นสารพิษที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม ไม่ควรนำมาบริโภค แต่ที่พบเมทานอลอยู่ในเครื่องดื่มเนื่องจาก "เมทานอล" มีราคาถูกกว่า "เอทานอล" หากนำทั้ง 2 สารมาผสมกันจะทำให้ลดต้นทุนในการผลิต จึงมักพบได้ในสุราปลอม ยาดอง เหล้าขาวที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐาน หรือขาดความรู้ความเข้าใจในการผลิตที่ถูกต้อง

ภาวะเป็นพิษจากเมทานอล

ภาวะเป็นพิษจากเมทานอล ส่วนใหญ่เกิดจากการดื่มสุราที่มีเมทานอลปนเปื้อน มักจะพบในสุราปลอม เหล้าเถื่อนที่ต้มกลั่นเอง ขนาดที่เริ่มเป็นพิษประมาณ 100 mg/kg ขนาดที่เป็นพิษรุนแรงจนผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตมักมากกว่า 60 ml ของ 40% เมทานอล ถ้าผู้ป่วยได้รับเมทานอลเข้าสู่ร่างกายจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วภายใน 1 ชั่วโมง ส่วนใหญ่ประมาณ 95% จะถูกกำจัดที่ตับ แต่อาการของการเป็นพิษที่เกิดขึ้นจะเกิดการสะสมของกรดฟอร์มิก (formic acid) ที่อยู่ในร่างกาย ซึ่งทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด (metabolic acidosis) และเป็นพิษต่อตา (ocular toxicity) ได้

อาการของภาวะเป็นพิษจากเมทานอล

หลังได้รับเมทานอล ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงถึง 3 วัน ถ้าผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มที่มีเมทานอล ร่วมกับเอธานอล จะทำให้อาการเริ่มแรกช้าลงไปอีก ผู้ป่วยอาจมีอาการของทางเดินอาหาร เช่น

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้อง

อาการที่ค่อนข้างจำเพาะได้แก่ พิษทางตา ได้แก่

  • ตาพร่า ตามัว
  • แพ้แสง เห็นภาพขาวจ้าไปหมด (snowfield vision)

อาการอื่น ๆ

  • ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
  • อ่อนเพลีย
  • สับสน มึนงง
  • ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการชัก หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะได้

** หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาไม่ทันผู้ป่วยมักเสียชีวิต **

การรักษาผู้ป่วยภาวะเป็นพิษจากเมทานอล

แพทย์จะทำการรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการของผู้ป่วย เมทานอลจะทำให้ผู้ป่วยซึม และกดการหายใจ จึงต้องระวังเรื่องการหายใจ และต้องแก้ภาวะเลือดเป็นกรดซึ่งบางครั้งรุนแรงมาก นอกจากนี้ยังต้องแก้อาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ หากผู้ป่วยเพิ่งดื่มเครื่องดื่มที่มีเมทานอลผสมอยู่ไม่นานนัก อาจพิจารณาวิธีการใส่สายเข้าไปในกระเพาะอาหารผ่านทาง รูจมูก เพื่อนำสารพิษออกจากระบบทางเดินอาหารอย่างรวดเร็ว หรือทำให้อาเจียน

นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาการรักษาโดยยาต้านพิษที่สำคัญคือการให้เอธานอลไปยับยั้งการเปลี่ยนเมทานอลเป็นกรดฟอร์มิก สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเป็นพิษในร่างกาย

ดังนั้นหากไม่อยากเสี่ยงภาวะเป็นพิษจากเมทานอล ควรเลือกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ หรือถ้าจะให้ดีควรงดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์ไปเลยก็จะปลอดภัย และดีต่อสุขภาพที่สุด

ที่มา : รพ.นพรัตนราชธานี, กรมการแพทย์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น