สถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน อาจเป็นเหตุให้หลายๆ คนต้องรับบทเป็น 'หมอประจำบ้าน' หรือ 'ผู้ดูแลผู้ป่วย' ไปโดยปริยาย
ทั้งระบบ 'Home Isolation' การกักตัว และจำนวนผู้ป่วยสะสมที่มากขึ้นเรื่อยๆ หลายครอบครัวจึงเริ่มมีคนป่วยเพิ่ม ทั้งจากโควิด-19 หรือด้วยโรคประจำตัวดั้งเดิม รวมถึงความยากในการเข้าถึงการรักษา ต่างก็เป็นปัจจัยให้สมาชิกในบ้านต้องปรับตัว และดูแลคนป่วยตามกำลังที่มี โดยหน้าที่ดูแลคนป่วยมักตกเป็นของลูกหลาน หรือคู่ชีวิต และเมื่อการดูแลกลายเป็นหน้าที่ ภาระที่ตามมาจึงอาจกลายเป็นต้นตอของความเหน็ดเหนื่อย ทั้งทางกาย และทางใจ
สำหรับครอบครัวที่มีผู้ป่วยทุพพลภาพอยู่แล้ว ยิ่งอาจก่อให้เกิดความตึงเครียดซึ่งนำไปสู่อาการเหน็ดเหนื่อยของผู้ดูแล หรือที่เรียกว่า ภาวะเหนื่อยล้าจากการดูแล (Caregiver Burden) หรือ ภาวะหมดไฟในการดูแล (Caregiver Burnout) ได้ มีอาการคล้ายเวลาที่ชาวออฟฟิศรู้สึกเฉื่อยชาหรือหมดไฟ ซึ่งมักกระทบกับหน้าที่การงาน แต่เมื่อเกิดกับผู้ดูแลผู้ป่วย ผลเสียอาจร้ายแรงและส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย ที่เสี่ยงต่อการถูกทำร้าย และถูกทอดทิ้งโดยไม่ตั้งใจได้
ปัจจัยและความเสี่ยงที่อาจทำให้เหล่า 'ผู้ดูแล' เหนื่อยล้ามากขึ้น
- ระดับความรุนแรงของอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วย
- ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองของผู้ป่วย ยิ่งน้อย ผู้ดูแลยิ่งมีความเครียดสูง
- โรคประจำตัวและปัญหาสุขภาพของผู้ดูแล
- หน้าที่การงานและความรับผิดชอบด้านอื่นๆ ของผู้ดูแล
นอกจากความรู้และความเข้าใจในอาการป่วยที่ผู้ดูแลจำเป็นต้องเรียนรู้แล้ว 'พลังกายและกำลังใจ' ก็เป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะช่วยประคับประคองไม่ให้การดูแลผู้ป่วยนั้น 'เป็นทุกข์' จนเกินไป มาดู 5 วิธีสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทางใจ ให้ 'ผู้ดูแล' ไม่เหน็ดเหนื่อยจนเกินไปกันดีกว่า!
1.ผู้ดูแลต้องเทคแคร์ตัวเอง ทั้งร่างกายและจิตใจ
ผู้ดูแลต้องอย่าลืม 'ปฐมพยาบาล' ร่างกายและจิตใจตัวเองด้วย อย่าละทิ้งงานอดิเรกหรือสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นการกินของอร่อย ดูหนัง อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งการพูดคุยสัพเพเหระกับเพื่อน หลายครั้งผู้ดูแลอาจรู้สึกผิด หรือรู้สึกว่ากำลังละทิ้งหน้าที่ แต่อย่าลืมว่าหากเราปล่อยให้หัวใจผุพังหรือร่างกายผ่ายผอม เราคงไม่มีเรี่ยวแรงทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยต่อ จริงไหม?
2.ผู้ดูแลต้องให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองเท่าที่ไหว
ในการดูแลผู้ป่วยที่ต้องทำกายภาพบำบัด หรือผู้ป่วยทุพพลภาพ ผู้ดูแลสามารถปล่อยให้ผู้ป่วยทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ด้วยตัวเองได้ อย่างการใส่เสื้อผ้าเอง เป็นต้น วิธีนี้นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมีกำลังใจจากการทำบางสิ่งจนสำเร็จ ยังเป็นการลดภาระหน้าที่ของผู้ดูแลอย่างละนิดอย่างละหน่อยอีกด้วย
ในกรณีที่ต้องดูแลผู้ป่วย โควิด-19 (สีเขียว) ที่รักษาตัวที่บ้าน ก็สามารถใช้วิธีเดียวกันนี้ได้ หากมีพื้นที่และความพร้อม อาจปล่อยให้ผู้ป่วยทำความสะอาดเสื้อผ้าเอง ต้มน้ำร้อนด้วยกาน้ำร้อนไฟฟ้าเอง ล้างจาน ทำความสะอาดด้วยตัวเอง ลดงานให้ผู้ดูแลมากที่สุด นอกจากจะเป็นการป้องกันการติดเชื้อสู่สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวที่ดีที่สุดแล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยได้ขยับร่างกายให้พอสดชื่นและกระปรี้กระเปร่า
3.ผู้ดูแลควรยอมรับความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น
หลายครั้งที่ผู้ดูแลมักปฏิเสธความช่วยเหลือ เพราะเคยชินกับการเป็นฝ่าย 'ช่วยเหลือ' ผู้อื่นมาตลอด แต่ผู้ดูแลไม่จำเป็นต้องแบกรับทุกอย่าง ลองเปิดใจรับความช่วยเหลือเวลามีผู้หยิบยื่นให้ อาจจะขอให้เพื่อนและสมาชิกครอบครัวคนอื่นจัดหาสิ่งของจำเป็นให้ หากมีลูก ก็อาจมอบหมายให้ลูกทำงานบ้านให้ เป็นต้น
หากมีกำลังทรัพย์ ผู้ดูแลอาจจ้างพยาบาล หรือผู้ดูแลคนป่วยมาช่วยแบ่งเบาภาระบ้าง ก็ไม่ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่แต่อย่างใด
4.ผู้ดูแลสามารถแสดงอารมณ์ด้านลบให้ผู้อื่นรับรู้ได้
อย่ากดดันตัวเองด้วยการแสร้งทำเป็นว่า 'ฉันไม่เป็นไร' ในขณะที่ในใจเต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อย ความขุ่นข้องหมองใจ ความกลัว หรือแม้กระทั่งความโกรธ
ระบายความรู้สึกออกมาให้คนรอบข้างได้รับรู้ แต่ควรสังเกตและค้นหาแนวทางในการผ่อนคลายหรือแก้ไขต้นเหตุของความขุ่นใจนั้น อาจลองปรึกษาคนสนิท หรือเขียนความกังวลออกมาให้หมด จากนั้นลองคิดหาวิธีขจัดความรู้สึกด้านลบด้วยหลักการและเหตุผล อย่าลืมว่าการเก็บกดทางอารมณ์มีส่วนทำลายสุขภาพจิต หากรู้สึกอ่อนแอและใจสลายจริงๆ ผู้ดูแลอาจลองปรึกษาจิตแพทย์เพื่อแนวทางการรักษาที่จริงจังขึ้น
5.ผู้ดูแลต้อง 'ใช้ชีวิตปกติ' ให้ได้มากที่สุด
บ่อยครั้งที่การดูแลผู้ป่วยอาศัยความทุ่มเทแบบเต็มเวลา แต่ผู้ดูแลต้องไม่ลืมที่จะรักษากิจวัตรและชีวิตปกติเอาไว้ให้ได้มากที่สุด หาเวลาพักผ่อนหย่อนใจอย่างที่เคยทำ ออกไปเที่ยวกับเพื่อน ให้เพื่อนมาเยี่ยมที่บ้าน หากไม่ได้รับหน้าที่ผู้ดูแลเพียงคนเดียว ให้หาเวลาไปพักร้อนระยะสั้นๆ บ้าง ป้องกันไม่ให้เกิดความเครียดและกดดันจนเกินไป
กิจกรรมเหล่านี้จะย้ำเตือนผู้ดูแลอยู่เสมอว่าในอีกด้านหนึ่งของชีวิต ยังมีความสดใสให้เราได้ไปเก็บเกี่ยวมาเป็นพลังในการทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย หรือคนที่เรารักต่อไป
กำลังใจถึง 'ผู้ดูแล' ทุกคน
การ 'ดูแลผู้ป่วย' น่าจะเป็นงานที่ยากที่สุดในโลกแล้ว โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อรังหรือเป็นผู้ทุพพลภาพ เป็นงานที่ไม่มีเงื่อนไขขอบเขตตายตัว ค่าตอบแทนไม่แน่นอนหรืออาจไม่มีเลย ทั้งยังต้องใช้ทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในบางกรณี
แต่ใช่ว่าการดูแลผู้ป่วยจะมีแต่ความทุกข์ ยิ่งเป็นคนในครอบครัวหรือคนรัก การได้ดูแลกันคือการได้ตอบแทนและแสดงความรักที่แสนยิ่งใหญ่ เมื่อถึงวันที่ต้องบอกลา ไม่ว่าจะเป็นการบอกลาโรคและหายดี หรือการบอกลากันและกันตลอดกาล ผู้ดูแลจะไม่รู้สึกผิด เพราะได้ใช้เวลาและทำหน้าที่ของการเป็น 'ผู้ดูแล' อย่างคุ้มค่าและเต็มที่ที่สุดแล้ว
หวังว่าผู้ดูแลทุกคนจะไม่ลืมเทคแคร์ตัวเองให้ดี เท่ากับที่คอยดูแลผู้อื่นเสมอมา :)
อ้างอิง :
ความเห็น 20
BEST
ถ้าใครไม่ได้มาอยู่ตรงจุดนี้ ก็จะไม่สามารถรู้ได้เลย.
21 ส.ค. 2564 เวลา 02.36 น.
🔆MoD🔆
BEST
ขอบคุณค่ะ สำหรับกำลังใจ เหนื่อยทั้งกายและใจจริงๆ ค่ะ 😭
20 ส.ค. 2564 เวลา 15.38 น.
EKANEE
ขอบคุณมากครับ🌹
18 ส.ค. 2564 เวลา 18.18 น.
ขอบคุณมากค่ะที่แนะแนวทาง ให้มีแนวทางดูแลตัวเอง เราล้มคนป่วยก้อแย่ไปด้วย💐
20 ส.ค. 2564 เวลา 15.36 น.
สุพธริกา
ขอบคุณมากค่ะ
19 ส.ค. 2564 เวลา 08.57 น.
ดูทั้งหมด