โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

อันตรายใกล้ตัว! ของใช้ในห้องน้ำ ที่ไม่ควรใช้ซ้ำ เชื้อโรคเพียบ

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 13 ธ.ค. 2567 เวลา 23.16 น. • เผยแพร่ 14 ธ.ค. 2567 เวลา 05.59 น.
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

"ห้องน้ำ" เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีเชื้อโรคอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะล้างห้องน้ำบ่อยขนาดไหนแต่ก็ทำได้แค่ลดเชื้อโรคลง แต่ไม่สามารถหายไปหมดได้ ฉะนั้น ทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำ แน่ใจได้หรือไม่ว่าจะไม่มีเชื้อโรคติดตัวมา

ห้องน้ำที่บ้าน หรือห้องน้ำตามที่สาธารณะต่างๆ เครื่องใช้หรือสุขภัณฑ์ที่ใช้จะมีจุลินทรีย์ เชื้อโรคมากมาย ทั้งแบคทีเรีย รา ปรสิต รวมถึงไวรัส สามารถก่อโรคให้กับเราได้

จุลินทรีย์ที่พบได้จากห้องน้ำ โดยพบสะสมอยู่ตามตำแหน่งต่างๆ ทุกคนที่เข้าไปใช้ห้องน้ำจะต้องสัมผัส เช่น ลูกบิดประตู ปุ่มกดชักโครก สายฉีดน้ำชำระ สบู่ล้างมือ เครื่องเป่ามือ หรือเครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆที่วางไว้ประจำ เช่น แปรงสีฟัน หรืออุปกรณ์อื่น กรณีที่รวมอยู่กับห้องสุขา เช่น ฝักบัวอาบน้ำ เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ผู้หญิง เข้าห้องน้ำสาธารณะเสี่ยงติดเชื้อ HPV เป็น 1 ไวรัส มะเร็งปากมดลูก

“ห้องน้ำสาธารณะ-ลิฟต์”ที่อับเสี่ยงสูงผลวิจัยย้ำ“หน้ากาก”ป้องกันโควิด

จุลินทรีย์ เชื้อโรคที่พบจากตำแหน่งต่างๆ ในห้องน้ำ

  • ลูกบิดประตู

ลูกบิดประตูเป็นสิ่งแรกที่เราต้องสัมผัสและเป็นช่องทางที่เชื้อสามารถแพร่กระจายสู่บุคคลอื่น เชื้อสำคัญที่พบ ได้แก่ Staphylococcus spp. ที่พบทั่วไปบนผิวหนัง เชื้อนี้ก่อโรคทางผิวหนังหรือสร้างสารพิษที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ บางชนิดเช่น Methicillin resistant Staphylococcus aureus (MRSA) เป็นเชื้อ S.aureus ที่ดื้อต่อยา Methicillin และมีชีวิตอยู่บนพื้นที่แห้งได้นานถึง 9 สัปดาห์ เชื้ออีกชนิดคือ Escherichia coli เป็นแบคทีเรียที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ และปะปนออกมากับอุจจาระ เป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการท้องร่วงและอาหารเป็นพิษ
ชักโครก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
  • ที่รองนั่งชักโครก

อีกที่หนึ่งที่มีการสะสมของจุลินทรีย์มากคือ ปุ่มกดชักโครก เชื้อที่พบได้แก่ S. aureus และเชื้อฟีคัลโคลิฟอร์ม (Faecal coliform bacteria) ซึ่งใช้เป็นตัวชี้วัดการปนเปื้อนอุจจาระ แบคทีเรียกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในลำไส้ของมนุษย์ ถ้าเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดอาการถ่ายเป็นน้ำ เป็นมูกเลือด เช่น Escherichia coli, Enterobacter spp. เป็นต้น

  • การกดชักโครก

เป็นอีกสาเหตุหนึ่งในการแพร่กระจายจุลินทรีย์ โดยในปีค.ศ. 2012 Best และคณะ ได้ตีพิมพ์บทความถึงการกดชักโครกโดยไม่ปิดฝาครอบ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายแบคทีเรีย Clostridium difficile ที่ก่อให้เกิดโรคท้องร่วง และอาจนำไปสู่การอักเสบในลำไส้ได้

นอกจากนี้ยังพบว่า การกดชักโครกโดยไม่ปิดฝาครอบทำให้จุลินทรีย์ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศบริเวณรอบๆ ทำให้เชื้อสะสมอยู่ตามตำแหน่งต่างๆได้ ดังนั้น การปิดฝาครอบก่อนการกดชักโครกจึงสามารถช่วยให้ผู้ใช้สุขาและผู้ที่ต้องใช้สุขารายต่อๆไปลดความเสี่ยงหรือป้องกันการได้รับจุลินทรีย์ที่ไม่พึงประสงค์เหล่านั้นได้

อุปกรณ์ในห้องน้ำที่ใช้แล้วต้องระวังเชื้อโรค

  • สายฉีดน้ำชำระ

สายฉีดน้ำชำระเป็นอีกหนึ่งจุดที่สะสมจุลินทรีย์ไว้มากจากการฉีดน้ำที่มีความแรง ผลการตรวจการปนเปื้อนในสุขาสาธารณะจากกระทรวงสาธารณะสุข พบว่าจุดที่มีเชื้อมากสุดคือบริเวณที่จับสายฉีดชำระเป็นเชื้อกลุ่มฟีคัลโคลิฟอร์มที่ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง เช่น Escherichia coli เมื่อเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายจะส่งผลให้เกิดการถ่ายอุจจาระที่มีจำนวนมากกว่าปกติถึง 3 ครั้งขึ้นไปหรือถ่ายเป็นน้ำหรือเป็นมูกเลือด

รายงานจากข่าวประจำวันของศูนย์วิทยบริการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ของวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้เผยแพร่ถึงกรณีสุภาพสตรีผู้หนึ่งที่ใช้สุขาสาธารณะ และได้ใช้สายฉีดน้ำชำระ ทำให้ได้รับจุลินทรีย์และเกิดการลุกลามของเชื้อทำให้กรวยไต เกิดการอักเสบที่ตามรายงานกล่าวว่า ทำให้มีไข้สูง ปวดตรงบั้นเอวด้านขวาจากการติดเชื้อ ทำให้ต้องรักษาตัวนานถึง 10 วัน ทั้งนี้แพทย์สันนิษฐานว่าน่าจะมีเชื้อหลงเหลืออยู่ที่บริเวณสายฉีดน้ำ อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อให้ข้อมูลว่า ตนเคยมีประวัติการป่วยจากกรวยไตอักเสบ อาจทำให้มีโอกาสการติดเชื้อง่ายกว่าคนปกติ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
  • สบู่ล้างมือ

สบู่ล้างมือในสุขาสามารถเป็นแหล่งสะสมจุลินทรีย์ได้ จากการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยอาริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าสบู่เหลวชนิดกล่องเปิดฝาแบบเติมมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนอยู่ถึงร้อยละ 25 โดย ร้อยละ 65 ของเชื้อที่พบคือเชื้อฟีคัลโคลิฟอร์ม เช่น E. coli ซึ่งการปนเปื้อนเชื้อ เกิดขึ้นขณะที่มีการเปิดฝา กล่องเพื่อเติมสบู่นั่นเอง ในขณะที่สบู่เหลวในบรรจุภัณฑ์แบบปิด หรือเมื่อใช้น้ำยาหมดแล้วทิ้ง กลับไม่พบเชื้อปนเปื้อน

สบู่ที่ผสมด้วยสารต้านจุลินทรีย์ คือผสมด้วย Triclosan ที่ออกฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย โดยที่สารนี้ จะให้ผลดีเมื่อใช้ความเข้มข้นสูง โดยทั่วไปในสบู่ จะมีสารดังกล่าวร้อยละ 0.1 ถึง 0.45 ของน้ำหนักต่อปริมาณ ดังนั้น การใช้สบู่ต้านแบคทีเรียในการทำความสะอาดผิว จึงไม่สามารถลดจำนวนจุลินทรีย์ได้อย่างสมบูรณ์

  • เครื่องเป่ามือ (Hand dryer)

เครื่องเป่ามือเป็นอุปกรณ์ในห้องน้ำอีกหนึ่งอย่างที่เราสามารถพบได้ทั่วไปตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งเรามักจะใช้เป่ามือกันอยู่เป็นปกติ แต่เราไม่รู้เลยว่าเครื่องเป่ามือนี้สามารถเป็นแหล่งสะสมและกระจายจุลินทรีย์ได้อย่างดี นักวิทยาศาสตร์จาก University of Leeds ได้ทำการทดลองโดยให้ใช้เครื่องเป่ามือในสุขา

จากนั้นเก็บตัวอย่างอากาศรอบๆที่เป่ามือและถัดจากบริเวณนั้นประมาณ 1-2 เมตร พบว่าอากาศบริเวณเครื่องเป่ามือแบบใช้ลมแรงเป่า (Jet air dryer) มีแบคทีเรียมากกว่าอากาศบริเวณเครื่องเป่ามือแบบใช้ลมร้อน (Warm air dryer) 4.5 เท่า และมากกว่าบริเวณที่ใช้กระดาษเช็ดมือถึง 27 เท่า เนื่องจากปริเวณนี้ไม่มีอากาศเป็นตัวแพร่กระจายเชื้อ

ตัวอย่างเชื้อที่พบเช่น Staphylococcus haemolyticus, Micrococcus luteus, Brevundimonas diminuta, Bacillus cereus, Pseudomonas alcaligenes เป็นต้น ในปี 2012 Huang และคณะ ได้สรุปว่าควรนำการใช้กระดาษเช็ดมือในสถานที่ที่ต้องการสุขอนามัยสูง เช่น โรงพยาบาลและคลินิก

  • ฝักบัวอาบน้ำ

จากการสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ฝักบัวเป็นแหล่งซุกซ่อนแบคทีเรียที่ไหลมาตามสายน้ำลงสู่ใบหน้าและร่างกาย โดยพบ Mycobacteria avium ซึ่งจะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการไอแหบ หายใจลำบาก เรื้อรังและหมดแรง ซึ่งเชื้อชนิดนี้จะเป็นอันตรายต่อผู้ที่มีโรคทางพันธุกรรมที่ก่อให้เกิดโรคในปอด ทางเดินอาหารและผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

อีกทั้ง ยังพบ Acinetobacter guillouiae, Acidovorax temperans, Campylobacter spp; Legionella spp., Sphingomonas paucimobilis, Stenotrophomonas maltophilia โดยการใช้ฝักบัวโลหะจะช่วยลดและหลีกเลี่ยงจากจุลินทรีย์เพราะว่าจุลินทรีย์เติบโตในวัสดุประเภทนี้ได้ยาก

  • แปรงสีฟัน

แปรงสีฟันเป็นของใช้ส่วนตัวที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในช่องปาก โดยแปรงสีฟันสามารถสะสมจุลินทรีย์ได้มากที่สุด ถ้าวางใกล้กับชักโครกมากเกินไป เมื่อเวลาเรากดชักโครกโดยไม่ได้ปิดฝาครอบ จุลินทรีย์สามารถแพร่กระจายไปในอากาศรอบๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นในเรื่องการกดชักโครก และการทำความสะอาดแปรงสีฟันหลังการใช้งานที่ไม่พอเพียง จะทำให้มีเศษอาหาร แบคทีเรีย และน้ำลายสะสมอยู่ เมื่อนำแปรงสีฟันลักษณะข้างต้นมาใช้ จุลินทรีย์ก็จะเข้าสู่ร่างกายของเรา

ตัวอย่างเชื้อที่พบ เช่น Escherichia coli, Enterococcus faecalis, Klebsiella pneumoniae, Lactobacillus spp., Porphyromonas gingivalis, Pseudomonas aeruginosa, Staphylococcus spp., Streptococcus spp., Treponema denticola รวมถึงรา Candida albicansเป็นต้น

10 สิ่งที่ไม่ควรทำ และไม่ควรใช้ซ้ำในห้องน้ำ

1.ทิ้งเครื่องสำอางไว้ในห้องน้ำ

เป็นเหตุผลเดียวกับหลายๆ ข้อที่ผ่านมาคือ การวางเครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้าเอาไว้ในห้องน้ำจึงมีโอกาสที่เชื้อโรคจะแพร่กระจายมาติดกับเครื่องสำอาง

2.เก็บแปรงสีฟันไว้ในห้องน้ำ

ข้อนี้คงแก้ยาก เพราะแทบทุกบ้าน จะนำแปรงสีฟันไว้ในห้องน้ำแต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า เชื้อโรคที่อยู่ในห้องน้ำอาจกระจายมาติดแปรงสีฟันได้ วิธีแก้ ไม่ต้องขนาดต้องเอาแปรงสีฟันออกจากห้องน้ำแต่อย่างน้อยก็อย่าวางแปรงสีฟันไว้ใกล้ชักโครก และปิดฝาชักโครกด้วยก็ดี

3.ปล่อยให้ม่านอาบน้ำสกปรก

บางบ้านรอให้ม่านอาบน้ำมัว เปรอะด้วยคราบขี้ไคล คราบสบู่จนเขลอะ จึงจะนำมาทำความสะอาดที แต่คุณรู้หรือไม่ว่า เจ้าม่านอาบน้ำนี่แหละที่เป็นแหล่งบ่มเพาะและสะสมของเหล่าเชื้อโรคได้แบบที่เราคาดไม่ถึงเชียว

4.พกโทรศัพท์เข้าห้องน้ำด้วย

เรียกว่าทำประจำเลย เพราะเวลานั่งชักโครกก็ไม่รู้จะทำอะไรดี มีโทรศัพท์ไว้ดูโน่นนี่ ก็ช่วยให้เพลินๆ ดี แต่จริงๆแล้ว ความร้อนจากโทรศัพท์ จะเป็นแหล่งเจริญเติบโตของเชื้อโรคหากลอยกระจายมาติด และเชื้อโรคจะติดอยู่บนโทรศัพท์ไ ด้นาน 2-3 วันเลย เห็นทีต้องวางโทรศัพท์ก่อนเข้าห้องน้ำแล้ว

5.ใช้ผ้าขนหนูผืนเดิมซ้ำๆ กันหลายวัน

บางคนใช้ผ้าขนหนูเช็ดซ้ำไปซ้ำมาเป็นสัปดาห์โดยไม่เปลี่ยนเลย ซึ่งผลการวิจัยบางแห่งพบว่า หากเราใช้ผ้าขนหนูซ้ำกัน 3 วันโดยไม่เปลี่ยน เราก็มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อรา เชื้อโรคที่อยู่ในผ้าขนหนูแล้ว ดังนั้นควรหมั่นเปลี่ยน อย่างน้อย 3 วันครั้ง

6.ไม่ใส่รองเท้าเดิน

ต้องเข้าใจว่าพื้นห้องน้ำใช่จะรอดปลอดภัยจากเชื้อโรค ดังนั้นหากไม่แน่ใจว่าพื้นห้องน้ำสะอาดมากพอ ก็ควรมีรองเท้าไว้ใส่เดินในห้องน้ำสักคู่ เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว

7.ไม่หมั่นเปลี่ยนใยบวบอาบน้ำ

ทราบหรือไม่ว่าหลังจากใช้ใยบวบอาบน้ำ หากล้างทำความสะอาดใยบวบไม่ดีพอ จะเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ และเมื่อเรานำมาใช้ซ้ำทุกครั้งที่อาบน้ำ ก็เท่ากับเราได้สัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรง

8.เวลากดชักโครกแล้วไม่ปิดฝา

เคยสงสัยกันมั้ยว่าฝาชักโครกมีไว้ทำไม เพราะปกติเวลากดชักโครกก็ไม่มีใครปิดฝาหรอก จริงมั้ย แต่เหตุผลที่เสี่ยงเพราะว่าการไม่ปิดฝาจะทำให้เชื้อโรคสามารถแพร่กระจายไปได้สูงและไกลถึง 6 ฟุต เมื่อฝาชักโครกเปิดอยู่จึงทำให้เชื้อโรคลอยเข้าสู่ร่างกายทางลมหายใจได้

9.แขวนผ้าซ้อนทับๆ กัน

ไม่ว่าจะเป็นผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าเช็ดมือ เมื่อใช้แล้วย่อมมีความชื้นจากน้ำ และเมื่อนำมาแขวนทับกันหลายๆ ผืน ก็ย่อมเกิดเชื้อโรคได้ โดยเฉพาะเชื้อราที่เรามองไม่เห็น มารู้ตัวอีกทีก็มีอาการของโรคผิวหนังเสียแล้วนี่สิ

10.ลืมล้างมือก่อนออกจากห้องน้ำ

ข้อนี้หลายคนคงรู้ดีอยู่แล้วว่า ไม่ว่าจะทำธุระหนักเบา การไม่ล้างมือทำความสะอาดให้เพียงพออย่างน้อย 20 วินาที เพราะเมื่อไปจับสิ่งของหรือสัมผัสกับร่างกายส่วนอื่นอาจมีเชื้อโรคติดไปด้วย จึงเป็นเหตุผลที่ควรล้างมือก่อนออกจากห้องน้ำทุกครั้ง โดยเฉพาะน้องๆ หนูๆ ที่มีเสี่ยงติดเชื้อโรคได้ง่าย

การป้องกันตนเองจากเชื้อโรคในห้องน้ำ

  • ควรเก็บเครื่องใช้ในห้องน้ำให้ห่างจากชักโครก หรือเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังการเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องเป่ามือ โดยใช้กระดาษชำระเช็ดมือแทน
  • ทำความสะอาดห้องน้ำและอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำที่เหมาะสมเป็นประจำ
  • ควรปิดฝาครอบก่อนกดชัดโครก เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของจุลินทรีย์

สิ่งควรทำ . . เพื่อสุขอนามัยที่ดี

  • ล้างมือก่อนเข้าบ้าน เเละระหว่างใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในบ้าน
  • ล้างมือเมื่อรับพัสดุ และหลังแกะพัสดุ
  • ล้างมือก่อนและหลังกินอาหาร
  • แยกของใช้ส่วนตัว เช่น แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ไม่ใช้ปะปนกัน
  • อาบน้ำสระผม หลังกลับจากที่แออัด แล้วสวมใส่เสื้อผ้าชุดใหม่
  • เสื้อผ้าใช้แล้วใส่ตะกร้าผ้า สำหรับเตรียมซัก ไม่ใส่ซ้ำ ไม่วางระเกะระกะ
  • ใช้จานชามช้อนส้อมส่วนตัว ไม่กินอาหารร่วมกัน
  • อาหารที่ซื้อหรือสั่งมากิน เทใส่จานชามที่บ้านเสมอ ไม่ควรกินอาหารจากห่อหรือกล่องบรรจุอาหารที่ร้านใช้ส่งมา การใช้ภาชนะช้อนส้อมของที่บ้านช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อได้ และอุ่นอาหารให้ร้อนก่อนกินทุกครั้ง
  • แยกขยะให้ถูกประเภทโดยเฉพาะขยะติดเชื้อ เช่น กระดาษเช็ดปาก กระดาษทิชชูในห้องน้ำ หน้ากากอนามัยใช้แล้ว และถุงมือใช้ครั้งเดียวทิ้ง มัดใส่ถุงแยกทิ้งลงถังขยะอันตราย ไม่ปะปนกับขยะทั่วไป

อ้างอิง: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล , โรงพยาบาลบางปะกอก3 และ itravelroom