โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

ไทม์ไลน์ คำร้อง-ข้อต่อสู้ เศรษฐา ลุ้นระทึก คดีถอดถอน ปมตั้งพิชิต

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 14 ส.ค. เวลา 05.26 น. • เผยแพร่ 14 ส.ค. เวลา 01.04 น.
IMG_20240813115352000000

15.00 น.วันนี้ เป็นเวลาที่การเมืองไทยหยุดนิ่ง เงี่ยหูฟัง การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

กรณีที่ 40 สว. ชุดเก่า ยื่นผ่านประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ จากการแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ไทม์ไลน์คดีถอดถอนนายกฯ

ทั้งนี้ สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 40 คน ยื่นคำร้องต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เวลานั้น ว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2) เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้ถูกร้องที่เคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

21 พฤษภาคม 2567 พิชิต ชื่นบาน ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

23 พฤษภาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 รับพิจารณาคำร้องของกลุ่ม 40 สว.ไว้พิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แต่ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน ส่วนกรณีของนายพิชิต เนื่องจากได้ลาออกจากตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงจึงไม่มีเหตุให้วินิจฉัย จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และมีมติ 8 ต่อ 1 ไม่รับคำร้องในส่วนของนายพิชิต

27 พฤษภาคม 2567 เศรษฐาเปิดเผยครั้งแรกว่า พบ “วิษณุ เครืองาม” อดีตรองนายกฯ ที่บ้านพัก เพื่อทาบทามมารับหน้าที่ในรัฐบาล

30 พฤษภาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง นายวิษณุ เครืองาม เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติราชการ เพื่อให้คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็น หรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้ว มีคำสั่งให้คู่กรณียื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน 2567 และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป กำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2567

ทั้งนี้ ผลการประชุมเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ศาลพิจารณาเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้หน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันพุธที่ 10 กรกฎาคม 2567

10 กรกฎาคม 2567 ผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณา ให้เรียกข้อมูลเพิ่มเติมและรอคำชี้แจงและพยานหลักฐานจากหน่วยงานหรือบุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเรียกไปก่อนหน้านี้ กำหนดนัดพิจารณาคดีต่อไปในวันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2567

และผลการประชุมวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง หากคู่กรณีประสงค์จะแถลงการณ์ปิดคดีให้ยื่นเป็นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 67

ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562 ข้อ 24 ภายในวันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2567 ส่วนคำร้องที่ผู้เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้รวมไว้ในสำนวนคดีศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 14 สิงหาคม 2567 เวลา 09.30 นาฬิกา นัดฟังคำวินิจฉัยเวลา 15.00 นาฬิกา เป็นต้นไป

คำร้อง 40 สว.

คำร้องของกลุ่ม 40 สว. ที่เอายื่นถอดถอนนายกฯ เศรษฐา ออกจากตำแหน่ง

1.อาศัยตำแหน่งหน้าที่ความเป็นนายกฯ กระทำการโดยอาจมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ร้อง (นายพิชิต) ด้วยการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ด้วยการเสี่ยงและบิดเบือนข้อเท็จจริงในการให้ข้อมูลแก่สังคมและประชาชน

2.พบนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีนายพิชิต เป็นหัวหน้าทนายความประจำตัวจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง อาจเป็นสาเหตุทำให้นายเศรษฐาต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทักษิณและนายพิชิต

3.มีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นการกระทำที่ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตน กับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

4.ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการคบหาสมาคมกับผู้มีความประพฤติหรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสียอันอาจกระทบกระเทือน ต่อความเชื่อศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่

ทั้งนี้ในคำร้องดังกล่าว สรุปว่านายกฯ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมอย่างร้ายแรง หมวด 1 ข้อ 7 ข้อ 8 หมวด 2 ข้อ 11 ข้อ 17 และข้อ 19

ข้อต่อสู้ ฝ่ายนายกฯ

1.สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ความผิดจริยธรรมร้ายแรง เป็นขอบเขตอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

2.การตั้งนายพิชิต ไม่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณ ตามข้อกล่าวหาของ 40 สว.แต่เป็นการแต่งตั้งตามปกติ ตามความรู้ความสามารถ

3.สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญโดยไม่เลือกปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์และกะบวนการตรวจสอบ กรณีแต่งตั้งรัฐมนตรีโดยตลอดนับเนื่องถึงปัจจุบัน

4.สว.40 คน ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไม่อาจใช้เอกสิทธิภายหลังครบวาระ 5 ปี ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 ได้อีกต่อไป

เนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวเป็นการ “ใช้สิทธิ” ไม่ถือว่าเป็นหน้าที่และอำนาจของ สว.รักษาการจนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 109

พ้นตำแหน่ง ไม่สามารถรักษาการ

อย่างไรก็ตาม หาก “เศรษฐา” รอดจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไปได้ ทุกอย่างก็เดินหน้าต่อ แต่ทว่าต้องพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะไปอย่างไร

“วิษณุ เครืองาม” ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ไขคำตอบว่า “นายกฯ ไม่สามารถรักษาการได้ ต้องพ้นจากตำแหน่งทันที และต้องให้รองนายกรัฐมนตรี คนที่ 1 คือ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีแทน”

ต้องเลือกนายกฯ ใหม่ ไม่กำหนดเวลา

ต้องเลือกนายกฯ ใหม่ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ซึ่งจะต้องเลือกจาก “แคนดิเดตนายกฯ” ในบัญชีพรรคการเมืองที่มี สส.ในสภา 25 คน และต้องแจ้งไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยไม่ได้กำหนดจะต้องมีนายกฯ กี่วัน

ทั้งนี้ สำหรับแคนดิเดตนายกฯ ที่มีอยู่ในขณะนี้ มีอยู่ 6 คน

1.พรรคเพื่อไทย มี แพทองธาร ชินวัตร, ชัยเกษม นิติสิริ

2.พรรคภูมิใจไทย มี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ รมว.มหาดไทย

3.พรรคพลังประชารัฐ มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

4.พรรครวมไทยสร้างชาติ มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

ทั้งนี้ การเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 88 ไม่ได้กำหนดให้มีการ “ลาออก” จากแคนดิเดต เว้นแต่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เช่น กรณี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามว่า ถึงการเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ยังคงเป็นองคมนตรี และเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ สามารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ว่า มันก็ไม่เชิงเป็นกระแส แต่เป็นการพูดกันไปมาเท่านั้นเอง บางคนอาจจะพูดอาจจะคิด เพราะชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอยู่ จะลาออกหรือจะถอนตัวก็ไม่ได้ จะสละอะไรขณะนี้ก็ยังไม่ได้ แต่เมื่อถึงเวลาหากถูกเรื่องขึ้นมาก็สามารถสละตำแหน่งที่สภาเขาเลือกได้

และเมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่าถ้าถึงเวลาแล้วเลือก พล.อ.ประยุทธ์สามารถไม่รับตำแหน่งได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า แน่นอน ก่อนจะมีใครเสนอชื่อก็คงต้องไปถามก่อน แล้วท่านก็คงจะปฏิเสธตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งตำแหน่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจะสิ้นสุดต่อเมื่อหมดสมัยสภา ซึ่งตามกฎหมายลาออกไม่ได้ พร้อมกับระบุว่า ก็คงต้องเป็นกระแส เพราะองคมนตรีคนอื่นไม่ได้เป็นกระแส เพราะไม่ได้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

เดินตลาด ก่อนกลับทำเนียบ

สำหรับกำหนดการนายกฯ ในวันพิพากษาคดี โดยนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมตลาดใต้สะพานเพลินจิต ณ บริเวณสะพานเพลินจิต ถนนเพลินจิต เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เวลา 12.00 น. จากนั้นนายกฯ กลับมาปฏิบัติราชการในทำเนียบ

เศรษฐากล่าวว่า เข้าใจว่าอยู่ในทำเนียบ-ไม่มีวอร์รูม

“ผมคิดอย่างนี้ ผมมีประชุมอยู่แล้วแต่เป็นการประชุมภายในกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน ฉะนั้นถ้ามีผลคำวินิจฉัยเชื่อว่าทีมงานคงเข้ามาบอก ซึ่งผมก็ประชุมไปเรื่อย ๆ แต่คงไม่ใช่เซตการประชุมอย่างเป็นทางการ”

ตารางคิวแน่น

หลังจากวันพิพากษา กำหนดการนายกฯ ที่วางไว้ล่วงหน้ามีดังนี้ 15-16 สิงหาคม ไปประชุมแม่โขง-ล้านช้าง ที่เชียงใหม่, 17-20 สิงหาคม ไปจังหวัดนครนายก-สระบุรี-ชัยนาท-สิงห์บุรี และประชุม ครม.สัญจร ที่อยุธยา, 21-23 สิงหาคม ไปตาก-เชียงใหม่-เชียงราย ตบท้ายวันที่ 31 ส.ค. ไปนครพนม-บึงกาฬ

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ไทม์ไลน์ คำร้อง-ข้อต่อสู้ เศรษฐา ลุ้นระทึก คดีถอดถอน ปมตั้งพิชิต

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net

0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0