โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

1O สิ่งต้องทำ เมื่อตกงานกะทันหัน

Wealth Me Up

เผยแพร่ 12 ก.ค. 2562 เวลา 09.25 น. • Wealth Me Up

ใช้แรงทำเงิน & ให้เงินทำงาน กด Subscribe รอเลย…

Facebook | Line | Youtube | Instagram

 

ตกงานกะทันหัน เป็นใครก็ตกใจ!! แต่อย่ามัวจิตตก รีบเค้นสติออกมาและลุกขึ้นมาจัดการชีวิต ด้วย 10 สิ่งที่ควรทำ

มีอะไรบ้าง Wealth Me Up มีคำตอบ…

 

*1. จัดการเรื่องประกันสังคม *

2 สิ่งที่ควรทำทันทีเมื่อตกงาน คือ ขึ้นทะเบียนคนว่างงาน เพื่อรับเงินชดเชย และ เลือกว่าจะรักษาสิทธิความคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคมต่อไปหรือไม่ โดยลูกจ้างที่มีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนว่างงาน จะมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือ ได้รับประโยชน์ทดแทนในอัตรา 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน แต่ผู้ประกันตนจะต้องไปขึ้นทะเบียนหางานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ว่างงาน และหากผู้ถูกเลิกจ้างยังประสงค์ที่จะอยู่ในระบบประกันสังคมต่อ ก็สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้

 

2. ตรวจสุขภาพการเงิน

ทันทีที่ว่างงาน รายรับของคุณจะไม่เหมือนเดิม แต่รายจ่ายส่วนใหญ่ยังคงอยู่ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจเช็กข้อมูลทางการเงินว่า มีสินทรัพย์ หนี้สิน เงินลงทุน ภาระผูกพันอะไรอยู่บ้าง ยังมีแหล่งรายได้ที่ยังเหลืออยู่บ้างไหม และมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ของตนเองและครอบครัวอยู่เท่าไร โดยจะต้องอัพเดทมูลค่าของทรัพย์สินเงินลงทุนให้เป็นมูลค่าปัจจุบัน ไม่ใช่ราคาต้นทุน จะได้ทราบถึงสุขภาพการเงินของคุณที่แท้จริง

 

3. รื้อปรับขยับการใช้เงิน

เมื่อทราบสถานะการเงินแล้ว จะประเมินได้ว่ารายได้ที่ยังเหลือกับทรัพย์สินที่มีอยู่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายและหนี้สินหรือไม่ หากมีไม่เพียงพอ หรือ สามารถรองรับภาระค่าใช้จ่ายได้ไม่นาน ก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินอย่างเร่งด่วน จะปรับมากหรือน้อยก็ขึ้นกับระดับความจำเป็น สิ่งที่ต้องลดลงก่อน คือ  รายจ่ายฟุ่มเฟือย เช่น ค่าใช้จ่ายเพื่อสันทนาการ ท่องเที่ยว ชอปปิง จากนั้น ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต มาใช้นโยบายรัดเข็มขัด งดใช้บัตรเครดิตชั่วคราว และควรจดบัญชีรับ-จ่าย แต่ค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรลด คือ การชำระคืนหนี้สิน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หากค้างชำระ จะกระทบต่อเครดิตและความน่าเชื่อถือของตัวคุณ

 

  4. เคลียร์เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ผู้ตกงานที่มีเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมี 2 ทางเลือก ต้องชั่งน้ำหนักดูว่า ควรเลือกทางเลือกไหน ทางเลือกที่ 1 คงเงินไว้ในกองทุนต่อไป จนกว่าจะได้งานใหม่  ค่อยย้ายกองทุนไปที่กองทุนของที่ทำงานใหม่ หรือทางเลือกที่ 2 เอาเงินออกจากกองทุน เพื่อนำมาใช้จ่าย แต่หากถามว่า จะเลือกทางไหนดีกว่ากัน ก็ต้องบอกว่า ขึ้นอยู่กับสุขภาพทางการเงินของคุณ โอกาสที่คาดว่า จะหางานใหม่ได้เมื่อไหร่  เพราะถ้าเลือกทางเลือกที่ 1 ก็ต้องแจ้งกับฝ่ายทรัพยากรบุคคลว่า คุณมีความประสงค์จะคงเงินไว้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 650 บาท ต่อปี ซึ่งจะช่วยให้คุณมีเงินออมต่อเนื่อง แต่หากเลือกทางที่ 2 ก็ต้องเสียภาษี แต่จะทำให้มีเงินก้อนมาเสริมสภาพคล่อง หรือ เป็นเงินทุนในการดำเนินชีวิต

 

  5. ถนอมเงินก้อนที่ได้มา

เงินก้อนที่ได้มาหลังตกงาน อย่าเพิ่งรีบใช้ หรือ นำไปลดหนี้ แต่ควรนำไปจัดสรรให้เพียงพอต่อการดำรงชีพตามปกติ เพียงพอต่อการจ่ายคืนหนี้ได้ตามกำหนด จากนั้น ก็ต้องกันเงินสำรองส่วนนี้ให้ได้ก่อน ประมาณ 6-8 เท่าของเงินเดือน เพื่อเป็นหลักประกันว่า ยามว่างงานคุณจะยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติไปอีกอย่างน้อย 6-8 เดือน จนกว่าจะได้งานใหม่ และเมื่อกันเงินส่วนนี้แล้วยังมีเงินก้อนเหลือ จึงค่อยพิจารณาว่าจะจัดการอย่างไรดี

 

 6. มองหางานใหม่

หลังตกงาน คนส่วนมากจะเร่งหางานใหม่ให้เร็วที่สุด แต่กลายเป็นว่า แม้ได้งานใหม่กลับทำได้ไม่นานก็ลาออกอีก เพราะไม่ใช่งานที่ชอบ ไม่เหมาะสมกับตัวเอง แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง น้อยคนนักที่จะได้ทำงานที่ตนเองชอบจริงๆ  การจะประเมินว่าคนคนหนึ่งจะทำงานที่หนึ่งได้นานแค่ไหน ขึ้นกับเหตุผลของความพอใจใน 3 เรื่องด้วยกัน คือ เนื้อหางาน รายได้ และ ผู้ร่วมงาน หากใครมีความพึงพอใจหรือรับได้ต่อสิ่งเหล่านี้อย่างน้อย 2 ใน 3 อย่าง ก็จะสามารถทำงานนั้นได้อย่างยาวนาน

 

7. ปัดฝุ่นเรซูเม

“เรซูเมดีมีชัยไปกว่าครึ่ง”  บางคนไม่ได้อัพเดทเลย ก็ควรนำมาเติม หรืออัพเดทว่า งานล่าสุดเราทำอะไร  อยู่ในตำแหน่งไหน  มีหน้าที่รับผิดชอบอะไรบ้าง  ที่ผ่านมาวุฒิการศึกษาเปลี่ยนรึเปล่า  ไปร่ำเรียนอะไรเพิ่มมา หรือผ่านคอร์สอบรมพิเศษ ที่ทำให้เรามีทักษะที่น่าสนใจ  รูปถ่ายปัจจุบันก็สำคัญ  รูปเก่า ทรงผมเก่า เชย ถ่ายมานานมากแล้ว ก็ได้เวลาไปปรับปรุงใหม่  ปรับลุคให้ดูทันสมัย ภูมิฐาน ถ่ายใหม่ เพราะ เรซูเม เป็นเอกสารชิ้นแรกที่ทำให้ที่ทำงานใหม่จะรู้จักคุณ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ข้อมูลครบ และให้เขารู้จักคุณให้มากที่สุด  เพื่อบอกว่าคุณมีความเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่สมัครมากเพียงใด เพื่อให้ได้รับการพิจารณา

 

 8. ใช้เวลาพัฒนาตัวเอง

ช่วงเวลาที่ตกงาน คือ ช่วงเวลาทองที่หาไม่ได้ ในระหว่างหางานใหม่ที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ปล่อยเวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ก็ควรมีการพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะทักษะด้านการสื่อสารในภาษาต่างประเทศ ฟัง พูด อ่าน เขียน และการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์  หรือ อาจไปอบรม เรียนรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านวิชาชีพตามความจำเป็นในสายงานที่ทำอยู่ เรื่องที่สนใจ และ คิดว่าจำเป็นต่อการทำงานในอนาคต

 

 9. ผันตัวเป็นฟรีแลนซ์ & ทำงานพาร์ทไทม์

ช่วงเวลาว่างงานแบบนี้ ถือเป็นโอกาสอันดี ในการทดลองทำในสิ่งที่ชื่นชอบ อยากทำและมีรายได้เสริมให้ตนเอง โดยเริ่มจาก งานพาร์ทไทม์ หรือ ฟรีแลนซ์ ที่ตนเองถนัดหรือ มีความเชี่ยวชาญก่อน ไม่แน่ว่าคุณอาจพบหนทางสว่างในอาชีพ และไม่ต้องกลับไปเป็นมนุษย์เงินเดือนเลยก็เป็นได้ ขณะเดียวกัน งานขายตรง ก็เป็นโอกาสที่ไม่เลว บางทีคุณอาจจะเจอพรสวรรค์ของตนเองก็ได้  ไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้า หรือการขายประกันชีวิต  ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จในการขาย อาจกลายมาเป็นอาชีพประจำของคุณในที่สุด

 

10. ถือโอกาสชาร์จแบตให้ตัวเอง

อยากให้คิดว่า ช่วงว่างงานนี้ คือ ช่วงพักร้อนของชีวิต ที่ไม่ต้องเร่งรีบ ไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องมีคำสั่ง ไม่ต้องอดทนกับสิ่งที่คุณไม่อยากเจอ ปล่อยใจให้สบายๆ เลือกให้รางวัลชิ้นใหญ่กับชีวิตแบบเต็มที่  ไม่ว่าจะเป็นการไปท่องเที่ยวในที่ที่อยากไปมานานแต่ไม่มีโอกาสได้ไป การใช้ชีวิตกับครอบครัวอย่างเต็มที่ เดินสายพบปะสังสรรค์ ญาติที่ห่างหาย เพื่อนฝูง หรือผู้ร่วมงานเก่าๆ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิต รับฟังความคิดเห็นหรือข้อมูลจากคนอื่น ไม่แน่คุณอาจได้งานใหม่ที่รอคอยมานานจากคนรอบกายเหล่านี้ก็ได้ ใครจะรู้

 

การตกงานอาจไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป แต่อาจเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้ทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน หรืออาจจะทำให้เราได้เจองานใหม่ๆ ที่เหมาะกับเราจริงๆ ก็ได้

 

 

WealthMeUp

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น