“จานใบไม้ที่เราทำ ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ สะอาด ปลอดภัย มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เหมาะสำหรับใช้เป็นภาชนะใส่อาหาร ขนม ผลไม้ เครื่องตกแต่งบ้าน ของที่ระลึกหลากหลายรูปแบบ สามารถนำไปเป็นของขวัญในโอกาสต่างๆ ช่วยสร้างความประทับใจให้กับผู้รับได้อย่างไม่รู้ลืม” เป็นคำกล่าวของ คุณเนตรนภา ทากาฮาชิ รองประธานวิสาหกิจชุมชนสร้างป่าสร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าใบไม้ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านซาง หมู่ที่ 4 ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
เดิมครอบครัวมีอาชีพค้าขายและทำร้านอาหาร ชื่อร้านอาหารในสวน (In the garden) เปิดบริเวณสวนหลังบ้าน มีจุดถ่ายภาพที่สวยงาม ตกแต่งแบบล้านนาและมีสวนดอกไม้ให้ถ่ายภาพซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังฮิตในตอนนั้น ในปี 2560 ช่วงนั้นบุตรชายเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์กระถางต้นไม้จากต้นข้าวโพด ส่งอาจารย์ของบุตรชาย จนได้เข้าร่วมการประกวดนวัตกรรมรักษ์โลกที่ประเทศมาเลเซีย จุดประกายให้ต่อยอดเป็นธุรกิจ ผลิตจานใบไม้ ที่ไม่ใช่แค่ช่วยแก้ปัญหาเผาป่าและลดฝุ่นPM 2.5 ยังกลายเป็นการเพิ่มมูลค่าใบไม้แก่ที่ร่วงจากป่า สู่สินค้าที่เข้ากับเทรนด์ธุรกิจสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะคำสั่งซื้อหรือออร์เดอร์ฝากาบหมากปิดกล่องใส่อาหารที่มีออร์เดอร์มากกว่า 1 ล้านชิ้นต่อปี
จากแนวคิดดังกล่าวเห็นว่าที่บ้านมีต้นข้าวโพดเหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวฝักเรียบร้อยแล้ว เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจึงนำมาบด ต้ม และปั้นขึ้นรูปเป็นกระถาง แต่รูปทรงยังไม่เป็นมาตรฐานเนื่องจากยังไม่มีแท่นพิมพ์อัด จึงเป็นเพียงแนวคิดที่จะทำและเป็นการเริ่มต้นในแนวคิดการสร้างมูลค่าจากป่า ต่อมาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีปัญหาฝุ่นควันไฟป่ารุนแรง และเป็นปัญหาที่มีผลกระทบในวงกว้าง ร้านอาหารมีลูกค้าน้อยลง แต่ก็ยังเปิดให้บริการอยู่ ภายหลังได้มองกิจกรรมที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันไฟป่า จึงทดลองเก็บใบตองตึงมาลองขึ้นรูปด้วยการนำหินร้อนๆ มาทับให้เป็นรูปทรง พบว่าขึ้นรูปได้ และมีลวดลายที่สวยงาม น่าจะต่อยอดได้
จึงเสนอแนวคิดให้กับมูลนิธินานาชาติสัมพันธ์ (ไทย-ญี่ปุ่น) กอร์ปกับกระแสรักษ์โลกมาแรง จึงได้สืบค้นหาแหล่งซื้อเครื่องเครื่องพิมพ์จานใบไม้ จากแหล่งต่างๆ รวมถึงราคาเครื่องที่พอจะซื้อได้ ต่อมาได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธินานาชาติสัมพันธ์ 45,000 บาท ให้ซื้อเครื่องจากบริษัท เคเอ็มเอส เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตโดรน ให้กับกองทัพไทย ซึ่งมีกิจกรรมที่จะช่วยเหลือชุมชนในการออกแบบ และผลิตเครื่องพิมพ์จานใบไม้ ขณะนั้นเครื่องยังเป็นรุ่นแรกๆ ใช้มือโยก ยังไม่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต หลังจากเริ่มผลิตจานใบไม้ได้จึงนำมาใช้ในร้านอาหารของตนเอง
ต่อมา ได้จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนกับสำนักงานเกษตรอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ชื่อ “วิสาหกิจชุมชนสร้างป่าสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าใบไม้ รหัสทะเบียน 6-50-07-04/1-0035” ทางกลุ่มยังคิดค้นและ พัฒนารูปแบบโดยการนำไม้ตอกมาประกอบในจานใบไม้ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นตกแต่งหลากหลายแบบ พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่สนใจของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งให้ความร่วมมือในการจัดนิทรรศการและนำเสนอผลงานและแนวคิดสู่โลกภายนอก โดยหลายๆ ชุมชนได้มีการริเริ่มที่จะทำเช่นกันแต่ขาดการต่อยอด เพราะส่วนใหญ่มักจะมองมูลค่าเทียบกับโฟม ซึ่งมีราคาสูงกว่าโฟม จึงมองตลาดที่สูงกว่า และค่อนข้างยากแต่ก็ยังมุ่งมั่นที่พัฒนารูปแบบให้หลากหลาย และนำเสนอทางออนไลน์ควบคู่ไปด้วย
ถึงแม้ช่วงนั้นจะเป็นช่วงที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) แต่ทุกภาคส่วนก็ยังให้ความสำคัญกับกระแสรักษ์โลกและวัสดุที่ทำจากวัสดุธรรมชาติมาก ทั้งได้บุตรซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่น ทั้ง 2 คน ช่วงทำคลิปประชาสัมพันธ์หลายๆ ทาง ตลอดจนได้รับการแนะนำจาก ดร.สุมิตรอธิพรหม รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเห็ดป่าแม่โจ้ ในขณะนั้น ซึ่งได้มอบเครื่องพิมพ์จานไว้ให้กับกลุ่มเพาะเห็ด ที่ศูนย์พลังงานทดแทนจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้ดูแลรักษา จึงได้ซื้อเครื่องพิมพ์เพิ่มอีกเครื่องที่ทันสมัยมากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต ทั้งยังได้พรีเซ็นเตอร์เป็นนักชกชื่อดัง บัวขาว บัญชาเมฆ ขณะนั้นเป็นนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ช่วยประชาสัมพันธ์เพิ่มอีกทาง ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
รวมทั้งได้จดทะเบียนโอท็อป กับสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแม่ริม มีโอกาสเข้าร่วมงานโอท็อป ที่ห้างไอคอนสยาม เป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยมีบริษัทในเครือเซ็นทรัลพัฒนา ได้ติดต่อให้ทำจานใบไม้เพื่อใส่ผักวางในชั้นวาง เนื่องจากใบตองใช้ที่รองในบรรจุภัณฑ์เหี่ยวเฉาได้ง่ายกว่าผักที่อยู่ข้างใน แต่ขณะนั้นยังไม่พร้อมจึงปฏิเสธไป
ต่อมาในช่วงปี 2563 ได้เข้าร่วมโครงการโคโยริของประเทศญี่ปุ่น เป็นโครงการวิจัยและพัฒนาการออกแบบให้กับนักศึกษาออกแบบก่อนจบการศึกษา ได้ให้ความร่วมมือในการพัฒนาจานใบไม้และกระถางรักษ์โลกจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร จึงได้ให้บริษัทที่เคยซื้อเครื่องพิมพ์จานใบไม้ออกแบบทำกระถางจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรคือ ต้นข้าวโพดขนาด 4-5 นิ้ว ในเดือนกรกฎาคม 2565 ได้รับออร์เดอร์จากบริษัทในเครือเซ็นทรัลพัฒนา ด้วยความร่วมมือในการทำกระถางรักษ์โลกลดขยะจากสำนักงาน ซึ่งเป็นขยะประเภทกระดาษของเซ็นทรัล มาผสมกับต้นข้าวโพด โดยให้ออร์เดอร์จำนวนมาก แต่กลุ่มเกรงว่าจะทำส่งให้ไม่ทันจึงรับมาเพียง 10,000 ชิ้นในราคาชิ้นละ 35 บาท เป็นกระถางพร้อมปลูกจะย่อยสลายภายใน 3-6 เดือน เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่แก่คณะผู้บริหารในเครือเซ็นทรัลพัฒนาทุกสาขาทั่วประเทศ ในเดือนพฤศจิกายน 2565 แต่มีปัญหาในกระบวนการผลิตเพราะไม่มีเครื่องบดย่อยข้าวโพด มีเพียงเครื่องปั่นที่ใช้ในครัวเรือน จำนวน 2 เครื่อง และบดได้ปริมาณน้อยในแต่ละวัน เพราะเครื่องร้อนอาจให้เครื่องพังเสียหาย
ขั้นตอนการทำจานรักษ์โลกและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ล้างใบไม้ด้วยน้ำสะอาด นำไปผึ่งแดดให้แห้ง ตัดขนาดตามต้องการ ทาแป้งมันเคลือบใบไม้ให้ทั่ว นำเข้าแม่พิมพ์ขึ้นรูป ตัดขอบตามรูปทรงให้สวยงาม เป็นอันเสร็จขั้นตอน
จากปัญหาเรื่องกำลังการผลิตไม่เพียงพอที่กลุ่มประสบ จึงได้ปรึกษาหารือกันและเข้าขอรับคำแนะนำจาก คุณรัชนีวรรณ์ เป็งพรม เกษตรอำเภอแม่ริม สังกัดสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแล และให้คำแนะนำในการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ เพื่อประสานความร่วมมือและขอรับการสนับสนุนเครื่องบดย่อยเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่ จนกระทั่งได้รับการตอบรับจากร้อยตรี สุภาพ ยะมะโน นายกเทศบาลตำบลริมเหนือ อนุเคราะห์ให้ยืมเครื่องดังกล่าวเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตจนกระทั่งสามารถส่งสินค้าได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ กลุ่มยังได้เชื่อมโยงชุมชนใกล้เคียงเพื่อผลิตสินค้าดังกล่าวให้ทันกำหนด คือ กลุ่มสตรีใบตอง แม่แฝกโมเดล อำเภอสันทราย และกลุ่มบ้านตลาดขี้เหล็ก อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยืมเครื่องพิมพ์และแรงงานที่สามารถมาร่วมงานได้ เป็นการสร้างเครือข่ายด้านการผลิตและกระจายรายได้สู่ชุมชนและชุมชนใกล้เคียง ในช่วงเดียวกันที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นช่วงเทศกาลลอยกระทง ได้ร่วมกับเทศบาลตำบลขี้เหล็กในการนำจานใบไม้และใบตองตึงไปประดับที่เวทีจัดงาน และกลุ่มได้ออกแบบพญานาคที่ทำจากใบตองตึงร่วมขบวนแห่นางนพมาศด้วย
จากการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ ทำให้ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจจากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งทำธุรกิจร้านอาหาร ด้วยกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทางรัฐบาลมีนโยบายใช้วัสดุจากธรรมชาติทดแทนพลาสติก จึงได้รับออร์เดอร์ ฝากล่องอาหารที่ทำจากกาบหมากจำนวน 500,000 ชิ้น และได้รับออร์เดอร์จากชาวอเมริกาให้ทำกล่องขนาด 4 นิ้ว จำนวน 500,000 ชิ้น ต่อมาได้รับความสนใจจากโรงแรมใหญ่และสนามกอล์ฟหลายแห่ง ให้ผลิตจานใบไม้เพื่อประกอบการใส่อาหารบางเมนูเพื่อบริการแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
การดำเนินกิจกรรมที่ต่อเนื่องและไม่หยุดนิ่ง เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและน่าสนใจ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าวัยรุ่น เช่น แท่นชาร์ตโทรศัพท์ แผ่นรองโน้ตบุ๊กและเม้าต์ ที่เสียบปากกา คลิปบอร์ด ที่เก็บอัฐิ กระเป๋าหนัง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้รับออร์เดอร์ให้ทำแผ่นซับเสียง และแผ่นตกแต่งภายใน จนต้องเพิ่มแท่นพิมพ์อัดแบบเรียบ เพื่อทำแผ่นดังกล่าว โดยแผ่นทำมาจากเศษใบไม้ที่เหลือจากการทำจานใบไม้นำมาเพิ่มมูลค่าด้วยกระบวนการ บด ต้ม ผสมตัวเชื่อมที่คิดค้นเป็นพิเศษทดแทนแป้ง เพื่อป้องกันเชื้อราและการทำลายจากปลวก มีน้ำหนักเบา ลวดลายด้านหน้าของแผ่นเป็นลายใบตองตึงสีเป็นธรรมชาติของแต่ละใบจะไม่เหมือนกัน (มีชิ้นเดียวในโลก) ทำให้เป็นเสน่ห์ของแผ่นซับเสียง
ในช่วงเทศกาลลอยกระทงซึ่งเป็นประเพณีที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ ที่กำลังจะถึงนี้กลุ่มได้รับความสนใจจาก คุณนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้การสนับสนุนสั่งจองกระทงที่ทำจากใบตองจำนวน 10,000 ชิ้น เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์เทศกาลลอยกระทงและเป็นวัสดุธรรมชาติลดการเผาป่า ลดฝุ่นควัน PM 2.5 กลุ่มได้สร้างงานให้กับคนในชุมชนคือ กลุ่มผู้สูงอายุตำบลขี้เหล็กที่สนใจพับกลีบกระทงและทำดอกไม้จากเปลือกข้าวโพดและใบไม้สีสันต่างๆ เพื่อประกอบเป็นช่อดอกไม้หรือใช้ทำพวงหรีด ตลอดจนกระเช้าดอกไม้ในเทศกาลต่างๆ โดยนำวัสดุไปทำที่บ้าน จำนวน 20 ราย กลุ่มที่เป็นเครือข่ายในการเก็บใบตองตึงในพื้นที่ตำบลสะลวงและตำบลห้วยทราย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ อีกจำนวน 12 ครัวเรือน
ต้นทุนการผลิตของกลุ่มส่วนใหญ่เป็นค่าแรง เนื่องจากแรงงานหายากและอยู่ในสถานการณ์ค่าครองชีพในปัจจุบันสูงขึ้น งานส่วนใหญ่ที่ทำต้องใช้ความชำนาญและระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อลดความเสียหายของชิ้นงาน ต้นทุนในการซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร กาบหมาก รับซื้อกาบละ 2 บาท สามารถทำใด้ 2-3 ชิ้นแล้วแต่ขนาดของชิ้นงาน กาบหมากสั่งซื้อมาจากจังหวัดตาก ซึ่งเป็นแหล่งที่ปลูกหมากมากแต่มีค่าขนส่งค่อนข้างสูง ในจังหวัดเชียงใหม่มีปลูกในพื้นที่อำเภอสันทราย แต่เกษตรกรไม่พร้อมที่จะขายให้กลุ่ม เพราะมีวิธีการเก็บกาบหมากโดยเฉพาะเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย เกษตรกรมองว่าเป็นความยุ่งยากและปริมาณน้อยไม่คุ้มค่าในการเก็บ ส่วนใบตองตึงรับซื้อใบละ 25 สตางค์ จาน 1 ใบ ใช้ใบตอง 2 ใบมาประกบกัน ค่าวัสดุในการทำจาน 1 ใบ เท่ากับ 1 บาท ส่วนที่ตัดออกจากจานสามารถนำไปทำกระทง ดอกไม้ หรือแผ่นซับเสียงได้อีก ขึ้นกับขนาดที่ตัด เพราะฉะนั้นวัสดุที่ทำมาทำจานไม่ได้ทิ้งเลย สามารถทำให้ขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) ได้ทั้งกระบวนการผลิต จึงขึ้นชื่อว่า “นวัตกรรมจานรักษ์โลกโดยแท้จริง”
แผนการพัฒนาของกลุ่มในอนาคต มีความต้องการขยายตลาดโดยการสร้างเครือข่ายกับชุมชนใกล้เคียงที่มีเครื่องพิมพ์จานขนาดต่างๆ และมีวัตถุดิบในพื้นที่ ทำการผลิตให้กลุ่มซึ่งกลุ่มเป็นผู้ออกแบบ เพราะกลุ่มต้องการเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อทำตลาดส่งออกต่างประเทศ เช่น จานกาบหมาก กระถางทำจากเศษวัสดุเหลือใช้การเกษตร เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีออร์เดอร์มาก ปัจจุบันกลุ่มได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การบริการ ตรวจหาเชื้อโรคในจาน โดยได้ส่งตัวอย่างให้ทางห้องแล็บกลางจังหวัดเชียงใหม่ และผ่านมาตรฐานที่กำหนดไว้ สามารถใส่อาหารได้ทั้งใส่ยำ ใส่อาหารที่มีน้ำขลุกขลิกได้ แต่จำกัดเรื่องแม่แบบรูปพิมพ์ได้จานที่ก้นไม่ลึกเท่าที่ควร นอกจากนี้ กลุ่มยังได้ส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ให้กับตัวแทนผู้ส่งออกของประเทศเยอรมนีเพื่อเสนอสินค้าของกลุ่มให้กับต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานงานและการตอบรับ กำลังการผลิตของกลุ่มในปัจจุบันสามารถผลิตชิ้นงานได้ไม่น้อยกว่า 60,000 ชิ้นงานต่อเดือน โดยมีแรงงานในการผลิต จำนวน 10 คน ทั้งนี้ เป็นแรงงานในครัวเรือนด้วย รายได้ขั้นต่ำต่อเดือนยังไม่หักค่าใช้จ่าย ประมาณ 420,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ผลงานที่กลุ่มคิดค้นและออกแบบมาตลอดระยะเวลา 3 ปี ได้สร้างชื่อเสียง สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่ชนรุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์งานอย่างต่อเนื่อง พัฒนาสู่อุตสาหกรรมครัวเรือน ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานรองรับ สามารถผลิตสินค้าที่ทันสมัยสู่ลูกค้ากลุ่มต่างๆ ได้ กลุ่มยังให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการจัดกิจกรรมส่งเสริมอาชีพและพัฒนาแนวคิดให้แก่เยาวชนและผู้สนใจ
หากสนใจเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์และสนับสนุนสินค้าของกลุ่ม ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณทวีศักดิ์ อ่องศิริกุล ประธานวิสาหกิจชุมชนสร้างป่าสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าใบไม้บ้านซาง หมู่ที่ 4 ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ 081-025-1524
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันพฤหัสที่ 14 กันยายน พ.ศ.2566
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : นวัตกรรมจานรักษ์โลก เพิ่มมูลค่าจากป่า ลดเชื้อเพลิงสะสม
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.technologychaoban.com
ความเห็น 0