โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

LINE

รวมขั้นตอนเตรียมตัวให้พร้อมก่อน ระหว่าง และหลังฉีดวัคซีน COVID-19

LINE ประเทศไทย

เผยแพร่ 17 ส.ค. 2564 เวลา 09.58 น.

ปัจจุบันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นั้นได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว แม้ในวันนี้เรายังไม่สามารถที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้ แต่ยังมีอีกหนึ่งอาวุธสำคัญที่สามารถลดทอนความรุนแรงของเชื้อไวรัส COVID-19 ในเวลานี้ได้ นั้นก็คือ “วัคซีน COVID-19” นวัตกรรมที่ผลิตขึ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่มีประสิทธิภาพจนสามารถป้องกันความรุนแรงการจากติดเชื้อได้

เพื่อยับยั้งความรุนแรงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ประเทศไทยเองก็ได้มีการจัดสรรให้ประชาชนเริ่มฉีดวัคซีนแล้วเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา โดยในระยะแรกนั้นกลุ่มบุคคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับโรคนี้ ผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี และผู้ป่วยโรคเรื้อรังตามประกาศ จะได้เป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการฉีด สืบเนื่องต่อมาจนถึงกลางปีนี้ ประชาชนทั่วไปที่มีอายุเกิน 18 ปี ก็ได้โอกาสที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน COVID-19 กันบ้างแล้วตามลำดับ

บทความนี้จะบอกเล่าถึงขั้นตอนการเตรียมตัวในทุกระยะของการฉีดวัคซีน COVID-19 เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่ยังมีความกังวลในขั้นตอนต่างๆ ว่าควรเตรียมความพร้อมอย่างไร? มีเอกสารอะไรที่เราต้องนำไป ณ วันที่รับวัคซีนบ้าง? หรือแม้กระทั่งหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนแล้วต้องทำอย่างไรต่อ?

ทำความรู้จักกับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 กันก่อน

วัคซีน คือ สารชีววัตถุที่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคโดยทำงานเสมือนเป็นคู่ซ้อมให้ร่างกายได้ฝึกฝนกลไกการป้องกันโรคตามธรรมชาติให้รู้จักและมีความพร้อมในการต่อสู้กับเชื้อโรคจริง 

โดยในปัจจุบันวัคซีน COVID-19 นั้นมีทั้งเทคโนโลยีใหม่และเทคโนโลยีดั้งเดิมในการผลิต ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้

1. วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ในการผลิต ได้แก่

วัคซีนชนิดชนิดสารพันธุกรรม (messenger RNA: mRNA) - เป็นเทคโนโลยีที่สังเคราะห์สารพันธุกรรมที่เฉพาะเจาะจงกับเชื้อไวรัส โดยจะนำพา mRNA เข้าเซลล์และกำกับให้เซลล์ผลิตโปรตีนสไปค์ (Protein Spike) ของเชื้อไวรัส โดยโปรตีนนี้จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านเชื้อ 

บริษัทวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA ในปัจจุบัน นั้นก็คือวัคซีนของบริษัท Prizer-BioNTech และบริษัท Moderna

วัคซีนชนิดที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Recombinant Viral Vector Vaccine) - เป็นวัคซีนที่ตัดแต่งพันธุกรรมของเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสอะดีโน (Adenovirus) ทำให้ตัวไวรัสไม่สามารถแบ่งตัวได้และใส่สารพันธุกรรมของไวรัสโรค COVID-19 ติดเข้าไปด้วย โดยเมื่อฉีดวัคซีนที่มีเชื้อไวรัสนี้เข้าไปจะทำให้เกิดการเลียนแบบการติดเชื้อธรรมชาติและทำให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต่อไวรัสขึ้นมา อย่างไรก็ตาม วัคซีนนี้ถึงจะมีเชื้อไวรัสที่ไม่แบ่งตัวแต่ก็ยังเป็นไวรัสที่มีชีวิตเมื่อเข้าสู่ร่างกาย จึงยังไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างมากจนกว่าจะมีงานศึกษาที่ชัดเจน

บริษัทวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี Recombinant Viral Vector Vaccine ในปัจจุบัน นั้นก็คือ วัคซีนของบริษัท AstraZeneca บริษัท Johnson & Johnson บริษัท CanSinoBio และบริษัท Gamaleya

2. วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมในการผลิต ได้แก่

วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) - เป็นการผลิตวัคซีนโดยการเพาะเชื้อโรค COVID-19 จำนวนมากแล้วทำให้เชื้อตาย จากนั้นจึงฉีดเข้าสู่ร่างกายเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเสมือนได้รับเชื้อแต่จะไม่มีอาการของโรคเพราะเชื้อที่เข้าไปนั้นตายแล้ว ทำให้วัคซีนชนิดนี้มีความปลอดภัยและใช้กับหลายวัคซีน เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ วัคซีนโปลิโอแบบฉีด

บริษัทวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี Inactivated Vaccine ในปัจจุบัน นั้นก็คือ วัคซีนของบริษัท Sinovac และ Sinopharm

วัคซีนที่ทําจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein Subunit Vaccine) - วัคซีนที่โลกคุ้นเคยมาอย่างยาวนาน โดยสามารถพบเทคโนโลยีการผลิตแบบนี้ได้ในวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และวัคซีนไวรัสตักอักเสบบี เป็นต้น กระบวนการทำงานของวัคซีนนี้คือ การสร้างโปรตีนของเชื้อไวรัสด้วยระบบการเพาะเลี้ยงเซลล์ ยีสต์ และแบคคิวโลไวรัส (Baculovirus) แล้วนำมาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายแล้วจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนตีบอดีต่อโปรตีนสไปค์ของเชื้อไวรัส COVID-19

บริษัทวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี Protein Subunit Vaccine ในปัจจุบัน นั้นก็คือ วัคซีนของบริษัท Nanovax

ก่อนฉีดวัคซีน COVID-19 ต้องเตรียมตัวอย่างไร?

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขได้ให้คำแนะนำในการเตรียมตัวก่อนเข้ารับวัคซีน COVID-19 ไว้ดังนี้

1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดออกกำลังกายหนัก หรือยกน้ำหนัก 1-2 วันก่อนและหลังรับวัคซีน

2. สำหรับผู้ป่วยจิตเวช ไม่ควรลดยา เพิ่มยา หรือปรับยาจิตเวชเองก่อนการฉีดวัคซีน COVID-19 เพราะอาจจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงหรือถอนยาได้ และยาจิตเวชส่วนใหญ่ปลอดภัยต่อการฉีดวัคซีน โดยผู้ป่วยควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องและดูแลสุขภาพจิตของตัวเองให้คงที่ โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนและหลังการฉีดวัคซีน หากผู้ป่วยรู้สึกวิตกกังวลใจเกี่ยวกับการรักษา การรับประทานยา และการฉีดวัคซีน COVID-19 ควรปรึกษาจิตแพทย์ผู้ดูแลรักษา

3. กรณีรับประทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่ ให้รับประทานยาได้ตามปกติ แต่เมื่อฉีดวัคซีนแล้วให้กดนิ่งตรงตำแหน่งที่ฉีดต่ออีก 1 นาที

4. สำรวจสุขภาพตนเอง หากมีไข้ให้ขอเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน

ถึงนัดวันที่ต้องฉีดวัคซีน COVID-19 แล้วต้องทำอย่างไร?

1. ตรงต่อเวลา - แนะนำให้เดินทางไปยังสถานที่ฉีดวัคซีนตรงตามเวลานัด หรือถึงยังสถานที่ก่อนเวลานัดสัก 15 นาที

2. รับประทานอาหารดื่มน้ำให้เพียงพอ - รับประทานอาหารก่อนไปฉีดวัคซีนและดื่มน้ำอย่างน้อย 500-1,000 ซีซี (ประมาณ 3-5 แก้ว) งดชา กาแฟ หรือของที่มีคาเฟอีน รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

3. เตรียมเอกสารและอุปกรณ์ประจำตัว - พกบัตรประจำตัวประชาชน ปากกา เจลแอกอฮอล์ล้างมือ และเตรียมบัตรคิวให้พร้อม

4. ลงทะเบียน - วัดอุณภูมิ ยื่นบัตรประชาชนให้เจ้าหน้าที่ วัดความดัน และเซ็นใบยินยอมเข้ารับวัคซีน

5. ซักประวัติ - อ่านและกรอกข้อมูลตามเอกสารที่ได้รับให้ครบถ้วน หากมีโรคประจำตัว ประวัติแพ้ยา มีภาวะตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

6. ฉีดวัคซีน - เมื่อถึงคิวให้เข้ารับการฉีดวัคซีนตรงจุดฉีด เปิดหัวไหล่ นั่งในท่าสบายเพื่อฉีดวัคซีน

หลังฉีดวัคซีน COVID-19 ต้องทำอย่างไร?

1. พักดูอาการ - หลังฉีดวัคซีนแล้วให้พักดูอาการ ณ จุดที่ฉีดวัคซีน 30 นาที หากมีอาการผิดปกติให้รีบแจ้งแพทย์ทันที

2. ปวดเมื่อยหรือมีไข้ - หากมีอาการไข้หรือปวดเมื่อยมากให้รับประทานยาพาราเซตามอนตามน้ำหนักตัว 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (500 มิลลิกรัม/50 กิโลกรัม) ทุก 4-6 ชั่วโมง โดยห้ามรับประทานยาจำพวก Brufen, Arcoxia, Celebrex เด็ดขาด

3. เลี่ยงการใช้แขนข้างที่ฉีดในการยกของหนักอย่างน้อย 4 ชั่วโมง

4. เมื่อกลับบ้านแล้วต้องสังเกตอาการต่อเนื่องอีก 2-3 วัน หากพบอาการที่ผิดปกติรุนแรง เช่น ชาครึ่งซีก แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว ให้รีบพบแพทย์ทันที

อาการแบบไหนถึงเรียกว่าแพ้วัคซีน COVID-19?

สำหรับอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนนั้นสามารถพบได้ โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้คำนิยามที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีนไว้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. อาการข้างเคียงหรือผลข้างเคียงแบบไม่รุนแรงมาก อาทิ

- ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด

- มีไข้ อ่อน เพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยลำตัว

- มีผื่นขึ้น สำหรับผู้มีอาการกลุ่มนี้ อาจให้กินยากลุ่ม Antihistamine ที่ไม่มีผลข้างเคียง คือ อาการง่วงนอน เช่น Cetirizine หรือ Loratadine ก่อนฉีดวัคซีน 30 นาที

ข้อสังเกต บุคคลที่มีอาการเหล่านี้สามารถรับวัคซีนชนิดเดิมเป็นเข็มที่ 2 ต่อได้

2. อาการแพ้วัคซีนแบบรุนแรงจะมีอาการ ดังนี้

- มีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง

- มีผื่นลมพิษขึ้นทั่วทั้งตัว มีอาการบวมของปากลิ้น

- คัดจมูก น้ำมูกไหล หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีดจากหลอดลมที่ตีบขึ้น

- มีอาการออกซิเจนในเลือดลดลง

- เป็นลม อุจจาระ ปัสสาวะราด

- ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน

- ปากเบี้ยว มีอาการชักเกร็ง

ข้อสังเกต อาการแพ้วัคซีนนี้มักเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนเข็มแรกภายใน 30 นาที โดยหากมีอาการดังกล่าวให้รีบแจ้งแพทย์ทันที หรือโทร 1669 และพิจารณาให้เปลี่ยนวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นยี่ห้ออื่นแทน

ฉีดวัคซีนแล้วทำไมยังติด COVID-19?

สำหรับวัคซีนทุกชนิดที่ผ่านการรับรองในปัจจุบันนั้นมีจุดประสงค์เพื่อ “ลดโอกาสการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากการติดเชื้อ COVID-19” รวมไปถึงสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อกลายพันธุ์ โดยยังไม่มีวัคซีนที่ออกผลิตในปัจจุบันชนิดใดสามารถป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วยังมีโอกาสรับเชื้อ โอกาสป่วย และมีโอกาสแพร่เชื้อไปยังคนอื่นๆ ได้ ดังนั้นทุกคนที่แม้จะได้รับวัคซีนแล้วหรือไม่ก็ตาม หรือแม้กระทั่งผู้ป่วย COVID-19 ที่หายดีแล้ว แนะนำให้คงมาตรการควบคุมโรค อาทิ ล้างมือเป็นประจำ สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา รักษาระยะห่างต่อไปเพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้ไม่ให้แพร่กระจายสู่คนรอบข้าง

นอกจากนี้ แม้คุณได้รับการฉีดวัคซีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงสูง หรือเป็นผู้ป่วย COVID-19 และมีเป็นสถานะผู้เขียวสีเขียว (อาการไม่รุนแรง) ที่ต้องเข้าสู่ระบบการแยกกักตัว สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับระบบ Home Isolation เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนผ่านบทความ “อัปเดต! Home Isolation คู่มือการแยกกักตัวที่บ้าน พร้อมแนะวิธีลงทะเบียนติดตามดูแลอาการ” ฉบับล่าสุดโดย คลิกที่นี่ ได้เลย

อ้างอิง:

แนวทางการให้วัคซีนโควิด 19 ในสถานการณ์การระบาดปี 64 ของประเทศไทย https://ddc.moph.go.th/uploads/files/1729520210301021023.pdf

คู่มือวัคซีนสู้โควิดฉบับประชาชน โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) https://mahidol.ac.th/documents/vaccine-covid19.pdf

คำนิยามที่เกี่ยงข้องกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการได้รับวัคซีน โดย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/getFiles/12/1620107182946.pdf

วัคซีนโควิด-19 มีกี่ชนิด อะไรบ้าง โดย แพทย์หญิง ร่มเย็น ศักดิ์ทองจีน ศูนย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา https://www.synphaet.co.th/วัคซีนโควิด-19-มีกี่ชนิด-อ/

0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0