โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ทานตะวันดอกหนึ่ง

MATICHON ONLINE

อัพเดต 15 ก.พ. 2566 เวลา 09.31 น. • เผยแพร่ 15 ก.พ. 2566 เวลา 06.40 น.
ภป-ทานตะวันดอกหนึ่ง

ในตอนที่เรื่องสั้น“หญิงเสา” ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดเรื่องสั้น“มติชนอวอร์ด” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่แรกในปี พ.ศ.2555 เรื่องสั้นนี้และผลงานอื่นๆ ที่ได้รางวัลด้วยกัน ได้รับการนำไปพิมพ์ในหนังสือรวมเรื่องสั้น“สายน้ำไม่เหือดหาย” พร้อมกับเชิญเรื่องสั้นจากนักเขียนอาวุโสเครือมติชน มาพิมพ์นำทางไว้เพื่อเป็นเกียรติอีก7 เรื่อง

ชื่อเล่ม“สายน้ำไม่เหือดหาย” นี้มาจากผู้จัดการประกวด คือ“มติชนสุดสัปดาห์” ที่“พี่อู” คุณ สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร ผู้เป็นบรรณาธิการ ได้เขียนไว้ในส่วนคำนำของหนังสือดังกล่าวว่า เป็นเพราะได้เห็นการสืบทอดเชื่อมต่อระหว่างนักเขียนรุ่นเก่าและนักเขียนรุ่นใหม่ และเพื่อเป็นการยืนยันและเชื่อมั่นว่าสายน้ำวรรณกรรมไม่เหือดหาย จึงนำเอาเรื่องสั้นชั้นครูที่มีความคล้ายคลึงหรือส่วนร่วมบางอย่างมาประกบคู่กับเรื่องสั้นแต่ละเรื่องที่ได้รับรางวัลในการประกวด

อาจจะด้วยความเชื่อและความมุ่งมั่นนั้น ในปัจจุบัน“มติชนสุดสัปดาห์” เองก็ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อวงการวรรณกรรมของไทย โดยเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่สนามสำหรับตีพิมพ์เรื่องสั้นในนิตยสารแบบดั้งเดิมเท่าที่ยังเหลืออยู่ในประเทศนี้ รวมถึงการจัดการประกวดเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์รางวัล“มติชนอวอร์ด” ซึ่งเพิ่งกลับมาใหม่อีกครั้งเมื่อปีที่ผ่านมา

สำหรับ เรื่องสั้น“หญิงเสา” ได้รับเกียรตินำไปเทียบกับเรื่องสั้น“ทานตะวันดอกหนึ่ง” ของ เสนีย์เสาวพงศ์ นักประพันธ์ชั้นครู ที่นอกจากจะเป็นเจ้าของผลงานวรรณกรรมอมตะ“ปีศาจ” และ“ความรักของวัลยา” ที่ส่งต่ออุดมการณ์ทางการเมืองมาจนถึงตอนนี้แล้ว ท่านยังประพันธ์เรื่องสั้นไว้อีกจำนวนมาก รวมถึงเรื่องสั้น“ทานตะวันดอกหนึ่ง” ด้วย

จุดร่วมของทั้งสองเรื่องที่บรรณาธิการเห็นว่ามีตรงกัน คือทั้ง“เสา” ต้นหนึ่งในศูนย์ราชการ และ“ต้นทานตะวัน” ต่างก็ถูกแห่แหนบูชาเป็น“เจ้าแม่” เพราะความเชื่อของผู้คน จึงเสมือนเป็นการต่อเชื่อมความเก่าใหม่ด้วยรูหนอนทางวรรณกรรม แม้ว่าคุณวุฒิและวัยวุฒิของผู้เขียนจะแตกต่างกันอย่างลิบลับ และทั้งสองเรื่องจะเขียนขึ้นห่างกันกว่า30 ปีก็ตาม

“ทานตะวันดอกหนึ่ง” เป็นเรื่องราวของ“ทิดคง” ชาวบ้านที่มีความคิดความอ่านทันสมัยและสนใจวิทยาการทางเกษตร ได้รับเมล็ดต้นทานตะวันมาจาก“สมสุข” รุ่นน้องเพื่อนเก่าที่ได้ไปเรียนหนังสือจนได้เป็นอาจารย์นักวิชาการเกษตร โดยอาจารย์ผู้นั้นแนะนำว่าเมล็ดต้นทานตะวันนี้ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ให้ได้ดอกที่มีขนาดใหญ่ มีเมล็ดมาก และเป็นความหวังที่จะให้เป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ด้วยว่าความต้องการน้ำมันดอกทานตะวันในตลาดโลกขณะนั้นมีสูง หากการทดลองเพาะปลูกได้สำเร็จ“เมล็ดดอกทานตะวัน” ก็จะเป็นสินค้าสำคัญอีกอย่างหนึ่งของประเทศไทยได้

อาจารย์สมสุขฝากเมล็ดทานตะวันให้ทิดคงช่วยปลูกและบันทึกการเจริญเติบโตของต้นทานตะวันไว้ด้วยเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการโดยมีเกษตรจังหวัดคอยให้ความช่วยเหลือ โชคร้ายที่เมล็ดพันธุ์ทานตะวันที่นำไปปลูกที่อื่นนั้นไม่แตกหน่อขึ้นต้นได้เลยสักเมล็ดเดียว แต่ส่วนของทิดคงนำมาลงปลูกไว้นั้นสามารถแตกหน่องอกออกมาได้หนึ่งต้น จากนั้นต้นทานตะวันหนึ่งเดียวนั้นก็เติบโตขึ้นอย่างมหัศจรรย์ และเมื่อต้นทานตะวันนั้นออกดอก ก็ปรากฏว่าดอกนั้นมีขนาดใหญ่โตอย่างที่ไม่เคยมีใครพบเห็นมาก่อน

จนกระทั่งเกิดข่าวลือขึ้นมาในละแวกนั้นว่า ต้นทานตะวันของทิดคงนั้นมี“เจ้าแม่ทานตะวัน” ที่คอยประทานโชคลาภให้แก่ผู้มีบุญ ในที่สุดแปลงต้นทานตะวันของทิดคงก็กลายเป็นที่สาธารณะ ต้นไม้ต้นไร่ถูกเหยียบราบ ต้นไม้ที่เพิ่งให้ผลถูกโค่นเพื่อเอามาทำเป็นศาลเจ้าแม่ เอาธูปเอาเทียนมาปัก เอาผ้าแพรมาผูก พอมีคนถูกหวยก็ยิ่งเฮฮาเลี้ยงฉลอง จนแทบจะเอาโรงลิเกมาตั้ง แล้วความสงบสุขของทิดคงก็หมดลง

ตามข้อมูลท้ายเรื่องระบุว่า เรื่องสั้น“ทานตะวันดอกหนึ่ง” ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2523 ซึ่งเป็นปีแรกในการเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อวันที่3 มีนาคม แทนพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่ลาออกไปพลเอก เปรมเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช2521 ที่เรียกว่าเป็นยุค“ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ที่เป็นเหมือนการประนีประนอมให้มีการเลือกตั้ง มีสภา มีคณะรัฐมนตรีได้ แต่หัวหน้ารัฐบาลก็มาจากฝ่ายกองทัพ เพราะรัฐธรรมนูญในสมัยนั้นไม่มีบทบังคับว่า นายกรัฐมนตรีต้องได้รับเลือกมาจาก ส.ส.ที่ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วจากประชาชน

มีเรื่องบังเอิญอันเป็นส่วนตัวอยู่ว่า2523 เป็นเลข พ.ศ. แรกที่ผมจำได้ว่าเขียนลงในสมุดหัดเขียนสมัยเรียนอนุบาล ทั้งนามของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ก็เป็นชื่อนายกฯคนแรกที่รู้จักและจำได้ด้วย พูดง่ายๆ คือตอนที่เรื่องสั้น“ทานตะวันดอกหนึ่ง” ได้รับการตีพิมพ์ ผมเพิ่งจะรู้ความหัดเขียน ก ไก่

เรื่องนี้จึงไม่รู้ว่าควรยินดีที่เรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นอมตะ หรือน่าเศร้าว่าการเมืองและสังคมไทยไม่ได้ไปไหนไกลกว่านั้น เพราะกลายเป็นว่าเมื่อมาอ่านใน พ.ศ.นี้ ในตอนที่ผมเติบโตมาจนเขียนหนังสือขายได้“ทานตะวันดอกหนึ่ง” ก็ยังสื่อสารและสะท้อนสภาพสังคมและการใช้อำนาจรัฐได้ยิ่งกว่าปี พ.ศ.2555 ตอนที่ถูกนำมาพิมพ์ใหม่ในรวมเรื่องสั้น“สายน้ำไม่เหือดหาย” เสียอีก ราวกับความสภาพสังคมและการกระชับอำนาจรัฐของเราย้อนกลับไปคล้ายกับในช่วงปี2520-2523 ที่เรื่องสั้นนี้ได้เขียนขึ้นมาเสียอย่างนั้น

ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นไปตามที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และกฎหมายรัฐธรรมนูญวิเคราะห์กันไว้ว่า การออกแบบระบอบการเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2560 เป็นความพยายามหมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับ เพื่อนำสภาวะแวดล้อมทางการเมืองให้เป็นแบบประชาธิปไตยครึ่งใบและภาคการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชนอ่อนแอ ซึ่งเป็นสภาวะแวดล้อมทางการเมืองที่ฝ่ายอนุรักษ์ที่ครองอำนาจนำอยู่นั้นรู้สึกปลอดภัยที่สุด ในลักษณะเดียวกับในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2521 เช่นนี้ก็คงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเรื่องสั้นที่เขียนไว้ตั้งแต่สี่สิบกว่าปีก่อนจึงยังให้ภาพบางอย่างที่ร่วมสมัยอยู่

เรื่องราวในเรื่อง“ทานตะวันดอกหนึ่ง” เข้าสู่จุดแตกหักด้วยการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจากในเมือง มาพร้อมกับนายทุนโรงเลื่อยโรงสีที่เป็นเจ้ามือหวยใต้ดิน บุกเข้ามาแจ้งข้อหา“ปลุกระดมโดยอ้างเจ้าแม่ทานตะวันขึ้นมาบังหน้า เป็นการหลอกลวงประชาชน จัดการชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาตในขณะที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก…”

ผ่านไปกว่าสี่สิบปี แต่วิธีคิด วิธีพูด และ“ข้อหา” ของฝ่ายความมั่นคงในเรื่องนั้นและในขณะนี้ก็ไม่ได้ผิดไปจากปัจจุบันเท่าไร…

จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็พยายามชี้ว่า ต้นทานตะวันนั้นเป็นของปลอมทำมาจากกระดาษ และเจ้าของที่ดินคือทิดคง ลอบเอามาประกอบทีละส่วนให้เหมือนกับเป็นต้นไม้จริงที่ถูกปลูกขึ้นมา จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ให้กลุ่มชายชุดดำซึ่งน่าจะเป็นคนของเสี่ยโรงเลื่อยโรงสีที่มาด้วยกัน ใช้ดาบฟันต้นทานตะวันเพื่อพิสูจน์ให้เห็นกันจะจะ ว่าเป็นต้นไม้ปลอมที่มีผู้ไม่หวังดีทำขึ้นมาหลอกลวงมอมเมาชาวบ้าน

“ต้นทานตะวัน” และ“ดอกทานตะวัน” ในเรื่องสั้นนั้นเป็นสัญลักษณ์ของ“ความหวัง” ทั้งของฝ่ายนักวิชาการเกษตรและทิดคงผู้ปลูก รวมถึงชาวบ้านทั้งหลายที่มาบูชาเจ้าแม่ทานตะวัน

“ความหวัง” ของทิดคง อาจารย์สมสุข และเกษตรอำเภอนั้นอาจจะเป็นความหวังในระยะยาวว่า หาก“ทานตะวัน” สามารถผลิดอกออกเมล็ดได้ในแผ่นดินนี้ ก็จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ที่ยั่งยืนได้ให้แก่ประเทศและเกษตรกรผู้เพาะปลูก

ในอีกทางหนึ่ง“ทานตะวัน” ในรูปแบบของเจ้าแม่ก็เป็นความหวังง่ายๆ ของชาวบ้านที่ประสบปัญหาความยากจน และคาดหวังการแก้ปัญหานั้นแบบเฉพาะหน้าทันใจ จากการถูกหวยใต้ดิน ต้นทานตะวันคือที่มาของโชคลาภตามที่พวกเขาเชื่อถือและคาดหวัง

“ทานตะวัน” นั้นจะเป็นความหวังอย่างไรก็ช่าง หากสำหรับนายทุน ในต้นทานตะวันจะมี“เจ้าแม่” ที่เป็นที่มาให้ชาวบ้านถูกหวยจนกระทบถึงผลประโยชน์ของพวกเขาหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่การทำลายต้นทานตะวันทิ้งอย่างน้อยก็ได้ทำลายต้นตอของสิ่งที่อาจจะรบกวนขัดลาภเพื่อระบายอารมณ์

สำหรับฝ่ายรัฐแล้ว นอกจาก“คำร้องทุกข์กล่าวโทษ” จากฝ่ายนายทุนแล้ว ทานตะวันต้นนั้น คือต้นตอของความไม่สงบเรียบร้อย อย่างที่จะปล่อยไว้ให้เป็นจุดยึดเหนี่ยวความหวังของผู้คนต่อไปอีกไม่ได้ อำนาจรัฐจึงเข้ามาจัดการกับ“สิ่งแปลกปลอม” ที่พวกเขาไม่รู้จัก ด้วยการชี้นิ้วง่ายๆ ว่า“นั่นเป็นของปลอม ไม่ใช่ของจริง” โดยไม่คิดจะพิสูจน์ นอกจากการอนุมานโดยประสบการณ์อันคับแคบและความหวาดกลัว กับอำนาจที่มีเพื่อใส่ร้ายป้ายสีเท่านั้น

เช่นเดียวกับที่ในปัจจุบัน หากฝ่ายรัฐไม่รู้จะหา“ข้อผิด” ให้แก่พฤติกรรมแปลกปลอมรบกวนอำนาจรัฐใดไม่ได้อีก ข้อหาที่อย่างน้อยก็ตั้งขึ้นได้หากเรื่องนั้นถูกสื่อไปในระบบคอมพิวเตอร์ คือข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ข้อหา“นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จอันเป็นภัยต่อความมั่นคง…ฯลฯ…” ไว้ก่อน หรือการตั้งศูนย์ข่าวปลอมเพื่อจะเอาไว้ประทับชี้ว่าข่าวใดที่รบกวนเป็นภัยต่อรัฐบาลนั้นเป็นข่าวปลอม

เรื่องราวของ“ทานตะวันดอกหนึ่ง” จบลงด้วยความวุ่นวาย เมื่อชาวบ้านที่มาบูชาเจ้าแม่ทานตะวันรู้ว่าเป็นต้นไม้จริง พวกชายชุดดำคนของนายทุนและเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นพวกโกหกและมาทำลาย“ความหวัง” ของพวกเขา ก็เลยเข้าตะลุมบอน ที่เชื่อว่าฝ่ายนายทุนและเจ้าหน้าที่น่าจะโดนบาทาหนักอยู่ ส่วนชาวบ้านที่ไม่ได้เข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ ก็ไปฉีกทึ้งแย่งเยื้อเก็บเศษต้นเศษดอกทานตะวันเพื่อเก็บไปบูชา เกษตรจังหวัดยืนคอตกพึมพำว่า“วิชาการต้องถอยหลังไปอีกนานเท่าใด” ส่วนทิดคงทรุดลงนั่งกอดเข่าร้องไห้

มีเพียงลูกชายเกาะที่เข่าพ่อ พูดเสียงแจ๋วสดใส“พ่อหามาปลูกใหม่”

แม้ว่าทานตะวันต้นนั้นจะถูกฟันทิ้งไปด้วยความหวาดกลัวและโง่เขลา ไม่ว่าความหวังจะพังทลายลงอีกกี่ครั้งด้วยอำนาจอันโหดร้าย แต่เด็กน้อยก็ยังคิดว่าทุกอย่างนั้น“หามาปลูกใหม่” ได้ นั่นอาจจะเรียกว่าความไร้เดียงสา แต่อีกทางหนึ่งมันอาจจะเป็นการมองโลกด้วยสายตาที่เห็นความจริงซึ่งไม่ถูกรบกวนบดบังด้วยความหวาดกลัวและสิ้นหวัง

ที่นึกย้อนกลับมาอ่านเรื่องสั้น“ทานตะวันดอกหนึ่ง” นี้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้แรงบันดาลใจมาจากวาระที่“ทานตะวันอีกดอกหนึ่ง” กำลังพิสูจน์มนุษยธรรม คุณธรรม และความยุติธรรมจากอำนาจรัฐฝ่ายที่เชื่อว่าต่อรองได้ยากที่สุดและไม่อาจแทรกแซงได้อยู่ในขณะนี้ เรื่องสั้น“ทานตะวันดอกหนึ่ง” กับ“ทานตะวันดอกนั้น” เรียกว่าหาจุดที่เกี่ยวข้องเทียบเคียงกันไม่ได้แม้แต่น้อย

หากก็เพียงได้หวังว่า แม้แต่ละฝ่ายจะคิดต่างเห็นต่าง จะมอง“ทานตะวันดอกนั้น” เป็นอย่างไร จะเห็นเป็น“ความหวัง” หรือ“สิ่งแปลกปลอม” ที่รบกวนความสงบเรียบร้อย แต่เราคงจะไม่ควรต้องเสียดอกทานตะวันอีกดอกนั้นไป เพียงเพื่อพิสูจน์สัจธรรมอันไม่จำเป็นเหมือนบทเรียนในเรื่องสั้นนั้นเลย

กล้า สมุทวณิช

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น