ดาดฟ้ากินได้ ช่วยประหยัดค่ากับข้าว สู้วิกฤตเศรษฐกิจ หลบมลพิษกลางกรุง
รศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช หัวหน้าภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการ “แม่บ้านสร้างสุขด้วยสองมือเรา” หรือ “สวนผักแม่บ้านสร้างสุข” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหิดลกับสังคม ได้พิสูจน์แล้วว่า ดาดฟ้าที่ปล่อยว่าง สามารถนำมาสร้างสรรค์ให้เป็น “ดาดฟ้ากินได้” กลายเป็นพื้นที่สีเขียวลดโลกร้อน
และยังเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้แก่นักศึกษา จากการรวมพลังของเหล่าแม่บ้านทำความสะอาด ซึ่งเป็น “ฟันเฟืองหลัก” ของโครงการฯ จากดินนับตัน ที่คำนวณน้ำหนักแล้วว่าปลอดภัยต่อตัวอาคาร ทยอยส่ง “มือต่อมือ” ขึ้นสู่ดาดฟ้า จากชั้น 1 ขึ้นไปยังชั้น 7 เพื่อร่วมเนรมิตความฝันที่จะร่วมสร้างแปลงปลูกผักตาม “ศาสตร์พระราชา” ที่ว่าด้วย “เกษตรอินทรีย์” เพื่อส่งเสริม “เศรษฐกิจพอเพียง”
ทำให้ทุกวันนี้ ชาวคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งนับเป็น “ด่านหน้า” แห่งการวางรากฐานของการป้องกันและส่งเสริมสุขภาวะของไทย ได้มี “ต้นแบบ” ของการสร้างสุขภาพดีกันถ้วนหน้า จากการมี “แหล่งอาหารปลอดภัย” และช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างดียิ่งให้แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย นับตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ จากสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา
จากดาดฟ้าที่ปล่อยร้าง กับจานดาวเทียมที่หลงยุคสมัย ณ ตึกแห่งหนึ่งของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ปัจจุบัน เรียงรายไปด้วยพืชผักสวนครัวที่เติบโตในแปลง ถุงปุ๋ย และ กระถางกว่า 10 ชนิด โดยไม่ต้องไปซื้อหา
ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่บรรดาพืชที่สามารถนำเอาไปทำเป็นผักจิ้ม ผักแนม และประกอบอาหารไทยยอดนิยมต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น มะเขือเปราะ มะเขือม่วง มะเขือยาว มะเขือเทศ แตงร้าน บวบ ตำลึง ถั่วฝักยาว เห็ดนางฟ้า ชะอม แค คะน้า สะเดา กวางตุ้ง กะเพรา โหระพา พริกหยวก มะกรูด มะนาว ตะไคร้ สะระแหน่ ฯลฯ หรือแม้แต่พืชยอดฮิตอย่างต้นมะละกอกินใบ หรือ “ผักไชยา” ที่สามารถใช้แทนผงชูรส
“ดาดฟ้ากินได้” นี้ ไม่เพียงสามารถสร้างสุขจากการช่วยประหยัด “ค่ากับข้าว” ให้กับชาวคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ยังกลายเป็น “ที่พักผ่อนหย่อนใจ” สำหรับทุกชีวิตในอาคารให้สามารถหลีกหนีมลพิษของกรุงเทพฯ ขึ้นไปสูดโอโซนจากพืชผักที่ช่วยฟอกอากาศให้บริสุทธิ์สดชื่น
รวมทั้งให้ประโยชน์ทางการศึกษา ให้นักศึกษาโภชนวิทยาของคณะฯ สามารถเรียนรู้ผักชนิดต่างๆ และนักศึกษาวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับพื้นที่สีเขียว การลดโลกร้อน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเป็นเหมือน “ห้องเรียนทางการเกษตร” สำหรับผู้รักการปลูกพืชให้ได้ทดลองทำ “ปุ๋ยหมักจากธรรมชาติ” ที่รวบรวมเอาเศษไม้ใบหญ้าจากภายในคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาหมักแบบ “พลิกกลับกอง” เพื่อนำไปใช้บำรุง “สวนผักแม่บ้านสร้างสุข” ให้เจริญงอกงาม และเกิดความยั่งยืน โดยมีชาวคณะฯ ร่วมแรงร่วมใจกันรดน้ำ พรวนดิน ดูแลด้วยสองมือและแรงใจ โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีทางการเกษตรใดๆ อีกด้วย
ความเห็น 0