โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คุยคนเดียวไม่ได้แปลว่าบ้า แต่ส่งผลดีต่อการทำงานและสุขภาพจิตมากกว่าที่คิด

THE STANDARD

อัพเดต 29 พ.ค. 2563 เวลา 09.48 น. • เผยแพร่ 29 พ.ค. 2563 เวลา 03.17 น. • thestandard.co
คุยคนเดียวไม่ได้แปลว่าบ้า แต่ส่งผลดีต่อการทำงานและสุขภาพจิตมากกว่าที่คิด
คุยคนเดียวไม่ได้แปลว่าบ้า แต่ส่งผลดีต่อการทำงานและสุขภาพจิตมากกว่าที่คิด

“เอ… วางกุญแจไว้ที่ไหนนะ? บ้าจริง ทำไมเราขี้ลืมแบบนี้ อ๊ะ นี่ไง เจอแล้ว! เรานี่ไม่ไหวเลยนะเนี่ย”

 

พูดคนเดียวอาจแปลได้หลายอย่าง ถ้าไม่เป็นพิธีกร นางเอกละคร ก็เป็นคนเพี้ยน เพราะเมื่อเผลอพึมพำกับตัวเองทีไร คนรอบข้างก็เป็นอันงุนงง แต่นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าเรากำลังเป็นบ้าหรอกนะ ในทางตรงกันข้าม การพูดคุยกับตัวเองกลับดีต่อสุขภาพจิตมากกว่าที่คิด

 

“การพูดกับตัวเองจัดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งจริงๆ แล้วเราพูดกับตัวเองตลอดเวลา เพียงแต่ไม่ได้พูดออกมาดังๆ เท่านั้นเอง” เจสสิกา นิโคโลซี นักจิตวิทยาคลินิกที่นิวยอร์กกล่าว

 

การพูดคนเดียว หรือ Self-talk เป็นวิธีเดียวกับที่เราหาเพื่อนสักคนที่ไว้ใจได้เพื่อ ‘สะท้อนความคิดและความรู้สึก’ ออกมา พฤติกรรมนี้มักจะเกิดขึ้นตอนที่เราเกิดความรู้สึกที่ลึกซึ้ง เช่น เวลาโกรธ กังวลใจ หรือตื่นเต้น ซึ่งเป็นความรู้สึกท่วมท้นที่ต้องการการระบายออกมาเป็นคำพูด จึงทำให้เราหรือใครบางคนจู่ๆ ก็พูดโพล่งออกมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย

 

โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เราตื่นเต้นหนักๆ หรือกังวลใจมากๆ เช่น ก่อนพรีเซนต์งานในที่ประชุมหรือก่อนสัมภาษณ์งาน การพูดคุยกับตัวเองอาจช่วยให้เรารู้สึกสงบจิตสงบใจและคลายความเครียดลงได้เป็นอย่างดี หรือในตอนที่เรากำลังเศร้าจัดๆ การได้พูดออกมาก็ถือเป็นการระบายความเจ็บปวดข้างในออกมาได้เช่นกัน

 

นอกจากนี้การพูดคนเดียวยังเป็นส่วนสำคัญใน ‘พัฒนาการด้านภาษา’ อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กที่กำลังหัดเรียนรู้การสื่อสาร เพราะการพูดถือเป็นหนึ่งในการทวนความจำและความรู้ด้านภาษาได้เป็นอย่างดี

 

ไม่เพียงเท่านั้น การพูดออกมาดังๆ ยังช่วยให้เรา ‘โฟกัส’ กับความคิดของตัวเองมากขึ้น เพราะขณะที่เราพูดออกมา กระบวนการคิดไตร่ตรองหรือการประมวลผลในสมองจะค่อยๆ ช้าลง ส่งผลให้เราทำอะไรได้อย่างรอบคอบและมีความตั้งใจมากยิ่งขึ้น 

 

ลินดา ซาปาดิน นักจิตวิทยา กล่าวว่าการพูดออกมาดังๆ อาจช่วยให้เป้าหมายที่ตั้งไว้มีแนวโน้มจะสำเร็จมากขึ้น เพราะมันทำให้จดจ่อกับสิ่งที่ทำ ตอกย้ำข้อความหรือสารที่ได้รับ ควบคุมไม่ให้อารมณ์ไขว้เขว และขจัดสิ่งรบกวนในหัวออกไปได้

 

แต่ในอีกมุมหนึ่ง Self-talk ก็เปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะการพูดคุยกับตัวเองมักผูกโยงกับตัวตนของคนคนนั้น สมมติถ้าเราเป็นคนมองโลกในแง่ดี การพูดคุยกับตัวเองจะได้ผลลัพธ์ในเชิงบวกและสร้างความหวัง ตรงกันข้าม หากเราเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ก็อาจจะทำให้สถานการณ์ขณะนั้นแย่ลงกว่าเดิมด้วยคำพูดที่บั่นทอนจิตใจและตอกย้ำความเศร้า

 

ดังนั้นเราสามารถนำ Self-talk มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวเอง โดยลองทำตาม 3 วิธีง่ายๆ ดังนี้

 

  • พูดคุยกับตัวเองอย่างใจดี ในที่นี้คือใช้คำพูดที่มีพลังบวกอย่างการให้กำลังใจหรือปลอบใจ เพราะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พบว่าการพูดในเชิงบวกจะส่งผลดีต่อการทำงานมากกว่าการพูดในเชิงลบ เช่น “ฉันต้องทำได้” “ฉันทำมันเสร็จแน่ๆ” “ไม่เป็นไร เริ่มใหม่ได้” หรืออาจจะเป็นคำพูดกลางๆ ทั่วไปอย่าง “ไหนดูซิ เราทำได้ถึงไหนแล้ว” หรือ “ฉันต้องทำอะไรบ้างนะ” ก็ได้เช่นกัน ซึ่งคำพูดเหล่านี้ก็ส่งผลต่อการรับรู้ความสามารถของตัวเอง ความเชื่อมั่น และ Self-esteem ของตัวเองด้วยเช่นกัน

 

  • พูดให้เกิดผลเชิงรูปธรรม การพูดคนเดียวมีประโยชน์ต่อตัวเรามากมาย โดยเราสามารถเห็นผลได้อย่างชัดเจน มีการศึกษาหนึ่งพบว่าการพูดชื่อสิ่งของออกมาดังๆ อาจช่วยให้เราหาสิ่งนั้นๆ เจอเร็วขึ้น และการพูดออกมาขณะอ่านหนังสือจะทำให้ข้อมูลเหล่านั้นย้ายไปอยู่ในความทรงจำระยะยาว (Long-term Memory) ซึ่งช่วยให้เราจดจำเนื้อหานั้นได้เป็นอย่างดี หรือลองใช้การคุยกับตัวเองเพื่อจัดการกับอารมณ์ที่สุดขั้วดู เช่น การพูดระบายออกมาเวลาที่โกรธจัดๆ เศร้า เครียด หรือสับสน ก็จะช่วยให้เราอารมณ์เย็นลงได้

 

  • อย่าลืมที่จะฟังบ้าง จริงๆ แล้วการพูดกับตัวเองเกิดจากกระบวนการสองอย่าง นั่นก็คือ ‘การพูด’ และ ‘การฟัง’ ฉะนั้น Self-listening จึงเป็นอีกสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การตระหนักรู้เกี่ยวกับตัวเอง (Self-awareness) ได้ดีขึ้น เพราะการพูดคนเดียวสะท้อนถึงเสียงที่อยู่ในหัวหรือ Inner Voice ของเรา ดังนั้นอย่าลืมตั้งใจฟังสิ่งที่เราพูดออกมาด้วยล่ะ

 

การพูดกับตัวเองยังถือเป็นการรู้จักพึ่งพาตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่เราไม่รู้จะหันไปพูดคุยกับใคร อย่างน้อยก็มีตัวเราที่ช่วยสะท้อนและรับฟัง เพราะฉะนั้นไม่ต้องอายที่จะพูดออกมา ใส่ฟีลลิ่งนางเอกละครเต็มที่เลย…

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

 

 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0