โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

โทษของน้ำอัดลม พ่อแม่ต้องระวังไม่ให้ลูกติดน้ำอัดลม

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 05 ส.ค. 2562 เวลา 11.00 น. • Motherhood.co.th Blog
โทษของน้ำอัดลม พ่อแม่ต้องระวังไม่ให้ลูกติดน้ำอัดลม

โทษของน้ำอัดลม พ่อแม่ต้องระวังไม่ให้ลูกติดน้ำอัดลม

อากาศบ้านเรามันร้อน ใครๆก็รู้ดี การได้ดื่มน้ำอัดลมเย็นๆสักแก้วในช่วงบ่ายทำให้ชื่นใจไม่น้อย และเราก็รู้ดีเช่นกันถึง "โทษของน้ำอัดลม" ว่ามันส่งผลเสียต่อสุขภาพเราในทางไหนได้บ้าง คนเป็นพ่อเป็นแม่จะเลี่ยงอย่างไรเพื่อไม่ให้ลูกดื่มน้ำอัดลมมากเกินไป แก้จะไขอย่างไรหากลูกติดน้ำอัดลมไปแล้ว ติดตามอ่านได้ในบทความนี้เลยค่ะ

น้ำอัดลมซาบซ่า สีสันยั่วใจ ชอบทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ แต่อันตรายล้นเหลือ
น้ำอัดลมซาบซ่า สีสันยั่วใจ ชอบทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ แต่อันตรายล้นเหลือ

มีอะไรในน้ำอัดลม

น้ำอัดลมจัดว่าเป็นเครื่องดื่มที่อยู่ในกลุ่มอาหาร Empty Calories หรือ อาหารที่ไร้คุณค่าทางอาหาร ไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลมรสไหน ชนิดใดก็มีองค์ประกอบหลักเหมือนกัน คือ น้ำ น้ำตาล กรดคาร์บอนิก กรดฟอสฟอริก คาเฟอีน สารแต่งสี และสารแต่งกลิ่นหรือรส รวมไปถึงสารกันบูด มาเจาะลึกถึงส่วนประกอบแต่ละชนิดไปเลยว่าแต่ละตัวมีประโยชน์หรือเป็นโทษอย่างไร มีผลกระทบต่อร่างกายเราอย่างไรบ้าง จะได้รู้เสียทีว่าทำไมลูกๆถึงติดน้ำอัดลม

น้ำตาล

ในทุกๆ 100 มิลลิลิตรของน้ำอัดลม จะประกอบด้วยน้ำตาลประมาณ 10.6 กรัม (ขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำอัดลม) ซึ่งจะให้พลังงานแก่เราประมาณ 42.4 กิโลแคลอรี หมายความว่าถ้าเราดื่มน้ำอัดลม 1 ลิตร เราจะได้รับพลังงาน 424 กิโลแคลอรี ขณะที่โดยปกติร่างกายต้องการพลังงานวันละประมาณ 2000-2500 กิโลแคลอรีเท่านั้น การที่มีน้ำตาลในกระแสเลือดมากกว่าที่ร่างกายต้องการ อินซูลินจะทำงานหนักเพื่อที่จะเก็บน้ำตาลที่มากเกินพอในกระแสเลือด ในรูปของไกลโคเจนและไขมันใต้ผิวหนัง เป็นสาเหตุให้เรามีน้ำหนักมากขึ้นและอ้วนขึ้นนั่นเอง

ส่วนในน้ำอัดลมประเภท Light Zero หรือ Diet นั้น จะใช้สาร (เคมี) ให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งจะให้ความหวานแต่ไม่ให้พลังงาน ซึ่งก็ต้องระวังในการดื่มเช่นกัน เพราะสารให้ความหวานบางชนิดจะเป็นพิษต่อร่างกายหรือเป็นสารก่อมะเร็งได้ แม้ว่าสารให้ความหวานที่ใช้อยู่ปัจจุบันนั้นยังได้รับอนุญาตให้ใช้อยู่ เพราะยังไม่มีรายงานว่าสารนั้นเป็นพิษต่อร่างกาย แต่ในอดีตก็เคยตรวจพบว่าสารที่ใช้มีพิษ จึงได้ยกเลิกไปและเปลี่ยนมาใช้สารตัวที่ใช้ในปัจจุบันนี้แทน ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก

ในน้ำอัดลมมีปริมาณน้ำตาลมากเกินไป
ในน้ำอัดลมมีปริมาณน้ำตาลมากเกินไป

กรดคาร์บอนิก

เป็นองค์ประกอบที่ทำให้น้ำอัดลมซ่า มีฟอง และมีรสเปรี้ยวอ่อนๆ กรดคาร์บอนิกนั้นได้มาจากปฏิกิริยาระหว่างน้ำกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยใช้ความดันสูงบังคับให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำปฏิกิริยากับน้ำให้ได้ เพราะในสภาวะความดันปกติคาร์บอนไดออกไซด์แทบจะไม่ละลายน้ำหรือทำปฏิกิริยากับน้ำเลย แต่กรดคาร์บอนิกที่เกิดขึ้นนั้นไม่เสถียร คือสลายตัวได้ง่ายในสภาวะความดันปกติ ยิ่งถ้ามีความร้อนด้วยจะยิ่งเร่งการสลายตัวให้เร็วยิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสลายตัวของกรดคาร์บอนิกก็คือน้ำกับคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นเราจึงต้องเก็บน้ำอัดลมภายใต้ความดัน ก่อนที่จะถึงมือผู้บริโภค เพราะเหตุนี้เองเราจึงเรียกว่าเครื่องดื่มชนิดนี้ว่า “น้ำอัดลม”

กรดคาร์บอนิกสามารถย่อยสลายหินปูนได้ มันจึงสามารถกัดกร่อนกระดูกและฟันได้เช่นกัน เช่นเดียวกับกรดฟอสฟอริกที่มีความเป็นกรดสูงมากพอที่จะละลายตะปูได้ภายใน 4 วัน นอกจากจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารแล้ว ยังทำให้นอนหลับยาก ฟันผุ อาจทำให้กระดูกพรุน เนื่องจากฟอสเฟตไปดึงแคลเซียมออกจากกระดูกและฟัน

คาเฟอีน

คาเฟอีนมีฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ร่างกายเกิดความตื่นตัวและลดความง่วงลง เมื่อได้รับคาเฟอีนร่างกายจะมีความต้องการคาเฟอีนมากขึ้น และถ้าหยุดบริโภคคาเฟอีนอย่างทันทีอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้อาเจียนได้ การบริโภคคาเฟอีนมากเป็นเวลานานอาจนำไปสู่ภาวะเสพติดคาเฟอีน ซึ่งจะปรากฏอาการต่างๆ เช่น กระสับกระส่าย วิตกกังวล กล้ามเนื้อกระตุก นอนไม่หลับ ใจสั่น เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ เด็กที่ดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำจะทำให้มีรูปแบบการนอนที่ผิดแผกไปจากเดิม คือนอนไม่หลับในเวลากลางคืนและง่วงนอนในเวลากลางวัน ทำให้ประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมต่างๆลดลง

ยิ่งเด็กชอบฟาส์ทฟู้ดก็ยิ่งได้ดื่มน้ำอัดลมเยอะ
ยิ่งเด็กชอบฟาส์ทฟู้ดก็ยิ่งได้ดื่มน้ำอัดลมเยอะ

สารกันบูดหรือวัตถุกันเสีย

สารเหล่านี้ใส่ลงไปเพื่อให้สามารถเก็บน้ำอัดลมได้นาน ในน้ำอัดลมนิยมใช้กรดซิตริก ซึ่งสามารถป้องกันการเจริญของแบคทีเรียและยีสต์ได้ดี แต่เป็นกรดค่อนข้างแรง สามารถทำให้เกิดการระคายเคืองในทางเดินอาหาร ส่วนสี สารแต่งกลิ่นและรส เป็นสารเคมีสังเคราะห์ทั้งสิ้น ซึ่งสารเหล่านี้เป็นสารก่อมะเร็ง

อันตรายที่เกิดจากน้ำอัดลม

  • โรคอ้วน เพราะในน้ำอัดลมมีน้ำตาลในปริมาณมาก หากรับประทานเยอะต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะส่งผลให้มีน้ำหนักตัวมากขึ้น และยังเสี่ยงต่อโรคอ้วนในเด็ก
  • ฟันผุ กรดคาร์บอนิกในน้ำอัดลมจะกัดกร่อนกระดูกและฟัน ทำให้สารเคลือบฟันถูกทำลาย และน้ำตาลในน้ำอัดลมเป็นแหล่งอาหารอย่างดีของเชื้อแบคทีเรีย
  • สูญเสียแคลเซียม คาเฟอีนมีผลต่อการขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสสูญเสียแคลเซียมจากร่างกายโดยไม่จำเป็น และทำให้เกิดภาวะกระดูกผุ กระดูกเปราะ
  • ขาดสารอาหาร เมื่อเด็กดื่มน้ำอัดลมมากจะทำให้อิ่มเร็ว และรับประทานอาหารมื้อหลักได้น้อย เมื่อเป็นแบบนี้บ่อยเช้าทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร
  • โรคกระเพาะ ในน้ำอัดลมมีกรดคาร์บอนิกเยอะ หากดื่มเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร เด็กจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง และกลายเป็นโรคกระเพาะในที่สุด
  • นอนไม่หลับ เพราะคาเฟอีนในน้ำอัดลมจะกระตุ้นหัวใจ ระบบประสาท ทำให้ใจสั่น และทำให้นอนไม่หลับตามเวลา
  • มีผลกับความสูง เพราะมีฟอสเฟตในน้ำอัดลมสูง จึงทำให้ระดับแคลเซียมในร่างกายต่ำลง มีผลกระทบต่อความสูงของเด็ก
ฟองอันซาบซ่าที่ใครๆติดใจ เกิดจากกรดคาร์บอนิกที่มีอันตรายมากมาย
ฟองอันซาบซ่าที่ใครๆติดใจ เกิดจากกรดคาร์บอนิกที่มีอันตรายมากมาย

วิธีแก้ไขเมื่อลูกติดน้ำอัดลม 

  • ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ปัญหาลูกกลายเป็นเด็กติดน้ำอัดลมหลายครั้งเกิดจากการจดจำและเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด ดังนั้น หากต้องการให้ลูกเลิกดื่มน้ำอัดลม ควรเริ่มจากคนใกล้ตัวเด็กก่อน โดยตั้งกฎเหล็กว่าผู้ใหญ่ต้องเลิกดื่มน้ำอัดลมเด็ดขาด และเก็บน้ำอัดลมออกจากบ้านให้หมด
  • อดทนและใจเย็น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการติดน้ำอัดลมเป็นเรื่องต้องใช้เวลา ดังนั้นพ่อแม่ต้องอาศัยความอดทนและใจเย็น อย่าเร่งรีบกดดันเด็กๆ เพราะอาจส่งผลร้ายกับเขามากกว่าผลดี ต้องค่อยๆอธิบายให้เขาเข้าใจถึงโทษของน้ำอัดลม
  • ค่อยๆลดปริมาณลง หากลูกติดน้ำอัดลมมากจริงๆ การจะเลิกแบบหักดิบนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย คุณพ่อคุณแม่ต้องกำหนดปริมาณให้ลูก โดยค่อยๆลดปริมาณลงไปเรื่อยๆ
  • มีความยืดหยุ่น แม้กระทั่งผู้ใหญ่เองการเลิกดื่มน้ำอัดลมแบบหักดิบเลยในทันทียังเป็นเรื่องลำบาก ดังนั้นอาจมีการทำข้อตกลงเพื่อผ่อนปรนกับเด็กๆได้บ้างในบางกรณี เช่น ให้ลูกกินข้าวให้เรียบร้อยเสียก่อน เพื่อแลกกับการดื่มน้ำอัดลมในปริมาณที่ตกลงไว้
  • เลือกเครื่องดื่มที่มีประโยชน์มาทดแทน นอกจากน้ำเปล่า นม หรือน้ำผลไม้คั้นสดแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถทำน้ำหมักผลไม้ (infused water) ไว้ให้ลูกๆดื่มแทนได้ รสชาติและกลิ่นของผลไม้สดจะช่วยลดความอยากน้ำตาลที่มีในน้ำอัดลมได้ในระดับหนึ่ง

จะเห็นได้ว่าน้ำอัดลมไม่มีประโยชน์ใดๆต่อสุขภาพลูกน้อยเลย ซ้ำร้ายโทษของน้ำอัดลมยังมีมากมาย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องร่วมมือกันให้ลูกลดการบริโภคน้ำอัดลมนะคะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0