โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วิบากกรรม 'ไดฮัทสุ' กับปัญหาความปลอดภัย

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 02 ม.ค. เวลา 03.36 น. • เผยแพร่ 02 ม.ค. เวลา 03.27 น.
JAPAN-DAIHATSU-FCV-1
(Photo by YOSHIKAZU TSUNO / AFP)

บริษัทไดฮัทสุ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1907 ผลิตเครื่องยนต์สันดาปภายใน ตั้งอยู่ที่โอซากา ก่อนจะเปิดตัวยานพาหนะ 3 ล้อเป็นคันแรก เมื่อปี 1931 และถูกโตโยต้าเข้าซื้อกิจการเมื่อปี 1967 กำลังเผชิญกับวิบากกรรมครั้งใหญ่ในการประกอบธุรกิจ

หลังจากเจอเรื่องฉาวเกี่ยวกับการปลอมแปลงผลการทดสอบด้านความปลอดภัย

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ไดฮัทสุ ถูกองค์กรอิสระเข้าไปตรวจสอบเกี่ยวกับปัญหาเรื่องความปลอดภัยของรถ และพบความผิดปกติเกี่ยวกับการทดสอบด้านความปลอดภัยของรถ

ซึ่งทางไดฮัทสุออกมายอมรับว่า ได้ปลอมผลทดสอบการชนของรถ 4 รุ่นของบริษัท ซึ่งเกี่ยวข้องกับรถกว่า 88,000 คันที่ผลิตในไทยและมาเลเซีย ในช่วงปี 2022 และ 2023

โดยครั้งนั้น ไดฮัทสุระบุว่า ในการทดสอบการชนด้านข้างของรถ 4 รุ่น ได้มีการปรับแต่งประตูเพื่อลดข้อผิดพลาดในการทดสอบ ซึ่งรถ 4 รุ่นได้แก่ โตโยต้า ยาริส เอทีฟ, เปโรดัว เอ็กซ์เซีย, โตโยต้า อักยา และอีกรุ่นที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา

แม้ว่าไดฮัทสุจะยืนยันว่า การปรับแต่งผลการทดสอบนี้ ไม่ได้ถูกนำมาใช้กับรถยนต์ที่จำหน่ายจริง แต่ก็สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ใช้รถของไดฮัทสุ

และเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ไดฮัทสุได้ประกาศยุติการผลิตรถยนต์ไฮบริด 2 รุ่นในญี่ปุ่น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงผลดังกล่าว ซึ่งรวมทั้ง Toyota Raize SUV ที่ผลิตขึ้นในนามของบริษัทโตโยต้า

กระทั่งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ไดฮัทสุได้ออกมาประกาศว่า ขอระงับการจัดส่งรถทุกรุ่นของบริษัทเป็นการชั่วคราวทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ หลังจากตรวจพบความผิดปกติใหม่อีก นอกเหนือจากความผิดปกติที่พบเมื่อเดือนเมษายน

โดยพบ 174 รายการ ใน 25 หมวดการทดสอบ

ด้านโตโยต้า บริษัทแม่ของไดฮัทสุ ได้ออกมาแสดงความขอโทษอย่างจริงใจ เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว และว่า จะดำเนินการปฏิรูปพื้นฐานต่อไป

แถลงการณ์โตโยต้ายังตระหนักถึงการละเลยอย่างร้ายแรงของไดฮัทสุ ที่สั่นคลอนต่อรากฐานของบริษัทในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ และว่า ไดฮัทสุได้ตัดสินใจระงับการจัดส่งรถที่อยู่ระหว่างการผลิต ซึ่งไดฮัทสุพัฒนาขึ้นทั้งหมดเป็นการชั่วคราว ทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ

ผลจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้ออกประกาศว่า จากการประกาศจากทางบริษัทที่ประเทศญี่ปุ่นว่า ที่ระงับการจัดส่งรถยนต์ที่อยู่ภายใต้กระบวนการพัฒนาของไดฮัทสุเป็นการชั่วคราว

ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบในรายละเอียดที่เกี่ยวกับความไม่เหมาะสมในการเตรียมการทดสอบเพื่อขอใบรับรอง และกำลังดำเนินการเข้าพบกับทางหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ทางโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จึงมีความจำเป็นต้องหยุดการส่งมอบรถยนต์รุ่น Veloz เพื่อรอการยืนยัน หรือการขยายผลการรับรอง

ทั้งนี้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ได้รับแจ้งว่ามีการระบุข้อมูลที่ผิดพลาด 1 รายการซึ่งเป็นรถยนต์รุ่น Veloz ที่ปัจจุบันจำหน่ายในประเทศไทย โดยทางไดฮัทสุมีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาตัวถังส่วนบน และรับรองของรถรุ่นนี้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม บริษัทไดฮัทสุ ก็ได้ออกมาประกาศระงับการผลิตทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่น หลังจากเผชิญกับเรื่องอื้อฉาวในการทดสอบเรื่องความปลอดภัย

โดยโฆษกของไดฮัทสุ เปิดเผยกับเอเอฟพี ว่า บริษัทไดฮัทสุ บริษัทในเครือของ “โตโยต้า” มีคนงานในโรงงานที่ญี่ปุ่นอยู่ราว 9,000 คน และได้ปิดโรงงานในญี่ปุ่น 4 แห่งสุดท้ายไปแล้ว และว่า จะระงับการผลิตทั้งหมดตลอดเดือนมกราคม และไม่สามารถประเมินได้อย่างแน่ชัดว่าจะสามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้เมื่อใด

จากรายงานของบริษัทวิจัยเอกชน ระบุว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวของไดฮัทสุ อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น

นับว่าเป็นวิบากกรรมครั้งใหญ่ของไดฮัทสุ ที่ยังไม่รู้ได้ว่าจะจบลงอย่างไร เพราะเมื่อเรื่องเริ่มจากการปลอมแปลงผลการทดสอบความปลอดภัย ความเชื่อมั่นในการใช้งานก็คงจะฟื้นฟูมาได้ยาก

สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj

— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น