โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ลุยศึกษารถไฟทางคู่สายใหม่ ‘ระยอง-จันท์-ตราด’ ขนทุเรียนแข่งกับรถบรรทุก!

The Bangkok Insight

อัพเดต 07 พ.ค. 2562 เวลา 04.53 น. • เผยแพร่ 07 พ.ค. 2562 เวลา 04.52 น. • The Bangkok Insight
ลุยศึกษารถไฟทางคู่สายใหม่ ‘ระยอง-จันท์-ตราด’ ขนทุเรียนแข่งกับรถบรรทุก!

*การรถไฟฯ ลุยศึกษาทางคู่สายใหม่ “ระยอง-จันทบุรี-ตราด” ระยะทาง 250 กม. วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท ฟุ้งโครงการคุ้มค่ามีผู้โดยสารจากกรุงเทพฯ ขนทุเรียนถูกกว่ารถบรรทุก *

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การรถไฟฯ ได้ว่าจ้างบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG เป็นที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมของ “โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางศรีราชา-ระยอง และช่วงมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด-คลองใหญ่” ระยะทาง 250-280 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 6-6.5 หมื่นล้านบาท

โครงการนี้เป็นโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ เพราะฉะนั้นจึงต้องเวนคืนที่ดินตลอดเส้นทาง โดยเส้นทางหลักจะเริ่มจากอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ผ่านไปทางอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง, ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 36, ตัวเมืองจังหวัดระยอง, ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (สุขุมวิท) ก่อนเข้าสู่จังหวัดจันทบุรี และอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนกัมพูชาตามลำดับ ขณะเดียวก็จะมีเส้นทางกิ่งเชื่อมไปยังมาบตาพุดด้วย

 

ผ่านเขาคิชฌกูฏ-ขนทุเรียน

รถไฟสายนี้มีความน่าสนใจและมีแนวโน้มที่จะคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพราะเส้นทางผ่านพื้นที่ที่มีกิจกรรมหลากหลาย ได้แก่ กิจกรรมการท่องเที่ยวตลอดเส้นทาง ตั้งแต่อำเภอบ้านเพและอำเภอแกลง จังหวัดระยอง, จังหวัดจันทบุรี ไปจนถึงจังหวัดตราด โดยพบว่าคนกรุงเทพฯ สนใจเดินทางท่องเที่ยวในระยะ 200 กิโลเมตรมากขึ้นในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านยังสามารถใช้เป็นทางเลือกในการเดินทางไปยังประเทศกัมพูชาด้วย

นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟจะผ่านบริเวณวัดเขากระทิง ใกล้กับเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งในช่วงต้นปีจะมีประชาชนเดินทางมาสักการะรอยพระพุทธบาทบนเขาคิชฌกูฏจำนวนมาก ถ้าหากมีระบบขนส่งทางรางเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นทางเลือกที่ดีให้กับประชาชน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เส้นทางยังผ่านพื้นที่อุตสาหกรรมและสวนผลไม้ในภาคตะวันออก จึงมีความเป็นไปได้ในการขนส่งสินค้าต่างๆ  โดยเฉพาะสินค้าเกษตรประเภททุเรียน ซึ่งปัจจุบันมักใช้วิธีขนส่งทางรถบรรทุกในช่วงกลางดึกไปยังท่าเรือแหลมฉบัง แล้วขนส่งทางเรือต่อไปยังประเทศจีน ถ้าหากเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งทางรางไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ก็จะทำให้ต้นทุนค่าขนส่งของผู้ประกอบการลดลง 50% จึงเชื่อว่าเป็นเส้นทางที่สามารถแข่งขันด้านการขนส่งสินค้าได้ ในเบื้องต้นจึงวางแผนจะก่อสร้างย่านกองเก็บสินค้า (CY) และล้งผลไม้ไว้ตามแนวรถไฟด้วย

 

ศึกษาความเหมาะสมเสร็จ ก.ค. 62

อย่างไรก็ตาม แนวเส้นทางและวงเงินการลงทุนทั้งหมดยังเป็นเพียงประมาณการเบื้องต้นเท่านั้น การรถไฟฯ ต้องรอผลการศึกษาที่ชัดเจนในเดือนกรกฎาคม 2562 จากนั้นจะดำเนินการออกแบบรายละเอียด ซึ่งทำให้แนวเส้นทางและวงเงินมีความชัดเจนมากขึ้นต่อไป

“โครงการอยู่ในขั้นศึกษาความเหมาะสม จะรับฟังความคิดเห็นประชาชนประมาณเดือนมิถุนายนนี้และศึกษาแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม ซึ่งประเด็นที่คนเป็นห่วงคงจะเป็นพวกเวนคืน แต่การรถไฟฯ ก็อยากรับฟังเป็นประเด็นอื่นๆ ด้วย โดยหลังจากศึกษาเสร็จแล้ว ก็จะเสนอขอเงินในการออกแบบรายละเอียดต่อในปีงบประมาณ 2563 ต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงชุมทางศรีราชา-ระยอง และช่วงมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด-คลองใหญ่นั้น การรถไฟฯ คาดว่าจะออกแบบสถานีโดยคงเอกลักษณ์ของรถไฟในอดีต เช่น ออกแบบสถานีที่มีลักษณะเป็นไม้หรือคล้ายไม้ มีสถาปัตยกรรมเหมือนสถานีรถไฟในอดีต เป็นต้น ขณะเดียวกันก็จะออกแบบโดยผสมผสานเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นด้วย เช่น จังหวัดจันทบุรีมีเอกลักษณ์ด้านอัญมณี เป็นต้น เพื่อให้เกิดความกลมกลืนในพื้นที่

ส่วนโครงการนี้จะเกิดขึ้นจริงได้เมื่อไหร่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลและการรถไฟฯ ด้วยว่าจะลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการเป็นอย่างไร

 

ดันโครงการเดิมยังไม่เสร็จ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันการรถไฟฯ อยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการพัฒนารถไฟทางเดี่ยวเป็นรถไฟทางคู่เฟสที่ 1 จำนวน 7 เส้นทางและเตรียมเสนอโครงการเฟสที่ 2 อีก 7 เส้นทางให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

นอกจากนี้ การรถไฟฯ อยู่ระหว่างผลักดันโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งล่าสุดผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว และรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ซึ่งเตรียมเสนอให้ ครม. พิจารณา