ถ้าสิ่งมีชีวิตที่ถูกสถาปนา หรือสถาปนาตนเองให้เป็น “ผู้ใหญ่” คนไหนเคยหลุดเข้าไปในอะไรที่เรียกกันสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “ม็อบ” ของพวกเด็กๆ นั้น (ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของม็อบหรือไม่ก็ตามแต่) ก็คงจะเคยได้ยินคำศัพท์แปลกๆ ที่ค้นยังไม่เจอในพจนานุกรมภาษาไทย ไม่ว่าจะเป็นฉบับไหนๆ
อาทิ แครอท (ที่แปลว่า พระ), CIA (ที่หมายถึง รถขายลูกชิ้น และของกินอื่นๆ), แกง (แกล้ง) และอะไรต่อมิอะไรอีกสารพัด
ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่หลายๆ สำนักข่าวเลยต้องทำสกู๊ปสารพัดคำศัพท์และคำแปล “ภาษาม็อบ” จนเหมือนเป็นพจนานุกรมที่ใช้สำหรับทำความเข้าใจคำศัพท์ในม็อบกันหรอกนะครับ
และก็คงมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ผู้ใหญ่ สารพัดคนที่จำเป็นต้องใช้ “พจนานุกรมภาษาม็อบ” เหล่านี้ด้วยความตะหงุดตงิดใจ
แถมอาจจะไม่มีพจนานุกรมฉบับมาตรฐาน ฉบับไหนเลยในประเทศแห่งนี้ที่จะบรรจุถ้อยคำเหล่านี้เอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งเคยมีการใช้คำศัพท์เหล่านี้ในความหมายที่แตกต่างออกไปจากความหมายปกติ เพราะไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานวิชาภาษาไทยของประเทศ
ทั้งๆ ที่เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติ ไม่ว่าผลในบั้นปลายจะจบลงอย่างไรก็ตาม
ส่วนผลที่ตามมาก็คงจะทำให้ใครต่อใครในอนาคตพากันไม่เข้าใจ “ศัพท์สแลง” หรือภาษาที่ใช้ภายในม็อบเหล่านี้ และคงจะสอบตกวิชาประวัติศาสตร์กันอีกให้เพียบ หากต้องค้นคว้ากันโดยอ้างอิงจากพจนานุกรมฉบับมาตรฐานเพียงอย่างเดียว
แต่ที่อะไรต่อมิอะไรจะประกอบร่างรวมกันขึ้นมาเป็น “สังคม” นั้น ไม่ได้ประกอบไว้ด้วยความเป็นมาตรฐานที่กำหนดขึ้นจากอำนาจรัฐเพียงอย่างเดียวนะครับ ความหลากหลายของผู้คนและวัฒนธรรมต่างหากที่ประกอบกันขึ้นเป็นสังคมเมืองขนาดใหญ่อย่างในปัจจุบันนี้
พจนานุกรมฉบับมาตรฐาน ฉบับภาษาม็อบ หรือจะฉบับไหน ก็จึงไม่จำเป็นต้องมองผ่านแว่นที่มีเลนส์ที่อ้างความเป็นมาตรฐานของรัฐราชการเพียงเลนส์เดียวเสมอไป
พจนานุกรมเล่มที่บรรจุคำว่า “แกง” แล้วคำแปลทางเลือกว่า “แกล้ง” อยู่ในนั้น จึงไม่ควรมีอยู่เฉพาะในพจนานุกรมภาษาม็อบ ที่สื่อต่างๆ จัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะเพียงอย่างเดียว
ถ้ามองผ่านแว่นที่สวมไว้ด้วยเลนส์ประเภทอื่น เช่นเดียวกับพจนานุกรมเล่มที่บรรจุคำว่า “แกง” ที่แปลว่า “อาหารชนิดหนึ่ง” เอาไว้ ก็ไม่ควรจะเป็นพจนานุกรมฉบับที่ใช้กันเฉพาะในหมู่คนที่ไม่เห็นด้วยกับม็อบ
และนี่ยังไม่นับว่า คำศัพท์เหล่านี้ส่วนใหญ่ก็ถูกคนรุ่นใหม่ใช้ในโซเชียลมีเดียกันมาก่อนแล้ว โดยนอกจากศัพท์สแลงที่ความหมายต่างไปจากความหมายมาตรฐานปกตินั้น ก็ยังมีการใช้อักขรวิธีในการเขียนที่แตกต่างออกไปอีกด้วย
ความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร ในยุคที่ถ้าใช้คำว่าโลกาภิวัตน์อาจจะเชยไปแล้วด้วยซ้ำ หมุนโลกให้เร็วกว่ายุคที่เรายังส่งข่าวกันด้วยม้าเร็วไม่รู้กี่พันเท่า ความแม่นยำของอักขรวิธีกลายเป็นสิ่งที่สำคัญน้อยกว่าความรวดเร็วที่มากขึ้นอีกนิดก็ยังดีในการสื่อสาร
การส่งข่าวด้วยวิธีห้อม้าคงจะเป็นเรื่องที่วุ่นวายแน่ถ้าสะกดคำตกหล่นจนเข้าใจถ้อยกระทงความผิดกัน
แต่ในยุคที่ใครก็สามารถรีเช็กเนื้อความที่ไม่เข้าใจได้พร้อมกับที่ยังนั่งกระดิกเท้าชิลๆ อยู่ในร้านกาแฟได้ทันทีนี่มันก็อีกเรื่องหนึ่งแล้วนะครับ
ดังนั้น ถ้าจะพิมพ์คำว่า “เดี๋ยว” โดยสะกดว่า “เด๋ว” ก็ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมในสังคมบนโลกเสมือนอะไรเลยสักนิด
อักขรวิธีที่จะทำให้คุณครูภาษาไทยอาจจะหงุดหงิดเสียจนต้องให้เด็กคนนั้นสอบตก จึงดูจะเป็นเหมือนโลกคนละใบเดียวกันกับการย่นย่อการสะกดคำแบบนี้เลยทีเดียว
และเอาเข้าจริงแล้ว ลักษณะแบบนี้มันก็เกิดขึ้นให้เพียบกรณีในส่วนต่างๆ ของโลก
มีคำว่า “dunno” ซึ่งก็ย่นย่อมาจาก “don”t know”, คำว่า “brunch” ซึ่งหมายถึงอาหารไม่เช้า ไม่เที่ยง แต่ควบเอาคำว่า “breakfast” และ “lunch” มารวบเข้าเป็นคำเดียว, “fyi” ที่ย่อมาจากคำว่า “for your information” ซึ่งไม่เคยมีรัฐแห่งใดในโลกต้องประกาศใช้เป็นตัวย่ออย่างเป็นทางการ
จะมีก็แต่ดิกชันนารี (dictionary, ซึ่งก็แปลว่าพจนานุกรมนั่นแหละ) ดีๆ ที่รู้จักรวมเอาคำพวกนี้เข้าไปผนวกไว้ ให้ใครสามารถไปค้นอ่านได้ถ้าไม่เข้าใจ (ถึงแม้ว่าจะเป็นคำที่เห็นจนชินตาในโลกออนไลน์ก็เถอะ)
ในกรณีนี้ การสะกดคำอะไรอย่างย่อๆ ให้พอรู้กัน โดยไม่ใส่ใจกับอักขรวิธีมาตรฐานมากนักแบบนี้ จึงเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กันกับการประดิษฐ์คำที่มีความหมายใหม่ขึ้น เพราะความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและวัฒนธรรมนั่นเอง การมองปรากฏการณ์เหล่านี้โดยแยกขาดจากกันจึงไม่น่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมเท่าไหร่นัก
ว่ากันว่ากวีเอกของโลกภาษาอังกฤษอย่างวิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.2107-2159 (คาบเกี่ยวกับช่วงอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 1 สมัยของสมเด็จพระนเรศวร และพระเจ้าทรงธรรมทรงพบพระพุทธบาทที่สระบุรีในประเทศไทย) ประดิษฐ์ศัพท์ขึ้นมาเองในงานของเขาไม่ว่าจะเป็นกวี บทประพันธ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ราว 10,000 คำโดยยังคงใช้มาจนกระทั่งทุกวันนี้ถึง 1,700 คำ เลยทีเดียวนะครับ
และถึงแม้จะมีผู้ออกมาปฏิเสธว่า เชกสเปียร์ไม่ได้ผูกศัพท์ขึ้นมาเยอะขนาดนั้น
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เขาผูกศัพท์คำที่กลายเป็นคำบ้านๆ ในภาษาอังกฤษปัจจุบันนี้อย่าง “eyeball” (ลูกนัยน์ตา) “manager” (ผู้จัดการ) “cold-blooded” (เลือดเย็น) “assassination” (การลอบสังหาร) “lonely” (อาการหว่อง) และอื่นๆ อีกสารพัด
ดังนั้น เมื่อมองอีกด้านอย่างเป็นธรรมแล้ว ปรากฏการณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอักขรวิธีอะไรทำนองนี้ จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดีอย่างที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองทั้งหลายมักจะกังวลไปเสียทั้งหมด
ไม่อย่างนั้นฝรั่งเขาก็คงไม่ยกให้เชกสเปียร์เป็นกวีเอกของโลกแน่
อันที่จริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ส่งผลต่ออักขรวิธีในการเขียนนั้นก็เกิดขึ้นในไทยมาตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะมีอินเตอร์เน็ตมานานแล้ว
ตัวอย่างที่สำคัญเกิดขึ้นตั้งแต่เทคโนโลยีการพิมพ์เข้ามาในกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้ชาวสยามเริ่มประสบปัญหาขึ้นมาว่า สระและวรรณยุกต์ที่ลอยอยู่เหนือพยัญชนะบ้าง (-ั, -่, -็ เป็นต้น) เป็นเชิงอยู่ใต้พยัญชนะบ้าง (-ุ, ฐ, ญ และอีกสารพัด) นั้นเป็นสิ่งที่เกะกะสิ้นดีสำหรับการพิมพ์
รัชกาลที่ 4 จึงทรงคิดค้น “อักษร” หรือ “ฟอนต์” ที่เรียกว่า “อักษรอริยกะ” ซึ่งจับเอาทั้งตัวเชิง วรรณยุกต์ สระทั้งที่ลอยอยู่เหนือพยัญชนะ และเป็นเชิงอยู่ใต้พยัญชนะมารวบไว้ในบรรทัดเดียวกันเหมือนตัวอักษรโรมัน ที่ใช้กันโดยทั่วไปในยุโรป (ฟอนต์อริยกะนี้ มีความใกล้เคียงกันกับวิธีการเขียนในจารึกพ่อขุนรามคำแหง ที่รัชกาลที่ 4 ทรงอ้างว่าเป็นผู้ค้นพบอย่างน่าพิศวง!)
เพียงแต่ว่า ไม่มีใครเห็นด้วยกับพระองค์ พวกเราในปัจจุบันจึงได้แต่ใช้ฟอนต์ดาดๆ อย่าง Cordia บ้าง ThaiSarabun บ้าง แต่ไม่มีฟอนต์อริยกะให้ใช้
ในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็มีการปรับเปลี่ยนอักขรวิธีเพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสาร เป็นการขนานใหญ่เลยนะครับ เพราะอดีตท่านผู้นำคนนี้สั่งให้ตัดพยัญชนะในภาษาไทยเหลือเพียง 31 ตัว ได้แก่ ก ข ค ง จ ฉ ช ซ ญ ด ต ถ ท น บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ส ห อ ฮ, สั่งเลิกใช้ไม้ม้วน, ฤ, ฤๅ, ฦ, ฦๅ, เปลี่ยน “ทร” เป็น “ซ” ทั้งหมด (เช่น ทราย เป็น ซาย) และให้ตัดเชิงที่ตัวพยัญชนะ ญ
แน่นอนว่า พอกระเด็นออกจากวงโคจรของอำนาจ ก็ไม่มีใครเอากับอดีตท่านผู้นำคนนี้ด้วย
แถมยังขนานนามให้ด้วยว่าเป็นยุค “อักขรวิบัติ”
เราจึงยังมีพยัญชนะครบ 44 ตัวมาจนกระทั่งทุกวันนี้
แต่ไม่ใช่ว่าอักกขรวิธีของจอมพล ป.ท่านจะไม่มีมรดกตกทอดอยู่ในภาษาไทยทุกวันนี้เอาเสียเลย
อย่างน้อย ทุกวันนี้ก็ไม่มีใครเขียนคำว่า “ระลึก” ด้วยตัวสะกด “รฦก” อีก
เอาเข้าจริงแล้ว ทั้งการประดิษฐ์ถ้อยคำให้มีความหมายใหม่ๆ และการอักขรวิธีในแต่ละภาษาจึงมีการปรับเปลี่ยนไปด้วยเงื่อนไขต่างๆ อยู่แทบจะตลอดเวลา
เพราะวัฒนธรรมและสังคมมนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งอยู่กับที่
วัฒนธรรมที่หยุดอยู่กับที่คือวัฒนธรรมที่ตายไปแล้ว
และภาษาก็เช่นกัน
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงความหมายของศัพท์แต่ละคำในแต่ละยุคสมัย
การประดิษฐ์ถ้อยคำใหม่ๆ
หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงอักขรวิธีในการเขียน จึงไม่ใช่สิ่งที่สังคมควรวิตก
แถมยังควรนำเอาถ้อยคำและความหมายเหล่านี้ใส่เข้าไว้ในพจนานุกรม เพื่อเป็นหลักฐานของความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัยเสียด้วยซ้ำไป
เพราะสังคมและวัฒนธรรมนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
สังคมที่ไม่มีคำศัพท์ใหม่ๆ เกิดขึ้น หรือไม่มีคำศัพท์ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเลยต่างหาก ที่เป็นสังคมที่ตายแล้ว และชวนให้หดหู่สิ้นหวังสิ้นดี
ความเห็น 0