โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“ธรรมะสอนใจ” กับ “Social Distancing” สู้วิกฤตไวรัสร้าย COVID-19

GedGoodLife

เผยแพร่ 31 มี.ค. 2563 เวลา 19.48 น. • Ged Good Life ชีวิตดีดี
“ธรรมะสอนใจ” กับ “Social Distancing” สู้วิกฤตไวรัสร้าย COVID-19

COVID-19 เชื้อร้ายที่แสนน่ากลัว และความน่ากลัวของมันก็คือ ความที่ต้องมาทุกข์ทรมานก่อนตาย ที่ใคร ๆ ต่างก็ไม่อยากเจอ… แต่ถ้าเราใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า และ คำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุข เราก็จะก้าวผ่านเชื้อโควิด-19นี้ไปได้อย่างปลอดภัย… งั้นมาดูกันว่า หลัก "ธรรมะสอนใจ" กับ "Social Distancing" จะช่วยให้เรารอดจากไวรัสร้ายนี้ได้อย่างไรบ้าง

"Social Distancing" มีที่มาที่ไปอย่างไร?

"การเว้นระยะห่างทางสังคม" หรือ "Social Distancing" คือ มาตรการป้องกันการแพร่เชื้อของโรคโควิด-19 ที่กำลังนิยมใช้กันอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ ซึ่งมาตรการนี้ ริเริ่มใช้มานานแล้ว โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่สมัยที่มีโรค ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu) ระบาดไปทั่วโลกในปี คศ. 1918 และก็ค่อนข้างได้ผลมากทีเดียว WHO หรือ องค์การอนามัยโลก จึงได้หยิบนำมาตรการนี้กลับมาใช้อีกครั้งในช่วงเวลาที่โควิด-19 กำลังระบาดอยู่ในเวลานี้นั่นเอง

Social Distancing หยุดยั้งโรคระบาดได้อย่างไร?

เพื่อลดอัตราความเสี่ยงในการสัมผัสโรค เชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) กระทรวงสาธารณสุข จึงได้นำมาตรการ "การเว้นระยะห่างทางสังคม" หรือ "Social Distancing" มาใช้ทั่วประเทศไทย ซึ่งแนวทางของมาตรฐานนี้ ก็เพื่อให้ประชาชนอยู่ห่างกันมากขึ้น 1-2 เมตร ไม่อยู่รวมกันหนาแน่น ไม่พบปะสังสรรค์ เก็บตัวอยู่บ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเป็นการหยุดยั้งไม่ให้โรคโควิด-19 ระบาดได้ในเวลาอันรวดเร็วนั่นเอง โดยมีตัวอย่างการจัดระยะห่างระหว่างบุคคล ดังนี้

ตัวอย่างการจัดระยะห่างระหว่างบุคคล ไม่น้อยกว่า 1-2 เมตร เพื่อหยุดยั้งโรคระบาดโควิด-19 ในสถานที่ หรือสถานการณ์ต่าง ๆ

1. การจัดที่นั่งในพิธีสวดพระอภิธรรมศพ
ควรจัดที่นั่งสาหรับพระภิกษุ ให้มีระยะห่างกัน 1-2 เมตร และจัดที่นั่งผู้เข้ารับการฟังการสวดพระอภิธรรม ระยะห่าง 1-2 เมตร

2. การจัดที่นั่ง และการประกอบพิธีฌาปนกิจศพ
- นั่งเดิน ต่อคิวโดยมีการกำหนดจุดยืน และเดินโดยห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร
- ประชาชนทั่วไปควรจัดวางดอกไม้จันทน์ด้านล่าง เพื่อลดความแออัดบนเมรุ
- กาหนดทิศทางการเดิน เป็นแนวเดียวกัน โดยรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร

3. การร่วมรับประทานอาหาร
- ส่งเสริมให้รับประทานอาหารจานเดียว หรืออาหารแบบกล่อง
- ไม่รับประทานร่วมกัน
หากรับประทานร่วมกันต้องใช้ช้อนกลางส่วนบุคคล
- นั่งห่างกัน 1-2 เมตร ทั้งระหว่างโต๊ะ และระหว่างบุคคล โดยขอให้งดอาหารแบบบุฟเฟ่ต์

4. การใช้รถร่วมกัน
- คนขับ และผู้โดยสารควรสวมผ้า หรือ หน้ากากอนามัย ปิดปากทุกคน
- ควรมีระยะห่างเว้นที่นั่ง ไม่ให้แออัด
- มีแอลกอฮอล์เจล 70 % เพื่อทำความสะอาดมือทุกคัน

5. การเข้าคิวเข้ารับบริการทั้งของภาครัฐและเอกชน
- เข้าคิวให้เป็นระเบียบ พักรอ ให้มีระยะห่าง 1-2 เมตร ไมเ่ดินใกล้กัน กำหนดจุดยืน จุดพักรอ ให้ชัดเจน

6. การรับบริการจากส่วนราชการ
- เข้าคิวให้เป็นระเบียบ
พักรอ ให้มีระยะห่าง 1-2 เมตร ไมเ่ดินใกล้กัน กำหนดจุดยืน จุดพักรอ ให้ชัดเจน

7. การจัดที่นั่งประชุม
- จัดที่นั่ง ให้มีระยะห่าง 1-2 เมตร
- กำหนดทิศทางการเดินเข้าไปนั่งให้เป็นทิศทางเดียว หรือ ไม่เดินสวนทางกัน

8. การจัดบริการในร้านสะดวกซื้อ
- กำหนดให้มีจุด เดิน และหยุดตามจุด (X) ไม่ให้ใกล้กันกว่า 1-2 เมตร ทุกช่องทางเดิน
- อาจกำหนดทิศทางการเดินให้เหมาะสม เพื่อลดการสัมผัส ระหว่างบุคคล 1-2 เมตร

9. การจัดบริการในห้างสรรพสินค้า
- แต่ละ Department ต้องกาหนดให้มีระยะห่าง 1-2 เมตร ได้

- กำหนดให้การเดินไม่ใกล้กว่าจุดที่กำหนดไว้ เช่น กำหนดให้แต่ละ Department ติดเครื่องหมายของการยืน (X) เดินรักษาระยะห่าง รวมทั้งบริเวณโถงด้วย และกำหนดทิศทางการเดิน เพื่อลดการ
สัมผัสระหว่างบุคคล

โรคระบาดที่พระพุทธเจ้าสยบ

ในครั้งพุทธกาลยุคที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนม์อยู่นั้นก็เคยเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ขึ้น ในเมืองเวสาลี ผู้ปกครองเมืองนี้ทนไม่ไหวจึงต้องไปหาพระเจ้าพิมพิสารเพื่อขอหารือว่าจะทำอย่างไรดีให้โรคนี้ได้ยุติลง…

พระเจ้าพิมพิสารทรงแนะนำให้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ผู้ปกครองเมืองเวสาลีพึงปฏิบัติตาม อาราธนานิมนต์พระพุทธเจ้าไปเมืองเวสาลี ครั้นพอฝ่าพระบาทของพระองค์เหยียบประทับที่เมืองเวสาลีแล้วนั้นเค้าฝนก็ส่อเลาะตั้งเค้าตามล่องนภากาศไม่ช้าไม่นานก็สาดเส้นสายลงมาโปรยปราย เช่นนี้อยู่ 7 ราตรี

การที่ฝนตกแบบนั้นจึงได้ทำให้เกิดการชำระล้างกวาดเชื้อโรคสิ่งสกปรกออกจากเมืองไปจนหมดสิ้น ด้วยเหตุนี้ที่โบราณเขาจึงมีคำว่า โรคมากับลมย่อมไปกับน้ำ

พระพุทธเจ้ทรงให้พระอานนท์กล่าวคาถาตามที่พระองค์แนะนำ เรียกว่า รตนสูตร และมีบทขัดด้วย ซึ่งขึ้นต้นว่า ราชะโต วา โจระโต วา มะนุสสะโต วา อะมะนุสสะโต วา อัคคิโต วา อุทะกะโต วา ปิ สาจะโต วา ขาณุกะโต วา กัณฏะกะโต วา นักขัตตะโต วา ชะนะปะทะโรคะโตฯ

ท่อนสุดท้ายของบทนี้อ้างถึงพระบารมีของพระพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญมาจนครบ 30 ทัศด้วย พระอานนท์ทรงนำเอาน้ำมาปะพรมให้กับผู้ปกครองนคร และประชาชนให้อยู่ดีมีสุข จากนั้นโรคห่าทั้งปวงก็หมดไปจากเมืองเวสาลี

"ธรรมะ" กับ "โรคระบาดCOVID-19"

ไม่ว่าจะยุคสมัยใด เมื่อมีเหตุเกิดภัยร้ายแก่บ้านเมือง ประชาชนชาวไทยมีความทุกข์ยาก สิ่งนึงที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ "ธรรมะ" เพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ มีกำลังใจ มีสติ มีปัญญา และไม่ประมาทอยู่เสมอ

ดังจะเห็นได้ว่า ภาครัฐได้ออกมาเชิญชวนให้ประชาชนร่วมสวดมนต์บท "รตนสูตร" ซึ่งเป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้พระอานนท์เถระน้อมระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย นั่นเอง

https://www.youtube.com/watch?v=hymYs8c4T-4

"ธรรมะสอนใจ" กับ "Social Distancing"

หลายคนอาจจะสงสัยว่า "ธรรมะสอนใจ" กับ "Social Distancing" มีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างไร? ก็ต้องตอบว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างมาก เพราะ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ศาสนิกชน รู้จักการอยู่อย่างสันโดษ รู้จักสำรวมอินทรีย์ โดยเฉพาะเมื่อต้องปฏิสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม เป็นต้น

อินทรียสังวร : การสำรวมอินทรีย์ทั้ง 6

อินทรียสังวร คือ การสำรวมอินทรีย์ทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้าย ในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ, ระวังไม่ให้กิเลสครอบงำใจ ในเวลารับรู้อารมณ์ทางอินทรีย์ทั้ง 6

การสำรวมอินทรีย์จึงเป็นไปใน 2 ลักษณะ คือ

1. สำรวม ระวังในอินทรีย์ทั้ง 6 ด้วยการไม่สอดส่ายส่งออกไปเที่ยวกระทบ หรือผัสสะกับในเหล่า รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ที่ไม่จำเป็น

2. เมื่อเกิดการกระทบหรือเกิดการผัสสะกันแล้ว ก็ให้มีการสังวร สำรวมไม่ให้ยินดียินร้าย ในเวลาที่เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ หรือการอุเบกขา หรือไม่พัวพัน เสียนั่นเอง

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เป็นกำลังใจในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19)

มีใจความว่า “ไม่มีชีวิตใดประสบแต่ความเกษมสุข ปราศจากทุกข์ภัยไปได้ตลอด เมื่อเกิดมาแล้ว จึงจำเป็นต้องขวนขวายสั่งสม ‘สติ’ และ ‘ปัญญา’ สำหรับเป็นอุปกรณ์บำบัดความทุกข์อยู่ทุกเมื่อ เพื่อให้สมกับที่ดำรงอัตภาพแห่งมนุษย์ผู้มีศักยภาพต่อการพัฒนา

ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดซึ่งก่อให้เกิดความหวาดหวั่นครั่นคร้ามกันทั่วหน้า ทุกคนมีหน้าที่แสวงหาหนทางเพิ่มพูน ‘สติ’ และ ‘ปัญญา’ พร้อมทั้งแบ่งปันหยิบยื่นให้แก่เพื่อนร่วมสังคม อย่าปล่อยให้ความกลัวภัยและความหดหู่ท้อถอย คุกคามเข้าบั่นทอนความเข้มแข็งของจิตใจ ในอันที่จะอดทน พากเพียร เสียสละ และสามัคคี

มีธรรมภาษิตบทหนึ่งในพระพุทธศาสนา พึงน้อมนำมาเตือนใจในยามนี้ ว่า ‘เมื่อถึงยามคับขันประชาชนต้องการผู้กล้าหาญ, เมื่อถึงคราวปรึกษางาน ต้องการผู้ที่ไม่พูดพล่าม, ยามมีข้าวน้ำ ต้องการผู้เป็นที่รัก, ยามเกิดปัญหา ต้องการบัณฑิต’

ขอทุกท่านจงเป็น ‘ผู้กล้าหาญ’ ที่จะละความดื้อด้านเห็นแก่ตัว ความเคยตัว และความไม่ระมัดระวังตัว ขอจงเป็น ‘ผู้ที่ไม่พูดพล่าม’ โดยปราศจากสาระ ก่อความร้าวฉานชิงชัง ในยามที่สังคมต้องการสาระ คำปรึกษาหารือ และกำลังใจ แต่จงประพฤติตนเป็น ‘บัณฑิต’ ผู้รู้รักษากายใจของตัวให้ปลอดจากโรคกายโรคใจ เป็นผู้ฉลาดศึกษา ค้นคว้า วางแผน ชี้แนะ และลงมือทำ

ทั้งนี้ ถ้าแต่ละคนแม้เพียงตั้งจิตไว้ในธรรมฝ่ายสุจริต ไม่ถลำลงสู่ความคิดชั่ว อันนำไปสู่การพูดชั่วและทำชั่วซ้ำเติม ก็นับว่าได้ช่วยบรรเทาปัญหาของโลกแล้ว และยิ่งหากท่านมีดวงจิตผ่องแผ้วด้วยเมตตาการุณยธรรม นำความปรารถนาดีเผื่อแผ่ไปสู่ทุกชีวิตอย่างเสมอหน้า ความทุกข์ยากที่เราทั้งหลายต่างเผชิญ ย่อมจะคลี่คลายได้ในไม่ช้า

วโร วรญฺญู วรโท วราหโร

อนุตฺตโร ธมฺมวรํ อเทสยิ

อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ

เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ.

พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ทรงรู้ธรรมอันประเสริฐ ประทานธรรมอันประเสริฐ ทรงนำมาซึ่งธรรมอันประเสริฐ เป็นผู้ยอดเยี่ยม ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ แม้อันนี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแด่ท่าน เทอญ.”

การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ การกักตนเองอยู่ในบ้าน มีประโยชน์ต่อเราอย่างไรบ้าง?

1. ฝึกความอดทน - การต้องเปลี่ยนพฤติกรรม จากที่เคยออกไปเที่ยวนอกบ้านเป็นประจำ แต่เมื่อต้องกักตนเองอยู่แต่ในบ้าน ก็เป็นการฝึกความอดทน อดกลั้นอย่างหนึ่ง และยังเป็นการช่วยให้แพทย์ พยาบาล ทำงานง่ายขึ้น เพราะ มีผู้ติดเชื้อน้อยลงนั่นเอง

2. รู้จักเสียสละ - เสียสละประโยชน์ส่วนตน ด้วยการไม่ออกไปแพร่เชื้อ หรือ รับเชื้อข้างนอก เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของชาติบ้านเมือง มีส่วนร่วมในการต่อสู้กับไวรัสไปด้วยกัน และท้ายที่สุด..ได้รับชัยชนะร่วมกันทั้งประเทศ

3. อยู่ในศีลธรรมมากขึ้น - เมื่อต้องกักตนเอง หรือ ต้องเว้นระยะห่างจากเพื่อน ๆ และสังคม ก็จะทำให้ปาร์ตี้น้อยลงไปมาก การดื่มสุราก็จะน้อยลงตามไปเช่นกัน ทำให้ตัวเราอยู่ในกรอบของศีลข้อ 5 คือ การไม่ดื่มสุราเมรัย ไปโดยปริยาย (และอาจรวมถึงศีลข้ออื่น ๆ ได้อีกด้วย)

4. ใช้ชีวิตช้าลง ได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น - บางครอบครัว เช้ายันค่ำ แทบจะไม่เคยมองหน้ากัน หรือใช้ชีวิตร่วมกันเลย แต่พอเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลประกาศให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน ก็ทำให้หลายครอบครัวได้พูดคุย ได้ใช้ชีวิตร่วมกันมากขึ้น กลายเป็นครอบครัวที่อบอุ่นขึ้นมาทันที

5. ลดโลกร้อน - สถานการณ์การระบาดของโรคนี้ ทำให้ประชากรทั่วโลกต้องใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้าน ออกไปข้างนอกน้อย จึงทำให้ รถทุกชนิดวิ่งน้อยลง มลพิษน้อยลง การขุดเจาะน้ำมันลดลง ธรรมชาติฟื้นตัวเร็วขึ้น ช่องโหว่ชั้นโอโซนฟื้นตัว ส่งผลให้โลกไม่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศรุนแรงบ่อยครั้งเหมือนเดิมนั่นเอง

อ้างอิง :

1. https://oryor.com/อย/detail/media_printing/1790

  1. https://siamrath.co.th/n/141484
  2. https://www.thansettakij.com/content/normal_news/425922
  3. http://www.nkgen.com/449.htm

 

"Expert ดีดี" โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!

ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…

Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter      : @gedgoodlife
Line          : @gedgoodlife
Youtube   : GEDGoodLife ชีวิตดีดี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0