โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ฤทธิ์เดชของถ้อยคำ จอมโจรขโมยหนังสือ (The Book Thief)

The101.world

เผยแพร่ 25 ม.ค. 2565 เวลา 01.00 น. • The 101 World
ฤทธิ์เดชของถ้อยคำ จอมโจรขโมยหนังสือ (The Book Thief)

ผมรู้จัก The Book Thief ครั้งแรกจากการดูหนังปี 2013 โดยฝีมือการกำกับของไบรอัน เพอร์ซิวัล ครั้งแรกที่ได้ดู (เมื่อหลายปีที่แล้ว) ผมชอบเนื้อเรื่องและประเด็นที่หนังนำเสนอ ชอบในระดับชอบมากๆ เลยนะครับ แต่นานวันเข้าก็ลืมเนื้อเรื่องและรายละเอียดทุกสิ่งไปอย่างหมดจดเกลี้ยงเกลา ตามประสาคนมีความจำ…จำกัด

ด้วยเหตุนี้ เมื่อไปพบเจอ The Book Thief ฉบับนิยายในชื่อไทยว่า จอมโจรขโมยหนังสือ ผมจึงรีบเสาะหามาอ่านด้วยความกระหายใคร่รู้ว่า เรื่องราวและเนื้อหาที่ผมเคยชอบนั้นเป็นเช่นไร

เพื่อที่จะได้ลืมสนิทอีกครั้ง ในอนาคตอันใกล้

อ่านจบแล้ว ก็อดรนทนไม่ไหว ต้องกลับไปดูหนัง (มีใน disney+นะครับ) เพื่อแก้สงสัยว่า ระหว่างหนังกับนิยายมีวิธีบอกเล่า เหมือนและต่างกันอย่างไร

เทียบเคียงกันแล้ว หนังดำเนินเรื่องโดยดัดแปลงและตัดทอนให้พล็อตมีเส้นเรื่องชัดเจน มีความกระชับ และง่ายต่อการติดตามมากกว่า ขณะที่ฉบับนิยายมีความละเอียดถี่ถ้วนกว่า น่าประทับใจและเศร้าสะเทือนใจกว่า

ความแตกต่าง จุดเด่นจุดด้อยระหว่างสื่อต่างแขนงนี้ เป็นธรรมชาติและเรื่องปกติในการนำวรรณกรรมมาดัดแปลงเป็นหนังนะครับ

แต่ที่ไม่ปกติและทำให้เกิดอรรถรสผิดแผกอย่างใหญ่หลวง เหมือนอาหารเมนูเดียวกันที่ปรุงขึ้นโดยคนละพ่อครัว ก็คือวิธีการเล่าเรื่อง

ทั้งหนังและนิยายเล่าเรื่องทั้งหมดผ่านมุมมองของยมทูตเหมือนๆ กัน แต่รายละเอียดวิธีการนั้นแตกต่าง หนังใช้เสียงบรรยาย (narrator) ในตอนเริ่มเรื่อง จากนั้นก็เล่าตามปกติ บทบาทของเสียงบรรยายมีไม่มากนัก ปรากฏขึ้นแบบนานๆ ครั้ง เฉพาะในช่วงที่จำเป็นต้องบอกเล่าถึงความคิดอ่านในใจหรือการกระทำของตัวละคร (ซึ่งไม่มีบทสนทนามาช่วยเล่าเรื่อง) และใช้เสียงบรรยายเยอะขึ้นในตอนท้ายเพื่อสรุปเรื่อง

ส่วนฉบับนิยายนั้นยมทูตเป็นผู้เล่าเรื่องทั้งหมด ในลักษณะท่วงทีคล้ายๆ กำลังพูดคุยกับผู้อ่าน (หรือในอีกแง่หนึ่ง อาจกล่าวได้ว่านิยายที่เรากำลังอ่านเขียนโดยยมทูต)

ยมทูตในเรื่องนี้ ถ้าเปรียบเป็นนักเขียน ก็เป็นนักเขียนที่เปิดเผยตัวตนและแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องที่ตนเองเล่าอยู่ตลอดเวลา หรือหากเปรียบเป็นคู่สนทนาของคนอ่าน ยมทูตรายนี้ก็เป็นเพื่อนคุยที่มีลีลากระเดียดเฉียดใกล้ไปทางนักแสดงเดี่ยวไมโครโฟน มีทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ต่อสิ่งที่กำลังบอกเล่า ประชดประชันเสียดสี บางครั้งก็ตั้งข้อสงสัย แสดงความไม่เข้าใจต่อพฤติกรรมของตัวละคร และมีบ่อยครั้งที่เถลไถลพูดถึงมนุษยชาติในแง่มุมต่างๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ยมทูตยังทำตัวประดุจเป็นวาทยากรควบคุมวงออร์เคสตรา คอยกำหนดควบคุมจังหวะของเรื่องเล่า ควรเน้นหรือตอกย้ำตรงไหน ควรผ่านข้ามหรือบอกเล่าโดยอ้อมตรงที่ใด ควรเปิดเผยแจ่มแจ้งสะท้อนภาพและเหตุการณ์อย่างตรงไปตรงมา หรือควรอำพรางกลบเกลื่อน พูดเป็นนัยๆ โดยไม่บอกหมดว่าเกิดอะไรขึ้น รวมถึงการร้อยเรียงจัดลำดับว่าจะเล่าอะไรก่อนหลัง

นี่ยังไม่นับรวมว่า ยมทูตเป็นนักเล่าเรื่องที่นิยมใช้เทคนิคที่ศัพท์วรรณกรรมเรียกว่า foreshadow หรือการบอกเล่าเหตุการณ์ล่วงหน้า (ตัวอย่างเช่น ขณะกำลังเล่าถึงเหตุการณ์ปัจจุบัน ก็เกริ่นให้ผู้อ่านทราบไปถึงอีก 5 ปีข้างหน้าว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวละคร) วิธีนี้ปรากฏทั่วตลอดทั้งเรื่องในปริมาณถี่ยิบหนาแน่น มิหนำซ้ำยังทำในสิ่งที่เรียกกันว่า สปอยล์ เปิดเผยความลับสำคัญหลายๆ อย่าง และไม่เกรงอกเกรงใจผู้อ่าน ย้ำสิ่งที่ตนเองสปอยล์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

นอกจากจะทำตัวเป็นนักเขียนนิยาย นักแสดงเดี่ยวไมโครโฟน และวาทยากรแล้ว ยมทูตยังคลับคล้ายนักหนังสือพิมพ์อีกด้วยครับ ด้วยวิธีการเขียนแบ่งเป็นท่อนเป็นช่วงตอนสั้นๆ แต่ละท่อนมีคำโปรยคล้ายๆ พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ เน้นข้อความเป็นตัวหนา มีพาดหัวรองขยายความ แล้วจึงเข้าสู่เนื้อหาตามปกติ

พูดอีกแบบคือ มาร์กัส ซูซัก นักเขียนชาวออสเตรเลีย ผู้แต่งนิยายเรื่องนี้ เล่นสนุกกับเทคนิคการเล่าเรื่องอย่างเพลิดเพลินสนุกมือ อรรถรสส่วนหนึ่งในการอ่านจึงอยู่ที่ลูกเล่นวิธีการเล่าเรื่อง (และแน่นอนว่าอีกส่วนหนึ่งอยู่ที่ตัวเรื่อง)

ช่วงเริ่มต้นอ่าน ขณะยังไม่คุ้นกับวิธีการ ผมรู้สึกแปลกและแปร่งๆ อยู่สักหน่อย แต่เมื่อเริ่มปรับตัวเกิดความคุ้นชิน วิธีการเล่าของยมทูตนั้นชวนให้เพลิดเพลิน และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ถึงแม้จะยียวน ปากคอเราะรายใช้ได้ และใจร้ายในบางขณะ แต่รวมความแล้วคุณยมทูตแกเป็นนักเล่าเรื่องชั้นยอด เก่งกาจเอามากๆ (และมีความสามารถทางวรรณศิลป์ในลีลาเฉพาะตัวในการบรรยาย การสร้างความคมคายแบบแปลกๆ ซึ่งเกินปัญญาที่ผมจะอธิบายให้เข้าใจกระจ่างว่าเป็นอย่างไร)

ที่สำคัญคือ วิธีการเล่าเรื่องทั้งหมดที่กล่าวมา ส่งผลสำคัญในแง่บวกมากๆ อยู่ 2 ประการ อย่างแรกคือประสิทธิภาพในการกระตุ้นเร้าความอยากรู้อยากเห็นของผู้อ่านว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป (ถึงตรงนี้ผมคิดเล่นๆ ว่า คุณยมทูตน่าจะหันมาเอาดีในการเขียนบทซีรีส์ เพราะแม่นยำเชี่ยวชาญในการทำให้ผู้อ่านติดงอมแงม)

ผลบวกต่อมาคือ The Book Thief เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสะท้อนถึงความโหดร้ายทารุณของนาซี ชีวิตที่ทุกข์ยากของชาวบ้าน ชะตากรรมรันทดของชาวยิว การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการบาดเจ็บล้มตายในสมรภูมิของทุกฝ่าย ตัวนิยายไม่ได้ละเลยที่จะพูดถึงสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้พยายามจะบิดเบือนให้แปรเปลี่ยนเป็นอื่น ทุกอย่างล้วนยังมีอยู่ครบครัน แต่ด้วยเทคนิควิธีการเล่าก็ทำให้ความแตกต่างจากหนังและนิยายจำนวนมากที่ถ่ายทอดเหตุการณ์เดียวกัน

ผมอยากจะเปรียบเทียบอย่างนี้ครับ สมมติว่าเหตุการณ์ทั้งหลายประดามีเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นข่าวอาชญากรรม ในหนังหรือนิยายส่วนใหญ่ มันเป็นข่าวอาชญากรรมที่เห็นภาพศพ เห็น (หรืออย่างน้อยก็เล่าขานให้ทราบแสดงวิธีทำว่าการเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มีกระบวนการขั้นตอนอย่างไร? ค่ายกักกันมีรูปลักษณ์เช่นไร? ชาวยิวโดนกระทำทารุณมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร?) แต่ The Book Thief เป็นข่าวอาชญากรรมที่ไม่แสดงภาพศพ ไม่บอกเล่าแสดงวิธีทำ แต่ใช้วิธีบอกเป็นนัยๆ ถึงทุกอย่างที่กล่าวมา และบ่อยครั้งเป็นการสะท้อนภาพความโหดร้าย เหตุการณ์น่าเศร้าสะเทือนใจ เรื่องราวโศกนาฏกรรมของมนุษย์ชาติ ผ่านการเปรียบเปรยหรือชี้ช่องให้ผู้อ่านสร้างจินตนาการเกี่ยวกับ ‘ภาพศพ’ ด้วยตนเอง

ข้อมูลหลายๆ แห่งระบุจัดประเภทให้นิยายเรื่องนี้อยู่ในหมวดหมู่วรรณกรรมเยาวชน สำหรับเด็กโตจนถึงวัยรุ่น การเลือกใช้มุมมองผู้เล่าเรื่องเป็นยมทูต ก็ทำให้เกิดสัมผัสกลิ่นอายแบบเทพนิยายหรือเรื่องแฟนตาซีอยู่พอสมควร จุดเด่นเบื้องต้น (พ้นจากการใช้เทคนิคแพรวพราวในการเล่าเรื่อง) ของ The Book Thief คือการเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่เล่าถึงสงครามโลกครั้งที่ 2

จุดเด่นถัดมาได้แก่ตัวเนื้อเรื่องที่บอกเล่า ซึ่งดีงามมาก ผมจะพยายามเล่าเรื่องย่อแบบรวบรัดกว้างๆ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะอรรถรสสำคัญในการอ่านเกี่ยวโยงกับรายละเอียดของเหตุการณ์

ควรต้องออกตัวอีกเล็กน้อยว่า โครงเรื่องในนิยาย (บวกรวมกับเทคนิควิธีการเล่าเรื่อง) มีลักษณะกระจัดกระจาย เต็มไปด้วยเศษเสี้ยวชิ้นส่วนเล็กๆ มากมายประกอบเข้าด้วยกัน และไม่ได้เรียงลำดับต้น กลาง ปลายอย่างเคร่งครัด (ดูเผินๆ เหมือนเป็นหนังสือที่อ่านยากเข้าใจ แต่จริงๆ แล้วอ่านง่าย อ่านสนุก)

พล็อตคร่าวๆ เริ่มต้นเมื่อเดือนมกราคม ปี 1939 เด็กหญิงลีเซล เมมิงเกอร์ อายุเก้าขวบย่างสิบขวบ เดินทางมายังบ้านหลังหนึ่ง ตั้งอยู่บนถนนฮิมเมล (แปลว่า สวรรค์) ในเมืองเล็กๆ ชื่อโมลช์คิง (เป็นเมืองสมมติขึ้นสำหรับนิยาย) ซึ่งอยู่ถัดเลยพ้นจากเมืองมิวนิค เพื่อใช้ชีวิตร่วมกับพ่อแม่อุปถัมภ์คือ ช่างทาสีใจดีชื่อ ฮันส์ ฮูเบอร์มานน์ และภรรยาของเขา โรซา ผู้มีปากคอจัดจ้าน มีความสามารถพิเศษในการดุด่าทุกคนได้ตลอดเวลา

ช่วงต้นๆ เล่าถึงการปรับตัวของลีเซลกับสภาพแวดล้อมใหม่ การรู้จักกับเด็กชายข้างบ้านชื่อรูดี สไตน์เนอร์ ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นเพื่อนสนิทที่สุดของเธอ และเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เธอได้สมญาดังเช่นชื่อเรื่อง

ถัดจากนั้นก็เป็นห้วงยามแห่งความสุข ก่อนทุกอย่างจะจบลงเมื่อสงครามเริ่มต้น ความยากลำบากเริ่มมาย่างกรายเข้ามา และหนักหนาสาหัสมากขึ้นตามลำดับ

จนกระทั่งเกิดเรื่องราวที่เป็นหัวใจหลักของนิยายเรื่องนี้ ครอบครัวฮูเบอร์มานน์รับตัวและช่วยเหลือเด็กหนุ่มชาวยิวเข้ามาหลบซ่อนในบ้าน และนำไปสู่มิตรภาพระหว่างลีเซลกับแม็กซ์ ซ่ง มีหนังสือ ถ้อยคำ การเขียน การอ่าน เป็นสื่อกลาง

ช่วงสุดท้ายเล่าถึงบั้นปลายของสงคราม เกิดความสูญเสีย โศกนาฏกรรม สถานการณ์วิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่า และนำไปสู่บทสรุปเจือปนหลากอารมณ์ความรู้สึก

เรื่องย่อข้างต้นที่ผมเล่ามา หากอ่านแล้วรู้สึกจืดชืดไม่เป็นรส ไม่น่าสนใจ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ ผมเจตนาเลือกที่จะเล่าแบบ ‘ไม่ตรงกับหน้าปก’ แค่พอให้ทราบเรื่องราวผิวเผินพอเป็นกระสาย เพราะรู้สึกว่าตัวนิยายอุดมไปด้วยความลับดีๆ ตลอดทั่วทั้งเรื่อง แม้กระทั่งเหตุการณ์ที่ดูเรียบง่ายธรรมดาจนไม่ควรจะถือเป็นความลับ ก็ยังทำให้ผมตื่นเต้นประหลาดใจเมื่อได้อ่าน (ความรู้สึกนี้ไม่เกิดในตอนดูหนังนะครับ)

ความดีงามประการต่อมาของ The Book Thief ก็คือ มันเล่าถึงเหตุการณ์ 2 ด้านที่ขัดแย้งตรงข้ามกัน นำพาผู้อ่านไปสู่อารมณ์ความรู้สึกที่อยู่คนละขั้ว

อย่างแรกคือ เหตุการณ์เลวร้ายติดลบอันเกิดจากสงคราม ความคลั่งชาติของนาซี ห้วงยามทุกข์ยากในภาวะสงคราม และการสูญเสียหลายระดับตั้งแต่บ้านเรือน สภาพจิตใจ ไปจนถึงชีวิต เป็นขั้วลบที่สะท้อนถึงความชั่วช้าสามานย์ขั้นสุดที่มนุษย์สามารถคิดอ่านกระทำออกมาได้

อย่างต่อมาคือ มันเป็นเรื่องเล่าชวนซาบซึ้งตื้นตันใจ เปี่ยมด้วยมนุษยธรรม จรรโลงใจ กับสิ่งดีงามที่คนเราสามารถหยิบยื่นให้แก่กัน

The Book Thief ให้น้ำหนักกับทั้ง 2 ส่วนนี้อย่างสมดุลใกล้เคียงกัน ไม่เอนเอียงไปทางด้านไหนมากกว่ากัน ทั้งในแง่ปริมาณของเรื่องที่เล่าขาน และการสร้างอารมณ์ร่วม ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่อีกแง่มุมที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการสะท้อนภาพความดีงามความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นในระหว่างสงคราม นั่นคือ ฤทธิ์เดชของถ้อยคำ

นิยายเรื่องนี้พูดถึงหนังสือ การอ่าน การเขียน และถ้อยคำ (ทั้งที่เกิดจากการเขียนและการพูด) แทรกปนอยู่กับเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดทั้งเรื่อง

พูดแบบสรุปกว้างๆ The Book Thief อธิบายต่อผู้อ่านว่า คำพูดและเรื่องราวล้วนทรงคุณค่ามหาศาล เป็นหนทางหนึ่งที่ทรงพลังที่สุดในการเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน มีอำนาจในการเผยแพร่ความคิด (ในนิยายตอกย้ำอยู่เนืองๆ ถึงการที่ฮิตเลอร์ใช้ถ้อยคำเป็นเครื่องมือสำคัญในการพิชิตโลก ในทางตรงข้ามพวกนาซีก็เผาหนังสือ เพื่อกีดกันชาวบ้านให้พ้นจากความคิดบางอย่างที่เป็นปฏิปักษ์) เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจในห้วงยามมืดหม่นไร้แสงสว่าง เป็นคำมั่นสัญญาที่ต้องยึดมั่นทำตาม โดยไม่คำนึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นติดตามมา (เหตุการณ์สำคัญหลายๆ ตอนในนิยาย เกี่ยวข้องกับ ‘คำสัญญา’ ที่ตัวละครให้ไว้แก่กัน)

รวมถึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นความซับซ้อนของมนุษย์ ซึ่งสามารถใช้สิ่งเดียวกันผลิตเป็นความดีความชั่วที่แตกต่างกันได้อย่างสุดขั้ว (ฮิตเลอร์ใช้ถ้อยคำ การปราศรัย การเขียนหนังสือ ‘การต่อสู้ของข้าพเจ้า’ โน้มน้าวปลูกฝังความคิดให้แก่ชาวเยอรมันจนกระทั่งลุกลามบานปลายกลายเป็นกลียุค ขณะที่ลีเซลใช้การอ่าน การเขียน และถ้อยคำไปสู่จุดหมายอีกแบบ ซึ่งผมขออนุญาตป้ายยาอีกครั้งว่ารายละเอียดจะเป็นอย่างไรบ้าง ต้องลองไปอ่านเอาเองนะครับ)

อาจจะซ้ำซ้อนกับสิ่งที่กล่าวมาแล้วนะครับ นั่นคือนิยายเรื่องนี้เต็มไปด้วยการสะท้อนถึงความเมตตาการุณย์และความโหดร้ายที่มนุษย์กระทำต่อกันในหลายระดับ ส่วนหนึ่งเล่าผ่านแง่มุมเกี่ยวกับหนังสือ การเขียน การอ่าน และถ้อยคำ แต่ยังมีปริมาณอีกเป็นจำนวนมากเล่าผ่านพฤติกรรมและการกระทำของตัวละคร

ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยอย่างการกลั่นแกล้งรังแกกันของเด็กๆ ไปจนถึงการเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เช่นเดียวกับด้านที่งดงาม ตั้งแต่การให้และแบ่งปันเล็กๆ น้อยๆ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างผองเพื่อน การเสียสละอันใหญ่หลวง และที่สำคัญสุดคือการช่วยเหลือในขีดขั้นเยียวยาจิตวิญญาณ

สิ่งที่น่าสนใจและเขียนออกมาได้ดีมากก็คือ หลายๆ ครั้งความโหดร้ายและเมตตาธรรมที่ต่างกันจนสุดโต่งก็เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ในเหตุการณ์เดียวกัน

The Book Thief เป็นนิยายที่เขียนขึ้นให้อ่านง่าย เข้าใจง่าย (ด้วยเทคนิควิธีที่ผมอยากจะเรียกว่า ‘เล่นท่ายาก’) ประเด็นเนื้อหาสาระต่างๆ ที่มีอยู่ ปรากฏชัดผ่านตัวเนื้อเรื่องอยู่แล้ว แต่ถึงกระนั้นผมก็คิดว่า มาร์กัส ซูซัก ผู้เขียนนิยายเรื่องนี้ ได้ใส่สัญลักษณ์ในการสื่อความหมายเอาไว้ให้ผู้อ่านขบคิดตีความกันเล่นๆ (ซึ่งต่อให้ปล่อยผ่าน ไม่ข้องแวะแตะต้อง ก็สามารถรับสาระต่างๆได้ครบถ้วนอยู่แล้ว)

ที่เด่นชัดสุดคือ หนังสือ ซึ่งจากที่เล่าๆ มา ผมคิดว่าได้อธิบายและตีความไปบ้างแล้วโดยปริยาย

อีกสัญลักษณ์ที่ผมชอบมากคือ หีบเพลงของฮันน์ ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นและปรากฏบ่อยจนแทบจะกลายเป็นอีกหนึ่งตัวละครเลยทีเดียว

ความหมายของมัน เบื้องต้นแรกสุดคือเชื่อมโยงไปถึงบทเพลงและเสียงดนตรี ต่อมาคือการทำหน้าที่ปลอบประโลมในยามทุกข์ บรรเลงด้วยอารมณ์ผ่อนคลายในยามสุข

แต่ที่มากไปกว่านั้น หีบเพลงดังกล่าวยังเกี่ยวโยงไปถึงคำมั่นสัญญา และการยึดมั่นทำตามในสิ่งที่ตกลงกันไว้

มีบทพูดตอนหนึ่ง แม็กซ์ถามฮันน์เมื่อแรกพบกันว่า "คุณยังเล่นหีบเพลงอยู่หรือเปล่า" คำตอบคือ "แน่นอน ยังเล่นอยู่"

คำถามคำตอบนี้ หมายถึงยังยึดมั่นในการรักษาสัจจะวาจาที่ให้ไว้นะครับ แต่ถ้าอ่านไปจนจบครบเรื่อง ผู้อ่านน่าจะรู้สึกได้ว่า หีบเพลงนี้หมายถึงตัวฮันน์ได้เช่นกัน

และถ้าถามเร็วๆ ตอบเร็วๆ ไม่ต้องคิดนาน เมื่อเอ่ยถึงฮันน์ สิ่งแรกที่ผมนึกถึงเกี่ยวกับตัวละครนี้คือคำว่า ‘ความเป็นมนุษย์และมนุษยธรรม’

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0