นักวิจัยในจีนโคลน หมาป่าอาร์กติก จุดความหวังว่าข้อโต้เถียงเทคโนโลยีทางพันธุกรรมเพื่อป้องกันสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์
วันที่ 29 กันยายน 2565 ซินหัว เผยแพร่ภาพ “ลูกหมาป่าอาร์กติก” เกิดจากการโคลนนิ่ง ปัจจุบันอาศัยอยู่พิพิธภัณฑ์สัตว์ฮาร์บิน โพลาร์แลนด์ (Harbin Polarland) ในนครฮาร์บิน มณฑลเฮยหลงเจียง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
หมาป่าตัวนี้เกิดจากเซลล์ต้นแบบ (donor cell) ของหมาป่าอาร์กติกชื่อหม่าหย่า (Maya) ซึ่งนำมาจากแคนาดา ส่วนเซลล์ไข่ (oocyte) มาจากหมาเพศเมียที่อยู่ในช่วงผสมพันธุ์ โดยแม่หมาที่อุ้มท้องแทนเป็นสายพันธุ์บีเกิล (beagle)
ปัจจุบันลูกหมาป่าโคลนนิ่งตัวนี้มีสุขภาพแข็งแรงดีและอาศัยอยู่กับแม่หมาบีเกิล
หมาป่าอาร์กติกเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ มักพบในพื้นที่ตอนเหนือของทวีปยูเรเซีย รวมถึงตอนเหนือของแคนาดาและกรีนแลนด์
สำหรับที่มาของโครงการโคลนนิ่งหมาป่าอาร์กติกดังกล่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า บริษัทวิจัยในจีน Sinogene Biotechnology ในกรุงปักกิ่ง เผยภาพหมาป่าอาร์กติกตัวเมีย อายุประมาณ 3 เดือน สีเทาน้ำตาล หางเป็นพวง ขณะที่นาย หมี่ จี้ตง ผู้จัดการของบริษัทกล่าวในการแถลงข่าวของสื่อทางการจีนว่า “นี่เป็นหมาป่าอาร์กติกโคลนนิ่งตัวแรกของโลก หลังวิจัยมาร่วม 2 ปี”
หมาป่าอาร์กติก หรือที่รู้จักในชื่อหมาป่าสีขาว หรือหมาป่าขั้วโลก เป็นสายพันธุ์ของหมาป่าสีเทาที่อาศัยอยู่ในแถบอาร์กติกของทวีปอเมริกาเหนือของแคนาดา
ตามรายงานของกองทุนสัตว์ป่าโลก หมาป่าอาร์กติกไม่ได้อยู่ภายใต้การล่าสัตว์ เนื่องจากอยู่ในบริเวณที่ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่ แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ก่อให้เกิดผลกระทบมากมาย ตลอดทั้งระบบนิเวศของอาร์กติก ในขณะที่การพัฒนาพื้นที่ในบริเวณของมนุษย์ เช่น ถนนและท่อส่งน้ำ กำลังรุกล้ำเข้ามาในอาณาเขตของหมาป่าขั้วโลก
การสร้างโคลนนิ่งหมาป่าอาร์กติก บริษัท Sinogene ร่วมมือกับสวนสนุกขั้วโลก Harbin Polarland เริ่มโครงการเมื่อปี 2020
บริษัทใช้เทคนิคย้ายฝากนิวเคลียสของเซลล์ร่างกาย ( somatic cell nuclear transfer) ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกับที่นักวิทยาศาสตร์ชาวสกอตใช้ในการสร้างแกะโคลนนิ่งชื่อ ดอลลี่ เมื่อปี 1996
กระบวนการแรก นักวิจัยใช้ตัวอย่างผิวหนังจากหมาป่าอาร์กติกดั้งเดิม ชื่อ หม่าหย่า (Maya) ฉีดเข้าไปในไข่ของสุนัขเพศเมียและอุ้มโดยแม่ที่อุ้มบุญ นักวิจัยสร้างเอ็มบริโอดังกล่าวได้ 85 ตัว และย้ายไปยังมดลูกของบีเกิ้ล 7 ตัว ส่งผลให้มีหมาป่าอาร์กติกที่แข็งแรงหนึ่งตัว
เหอ เจิ้นหมิง ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรสัตว์ในห้องปฏิบัติการ สถาบันควบคุมอาหารและยาแห่งชาติจีน กล่าวในเวยป๋อว่า “เทคโนโลยีการโคลนนิ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการป้องกันสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการคุ้มครองสัตว์ป่าของโลกและการฟื้นฟูสัตว์ใกล้สูญพันธุ์”
ทางบริษัท Sinogene กล่าวว่า บริษัทจะเริ่มทำงานร่วมกับสวนสัตว์ปักกิ่ง (Beijing Wildlife Park) เพื่อวิจัยเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้โคลนมากขึ้น รวมทั้งดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์และเพาะพันธุ์สัตว์หายาก และใกล้สูญพันธุ์ในประเทศจีน
โกลบอลไทมส์ระบุว่า หม่าหย่าโคลนอาศัยอยู่กับแม่ที่เป็นตัวแทนสายบีเกิ้ลของเธอ และต่อมาอยู่ในฮาร์บิน โพลาร์แลนด์ ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม
วิกฤตการสูญพันธุ์
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักวิจัยด้านการอนุรักษ์ใช้เทคโนโลยีการโคลนนิ่ง ในมาเลเซีย นักวิจัยได้ใช้เนื้อเยื่อและเซลล์ที่แช่แข็งเพื่อออกลูกให้กำเนิดแรดสุมาตราใหม่ โดยใช้แม่ที่อุ้มบุญ และในช่วงปลายปี 2020 นักวิจัยชาวอเมริกันประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่งเฟอเรตเท้าดำ สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์
รวมถึงนักวิจัยในออสเตรเลียพยายามโคลนนิ่งเสือแทสเมเนียนที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ที่มีลักษณะคล้ายหมาป่า โดยวิธีแก้ไขเซลล์จากกระเป๋าหน้าท้องเหมือนจิงโจ้
ก่อนหน้านี้ในประวัติศาสตร์มีเหตุการณ์การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ 5 ครั้ง โดยแต่ละครั้งได้ทำลายพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ระหว่าง 70% ถึง 95% ล่าสุดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 นี้เกิดจากฝีมือมนุษย์ ซึ่งได้ทำลายล้างเผ่าพันธุ์หลายร้อยสายพันธุ์ผ่านการค้าสัตว์ป่า มลพิษ การสูญเสียถิ่นที่อยู่ และการใช้สารพิษ
ผลการศึกษาในปี 2020 พบว่าประมาณ 1 ใน 3 ของพืชและสัตว์ทั้งหมดอาจเผชิญกับการสูญพันธุ์ในปี 2070 และสิ่งต่าง ๆ อาจเลวร้ายลงหากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ความพยายามในการป้องกันการสูญพันธุ์ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นด้วย โดยมีคำถามเกี่ยวกับจริยธรรมและผลกระทบด้านสุขภาพของการโคลนนิ่งและการแก้ไขยีน
กรณีของ Maya นักวิจัยคนหนึ่งเผยกับโกลบอลไทมส์ว่า จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมว่า การโคลนนิ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้หรือไม่ นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีการกำหนดแนวทางเพิ่มเติมเพื่อกำหนดการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม
…..
ความเห็น 0