โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

SMEs-การเกษตร

พลิกผืนนาทำเกษตรผสมผสาน สร้างงาน สร้างรายได้ตลอดปี

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 23 ธ.ค. 2564 เวลา 13.23 น. • เผยแพร่ 24 ธ.ค. 2564 เวลา 21.00 น.
แปลงผสมผสาน

คุณสมพิษ รงรักษ์ มีสวนอยู่ที่บ้านเลขที่ 75 หมู่ที่ 3 ตำบลนาบินหลา อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง เป็นเกษตรกรต้นแบบในการทำเกษตรปลอดภัยจากสารเคมี เป็นผู้ที่สนใจและศึกษาจากการปฏิบัติจริงด้วยตนเอง โดยย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2531 คุณสมพิษ ประกอบอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า อยู่ที่กรุงเทพมหานคร ต่อมา พ.ศ. 2537 ได้เดินทางกลับมายังจังหวัดตรัง และประกอบอาชีพเป็นพนักงานโรงงาน จน พ.ศ. 2540 ได้ลาออกจากโรงงานเพื่อเปิดร้านขายของชำเป็นของตนเอง จนกระทั่ง พ.ศ. 2552

จึงได้ทำการปรับพื้นที่สวนยางที่มีอยู่เดิมบางส่วน จำนวน 2 ไร่มาปลูกผักแบบผสมผสาน ร่วมกับการปลูกผักแบบหมุนเวียนตลอดทั้งปี โดยดูความเหมาะสมของฤดูในการเพาะปลูกและความต้องการของตลาดในช่วงที่ทำการเพาะปลูก

โดยเดิมทีพื้นที่ทำการเกษตรของคุณสมพิษเป็นพื้นที่นา ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นปลูกยางพารา แต่ประสบปัญหาได้รับผลิตน้อย เนื่องจากเป็นพื้นที่นาทำให้มีระดับน้ำใต้ดินสูง ส่งผลให้ต้นยางเจริญเติบโตช้า ต้นยางมีขนาดเล็ก เปลือกบาง และให้ผลผลิตน้อย ประกอบกับประสบปัญหาผลผลิตยางพาราตกต่ำ จึงได้ทำการปรับสภาพพื้นที่บางส่วนเพื่อเปลี่ยนมาปลูกพืชผักทดแทน โดยขุดสระน้ำ จำนวน 1 ไร่ เพื่อลดระดับน้ำใต้ดินกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามหน้าแล้ง และปรับระดับพื้นที่ จำนวน 4 ไร่ เพื่อให้พื้นที่มีสภาพเหมาะสมที่จะทำการปลูกผักแบบผสมผสาน

คุณสมพิษ เล่าว่า แรกเริ่มเดิมทีมีการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก โดยผลผลิตจำหน่ายในตลาดท่ากลาง ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง แต่เมื่อหักลบค่าสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดศัตรูพืชแล้วไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต ประกอบกับพบว่าตัวเองมีอาการแพ้สารเคมีทำให้เจ็บป่วยบ่อยครั้ง จึงได้ปรับเปลี่ยนมาผลิตผักปลอดภัย เน้นการจัดการโดยใช้วิธีการปลูกพืชหมุนเวียน ใช้วิธีเขตกรรมในการกำจัดวัชพืช ใช้กับดักและสารล่อในการกำจัดแมลงศัตรูพืช เพื่อลดการใช้สารเคมีต่างๆ

ในแปลงผักนอกจากนี้ยังมีการปลูกผักแบบผสมผสานตัวอย่างเช่น การปลูกบร็อกโคลี่ ซึ่งมีการเว้นระยะการปลูกระหว่างต้นบร็อคโคลี่เพื่อควบคุมทรงของต้นไม่ให้เบียดกันเกินไป โดยระหว่างบร็อกโคลี่ก็ปลูกแซมด้ว ผักกวางตุ้งและต้นพริก เมื่อเก็บเกี่ยวบร็อคโคลี่ต้นพริกก็จะเจริญเติบโตต่อไป เป็นการใช้พื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ ยังช่วยลดต้นทุนด้านการใส่ปุ๋ย การพรวนดิน และช่วยเสริมรายได้อีกด้วย เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วก็หมุนเวียนไปปลูกพืชชนิดอื่นตามฤดูกาล เพื่อลดโรคและแมลง โดยในรอบการผลิตของปี 2563 คุณ     สมพิษ ได้มีการจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายไว้ดังนี้

กิจกรรม ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย  

รายได้จาการจำหน่าย

 

รายได้สุทธิ

ฟักทอง 6,000 30,000 24,000 ข้าวโพด 8,400 52,000 43,600 พริก 6,000 90,000 84,000 แตงกวา 4,800 20,000 15,200                              รวม 25,200 192,000 166,800

การปลูกผักแบบผสมผสาน นอกจากจะช่วยให้คุณสมพิษมีรายได้ตลอดปีแล้ว ยังช่วยลดการใช้สารเคมีในการทำการเกษตรซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนการผลิตที่สำคัญ เป็นการอนุรักษ์ดินน้ำ และปลอดภัยจากการใช้สารเคมีต่อตัวเกษตรกรและผู้บริโภค ซึ่งแตกต่างจากการผลิตพืชเชิงเดี่ยวที่มีความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาผลผลิต และมีค่าใช้จ่ายในการใช้สารเคมีในการจัดการแปลงที่ค่อนข้างสูง การปลูกผักแบบผสมผสานร่วมกับการปลูกแบบหมุนเวียนจึงถือเป็นการเกษตรแบบยั่งยืนอีกรูปแบบหนึ่ง

ผลผลิตจากแปลงของคุณสมพิษมีจุดเด่นคือ ใช้วิธีการผลิตที่มีความปลอดภัย ทำให้ได้ผลผลิตที่ออกมามีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค อีกทั้งยังมีความสดใหม่เนื่องจากอยู่ใกล้กับแหล่งจำหน่าย ทำให้ผักไม่บอบช้ำจากการขนส่ง ในด้านการจำหน่ายผลผลิตทางสำนักงานเกษตรเมืองตรังได้มีการแนะนำแหล่งจำหน่าย เช่น ตลาดเกษตรกร ข้างจวนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และตลาดมุมอำเภอ ที่ว่าการอำเภอเมืองตรัง เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผลผลิต

โดยผลผลิตของคุณสมพิษ มีแหล่งจำหน่ายภายในจังหวัดดังนี้

วันจันทร์ ตลาดหน้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาตรัง

วันอังคาร ตลาดเกษตรกร ข้างจวนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง

วันพฤหัสบดี ตลาดมุมอำเภอ ที่ว่าการอำเภอเมืองตรัง

วันศุกร์ ตลาดเกษตรกรข้างจวนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง

วันเสาร์ตลาดกรีนชินตา

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมสวน ซื้อผลผลิต หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกพืชหมุนเวียนและการทำเกษตรผสมผสาน สามารถติดต่อได้ที่ คุณสมพิษ รงรักษ์ หมายเลขโทรศัพท์ 080-668-0171 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองตรัง โทร. 075-218-681

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น