เด็กกำพร้าถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ ถูกทารุณกรรมด้วยการหยิก ตี ให้กินพริกจนลิ้นบวม!
ทีมข่าวได้รับข้อมูลจาก อดีตพี่เลี้ยงและอดีตอาสาสมัคร ในสถานสงเคราะห์เด็กของมูลนิธิเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ที่ตัดสินใจออกมาเปิดเผยว่ามีเด็กๆ ในสถานสงเคราะห์แห่งนี้หลายคนต้องทุกข์ทรมานจากการถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจโดยครูและพี่เลี้ยงมาหลายต่อหลายครั้ง ทำให้เด็กอยู่ในสภาพย่ำแย่และต้องเติบโตมากับความหวาดกลัว แม้จะมีการแจ้งปัญหาให้กับคณะกรรมการมูลนิธิได้ทราบแต่ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้น
อดีตพี่เลี้ยง ให้ข้อมูลว่า หลายปีก่อนหน้านี้เธอทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเด็ก ก่อนจะลาออกไปเรียนต่อ จากนั้นได้กลับเข้ามาสมัครทำงานที่เดิมอีกครั้งในฝ่ายพยาบาล โดยมีกำหนดทดลองงานเป็นเวลา 6 เดือน แต่การกลับมาครั้งที่สองทำให้เธอได้พบเรื่องที่ไม่สบายใจ เมื่อเห็นเด็กๆ ถูกเลี้ยงดูไม่เหมาะสม!
ซึ่งเข้าข่ายทารุณกรรมด้วยวิธีต่างๆ เช่น การตวาด หยิก ตีจนเกิดร่องรอยบาดแผล เหวี่ยงเด็กจนติดตู้ ให้เด็กกินพริกจนลิ้นบวม ให้นั่งตากแดด 2-3 ชั่วโมง ถือชามข้าวนั่งกระโถน เอากระโถนแขวนคอ ให้ถือชามข้าวนั่งคุกเข่าเป็นชั่วโมง โดยคนที่ทำร้ายเด็กมีทั้งนักพัฒนาการเด็กและพี่เลี้ยงเด็ก
ภาพที่เห็นเหล่านั้นทำให้เธอรู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างมาก เธอจึงถ่ายภาพและคลิปเหตุการณ์บางส่วนไว้ แต่กลับถูกห้ามปราบ บอกว่าห้ามเข้ามายุ่ง อ้างว่าเป็นการสั่งสอนเด็กที่ทำความผิดและไม่เชื่อฟัง เธอมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและเชื่อว่าเข้าข่ายทารุณเด็ก จึงไปแจ้งต่อนักสังคมสงเคราะห์ หวังให้ทราบเรื่องและแก้ไขปัญหา แต่หลังจากนั้นปรากฏว่าเธอกลับถูกโหวตไม่ผ่านการทดลองงาน ด้วยเหตุผลที่เธอถ่ายคลิปในสถานสงเคราะห์ที่เป็นการฝ่าฝืนกฏระเบียบและเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก
อดีตพี่เลี้ยง ยังบอกว่า ที่ออกมาเปิดเผยเพราะไม่ต้องการให้เด็กถูกทำร้ายอีก เพราะเด็กถูกทอดทิ้งก็มีปมในใจอยู่แล้ว การทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจจะเป็นการเพิ่มบาดแผลในใจให้กับเด็กซึ่งจะมีผลกับเด็กในอนาคต อยากให้สถานสงเคราะห์ปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลเด็ก คัดสรรบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจ และให้ความสำคัญกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก รวมทั้งเสนอแนะให้ทางมูลนิธิแต่งตั้งคณะกรรมการเข้ามาในรูปแบบสหวิชาชีพ
ขณะที่ อดีตอาสาสมัคร เล่าว่า ในปี 2566 มีเด็กไม่สบายและถูกนำส่งโรงพยาบาลของรัฐ แพทย์ตรวจพบร่องรอยบาดแผลฟกช้ำในตัวเด็ก ต่อมาช่วงกลางปีแพทย์ยังพบลิ้นเด็กติดเชื้อรา ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากการกินเผ็ดรุนแรง แพทย์เห็นว่าเป็นอาการเจ็บป่วยที่ไม่ปกติ จึงรายงานหน่วยงานรับผิดชอบตาม พรบ.คุ้มครองเด็ก ฯ
ต่อมาทางมูลนิธิจึงมีการสอบสวนข้อเท็จจริง พบว่ามีพี่เลี้ยง นักพัฒนาการเด็ก และนักสังคมสงเคราะห์จำนวน 9 คน กระทำความรุนแรงต่อเด็ก จากนั้นมีการทำทัณฑ์บน 1 คน และ ลงโทษด้วยการให้ออก 8 คน แต่ภายหลังก็รับกลับมาทำงานอีก 4 คน โดย 1 ใน 4 นั้นมีอาการซึมเศร้ารับยาอยู่ที่โรงพยาบาลสวนปรุง ถือว่ามีคุณสมบัติไม่เหมาะสม เสี่ยงที่เด็กจะถูกกระทำซ้ำอีก
อดีตอาสาสมัคร ยังบอกว่า แม้จะมีการลงโทษไปแล้ว แต่กลับพบว่าในเดือนกรกฏาคม 2567 ยังพบการทำร้ายเด็กเกิดขึ้นอีก สาเหตุเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการดูแลเด็กเชิงบวกและไม่ให้ความสำคัญกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ขณะที่ผู้บริหารก็ไม่ได้ลงมากำกับดูแลอย่างใกล้ชิด
ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2567
เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน ทั้ง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ ,ทีมเจ้าหน้าที่ส่วนกลางจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน และตำรวจศูนย์พิทักษ์ เด็ก สตรี ครอบครัวและปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้เข้าตรวจสอบที่สถานสงเคราะห์แห่งนี้ โดยมีการแยกเด็กกลับไปดูแลที่สถานสงเคราะห์เด็กบ้านเวียงพิงค์เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กรวม 17 คน รวมทั้งเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับพี่เลี้ยงที่ปรากฏหลักฐานว่าทำร้ายหรือลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง
ต้องการให้เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของสาธารณะ ไม่อยากให้สังคมละเลยปล่อยผ่าน เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีกระบวนการจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลัก และสถานสงเคราะห์อื่นๆ ก็ควรตระหนักถึงรูปแบบวิธีการเลี้ยงดูที่ดีด้วยเช่นกัน
อดีตอาสาสมัคร
ความเห็น 0