โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

อุปทูตสหรัฐเยือนอีสาน ชิมไก่ย่างไร้เกาต์-เยี่ยมเส้นทางศึกษาธรรมชาติ200ปี

MATICHON ONLINE

อัพเดต 19 ก.พ. 2565 เวลา 06.47 น. • เผยแพร่ 19 ก.พ. 2565 เวลา 05.53 น.
ไก่1

อุปทูตสหรัฐเยือนอีสาน ชิมไก่ย่างไร้เกาต์-เยี่ยมเส้นทางศึกษาธรรมชาติ200ปี

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 19 ก.พ.2565 ที่โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ร่วมชมผลงานไก่ไร้เก๊าท์ จากผลงานวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้ถูกนำมาแสดงและจำหน่ายภายในส่วนให้บริการอาหารพื้นเมืองด้านหน้าโรงแรมโฆษะ โดยมี นายชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร โรงแรมโฆษะ และนายกสมาคมโรงแรมภาคอีสาน รวมทั้งศิษย์เก่าโครงการแลกเปลี่ยนของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯที่ไปศึกษาดูงานและร่วมอบรมด้านการพัฒนาเศรษฐกิจให้การต้อนรับโดยคณะ

นายไมเคิล ได้รับฟังบรรยายสรุปไก่ สายพันธุ์ KKU 1 หรือไก่ไร้เก๊าท์ ที่มีกรดยูริคต่ำ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการพัฒนาคุณภาพไก่พื้นเมืองสู่ภาคอุตสาหกรรมอาหาร ที่ตอบโจทย์ของผู้ป่วยโรคเก๊าท์ ที่ยังคงสามารถรับประทานไก่ได้ ท่ามกลางความสนใจของคณะ ในการร่วมทดลองการทำไก่ย่าง และรับฟังข้อมูลการเลี้ยงและการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ บริษัท ประชารัฐ จ.ขอนแก่น ที่ได้สนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ในระดับพื้นที่ ได้หันมาเลี้ยงไก่ KKU1 เพื่อส่งจำหน่ายตลาดในประเทศและต่างประเทศ ทั้งแบบไก่สด ไก่ชำแหละและไก่แปรรูป กันในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น

นายไมเคิล กล่าวว่า ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย มีจำนวนประชากรและมีพื้นที่มากที่สุดของประเทศไทย ซึ่งโครงการความร่วมมือต่างๆระหว่างรัฐบาล ของทั้ง 2 ประเทศรวมทั้งโครงการร่วมระหว่างหน่วยงานนั้นมีเป็นจำนวนมาก ทั้งในเรื่องของการส่งเสริมด้านวัฒนธรรม ,กีฬา,สิ่งแวดล้อม,การปราบปรามอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ,การบังคับใช้กฎหมาย ด้านศิลปะประเพณีประจำถิ่น โครงการด้านการพัฒนา และความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขงและการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ

ซึ่งในกำหนดการเดินทางมาเยือนภาคอีสานของไทย ในครั้งนี้ได้กำหนดพื้นที่ทั้งหมด 4 จังหวัดประกอบด้วย จ.นครราชสีมา ที่เป็นครั้งแรกตั้งแต่ตนเองได้เข้ารับตำแหน่งที่ได้มีโอกาสเยือนเขาใหญ่ และได้ชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่จัดสร้างขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐในการฉลองครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 200 ปี

ซึ่งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ของไทย นั้นเป็นอุทยานพี่น้องกับอุทยาน Great Smoky Mountains ของสหรัฐที่มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมการเยี่ยมชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติในความร่วมมือดังกล่าว ในระยะทาง 2.3 กิโลเมตรเป็นภารกิจที่สำคัญในการติดตามโครงการความร่วมมือระหว่างสองประเทศที่วันนี้เส้นทางศึกษาธรรมชาติสายนี้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ชื่นชอบกิจกรรมเดินป่าและเที่ยวชมธรรมชาติ

“จากนั้นเป็นการเยี่ยมชม American Corner ศูนย์ข้อมูลและวัฒนธรรมอเมริกันโครงการความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกา กับ มหาวิทยาลัยมหาสารคามที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรมอเมริกัน ซึ่งจัดกิจกรรมต่อเนื่องหลากหลายและได้รับความสนใจจากนักศึกษารวมทั้งมีโอกาสได้สัมผัสวัฒนธรรมประเพณีพื้นถิ่นของคนอีสาน ร่วมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมการละเล่นแบบอีสาน

โดยอุปทูตได้ทดลองเล่นเครื่องดนตรีอีสานและประทับใจวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานเป็นอย่างมาก และการเยือนที่ขอนแก่น มาชมนวัตกรรมด้านการเกษตรที่สำคัญที่ เป็นผลงานวิจัยของ มข. ที่ได้มีการพัฒนาไก่พื้นเมืองและต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรในพื้นที่จนสามารถที่จะผลิตอาหารให้กับผู้ที่ชอบรับประทานไก่แต่มีปัญหาทางสุขภาพที่วันนี้ มข.และเกษตรกรขอนแก่นได้สามารถที่จะผลิตได้แล้วอย่างชัดเจน ซึ่งจะมีการหารือแนวทางความร่วมมือทางการค้าในการต่อยอดไก่ไร้เกาต์ ในกลุ่มตลาดอเมริกาต่อไป”
นายไมเคิล กล่าวต่ออีกว่า ตามกำหนดการในการเยือน จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย จะเข้าเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางศาสนาที่เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของคนไทยโดยเฉพาะคนอีสาน

เริ่มจากที่ วัดป่าภูก้อน,วัดพระธาตุบังพวน,วัดหินหมากเป้งและวัดผาตากเสื้อซึ่งเป็นครั้งแรกที่ตนเองและคณะได้มาเยือนและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีพุทธของคนอีสาน เนื่องจากพื้นที่ จ.อุดรธานี นั้นเดิมเป็นที่ตั้งของสถานกงสุลฯ ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงความเป็นไปได้ที่จะกลับมาเปิดสถานกงสุลฯอีกครั้ง

อุปทูต กล่าวว่า แม้ปัจจุบันสหรัฐจะมีสถานกงสุลใหญ่แห่งเดียว จ.เชียงใหม่ กรอบความร่วมมือด้านต่างๆในพื้นที่อีสานยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและมองหาความร่วมมือที่กว้างขึ้นและตอบรับกับสถานการณ์ในพื้นที่ อุปทูตกล่าวถึงความร่วมมือหลักๆ ในพื้นที่อีสาน ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนจากสหรัฐในการพัฒนาแผนแม่บทระบบสาธารณูปโภคสีเขียวเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอุทกภัยและภัยแล้งที่ จ.อุดรธานี การพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงที่สามารถสร้างทางผ่านปลาที่ช่วยให้ปลากว่า 65 สายพันธุ์ว่ายกลับไปที่ต้นน้ำได้ จากแนวคิดที่สหรัฐให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำที่เอื้อประโยชน์ทั้งต่อการประมงและการเกษตรอุปทูตยังกล่าวถึง การพัฒนาพื้นที่ตามกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง ในด้านของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

โดยในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาสหรัฐได้สนับสนุนงบประมาณ 750,000 ดอลลาร์ในการพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูล และการบริหารจัดการน้ำเชิงบูรณาการที่ใช้ข้อมูลเป็นหลัก นอกจากนั้นสหรัฐกับไทยยังมีความร่วมมือในรูปแบบของแม่น้ำพี่น้อง ระหว่างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและคณะกรรมาธิการแม่น้ำมิสซิสซิปปี ที่มีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำข้ามเขตแดน

โดยคาดว่าคณะกรรมาธิการแม่น้ำมิสซิสซิปปีจะลงพื้นที่พบกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและผู้แทนจากรัฐบาลลาวในปีนี้ ส่วนด้านการบังคับใช้กฎหมาย สหรัฐได้สนับสนุนอุปกรณ์และการอบรมให้กับตำรวจน้ำ,ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองและตำรวจภูธรภาค 4 ในการรับมือกับอาชญากรรมข้ามแดน ในส่วนการจัดการอบรมและจัดหาอุปกรณ์ให้กับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทยนั้น ตัวเลขโดยรวมของความสนับสนุนจากสหรัฐน่าจะถึง 775,000 ดอลลาร์ ในเดือนหน้า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0