โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สงสัยไหม..ทำไม? ทำงานไม่ค่อยสำเร็จ เพราะคุณขาดสิ่งเหล่านี้..

LINE TODAY

เผยแพร่ 05 ก.พ. 2562 เวลา 11.35 น.

อย่างที่รู้กันว่าหลักธรรมที่ใช้ในการทำงานให้ประสบความสำเร็จก็คือ “อิทธิบาท 4” แต่น้อยคนจะเข้าใจและนำไปใช้ในชีวิตการทำงานจริงได้ อาจเพราะเข้าไม่ถึง ใช้ไม่เป็น หรืออะไรก็ตาม

แต่รู้หรือไม่..ถ้าหยิบมาใช้ในการทำงานก็เหมือนเป็นสะพานเสริมใยเหล็กอันแข็งแกร่งที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้อย่างง่ายดาย

อิทธิบาท 4 หรือบาทฐานแห่งความสำเร็จ ประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา ซึ่งหลายคนมองข้าม ไม่เข้าใจ หรือมองว่าล้าสมัย

แต่แท้ที่จริงแล้ว ‘อิทธิบาท 4’ เป็นหลักธรรมมีมานานกว่า 2,500 ปี แต่ก็ยังสามารถนำมาใช้ได้อย่างทันสมัยทั้งในปัจจุบันและอนาคต จนกลายเป็นนิยามของ “หนทางแห่งความสำเร็จ” ของเราชาวพุทธไปเสียแล้ว ซึ่งทางแห่งนี้ก็คือ…

รักในงานที่ทำ หรือ ทำในงานที่รัก

การจะทำงานให้ประสบความสำเร็จ หลักใหญ่ที่สำคัญเลยก็คือต้องรักงาน ต้องพอใจในงานที่ทำ นั่นก็คือหลัก “ฉันทะ” ข้อแรกในอิทธิบาท 4

คนทำงานทุกคนน่าจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า "ถ้าได้ทำงานที่ชอบหรือรัก เราจะรู้สึกเหมือนไม่ได้ทำงานเลยสักวัน" นั่นก็เพราคุณจะไม่รู้สึกเบื่อหน่ายกับงาน แต่จะรู้สึกกระหายที่จะเรียนรู้ ที่จะทำงานนั้น ๆ ตลอดเวลา

ถ้าเจอปัญหา เราก็จะมีแรงต่อสู้ ถ้าเจออุปสรรค เราก็จะคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ท้าทายเพื่อที่จะก้าวข้ามผ่านมันไปให้ได้ เพราะฉะนั้นการที่ใครก็ตามได้ทำงานที่รัก ถือเป็นโชคที่ไม่ต้องรู้สึกฝืนใจ และอาจเป็นก้าวหนึ่งที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในงานได้

แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าไม่ได้รักหรือชอบในงานที่ทำ จะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะถึงจะไม่ได้ทำงานที่รัก แต่เรารักในงานที่ทำได้ ซึ่งจากความรักก็เปลี่ยนเป็นความหลงใหลและกลายเป็นความสำเร็จได้เช่นกัน

ถ้าขยันก็ชนะเลิศ

ความรักแม้จะเป็นตัวขับเคลื่อนที่ดี แต่ความรักอย่างเดียวไม่ทำให้สำเร็จได้ ต้องมีองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย ซึ่งก็คือ “วิริยะ” หรือความขยันหมั่นเพียรนั่นเอง

คนเราขยันหมั่นเพียรเสียอย่าง จะทำอะไรก็ย่อมได้..

ขยัน มุ่งมั่นที่จะทำงาน ทำหน้าที่ของตนอย่างไม่ลดละ แม้จะมีอุปสรรคปัญหาเกิดขึ้น แต่ก็ยังอดทน บากบั่น ต่อสู้อย่างแข็งขัน เพื่อไปถึงจุดมุ่งหมายที่ต้องการ

นอกจากขยันแล้ว ยังต้องเพียรพยายามที่จะศึกษาหาความรู้จนเกิดความเชี่ยวชาญในงาน และเมื่อชำนาญในงานนั้น ๆ ก็จะสามารถพัฒนาต่อยอดจนนำไปสู่ความสำเร็จได้นั่นเอง

แต่อย่าลืมว่าเราขยันคนเดียว พยายามคนเดียวไม่ได้ ยุคนี้เป็นยุคของการทำงานเป็นทีม ทำคนเดียวยังไงก็สำเร็จยาก ต้องไปด้วยกันทั้งทีม ทั้งเครือข่าย และสุดท้าย..ทั้งความขยันและหมั่นเพียรจะนำพาไปสู่ความสำเร็จได้เอง

มีสติเอาใจใส่

รักงานแล้ว ขยันแล้ว แต่ถ้าขาดสติ ไม่จดจ่อ ไม่เอาใจใส่กับงาน ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จได้โดยง่าย ซึ่งการมีสติรอบคอบในงานที่ทำ ก็คือ ‘จิตตะ’ นั่นเอง..

‘สติ’ มีไว้เพื่อสังเกตกายใจ เพื่อเป็นเครื่องเตือนไม่ให้หลงไปกับอารมณ์ต่าง ๆ จนกลายเป็นการกระทำในแบบที่ไม่รู้ตัว ดังนั้นเมื่อใช้สติในการทำงานก็จะทำให้จดจ่ออยู่กับงาน เกิดเป็นความละเอียดรอบคอบ ถี่ถ้วนมากขึ้น ไม่เผลอไผลไปกับเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้อง มีจุดโฟกัสที่ชัดเจน ซึ่งก็คือ ‘งาน’ นั่นเอง

ปกติคนเรามักเข้าข้างตัวเองว่าเอาใจใส่กับงานอยู่แล้ว ไม่ต้องให้ใครมาบอกหรือมาสอน แต่ลึก ๆ แล้วทุกคนย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าเรามุ่งมั่นกับงานที่รับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน มีสติเอาใจใส่กับงานที่ทำอยู่จริงหรือไม่ เพราะทุกวันนี้มีสิ่งเร้ามากมายให้เราวอกแวกได้ง่าย ทั้งโซเชียล ละคร และข่าวเมาท์อีกเพียบ การมีสติจึงเป็นสำคัญอันดับต้น ๆ ในการทำงาน

ติดตาม ตรวจสอบ พิจารณา

เมื่อมี ‘ฉันทะ’ ’วิริยะ’ ’จิตตะ’ แล้ว หากขาด ‘วิมังสา’ หรือก็คือ..การวิเคราะห์ ตรวจสอบด้วยปัญญาแล้ว ก็อาจประสบความสำเร็จได้ยาก

‘วิมังสา’ คือการทำงานด้วยสมอง ไม่ใช่สักแต่ทำส่ง ๆ ไป แต่ต้องทำงานด้วยการคิด วิเคราะห์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นด้วยปัญญาไตร่ตรอง ขบคิดพิจารณาถึงความเป็นไปได้และไม่ได้ในงานที่ทำ

คนเราแม้จะรักงานแค่ไหน ขยันหมั่นเพียรแค่ไหน มีสติเอาใจใส่กับงานมากแค่ไหนก็ตาม แต่หากขาดปัญญาในการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล ผลสุดท้ายงานก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้

การขบคิดในลักษณะนี้ทำให้เรายอมรับความจริง ยอมรับในความผิดพลาดและพร้อมที่จะแก้ไขให้ดีขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วก็เป็นผลดีกับตัวเราเอง ซึ่งเมื่อแก้ไขสิ่งที่พลาดได้ ความสำเร็จก็รออยู่ไม่ไกล

ท้ายที่สุดถ้าเรานำเอาหลัก “อิทธิบาท 4” มาใช้กับการทำงานอย่างเข้าอกเข้าใจ ไม่ใช่แค่ ‘รู้’ แต่ต้องลงมือ ‘ทำ’ ผลแห่งความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นย่อมอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0