วันนี้ (5 ส.ค.2564) ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แถลงข่าวเปิดตัวตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ สำหรับต้านเชื้อในเด็ก และผู้ที่มีความยากลำบากในการกลืนเม็ดยา หลังสถานการณ์การระบาดระลอกนี้ และส่วนหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อเด็กค่อนข้างมาก ภาพรวมพบเด็กติดเชื้อ 10 เปอร์เซ็นต์ จากคนไข้ทั้งหมด โดยเมื่อติดเชื้อแล้วการรักษาไม่ให้อาการหนักเป็น ก็จะต้องได้รับยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ ด้วยความรวดเร็ว ภายใน 4 วัน หลังเริ่มมีอาการ ก็จะช่วยลดความรุนแรง และลดการเสียชีวิตได้
โดยในจำนวนผู้ป่วยเด็กทั้งหมดมีจำนวน 1 ใน 3 ที่จำเป็นต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ แต่การให้ยาฟาวิพิราเวียร์ในเด็ก ขณะนี้ต้องใช้วิธีการบดยาละลายน้ำ มีข้อจำกัดยามีตะกอน ปริมาณยาที่ได้รับไม่แน่นอน มีรสชาติขม ติดลิ้น ทำให้เด็กกลืนยาก แต่สำหรับยาน้ำเชื่อมที่ผลิตขึ้น ใช้ได้เลย ปริมาณยาคงที่ มีปริมาตรยามากกว่ายาทั่วไป และกินง่าย
สำหรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ สามารถใชัในเด็กอายุต่ำกว่า 5-7 ปี หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถกลืนยาเม็ดได้ โดยการให้ยาจะให้วันละ 2 ครั้ง ห่างครั้งละ 12 ชั่วโมง ส่วนปริมาณที่ให้จะขึ้นอยู่กับน้ำหนักของเด็ก และเฉลี่ยการใช้ยาจะอยู่ที่ 5 - 10 วัน ตามวิจารณญานของแพทย์ผู้รักษา
ก่อนหน้านี้ได้มีการทดลองใช้ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ในคนไข้เด็กของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ช่วงอายุ 8 เดือน - 5 ปี จำนวน 12 คน จากการติดตามการรักษา พบว่าผลตอบสนองต่อการรักษาได้ดี และไม่พบผลข้างเคียงร้ายแรง
สำหรับกำลังการผลิตยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขณะนี้สามารถผลิตและแจกจ่ายให้ผู้ป่วยประมาณ 300 คนต่อสัปดาห์
ในอนาคต หากโรงพยาบาลใดที่มีความพร้อมในการผลิต สามารถขอสูตรตำรับยาดังกล่าวไปผลิตได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลเรื่องคุณภาพ ส่วนแพทย์ หรือสถานพยาบาล สามารถขอรับยาได้ผ่านทางช่องทาง www.favipiravir.cra.ac.th ได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เปิดตัว "ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์" 6 ส.ค.นี้
ความเห็น 0