‘ฉันเป็นคนตรง ๆ’ ประโยคเด็ดที่หลายคนอาจจะเคยได้ยิน (หรืออาจจะเคยพูดเองด้วย) มักเป็นประโยคที่ต้องการสื่อความหมายไปในทางที่ว่า ตนเองเป็นคนจริงใจ, โกหกไม่เป็น, คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น ยิ่งพ่วงมากับบุคลิกที่มั่นใจ แรง ๆ คนที่พูดก็จะยิ่งรู้สึกว่าตนเองกำลังทำสิ่งที่ถูกต้องอยู่ แต่รู้หรือไม่ว่าในบางครั้ง คำพูดที่ตรงเกินไป มันอาจทำร้ายสภาพจิตใจคนอื่นได้โดยที่เราไม่รู้ตัว
พระเมธีวชิโรดม - ว.วชิรเมธี เคยกล่าวไว้ว่า การพูดตรง ๆ มีทั้งข้อดีและข้อร้าย ข้อดีคือรู้เรื่องง่าย ข้อร้ายคือคนไม่ชอบหน้า ซึ่งเป็นความจริงอย่างยิ่ง บางคนอาจจะเป็นคนเถรตรงเสียจนคนอื่นกลัว บางคนอาจเผลอพูดไม่คิดจนทำให้หลายคนไม่พอใจ หรือบางคนก็จริงใจเสียจนประดิษฐ์คำพูดไม่เป็น ในชีวิตจริงสิ่งที่ทำให้คนเจ็บปวดได้มากไม่แพ้ใครคือ 'คำพูด' ยิ่งเป็นคนที่รู้จักมักจี่ สนิทชิดเชื้อกัน ยิ่งต้องรักษาน้ำใจ เพราะคนเราอ่อนไหวต่อคำพูดไม่เท่ากัน จึงต้องระมัดระวังในการสื่อสารมากขึ้นไปอีก
วันนี้คอลัมน์ห้องแนะแนวมี 5 ข้อแนะนำให้กับ 'คนตรง ๆ' ลองปรับใช้ในการสนทนาเพื่อให้ดูเบาลง แต่ยังคงประสิทธิภาพในการสื่อสารอยู่ได้ค่ะ
ต้องมีศิลปะในการพูดสักนิด
ต้องระลึกไว้เสมอว่า การพูดตรง ๆ ไม่ใช่การใช้คำหยาบคายหรือแข็งกระด้าง แต่เป็นการรู้จักพูดให้ตรงประเด็น รู้จักเรียบเรียงประโยคหรือคำพูดให้กระชับ เข้าใจง่าย ไม่ใช่อ้อมค้อมเสียจนน้ำท่วมทุ่งเพียงเพื่อต้องการจะรักษาน้ำใจคนฟัง การเป็นคนตรง ๆ แบบที่คนอื่นจะไม่เกลียด ต้องรู้จักใช้วาทศิลป์ ปรับคำให้ละมุนละม่อม แต่ยังคงใจความที่ต้องการพูดออกไปได้อย่างครบถ้วน
ตัวอย่าง สถานการณ์
A: งานนี้คุณทำคนเดียวไม่ไหวหรอก อย่าพยายามเลย
B: คุณลองทำงานนี้ดูก่อนแล้วถ้ามีอะไรให้ช่วย บอกได้เลยนะ
จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ประโยคมีความหมายไปในทางเดียวกัน แค่เพียงเลือกใช้คำที่นุ่มนวลลงมาหน่อย ก็จะทำให้บรรยากาศการสนทนาดีขึ้นเป็นกอง
ฟังและคิดให้มากกว่าพูด
ว่ากันว่าการพูดตรงเกินไปจนทำร้ายจิตใจผู้อื่นนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากที่คนพูดโฟกัสกับข้อความที่จะสื่อสารมากเกินไปจนละเลยบริบทอื่น โดยเฉพาะความรู้สึกของคนฟัง จากคนพูดตรงอาจกลายเป็นคนพูดจาขวานผ่าซากไปได้ อย่าลืมว่านี่คือคน ไม่ใช่หุ่นยนต์ เวลาจะพูดจะจากันต้องคำนึงถึงสิ่งที่แวดล้อมเราอยู่ด้วย โดยเฉพาะการรับ 'ฟัง' คือหัวใจสำคัญ เพราะบ่อยครั้งคนที่พูดตรง มักจะใช้เวลาพูดเรื่องที่ตัวเองคิดมากกว่าฟังสิ่งที่คนอื่นกำลังพูดอยู่ นั่นอาจทำให้เกิดปัญหาได้ เมื่อฟังแล้วก็ต้องรู้จัก 'คิด' ด้วย คิดในที่นี้หมายถึงคิดตาม ไม่ใช่คิดแทนเขา แล้วจึงค่อยร้อยเรียงสิ่งที่ตนเองจะสื่อสารออกไป คิดก่อนพูด แต่ไม่ต้องพูดทุกอย่างที่คิด
ใช้เหตุผล ไม่ใส่อารมณ์
เมื่อไหร่ที่ใช้อารมณ์นำทางแล้วสถานการณ์อาจจะแย่ลงได้ทุกเมื่อ การสื่อสารที่ดีควรอยู่บนพื้นฐานของหลักการและเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน หรือเรื่องส่วนตัวก็ตาม ยิ่งมีใครคนใดคนหนึ่งที่พูดตรงเสียจนลืมว่าต้องถนอมน้ำใจกัน ยิ่งทำให้อารมณ์เสียง่ายขึ้นไปอีก อาจกลายเป็นไฟลามทุ่งได้
รู้จักกาลเทศะ และใช้คำพูดให้เหมาะสมกับผู้ฟัง
อย่างที่บอกว่าการพูดตรงประเด็นเลย ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ต้องรู้จักใช้คำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และกับสถานะของคู่สนทนา บางคนอาจเป็นคนอ่อนไหวมาก หากพูดอะไรไปจี้ใจดำกับอาจบานปลายกลายเป็นความบาดหมางกัน เพราะฉะนั้นต้องทำความรู้จักผู้ฟังก่อนสักนิด โดยสังเกตจากคำพูดของเขาก่อนก็ได้ ว่าเป็นคนประมาณไหน จริงจังหรือล้อเล่นได้มากน้อยแค่ไหน แล้วจึงนำมาปรับให้เข้ากับการสนทนาอีกครั้ง
เอาใจเขามาใส่ใจเรา
หมั่นสังเกตตัวเราเองและบุคคลอื่นว่าในระหว่างการสนทนานั้น เรารู้สึกอย่างที่ได้ยินประโยคแบบนั้น ไม่พอใจหรือเปล่า รุนแรงเกินไปไหม หรือมีวิธีอื่นที่สามารถแสดงออกไปแล้วดูดีกว่าคำพูดนั้นหรือไม่ เพราะการที่ใช้ตนเองเป็นกระจกสะท้อนแบบนี้จะยิ่งทำให้เราเข้าใจผู้อื่นมากยิ่งขึ้น รวมถึงสังเกตท่าทีของผู้อื่นไปด้วยในเวลาเดียวกัน แล้วในวงสนทนาครั้งต่อไป เราจะรู้จักการประนีประนอมและระวังคำพูดมากกว่าเดิม
การเป็นคนพูดตรงที่ถูกต้องคือต้องไม่ก้าวร้าว ไม่หยาบคาย เพียงแต่พูดตรงประเด็นเนื้อ ๆ ไม่น้ำ รักษาน้ำใจคนฟังอยู่เสมอ เหมือนที่เราอยากได้ยินอะไรจากคนอื่น เราก็ต้องพูดเช่นนั้นกับคนอื่นด้วยเช่นกัน อย่างคำสอนที่ว่า 'อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่กับมิตรให้ระวังคำพูด'
ความเห็น 42
Bung
BEST
"คุณทำงานนี้คนเดียวไม่ไหวหรอกอย่าพยายามเลย" ผมว่าประโยคนี้เหมือนเป็นประโยคที่บ่งบอกชัดเจนว่าดูถูก เช่น ลูกน้องเสนอตัวเองขอทำงานชิ้นนี้ แต่หัวหน้าพูดประโยคนี้กลับไป
ส่วน "คุณลองทำงานนี้ดูก่อน ถ้ามีอะไรให้ช่วยบอกได้เลยนะ" ประโยคนี้เหมือนว่าลูกน้องไม่อยากทำงานชิ้นนี้ แต่หัวหน้าอยากให้ลองทำดูก่อนพร้อมกับเสนอทางช่วย หากมีอะไรติดขัดระหว่างทำงานชิ้นนี้
สรุป สองประโยคที่ยกมานี้ไม่ได้สื่อความหมายไปในทิศทางหรือแบบเดียวกัน ดังนั้น การยกสองประโยคนี้มาเขียนจึงไม่ใช่การยกตัวอย่างที่ถูกต้องของบทความนี้ครับ
30 ส.ค. 2562 เวลา 08.52 น.
Pin🌸
BEST
การพูดแบบถนอมน้ำใจแล้วงานเดิน รู้เรื่อง เข้าใจกัน งานสัมฤทธิ์ผล ใช้ได้กับเฉพาะผู้ฟังบางคนเท่านั้น
แต่ผู้ฟังอีกกลุ่ม กลับมองว่า การพูดถนอมน้ำใจคือหมายถึง เรายังไงก็ได้ ชิลๆ เลยไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ต้องให้ดุด่า ถึงรู้เรื่อง และเข้าใจทันที
มันขึ้นอยู่กับระดับการรับรู้ของคนฟังด้วย
30 ส.ค. 2562 เวลา 12.27 น.
พี่ฟู
BEST
ถ้ารู้จักนิสัยใจคอกันแล้ว การพูดตรงๆน่าจะดีทีสุดนะ ไม่ต้องอ้อมโลกยกแม่น้ำทั้งห้า ให้เสียเวลา เวลามีค่ามากกว่ามานั่งปั้นคำพูด
30 ส.ค. 2562 เวลา 09.20 น.
บางครั้งก็นั่งคิดว่าจะอ้อมโลกเพื่ออะไร
30 ส.ค. 2562 เวลา 10.25 น.
ถ้าคนเรารู้จักกับในการยอมรับความเป็นจริง และพร้อมที่จะแก้ไขแล้ว ก็ยอมที่จะทำให้เกิดประโยชน์ขึ้นกับตัวของตนเอง.
30 ส.ค. 2562 เวลา 08.44 น.
ดูทั้งหมด