โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เจ้านายที่กล้าเกาะหลังคนขับ เมื่อเครื่องบินเข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรกยังไม่มีที่โดยสาร

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 01 ก.ค. 2565 เวลา 18.08 น. • เผยแพร่ 01 ก.ค. 2565 เวลา 18.07 น.
เครื่องบิน

การใช้งานเครื่องบินของมนุษยชาติถูกนับว่าเริ่มต้นจากสองพี่น้องตระกูล ไรท์ (Orville-Wilbur Wright) ซึ่งทำให้ “มนุษย์บินได้” (แม้บินได้ไม่นาน) ไม่กี่ปีต่อมาคนกรุงในไทยก็ได้สัมผัสกับเครื่องบินเป็นครั้งแรก จากพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกว่า เครื่องบินที่เข้ามายังไม่มีที่สำหรับคนโดยสาร ผู้อยากโดยสารต้องเกาะข้างหลังคนขับ ซึ่งมีเจ้านายหลายพระองค์ไม่เกรงกลัวทั้งที่ช่วงนั้นมีข่าวอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

สองพี่น้องตระกูลไรท์ (Orville-Wilbur Wright) ชาวอเมริกันขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำเครื่องบินที่สร้างขึ้นเองออกทดลองใช้ให้ชาวโลกได้เห็นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2446 บันทึกว่าไว้ว่าบินได้นาน 12 วินาที บินสูง 20 ฟุต ไปไกล 120 ฟุต และถือกันว่ามนุษย์ “บินได้” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

หลังจากนั้นไม่นานก็มีเครื่องบินเข้ามาในไทยเป็นครั้งแรกเมื่อช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 โดยบันทึกของผู้ศึกษาประวัติการบินในประเทศไทยให้รายละเอียดแตกต่างกันบ้าง พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก ให้รายละเอียดไว้ว่า เมื่อ 6 กันยายน พ.ศ. 2454 นายแวนเดน บอร์น (Vanden Born) นักบินชาวเบลเยี่ยมนำเครื่องบินปีก 2 ชั้น แบบอังรีฟาร์มังของฝรั่งเศสบินจากไซ่ง่อน (ปัจจุบันคือ นครโฮจิมินห์) ผ่านน่านฟ้ากัมพูชา มาร่อนลงอย่างสง่างามที่สนามม้าสระปทุม โดยมีกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน และกรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ทรงให้การต้อนรับ พร้อมกับประชาชนที่มารอชมเครื่องบินลำแรกที่บินมาลงในสยาม

ขณะที่เทพชู ทับทอง ผู้เขียนหนังสือ “กรุงเทพฯ ในอดีต” บรรยายว่า เครื่องบินเครื่องแรกที่เข้ามาแสดงการบินครั้งแรกในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 (ต้นรัชกาลที่ 6) โดยชาวฝรั่งเศสนำมาแสดงให้ประชาชนชมและเก็บเงินค่าผ่านประตูที่สนามม้าสระปทุม

เทพชู บรรยายลักษณะเครื่องบินว่า รูปร่างต่างจากเครื่องบินสมัยนี้ คือมีปีก 2 ชั้น ลำตัวมีแต่โครงโปร่งๆ ไม่มีแพนหางเสื้อเลี้ยว มีเครื่องยนต์ติดตั้งอยู่ตรงกลางลำตัวใกล้ชายปีกชั้นล่าง เครื่องยนต์ขนาด 50 แรงม้า ซึ่งให้แรงดันขับตัวเครื่องบินพุ่งไปข้างหน้าในอัตราความเร็วชั่วโมงละ 50 กิโลเมตร มีฐานกางมีล้อคล้ายล้อรถจักรยานข้างละ 2 ล้อ ตอนหัวประกอบด้วยไม้ยาว 4 อันยื่นออกไปบรรจบกันกับแพนเล็กๆ อันหนึ่งซึ่งขยับขึ้นลงได้ และที่นั่งคนขับอยู่บนปีกชั้นล่างหน้าเครื่องยนต์ เทพชู บรรยายว่า

“หลังจากที่เครื่องบิน บินอยู่สักพักก็ลงสนาม นักบินชาวฝรั่งเศสได้เชิญให้ทหารไทยขึ้นโดยสารทดลองดูปรากฏว่าทหารไทยที่กล้าขึ้นเป็นคนแรกได้แก่ นายพันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ผู้บังคับกองพันพิเศษ กองพลที่ 5 หรือพลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป)”

เหตุการณ์ “เครื่องบินเข้ามากรุงเทพฯ ครั้งแรก” ยังปรากฏในพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ในหนังสือชื่อ “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” ทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อ พ.ศ. 2466 โดยทรงใช้พระนามแฝงว่า ราม วชิราวุธ พระราชนิพนธ์ทรงบรรยายว่า “เครื่องบินเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เปนครั้งแรก” เมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2453 ผู้ที่นำเครื่องบินเข้ามาแสดงเป็นบริษัทฝรั่งเศสชื่อ“บริษัทการบินแห่งปลายบุรพเทศ” (“Societe d’Aviation de L’ Extreme Orient”) ชื่อนักบินในพระราชนิพนธ์คือ “วันเด็นบอร์น” (Van den Born) ตรงกับข้อมูลข้างต้น

“เครื่องที่นำเข้ามาครั้งนั้นเปนเครื่องปีก 2 ชั้น ไม่มีที่คนโดยสารขึ้น, ฉนั้นถ้าใครอยากจะโดยสารก็ต้องยืนเกาะไปข้างหลังคนขับ, ออกจะน่าเสียวใส้อยู่บ้าง. ได้มีคนไทยลองขึ้นกันหลายคน, เจ้านายมีกรมอดิศร, กรมกำแพงเพ็ชร์ และกรมสรรควิสัยนรบดี, พวกเหล่านี้กล่าวว่าไม่น่ากลัวกว่าขึ้นรถยนตร์, แต่ในเวลานั้นออกจะมีคนเห็นด้วยน้อยทีเดียว.

ตามความจริงเครื่องบินในเวลานั้นก็ยังไม่ดีเท่าในเวลานี้จริงๆ ด้วย, และยังมีข่าวตกหล่นและเกิดอุปัทวเหตุบ่อยๆนัก. เมื่อฉันยังอยู่ที่ยุโรปนั้น ได้มีผู้คิดสร้างเครื่องบินขึ้นบ้างแล้ว, แต่ฉันยังหาได้เคยเห็นใครขึ้นเครื่องแล่นในอากาศไม่, ฉนั้นฉันเองก็ออกจะตื่นมากอยู่ ในการที่ได้มีเครื่องบินเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ครั้งนั้น.”

รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ด้วยว่า การบินที่เก็บเงินคนดูโดยปิดถนนสนามม้าปทุมวันใช้สนามม้าของราชกรีฑาสโมสรเป็นสนามบินมี 5 วัน คือวันที่ 1, 2 , 4, 5 และ 6 ส่วนที่กลาโหมมีประจำทุกวัน เพราะผู้บินรับฝึกหัดนายทหารไทยให้ใช้เครื่องบินด้วย

อ้างอิง :

ราม วชิราวุธ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559. หน้า 250-251

เทพชู ทับทอง. กรุงเทพฯ ในอดีต. อักษรบัณฑิต. 2518

นิพัทธ์ ทองเล็ก, พลเอก. “เครื่องบินลำแรกที่บินเข้ามาในสยามประเทศ”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2559. เข้าถึง 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2562.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฎาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0