โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

แฟชั่นชุดไทยสมัยกรุงศรีฯ 'แม่การะเกด'ใส่แบบใดบ้าง?

เดลินิวส์

อัพเดต 18 มี.ค. 2561 เวลา 02.05 น. • เผยแพร่ 17 มี.ค. 2561 เวลา 05.46 น. • Dailynews
แฟชั่นชุดไทยสมัยกรุงศรีฯ 'แม่การะเกด'ใส่แบบใดบ้าง?
สัปดาห์นี้กระแส “บุพเพสันนิวาส” แรงฉุดไม่อยู่! สาวๆ ที่อยากย้อนเวลากลับไปหา “คุณพี่” แบบ “แม่การะเกด” ต้องรอบรู้เกี่ยวกับแฟชั่นชุดไทยสักนิด ไปศึกษากันเลยออเจ้า…

ช่วงนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เจอแต่รูป “แม่หญิงการะเกด”ใส่ชุดไทย ขนาดส่องเฟซบุ๊กก็เห็นโปรไฟล์สาวๆ สวมใส่ชุดไทยแบบต่างๆ เดินเที่ยวอยู่ในวัดไชยวัฒนารามตามรอยละคร “บุพเพสันนิวาส” จน “พี่น้องนาง” คิดว่า นี่เราหลงอยู่ในยุคกรุงศรีอยุธยาหรือเปล่าเนี่ย?? แล้วจะเจอคุณพี่ไหม*?? *

แต่ก่อนจะเจอ “คุณพี่” เรามาทำความรู้จักแฟชั่นชุดไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยากันดีกว่า…เผื่อแม่หญิงในยุคนั้นโดน “มนต์กฤษณะกาลี” จนสิ้นใจตาย เราจะได้เสียบแทนสวยๆ อุ๊ปส์!! ไม่ใช่แหล่ะค่ะ…จะได้เลือกสวมใส่ได้อย่างสวยงามเหมาะสมต่างหากล่ะ

.กรณัท สุขสวัสดิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่น และเครื่องแต่งกาย คณะเทคโนโลยี คหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ความรู้ว่าการแต่งกายของมนุษย์เริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคอียิปต์ ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบต่างๆ ตามยุคสมัยและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป จุดประสงค์หลักๆ ก็เพื่อปกปิดร่างกาย หรืออาจใช้ช่วยป้องกันการร้อนหนาวของมนุษย์

“ชุดไทย”เป็นชุดประจำชาติที่มีเอกลักษณะเฉพาะตัว ไม่เหมือนชาติอื่น…เป็นเครื่องแต่งกายที่งดงามที่สุดในโลกก็ว่าได้ แต่ปัจจุบันคนไทยไม่ค่อยสนใจเพราะมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ รวมถึงมีแฟชั่นสื้อผ้าจากต่างประเทศเข้ามา แต่…ณ ตอนนี้กลายเป็นว่าชุดไทยของเรากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จากกระแสงานอุ่นไอรักคลายความหนาวและละครเรื่องบุพเพสันนิวาส

จนกลายเป็น “แฟชั่น” ที่ทุกคนต้องสวมใส่เป็นภาพโปรไฟล์ในเฟซบุ๊ก…ไม่ว่าจะเป็นชุดห่มสไบ นุ่งโจงกระเบน ชุดนุ่งซิ่น ห่มสไบที่ดูเป็นแม่หญิงไทยสุดงามสง่า ขอบอกว่าใครไม่ใส่นี่ถึงกับเอาท์ได้เลยนะออเจ้า…!!

นอจากนี้ .กรณัท ยังอธิบายอีกว่า สำหรับชุดไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาจะคล้ายกับยุคสุโขทัย เพราะสุโขทัยมาก่อนอยุธยาจึงเป็นยุคต้นกำเนิดชุดไทย ซึ่งอยุธยาเป็นราชธานีที่ยาวที่สุดของไทยถึง 417 ปี ระยะเริ่มแรกของกรุงศรีอยุธยา อยู่ในปลายพุทธศตวรรษที่ 19 แต่ในขณะที่กรุงศรีอยุธยาเจริญนั้นชั้นแรกต้องมีอารยธรรมลพบุรีสอดแทรกอยู่เป็นส่วนใหญ่

แล้วต่อมาก็ได้รับอารยธรรมของไทยฝ่ายเหนืออีก คืออารยธรรมของชาวสุโขทัย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 ลงมา กล่าวคือสตรีไทยไว้ผมยาว เกล้ามวย บนศรีษะ สวมเสื้อบาง ผ่าอก คอรูปสามเหลี่ยม แขนสั้นขลิบขอบ สาบเสื้อ ชายเสื้อปรกเอวย้วย รัดกับสะโพก สวมกำไลแขนเป็นปลอก นุ่งผ้าโจงกระเบนยาวครึ่งแข้ง ส่วนชาวบ้านไว้ผมยาวประบ่า หวีแสกกลาง ไม่สวมเสื้อ ห่อผ้าสไบเฉียง ปิดอก นุ่งผ้าเชิงใต้สะดือยาวครึ่งแข้ง จีบหน้านาง ชักชายพกยาวตกลงมาตรงกลาง

อยุธยาสมัยที่ 1 พ.ศ.1893-2031 ผู้หญิงยังคงเกล้าผม ซึ่งการเกล้ามี 2 แบบ คือ เกล้าไว้ท้ายทอย และเกล้าสูงบน (หนูนหยิก) ศีรษะมีเครื่องประดับเรียกว่า เกี้ยว เป็นเครื่องรัดมวยผม เครื่องแต่งกายนุ่งซิ่นจีบหน้า สวมเสื้อแขนกระบอก คอกลม ผ่าหน้า เสื้อยาวเข้ารูป มีผ้าคลุมสะโพกไว้ด้านในของตัวเสื้อ แต่ปล่อยชายออกด้านนอก ต่อมาได้ต่อเข้ากับตัวเสื้อ เป็นชายเสื้อลงมาอีกทีหนึ่ง

ส่วนผู้ชายทรงผมมหาดเล็กและคนรับใช้ตัดผมสั้น ชายยังคงเกล้าผมกลางกระหม่อมเช่นเดียวกับผู้หญิง ส่วนเครื่องแต่งกายนุ่งกางเกงยาวลงมาแค่หน้าแข้ง ปลายขาเรียวเล็กกว่าเดิม นุ่งผ้าหยักรั้ง แบบเขมรซ้อนทับกางเกง ชายผ้ายาวเสมอเข่า ใช้ผ้าคาดเอว สวมเสื้อคอแหลม แขนยาวจรดข้อมือ ผ่าอก สาบซ้ายทับสาบขวา มีผ้ากุ๊นตรงปลายแหลม คอ สาบหน้า และชายเสื้อ

ส่วนอยุธยาในสมัยที่ 2 พ.ศ.2034-2171 ผู้หญิงตัดผมสั้น หวีเสยขึ้น ไปเป็นผมปีก บ้างก็ยังไว้ผมยาวเกล้าบนศีรษะ เลิกเกล้าเมื่อ พ.ศ.2112 เพราะต้องทำงานหนักไม่มีเวลาเกล้าผม ส่วนเครื่องแต่งกาย นุ่งกางเกงหรือโจงกระเบน สวมเสื้อแขนกระบอก คอกลมผ่าอก ไม่นิยมสไบ ผู้หญิงชั้น สูงสวมเสื้อคอแหลม มีผ้าคล้องไหล่ 2 ข้าง การห่มสไบมีหลายแบบ

ได้แก่ พันรอบตัวเหน็บทิ้งชาย ห่มแบบสไบเฉียง คือพันรอบอก 1 รอบ แล้วเฉวียงขึ้นบ่าปล่อยชายไว้ข้างหลังเพียงขาพับแบบสะพักสองบ่า ใช้ผ้าพันรอบตัวทับกันที่อกแล้วจึงสะพักไหล่ทั้งสองปล่อยชายไปข้างหลัง ทั้ง 2 ข้าง แบบคล้องไหล่ เอาชายไว้ข้างหลังทั้งสองชาย แบบคล้องคอห้อยชายไว้ข้างหน้าแบบห่มคลุม

การแต่งกายชุดไทยของสตรีไทยได้วิวัฒน์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงเสด็จไปเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศในปี พ.ศ.2503 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับสั่งให้อาจารย์สมศรี สกุมลนันท์ หาเครื่องแบบเป็นเอกลักษณ์ของไทยขึ้นตามประวัติศาสตร์

ท่านจึงได้คิดค้นจากประวัติความเป็นมาแต่ดังเดิม แล้วดัดแปลงให้เข้ากับสมัยนิยมที่ใช้กันทั่วไป คือ“เครื่องแต่งกายชุดพระราชนิยมของไทย” มาจนทุกวันนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นผู้ริเริ่มแต่งฉลองพระองค์นี้ บางครั้งก็เรียก “ชุดไทยพระราชนิยม”มีทั้งหมด 8 ชุด ได้แก่ 

1.ชุดไทยจักรพรรดิ ชุดนี้มี 2 แบบ เสื้อเหมือนชุดไทยจักรี และชุดไทยศิวลัย แต่ห่มสไบ 2 ชั้น ซึ่งชั้นแรกเป็นแพรจีบรองพื้นและห่มทับด้วยสไบกรองทองหรือสไบปักทิ้งชายสไบไว้ที่เอวต้นหน้าและโอบใต้แขนด้านขวาทิ้งชายไว้ด้านหลัง เข้าชุดกับผ้าจีบหน้าบาง มีชายพก

2.ชุดไทยจักรี เสื้อเปิดไหล่เข้ารูปอยู่ชั้นใน ห่มทับด้วยสไบชายเดียว เข้าชุดกับผ้าจีบหน้าบางมีชายพก

3.ชุดไทยดุสิตเสื้อเข้ารูปไม่มีแขน คอด้านหน้าและด้านหลังกว้าง ผ่าหลังติดซิป ตัดเสื้อปีกด้วยไขมุก ลูกปัด หรือเลื่อม เข้าชุดกับผ้าชิ้นจีบหน้าบาง มีชายพก

4.ชุดไทยบรมพิมาน เสื้อเข้ารูปคอกลมมีขอบคอตั้ง ติดซิปหลัง แขนยาวจรดข้อมือ เข้าชุดผ้าจีบหน้าบางมีชายพก

5.ชุดไทยอมรินทร์ ลักษณะเดียวกับชุดไทยจิตรลดาตัดด้วยผ้าไหมเลื่อนและยกดอกเต็มตัวด้วยดิ้นทอง เข้าชุดกับผ้าซิ่นป้ายหน้า

6.ชุดไทยศิวาลัย เป็นชุดไทยกแบบชุดไทยบรมพิมาน แต่มีสไบห่มทับสไบไม่ต้องมี แพรจีบรองพื้น เข้าชุดกับผ้าจีบหน้าบางมีชายพก

7.ชุดไทยจิตรลดา เสื้อเข้ารูปคอกลมมีขอบ คอตั้ง สาปติดกระดุมด้านหน้า 5 เม็ด แขนยาวจรดข้อมือ เข้าชุดกับผ้าซิ่นป้ายหน้า

8.ชุดไทยเรือนต้นเสื้อเข้ารูปคอกลมชิดคอ มีสาปติดกระดุมด้านหน้า 5 เม็ด แขนสามส่วนเข้าชุดกับผ้าซิ่นป้ายหน้า

สำหรับชุดไทยที่ “แม่หญิงการะเกด” สวมใส่มีการนำชุดไทยพระราชนิยม ทั้ง 8 ชุดมาผสมผสานกัน ลองสังเกตดูหากสวมใส่ห่มสไบชั้นเดียว คือ “ชุดไทยจักรี” หรือหากสวมใส่ห่มสไบ 2 ชั้นคือ “ชุดไทยจักรพรรดิ”อย่างไรก็ตามแต่ละชุดแต่ละแบบก็มีความงามจนเป็นที่ยอมรับและถือได้ว่าชุดไทยเป็นชุดที่งามที่สุดในโลก

แหม…ได้ความรู้ “การแต่งกายชุดไทย” กันไปจนมากโขแล้ว หวังว่าออเจ้าทั้งหลายจะช่วยกันอนุรักษ์รักษาชุดไทยที่สุดแสนจะงดงามเอาไว้ตราบชั่วลูกชั่วหลาน หลังละครจบก็อย่าเพิ่งลืมเลือนกันไปเสียก่อน…ก็แล้วกัน.

……………………………………

คอลัมน์ : Chic in the city

โดย “น้องนางบ้านนา”

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก : ช่อง 3 , กองส่งเสริมจริยธรรมและป้องกันทุจริต

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0