โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ย้อนดูที่มา การบริจาคเลือดของไทย ใครคือผู้บริจาคหมายเลข 1

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 15 ก.ค. เวลา 04.58 น. • เผยแพร่ 11 ก.ค. เวลา 11.05 น.
cover-thep
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต-ประทับตรงกลาง (ภาพจาก เพจโรงเรียนเทพศิรินทร์)

“การให้เลือด” หรือ “การบริจาคเลือด” คือความท้าทายในวงการแพทย์ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตกับผู้ป่วยจำนวนมาก

การศึกษาเกี่ยวกับการให้เลือดมีมาช้านาน แต่สำหรับการให้เลือดยุคปัจจุบัน คงต้องให้เครดิตนี้กับ เจมส์ บลันเดลล์ สูติแพทย์ชาวอังกฤษ ที่ใน พ.ศ. 2361 (อยู่ในสมัยรัชกาลที่ 2 ของไทย) เขาประสบความสำเร็จในการให้เลือดเป็นครั้งแรก โดยให้เลือดของสามีแก่ภรรยาที่ตกเลือดหลังคลอด

หลังจากนั้นในปี 2429 จอห์น ดันแคน ศัลยแพทย์ชาวสก็อตแลนด์ ประสบความสำเร็จการให้เลือดระหว่างการผ่าตัดเป็นรายแรกของโลก ต่อมาในปี 2486 ลูติต และมอลลิสัน เสนอสูตรน้ำยากันเลือดแข็งตัว ACD (Acid Citrate Dextrose) ทำให้สามารถเก็บเลือดที่ 4 องศาเซลเซียส ไว้ใช้ได้นานถึง 21 วัน ซึ่งช่วยแก้ปัญหาสำคัญหนึ่งของการให้เลือดลงได้

ส่วนธนาคารเลือดแห่งแรกของโลก เกิดขึ้นในปี 2480 ที่โรงพยาบาลคุ้ก เคาน์ตี้ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา

การบริจาคเลือดในไทย

สำหรับประเทศไทย ปี 2472 มีการให้เลือดระหว่างการผ่าตัดครั้งแรกที่โรงพยาบาลศิริราช โดยศาสตราจารย์สูตินรีเวชชาวต่างชาติของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ที่เข้ามาทำงานกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กระทั่งปี 2477 ศาสตราจารย์ นายแพทย์เติม บุนนาค นำเครื่องถ่ายเลือดโดยตรง มาใช้เป็นครั้งแรกที่แผนกสูตินรีเวช โรงพยาบาลศิริราช

ปี 2489 มีการตั้ง “หน่วยถ่ายเลือด” ที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งถือเป็น “ธนาคารเลือดแห่งแรกของประเทศ” เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2489 ก่อนจะมีธนาคารเลือดอื่นๆ ตามมา เช่น โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จังหวัดเชียงราย ปี 2492, โรงพยาบาลหญิง (ปัจจุบันคือ โรงพยาบาลราชวิถี) ในปี 2495 โดย นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว

ปี 2495 โรงพยาบาลศิริราชเริ่มเจาะเลือดใส่ขวด เพื่อเก็บไว้ใช้หลายๆ วัน โดยใช้น้ำยาโซเดียมไซเตรท 3.8% เป็นสารกันการแข็งตัวของเลือด

ปีเดียวกันนั้น สภากาชาดไทยจัดตั้ง “แผนกบริการโลหิต” ขึ้นในกองวิทยาศาสตร์ และเริ่มการผลิตน้ำยา ACD บรรจุในขวดแก้ว มี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิตเป็นผู้บริจาคโลหิตหมายเลข 1 ของไทย

ปี 2498 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ (พัฒนาจากแผนกบริการโลหิต สภากาชาดไทย) เริ่มออกรับบริจาคโลหิตภายนอกสถานที่ทำการ

ในปี 2499 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง องค์สภานายิกาสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินยังสถานเสาวภา เพื่อให้ผู้บริจาคเลือดเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรก ต่อมาสภากาชาดไทยจัดให้มีการมอบเข็มที่ระลึกแก่ผู้บริจาคเลือดในปี 2503 เป็นครั้งแรก

ปี 2509 ศิริราชได้เปลี่ยนภาชนะเก็บเลือดจากขวดมาเป็นถุงพลาสติกทั้งหมด และเริ่มทำส่วนประกอบโลหิต เช่น เม็ดเลือดแดงเข้มข้น, พลาสมาสดแช่แข็ง และเกล็ดเลือดเข้มข้น

13 ตุลาคม 2512 จัดตั้ง “ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย” ถือเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ของการบริการโลหิตของประเทศ ต่อมาในปี 2519 ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ มีรถรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่คันแรก จนปัจจุบันมี “การบริจาคเลือด” มีบริการต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกให้ผู้บริจาค

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

พิมล เชี่ยวศิลป์. “เวชศาสตร์การบริการโลหิตในประเทศไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน” ใน, วารสารโลหิตวิทยาและเวชศาสตร์บริการโลหิต ปีที่ 29 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2562.

“เลือด และธนาคารเลือดในประเทศไทย” ใน, สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่ม 8.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กรกฎาคม 2567

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ย้อนดูที่มา การบริจาคเลือดของไทย ใครคือผู้บริจาคหมายเลข 1

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น