โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

SMEs-การเกษตร

ข้าราชการบำนาญ เลี้ยงไก่หางยาว ทำรายได้เลี้ยงตัว

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 26 ธ.ค. 2565 เวลา 09.03 น. • เผยแพร่ 28 ธ.ค. 2565 เวลา 12.00 น.
Pic11ไก่หางยาว

จากอดีตที่ผ่านมา เมืองไทยมีไก่พื้นเมืองสวยงามอยู่ในแวดวงจำกัดไม่กี่สายพันธุ์ ได้แก่ ไก่แจ้ ไก่เตี้ย ไก่ชน อย่างไรก็ตาม ด้วยความสวยงามที่โดดเด่นของไก่หางยาว ซึ่งเป็นสายพันธุ์ต่างประเทศ แต่มีความโดดเด่น ยิ่งยามยืนบนคอนสูงและทิ้งหางลงมาพลิ้วตามลม มีลีลาดุจไก่เทพในสรวงสวรรค์ ดังนั้น ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่สิบกว่าปีที่ผ่านมา จึงมีผู้นำไก่หางยาวจากอเมริกา ยุโรป เวียดนาม และประเทศอื่นๆ เข้ามาเลี้ยงและเพาะพันธุ์ สายพันธุ์ที่สำคัญ ได้แก่ 1. สายพันธุ์ไก่โอนากาโดริ (Onagadori) และ 2. สายพันธุ์ไก่ฟินิกซ์ (Phoenix)

ไก่โอนากาโดริ (Onagadori) ไก่ที่มีหางยาวที่สุดในโลก มีถิ่นกำเนิดในเมืองโคชิ เกาะชิโกะกุ ตอนใต้ของญี่ปุ่น ไก่โอนากาโดริ เกิดจากผ่าเหล่ามียีนไม่ผลัดขนหาง (non-moulting genes) อยู่ในตัวของมัน ลักษณะนี้ได้ถ่ายทอดมายังไก่โอนากาโดริ ทำให้มันไม่ผลัดขนหางของมัน ต้องใช้เวลา 3 ปี หรือหลายปีในการผลัดขนหาง และทำให้มันกลายเป็นพันธุ์ไก่ที่มีหางยาวที่สุดในโลก บางครั้งยาว 12-27 ฟุตเลยทีเดียว น้ำหนักมาตรฐาน เพศผู้ 1.8 กิโลกรัม เพศเมีย 1.35 กิโลกรัม

ไก่ฟินิกซ์ (Phoenix) เป็นไก่หางยาว มีขนหางที่ยาว 2-5 ฟุต มีความสวยงาม ท่วงท่าลีลาคล้ายไก่ฟ้า มีความแข็งแรง ทนทาน สามารถให้ลูกได้เก่ง ไก่ฟินิกซ์ผลัดขนหางในทุกๆ ปี ไก่ฟินิกซ์ถือว่าเป็นผลพวงมาจากการที่ชาวยุโรปพยายามรักษาสายพันธุ์ไก่หางยาวที่นำเข้าจากญี่ปุ่น เนื่องจากสามารถนำเข้าได้มาเพียงเล็กน้อย เหตุเพราะความเข้มงวดทางกฎหมายของญี่ปุ่น ชาวยุโรปได้พยายามนำไก่หางยาวของญี่ปุ่น ซึ่งรวมทั้งพันธุ์โอนากาโดรินำมาผสมกับพันธุ์ไก่พื้นเมืองของยุโรป จนได้พันธุ์ไก่ฟินิกซ์ซึ่งเป็นที่รู้จักและแพร่หลายไปทั่วโลก น้ำหนักมาตรฐาน ฟินิกซ์ใหญ่ เพศผู้ 2.5 กิโลกรัม เพศเมีย 1.8 กิโลกรัม ฟินิกซ์เล็ก เพศผู้ 740 กรัม เพศเมีย 680 กรัม

คุณธงชัย สาระกูล ข้าราชการบำนาญ จากจังหวัดนครสวรรค์ ได้ทดลองเลี้ยงไก่หางยาว สายพันธุ์โอนากาโดริและสายพันธุ์ฟินิกซ์เพื่อความเพลิดเพลินและหลงใหลในขนหางที่ยาวและความสวยงามของมัน เป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่ง ในระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมาพบว่า ไก่ทั้งสองสายพันธุ์เป็นไก่ที่เลี้ยงง่าย ภูมิอากาศที่เป็นเมืองร้อนของบ้านเราไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเพาะเลี้ยงแต่อย่างใด เพียงแต่มีความแตกต่างจากไก่พื้นเมืองของบ้านเราตรงที่ไก่เพศผู้มีหางยาวลากดินจำเป็นต้องมีการดูแลรักษาเพิ่มเติมเป็นพิเศษ

โดยสรุปคือกรงเลี้ยงไก่หางยาวควรเป็นกรงใหญ่ไม่คับแคบเกินไป เพื่อมีพื้นที่สำหรับหางที่ยาวของมัน หลังคากรงที่ปิดมิดชิดเพื่อป้องกันฝน ซึ่งจะทำให้ขนหางไก่เปียกชื้นและเปื้อนดิน ในขณะที่พื้นกรงควรโรยด้วยทรายที่มีความหนาอย่างน้อย 10 เซนติเมตร พื้นกรงจะต้องไม่มีเศษลวด เศษไม้ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะอาจทำให้หางไก่ไปเกี่ยวพันได้ ไม่ปล่อยไก่ให้เพศผู้ผสมพันธุ์กับตัวเมียมากเกินไป อาจมีตัวเมียแค่ 1 ตัว หรือไม่ต้องใส่ตัวเมียเลย ดังนั้น การเลี้ยงบนคอนตลอดเวลาจึงมีความจำเป็นสำหรับไก่เพศผู้ที่มีหางยาว คอนก็ช่วยรักษาขนหางที่ยาวของมันและป้องกันมันเหยียบหางของมันเอง โดยปกติไก่ที่นำมาเริ่มเลี้ยงบนคอนอายุ 6 เดือนขึ้นไป แต่วิธีนี้ควรหมั่นนำไก่ลงมาเดินบ้างเพื่อให้ไก่ได้ออกกำลังกาย มีความแข็งแรงอยู่เสมอ และไม่จับเจ่าอยู่กับที่นานเกินไป ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นใช้ตู้ไม้แคบๆ เพื่อบังคับไม่ให้ไก่ขยับตัวมาก ภายในมีคอนให้ไก่ยืน ไม่เหยียบหางตัวเอง มีอาหารและน้ำวางไว้ให้ไก่กินตลอดเวลา

การขังไก่ให้ยืนนิ่งๆ ในตู้ไม้แคบๆ แบบในประเทศญี่ปุ่นอาจจะเป็นการดูทรมานไก่มากเกินไป ปัจจุบันผู้เลี้ยงเองได้พัฒนากรงเลี้ยงไก่หางยาวขึ้นมาใหม่ โดยดัดแปลงมาจากกรงนกขนาด 81x66x60 เซนติเมตร จากนั้นนำมาต่อขากรงให้สูงขึ้นอีกประมาณ 90 เซนติเมตร โดยใช้ไม้ระแนง ขนาด 1 นิ้ว หรือ 1.5 นิ้ว มาทำเป็นขากรง ภายในกรงมีคอนสั้น 2 คอนติดตั้งในฝั่งตรงกันข้าม จะทำให้ไก่สามารถกระโดดไปมาได้ ไก่สามารถขยับตัวไปมาได้ กระพือปีกได้ นอกจากนี้ กรงที่ออกแบบมาใหม่นี้ยังป้องกันงู หนู นกกระจอก หรือเหยี่ยวได้อีก ท่านที่สนใจรายละเอียดการสร้างกรงไก่หางยาวแบบใหม่ สามารถศึกษารายละเอียดได้จาก YOUTUBE ในหัวข้อการสร้างกรงไก่หางยาวที่ผู้เขียนได้เผยแพร่ไว้

การเลี้ยงไก่หางยาวมีความแตกต่างจากวิถีการเลี้ยงไก่แบบพื้นบ้านของไทยโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ หากเราปล่อยให้ไก่หางยาวเดินหากินแบบไก่พื้นบ้านทั่วไป หางไก่ที่ยาวจะไปพันกับสิ่งของต่างๆ ทำให้หางไก่ขาดและหางไก่ที่ยาวลากพื้นดินจะเลอะเทอะ เปรอะเปื้อน สกปรก ไม่สวยงาม ไม่น่าดู นี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยเลี้ยงไก่หางยาวไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ถ้ามีการจัดการกรง สถานที่ และวิธีเลี้ยงให้ถูกต้อง ไก่จะสวยงามมากเหมือนไก่ในเทพนิยายหรือปักษาสวรรค์เลยทีเดียว ซึ่งจะเป็นการสร้างความสุขให้ผู้เลี้ยง

แนวทางการจัดการกรงหรือสถานที่เลี้ยงไก่หางยาว มีดังนี้

1. การเลี้ยงปล่อยแบบกรงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ การเลี้ยงแบบนี้เพื่อต้องการการผลิตไข่ไก่เพื่อนำไปฟัก การเลี้ยงแบบนี้ไม่มีความจำเป็นต้องดูแลรักษาหางไก่เป็นพิเศษแต่อย่างใด เราสามารถตัดหางและระย้าที่ยาวของพ่อพันธุ์ออกได้ ให้เหลือสั้นเพียงแค่ 1-2 ฟุตเท่านั้น เพื่อตัดภาระในการดูแลความสะอาดหางไก่

2. การเลี้ยงแบบขังเดี่ยว โดยเลี้ยงตัวผู้ตัวเดียว การเลี้ยงแบบนี้ใช้กรงขนาดใหญ่ 2x3x3 เมตร พื้นกรงเป็นทรายมีความหนา 10 เซนติเมตร พื้นกรงจะต้องเก็บเศษลวดเศษไม้หรือเศษวัสดุอื่นๆ ออกไปให้หมด บริเวณกลางกรงจะต้องไม่มีเสาเพราะอาจทำให้ไก่เดินวน จนทำให้หางไก่พันและขาดในที่สุด นอกจากนี้ มีคอนให้ไก่บินขึ้นไปนอน

3. การเลี้ยงบนคอนไม้รูปตัวที การเลี้ยงแบบนี้ลงทุนน้อย โดยสร้างเสาไม้และด้านบนเป็นคอนสั้นๆ ผู้เลี้ยงใช้เชือกผูกขาไก่ไว้กับคอนในระยะแรกๆ ไก่จะบินลง จากนั้นไก่จะเข็ดและเริ่มเคยชินกับการยืนนิ่งๆ บนคอน อย่างไรก็ตาม หากผู้เลี้ยงใช้เชือกยาวเกินไป ไก่จะไม่สามารถดีดตัวกลับมายืนบนคอนได้ ไก่อาจห้อยหัวตายได้ ดังนั้น ต้องผูกเชือกไม่ยาวเกินไป เพื่อให้ไก่ดีดตัวกลับมายืนบนคอนได้ วิธีนี้ผู้เลี้ยงต้องมั่นใจไม่ให้ไก่ได้รับอันตราย นอกจากนี้ การผูกไก่ไว้บนคอนอาจได้รับอันตรายจากเหยี่ยว งู ได้เหมือนกัน

4. การเลี้ยงในตู้บังคับยืนสไตล์ญี่ปุ่น กรงไก่แบบนี้มีลักษณะคล้ายตู้เสื้อผ้าไม้ ออกแบบมาตั้งแต่สมัยโบราณของนักเลี้ยงไก่หางยาวชาวญี่ปุ่น ตู้มีความสูงประมาณ 1.2-1.5 เมตร มีประตูเปิด 2-3 บาน เป็นตู้ที่มีความกว้างแคบมากไม่ถึงคืบ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ไก่หมุนตัว ภายในตู้มีคอนสั้นเพียงคอนเดียว ช่องว่างในตู้มีไม่มาก โดยไม่ให้ไก่กระโดดไปข้างหน้าหรือถอยหลังได้เลย ไก่จึงถูกบังคับยืนให้อยู่นิ่งๆ มีแผ่นไม้คั่นระหว่างหางไก่และช่องถ่ายอุจจาระไก่เพื่อไม่ให้หางไก่เปื้อน (ดูภาพประกอบ)

5. การเลี้ยงในกรงแบบคอนสั้นคู่ เป็นกรงที่ออกแบบให้ไก่ผ่อนคลาย สามารถขยับตัวได้ กระพือปีกได้ โดยออกแบบให้มีคอนสั้นๆ 2 คอน อยู่ฝั่งตรงกันข้าม เพื่อให้ไก่สามารถกระโดดไปมาระหว่าง 2 คอนนี้ได้ การเลี้ยงแบบนี้ไม่ต้องผูกขาไก่ (รายละเอียดกรงประเภทนี้ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว)

ในวันที่อากาศไม่เปียกชื้นสามารถปล่อยไก่ออกมาเดินเล่นในสนามหญ้า สำหรับไก่ที่มีหางยาว 1-1.5 เมตร ถือว่าพอเพียงสำหรับความงามแล้วเพราะมีการดูแลรักษาไม่ยากเกินไป หากยาวกว่านี้อาจตัดออกบ้างเพื่อสะดวกในการดูแล ยกเว้นเป็นไก่ที่จะไว้โชว์จริงๆ ในกรณีที่หางไก่เปื้อนดินหรือเปรอะเปื้อน ให้ผู้เลี้ยงใส่ถุงมือยาง นำหางไก่มาล้างด้วยแชมพูในอ่างน้ำ ล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง จากนั้นใช้ผ้าเช็ดให้แห้งมาดและเป่าด้วยพัดลมจนแห้ง หางไก่จะสะอาดและฟองฟู งดงามเหมือนเดิม

คุณธงชัยกล่าวถึงการเลี้ยงดูไก่หางยาว ควรเน้นการป้องกันโรคมากกว่าปล่อยให้เป็นโรคแล้วจึงมารักษา ฉะนั้น ความสะอาดของสถานที่เลี้ยง ความใหม่สดของอาหารที่ใช้เลี้ยงไก่จึงเป็นเรื่องจำเป็น ควรให้อาหารเช้าเย็นในปริมาณที่ไก่กินหมดพอดี น้ำไก่ควรเปลี่ยนทุก 1-2 วัน หรือเปลี่ยนทันทีที่มีสิ่งสกปรก ลวดตาข่ายกรงขนาด 2×2 เซนติเมตร เพื่อป้องกันนก หนู และงู การฟักไข่ใช้แม่ไก่ฟักไข่เพื่อป้องกันลูกไก่ขาเสีย อันเนื่องจากเครื่องฟักไม่ได้มาตรฐาน (สำหรับเครื่องฟักที่มีมาตรฐานสูงสามารถนำมาใช้ได้)

ลูกไก่ที่มีอายุ 3-7 วัน ป้องกันโรคด้วยหยอดวัคซีนรวม และให้การกกด้วยความร้อนควบคุมอุณหภูมิ 37.5-38.0 องศาเซลเซียส จนลูกไก่โตอย่างน้อย 3 อาทิตย์ แทงปีกป้องกันโรคฝีดาษ จนมั่นใจไก่มีภูมิคุ้มกันฝีดาษ จึงเปิดมุ้งกันยุงออก

ไก่หางยาวมีสีมาตรฐาน ดังนี้ สีซิลเวอร์ (สีเงิน) สีขาว สีไก่ป่า สีเหลือง (สีโกลเด้น) นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีผู้เพาะเลี้ยงให้เกิดไก่หางยาวสีต่างๆ มากมาย อาทิ สีดำ สีบาร์ รวมทั้งสีแฟนซี

ไก่หางยาวเพศผู้ที่มีลักษณะสวยงาม ควรมีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้

1. ส่วนหัวไก่ มีหงอนสีแดงสดใส หงอนตั้งตรง จักรแหลมคมกระจายดั่งรัศมี ท้ายหงอนกอดกระหม่อม เหนียงคลี่บาน ไม่เหี่ยวยาน มีตุ้มหูขาวเต็มวง

2. สร้อยคอ ดกและยาวปกคลุมไหล่

3. สร้อยหลังหรือระย้า ดกและยาวเรียงกันเป็นแผง มีความยาว 1 ใน 3 ของหาง

4. หาง ดกเป็นพวงและยาว ยิ่งยาวยิ่งดี มีความสมบูรณ์ของเส้นขนไม่ขาดวิ่น

5. มีลีลา งามสง่า กระพือปีกขันตลอดเวลา และสู้ไก่

การสร้างรายได้จากการเลี้ยงไก่ ราคาลูกไก่หางยาวสายพันธุ์มาตรฐานโอนากาโดริ อายุ 1-2 เดือน ราคาตัวละ 1,000-2,000 บาท อย่างไรก็ตาม สำหรับราคาไก่มีหลายราคาขึ้นกับลักษณะของไก่แต่ละตัว จนถึงหลักหมื่นหลักแสน อย่างไรก็ตาม สำหรับเมืองไทย ไก่หางยาวยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ ส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีมาตรฐานและการจัดประกวดจะทำให้ตลาดขยายตัว

ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามหรือปรึกษา คุณธงชัย สาระกูล โทร. 087-979-4088 เลขที่ 23/10 หมู่ที่ 12 ตำบลวัดไทร อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น