สำหรับหลายคน ชา ไม่ได้เป็นเพียง ‘เครื่องดื่ม’ แต่คือ ‘ประสบการณ์’
ไม่ต่างจากกาแฟ ชามีเสน่ห์เฉพาะตัว มีประวัติศาสตร์ มีเรื่องราวการเดินทาง มีความหลากหลาย แตกแขนงไปสู่วัฒนธรรมหลากเชื้อชาติ มีการพัฒนาและผสมผสานตามยุคสมัย กลายเป็นศาสตร์แห่งสุขภาพ ไม่ต่างกับศิลปะแขนงหนึ่ง
หลายคนมีกลิ่นและรสชาติของชาที่หลงใหล เพราะชาแต่ละชนิดมีกลิ่นและรสชาติเฉพาะตัว บางคนชอบกลิ่นหอมอ่อนๆ และสดชื่นของชาเขียว บางคนชอบกลิ่นธรรมชาติของดิน ดอกไม้ อันหอมหวานของชาดำ บางคนชอบชาเย็นๆ ในวันร้อนอบอ้าว บางคนชอบชาร้อนๆ ที่เพิ่มความอบอุ่นร่างกายในวันหนาวๆ
โลกของชายังมีมิติอีกมากมายให้ผู้ที่รักชาได้ศึกษาค้นคว้าและลิ้มรส
แน่นอนว่า ‘กลิ่น’ และ ‘รสชาติ’ ของชา คือ ส่วนสำคัญที่ทำให้เครื่องดื่มชนิดนี้แสนพิเศษ ทำให้ชาเป็น ‘ประสบการณ์’ แห่งการผ่อนคลายและกระตุ้นความรู้สึกสบายอารมณ์ ทำให้รู้สึกมีชีวิตชีวา และสร้างความสุขใจอย่างแท้จริง
แล้วจิตวิทยาเบื้องหลังความน่าหลงใหลของ ‘กลิ่น’ และ ‘รสชาติ’ ชาที่ช่วยฮีลใจผู้คนทั่วโลกคืออะไร?
ความสัมพันธ์ทางจิตวิทยา
ชานั้นมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไปตามแต่ละชนิด เช่น ชาดอกไม้ มีกลิ่นหอมเข้มข้นของดอกไม้ ชาผสมเครื่องเทศ มีกลิ่นหอมเย้ายวนของเครื่องเทศ หรือกลิ่นหอมอ่อนๆ สดชื่นของชาจัสมิน ซึ่งกลิ่นหอมของชาเหล่านี้ล้วนมีสารประกอบที่สามารถส่งผลต่อศูนย์กลางอารมณ์ของสมองได้
กลิ่นของชาบางชนิดช่วยส่งเสริมความผ่อนคลายต่อระบบสมองในส่วนที่ควบคุมอารมณ์ ความทรงจำ และพฤติกรรม โดยเฉพาะพันธุ์คาโมมายล์ ลาเวนเดอร์ หรือมะลิ ที่ช่วยให้รู้สึกสงบและลดความเครียด ขณะที่กลิ่นของชาบางชนิดทำให้รู้สึกสบายใจ อบอุ่น ปลอดภัย ซึ่งช่วยลดความรู้สึกวิตกกังวลหรือเครียดได้เช่นกัน
บนโลกใบนี้มีชาหลากหลายประเภท แต่ละกลิ่นจึงมีโอกาสไป ‘สะกิด’ ความรู้สึกส่วนลึกของสมองที่เชื่อมโยงกับอารมณ์และประสบการณ์บางอย่างในเชิงบวกได้ หลายคนจึงมี ‘เซฟโซน’ ของกลิ่นชาที่ชื่นชอบ เพราะต้องการรู้สึกดีจากการจิบชาเหล่านี้นั่นเอง
การชงชา กลิ่น กับการเจริญสติ
การชงชา และการได้ดมกลิ่นชา สามารถส่งเสริมการเจริญสติได้ เนื่องจากการชงชาเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยสมาธิ สติ และการจดจ่อ ซึ่งช่วยสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ ทั้งกระบวนการชงชา ตั้งแต่การชั่งตวงชา การต้มน้ำ การชง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น เสียงน้ำเดือด กลิ่นหอมขณะชงชา ใบชาที่คลี่ออก สีชาที่ค่อยๆ เปลี่ยน จะทำให้ประสาทสัมผัสของเราถูกกระตุ้นอย่างเรียบง่าย ในเวลาแห่งความเงียบสงบและการจดจ่อนั้น สติของเราจะค่อยๆ ตระหนักรู้กับปัจจุบัน ได้รับรู้ถึง ‘ลมหายใจ’ และเรียนรู้ ‘ความไม่เที่ยง’ ของชีวิตผ่านกระบวนการชงชาไปพร้อมกัน
สารจากธรรมชาติที่ฮีลใจ
ใบชาประกอบด้วยคาเฟอีนและแอลธีอะนีน (L-Theanine) หรือกรดอะมิโนชนิดหนึ่งซึ่งมักพบในชาเขียว และได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยในการผ่อนคลายและลดความวิตกกังวล ขณะที่คาเฟอีนในชาซึ่งมีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกาแฟ เมื่อพูดถึงแง่ของสุขภาพ หลายคนจึงมักเลือกชามากกว่ากาแฟ อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกันทั้งคาเฟอีนและแอลธีอะนีน จึงมีผลต่อการทำงานของสมองที่ล้ำลึก ช่วยเพิ่มพลังงานและความตื่นตัว เช่นเดียวกับทำให้รู้สึกสงบ มีสมาธิ เป็นการสร้างสมดุลระหว่างพลังงานของจิตใจและความผ่อนคลายทางอารมณ์ กลิ่นและรสชาติของชาจึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการ ‘บำบัด’ ทางอารมณ์ ที่มีผลต่อร่างกายและจิตใจ เป็นการผสมผสานทั้งปัจจัยทางจิตวิทยาและสรีรวิทยาเข้าด้วยกัน
สนับสนุนอารมณ์ในเชิงบวก
นอกจากชาจะมีสารประกอบที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ การดื่มชาที่ให้ทั้งรสและกลิ่นจะช่วยดึงให้เราได้ ‘พัก’ จากโลกภายนอก ออกจากความเครียดชั่วยาม เพราะการดื่มชาช่วยลดระดับคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดหลักและจะเพิ่มระดับกลูโคสในกระแสเลือดเมื่อเราเผชิญกับสถานการณ์ที่กดดัน ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน
ที่สำคัญ การได้พักจิบชา ยังสัมพันธ์กับการรับมือกับผู้มีอาการซึมเศร้า เพราะคาเฟอีนในชาบางชนิด เช่น ชาอัสสัม ชาคามิลเลีย สามารถช่วยปิดกั้นตัวรับในสมองไม่ให้จับกับอะดีโนซีน ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าและความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าได้
ความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม
นอกจากในแง่ของสุขภาพ สำหรับหลายคน ชาเป็นมากกว่ามิติของความอร่อย แต่ยังสัมพันธ์กับเรื่องของ ‘วัฒนธรรม’ ส่วนตัว เช่น กลิ่นและรสของชาบางชนิดอาจเป็นการเตือนใจถึงช่วงเวลาดีๆ กับครอบครัว เป็นการรำลึกถึงความทรงจำที่ดีในวัยเด็ก หรือธรรมเนียมประเพณีบางอย่าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนสามารถกระตุ้นอารมณ์เชิงบวกที่ฮีลใจหรือปลอบประโลมใจได้
ทั้งนี้ การดื่มชาบางประเภท เช่น ชาเขียวหรือชาดำ 1 หรือ 2 ถ้วยทุกวันสามารถเพิ่มการเชื่อมต่อในบริเวณสมองที่เกี่ยวข้องกับความจำในการทำงานได้ นอกจากนี้ ชาทั้งสองชนิดดังกล่าวจะช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์บางชนิดในสมองซึ่งอาจส่งผลเสียต่อความจำได้เช่นกัน
ชาจึงเป็นมากกว่าแค่เครื่องดื่ม แต่มันสัมพันธ์กับชีวิตในหลายแง่มุม ชา 1 แก้วหรือ 1 ถ้วยจึงบรรจุไปด้วยกลิ่น รสชาติ สุขภาพ วัฒนธรรม และความทรงจำ ที่คอยฮีลใจเสมอทุกครั้งที่ได้จิบ
คุณมีชาถ้วยโปรดไหม?