โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

องคมนตรีเปิดงาน“99 ปี หลักรัฐประศาสโนบาย ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 น้อมนํา สืบสาน สู่การ ปฏิบัติ”

เดลินิวส์

อัพเดต 07 ก.ค. 2565 เวลา 10.37 น. • เผยแพร่ 07 ก.ค. 2565 เวลา 03.37 น. • เดลินิวส์
องคมนตรีเปิดงาน“99 ปี หลักรัฐประศาสโนบาย ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 น้อมนํา สืบสาน สู่การ ปฏิบัติ”
องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “99 ปี หลักรัฐประศาสโนบาย ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 น้อมนํา สืบสาน สู่การ ปฏิบัติ” เพื่อเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงมีคุณูปการต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้

ที่ ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “99 ปี หลักรัฐประศาสโนบาย ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 น้อมนํา สืบสาน สู่การ ปฏิบัติ” โดยมี พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รองเลขาธิการ ศอ.บต. ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. รองผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บุคลากร เจ้าหน้าที่ ของ ศอ.บต. ข้าราชการผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดจนผู้ผ่านการอบรบหลักสูตรปฐมนิเทศเจ้าหน้าที่ของรัฐ ฝ่ายพลเรือน กว่า 300 คน เข้าร่วมในพิธี ในการนี้ พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี ได้เยี่ยมชมนิทรรศการพระราชกรณียกิจที่สำคัญของ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 9 และล้นเกล้ารัชกาลที่ 10 เยี่ยมชมนิทรรศการสื่อการเรียนรู้เพื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้มีความเข้าใจในพื้นที่ผลการดำเนินงานพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งเยี่ยมชมนิทรรศการผู้มีผลงานดีเด่นของจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย

โอกาสนี้ พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี ได้กล่าวอาศิรวาทราชสดุดี เนื่องในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานหลักรัฐประศาสโนบาย ครบรอบ 99 ปี ความว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่มีลักษณะพิเศษทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ก่อเกิดความเจริญงอกงาม สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ให้ประจักษ์แจ้งในรัชสมัย รัชกาลที่ 6 เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ทําให้ทรงเข้าพระทัยในชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกร เป็นที่มาของการพระราชทานเครื่องประกอบ “ลูกเสือมณฑลปัตตานี” ขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทยมุสลิม พร้อมทรงสืบสานกิจการรถไฟต่อจากรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นําพาความเจริญในด้านต่างๆ มาสู่พื้นที่

พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท กล่าวถึงการพระราชทานหลักรัฐประศาสโนบายสําหรับผู้ปฏิบัติราชการในมณฑลปัตตานี โดยพระราชหัตถเลขา ที่ 3/78 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2466 ซึ่งเวียนบรรจบครบ 99 ปี ในวันนี้ ให้เป็นแนวทางที่สําคัญต่อการบริหารจัดการและพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งให้คนดีเข้ามาพัฒนาบ้านเมือง และด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งทรงทุ่มเทพระวรกายประกอบ พระราชกรณียกิจนานัปการ ผ่านโครงการพระราชดําริกว่า 281 โครงการ ทั้งยังพระราชทานยุทธศาสตร์ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ เพื่อประโยชน์สุขของปวงประชาอย่างยั่งยืน โดยพระราชกรณียกิจของพระองค์ ได้รับการสืบสานโดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะรักษา สืบสาน และต่อยอด และครองแผ่นดิน โดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป

”กิจกรรม “99 ปี หลักรัฐประศาสโนบาย ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 น้อมนํา สืบสาน สู่การ ปฏิบัติ” โดยน้อมนํา สืบสาน หลักรัฐประศาสโนบายสู่การปฏิบัติ จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงมีคุณูปการต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง ศอ.บต. ได้น้อมนำ สืบสานหลักรัฐประศาสโนบายสู่การปฏิบัติ โดยการเสนอแนะคุณลักษณะอันพึงประสงค์เจ้าหน้าที่ของรัฐ การจัดทำสื่อการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ (E-learning) การจัดทำแบบทดสอบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Testing) การพัฒนาหลักสูตรสำคัญ และการสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นทิศทางการบริหารจัดการและ พัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านนิทรรศการและสื่อที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามสำหรับ เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนทั่วไปที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการดังกล่าวได้ในห้วงตลอดเดือนกรกฎาคม 2565 ณ บริเวณ ชั้น 1 ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ตั้งแต่เวลา 8.30 - 16.30 น.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0