โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘ให้ลูกได้เบ่งบานในแบบของเขา’ คุยกับ ‘ตุ๊ก อังสุมาลิน’ คุณแม่ผู้สร้างพื้นที่อุ่นใจให้ลูก LGBTQ+

INTERVIEW TODAY

เผยแพร่ 23 มิ.ย. 2564 เวลา 17.00 น. • AJ.

ไฮไลท์

  • การคัมเอาต์*ของลูกเป็นแรงบันดาลใจให้ ‘แม่ตุ๊ก’ ตัดสินใจเปิดเพจ ‘LGBTQ+'s Mother: แม่ของลูกหลากหลายทางเพศ’ หวังให้เป็นสื่อกลางสำหรับครอบครัวอื่นๆ ในการแบ่งปันเรื่องราวของเด็กวัยรุ่น LGBTQ+
  • เธอมองว่าการยอมรับเพศสภาพของลูกบางครั้งต้องใช้เวลา แต่เธอคิดว่า ‘ความรัก’ ของพ่อแม่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเปิดใจ เพราะหน้าที่ผู้ปกครองคือการสร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ สำหรับเด็กๆ ให้เขาได้เติบโตอย่างอุ่นใจและเป็นตัวของตัวเอง
  • ชวนคุยกับ ‘แม่ตุ๊ก - อังสุมาลิน อากาศน่วม’ แม่ของ ‘ปาร์คเกอร์’ Trans Masculine* วัย 23 ปี ที่นอกจากบทบาทแม่เลี้ยงเดี่ยวแล้ว เธอยังทำหน้าที่เป็นนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน ที่ให้ความสนใจเรื่องกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะ

นอกเหนือจากเรื่องราวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มคนที่เราอยากนำเสนอใน 'เดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ' อีกกลุ่มคือเหล่ามิตร และครอบครัวที่อยู่เบื้องหลัง รวมถึงกำลังใจแสนสำคัญที่เปรียบเสมือน ‘มือ’ ที่คอยประคับประคองและพร้อมช่วยเหลือชาว LGBTQ+ อยู่เสมอ

‘ตุ๊ก อังสุมาลิน’ คือคุณแม่นักกิจกรรมคนเก่ง ที่หากมีเวทีไหนต้องการเสียงของ ‘ครอบครัว’ เธอก็พร้อมไปปรากฏตัวและแบ่งปันความคิดในแง่มุมของคุณแม่ที่มีลูกเป็น LGBTQ+ อย่างแข็งขัน ในขณะที่ ‘ปาร์คเกอร์’ ลูกชายของเธอก็เป็นกระบอกเสียงสำคัญในฐานะ ‘Aromatic Asexual Trans Musculin’* เช่นกัน โดยครอบครัวของตุ๊กมองว่า ‘ความรัก เวลา และความพยายาม' เป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการก้าวผ่าน ‘ความไม่เข้าใจ’ นำไปสู่การปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกันในฐานะครอบครัว LGBTQ+ อย่างมีความสุข 

เพราะเธอเชื่อว่าการมีครอบครัวที่ซัพพอร์ตไม่ควรเป็นเรื่องของความ ‘โชคดี’ แต่ควรเป็น ‘หน้าที่’ ที่ผู้ใหญ่ต้องตั้งใจสร้างขึ้นมามากกว่า

.

แม่ตุ๊ก คุณแม่นักสิทธิฯ

“แม่ทำงานประจำค่ะ แต่ว่าทำงานเป็นนักสิทธิมนุษยชนที่สนใจเกี่ยวกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำเรื่องเด็กกับครอบครัวด้วย เราก็ยึดการทำงานหลัก แต่ถ้ามีงานวิทยากร ก็ลางานไปบ้าง (หัวเราะ) แต่เราลาตามสิทธินะ ค่อนข้างโชคดีที่เพื่อนร่วมงานและเจ้านายเข้าใจหมด เห็นว่าเราทำประโยชน์ให้สังคม เจ้านายเขาก็ไม่ได้ว่าอะไร”

จุดเริ่มต้นของเพจ ‘LGBTQ+'s Mother: แม่ของลูกหลากหลายทางเพศ’

“หลังจากน้องปาร์คเกอร์ Come Out (อ่านว่า คัมเอาต์ แปลว่า เปิดเผยตัวตน อาจคัมเอาต์เป็นเพศอะไรก็ได้ เช่น เกย์ เลสเบี้ยน เควียร์ ฯลฯ) * ก่อนหน้านั้นเรามีความรู้เรื่อง LGBTQ+ น้อยมาก เรียกว่าพื้นฐานที่คนทั่วไปรู้กัน คืออาจจะมี เลสเบี้ยน โฮโม ทอม ดี้ กะเทย เรารู้แค่นั้น ไม่เหมือนปัจจุบันที่แยกเป็น LGBTQIA+* ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มาก

เรื่องมันเริ่มต้นจากตอนที่ปาร์คเกอร์มาขอไปทำกิจกรรมกับกลุ่มนอนไบแนรี่ (Non-binary) * ซึ่งแม่ไม่ได้ต่อต้านเรื่อง LGBTQ+ อยู่แล้ว แล้วพอลูกชวนว่าถ้าแม่อยากรู้แม่ก็มาด้วยกันสิ จะได้รู้ว่าเขาไปทำกิจกรรมอะไร แล้วคนที่เป็นแบบเขาเนี่ย จริงๆ แล้วเป็นแบบไหน

ต้องบอกว่าแม่กับปาร์คเกอร์สนิทกันมาก แล้วเราเป็นห่วงเขา เรารู้ว่าการเป็น LGBTQ+ ในสังคมไทยมันยังไม่เป็นที่ยอมรับร้อยเปอร์เซ็นต์ มันยังมีคนที่ต่อต้าน เรากลัวว่าลูกเราจะไปเจอคนที่ต่อต้านก็เลยเป็นห่วงเขา เลยลองออกไปดูโลกว่าทิศทางในปัจจุบันเป็นยังไง โอเคตัวแม่ยอมรับก็จริง แต่เราจะทำให้ลูกเรามีสังคมที่ปลอดภัย และสามารถเป็นตัวเองได้ยังไงบ้าง

สิ่งที่เราตกใจคือปฏิกิริยาของทุกคนที่เห็นเราไปทั้งแม่ทั้งลูก มีคำถามว่า 'พาแม่มาได้ยังไง?' 'ทำไมแม่ยอมรับ?' บางคนเข้ามากอดเราเลยนะ เขาดีใจมากที่เขาเห็นผู้ปกครองที่ยอมรับลูก LGBTQ+ ซึ่งเราก็มีคำถามในใจเหมือนกันว่าทำไมจะไม่ยอมรับล่ะ?

แต่จุดนั้นเราก็ต้องเข้าใจว่าเด็กบางคนมีปัญหากับครอบครัวจริงๆ ที่เจอหนักสุดคือโดนที่บ้านตัดขาดเลย ซึ่งการที่เราไปกับลูกมันก็ทำให้บางคนคิดว่า เออ บ้านนี้เขายังยอมรับได้ บ้านเราอาจจะยอมรับเขาก็ได้ หลายคนมาปรึกษาว่าอยากให้ครอบครัวเขายอมรับเขาเหมือนที่เรายอมรับลูกบ้าง ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เราอยากเข้ามาทำตรงนี้จริงจัง

เราเคยเจอครอบครัวที่มีลูกเป็น LGBTQ+ แล้วเขาตัดสินตัวเองไปแล้วว่าเป็นความผิดตัวเองที่ทำให้ลูกเป็นแบบนี้ ต้องบอกว่าคนรุ่นเราบางทีโตมาไม่ได้มีความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศมากเท่าเด็กสมัยนี้ หาว่าเป็นโรคจิต วิปริต เป็นเรื่องน่ารังเกียจ ซึ่งตั้งแต่เด็กๆ เราก็มีเพื่อนเป็น LGBTQ+ แล้วเราไม่เข้าใจเลยว่ามันเดือดร้อนใคร? เราถึงรู้สึกว่ามันควรเปลี่ยนได้แล้ว”

วัยรุ่นของ 'แม่ตุ๊ก'

“เล่าก่อนว่าเราถูกเลี้ยงมาแบบโบราณ เราซึมซับสิ่งที่คนสมัยก่อนสอน ซึ่งเราเห็นทั้งข้อดีข้อเสีย คนสมัยก่อนเขามีเหตุผลแฝงแหละ แต่บางทีเขาไม่ได้อธิบายตรงๆ ว่าเหตุผลนั้นคืออะไร แต่เขาสั่งให้เชื่อ ก็ต้องเชื่อ แล้วเด็กดีคือเด็กที่เชื่อฟังผู้ใหญ่ ซึ่งบางเรื่องมันใช่ค่ะ แต่ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปตลอด ความคิดของคน มาตรฐานสังคม ก็เหมือนกัน ในช่วงเวลา 50 ปีที่แล้วสังคมอาจจะบอกว่ามันควรมีแค่ผู้ชายกับผู้หญิงเท่านั้น คนเราโตมามีหน้าที่แต่งงานมีลูก แต่บริบทสังคมมันไม่ได้เป็นแบบนั้นตลอดไป ดังนั้นคนเราก็ควรดูบริบทของสังคม และอยู่กับปัจจุบันให้ได้มากที่สุด

มันก้ำกึ่งแหละ หัวใหม่กับหัวเก่า แต่เราคิดว่าจริงไม่จริงมันควรมีเหตุผลมารองรับ ฟังมาก็ไม่ได้เชื่อหมด แต่คิดก่อน อาจจะไม่ได้ต่อต้านเพราะเราก็ไม่ใช่คนชอบมีปัญหา แต่ถามว่าเชื่อคนง่ายไหม ไม่ค่ะ! อย่างตอนเป็นวัยรุ่น เราชอบศิลปะ ชอบดนตรี ตอนนั้นมีเพื่อนบอกว่าเราขวางโลกเหมือนกัน แต่เราถือคติว่าถ้าเป็นกิจกรรมส่วนรวมเราทำ ซึ่งในเวลาที่เป็นตัวของตัวเองเราก็เป็นของเราแบบนี้ เพื่อนนี่คือจะแปลกใจมากที่เราไปเที่ยวคนเดียว ดูหนังคนเดียวได้ หรือแม้แต่การแต่งตัวเราก็ไม่ได้ใส่รองเท้าแบบที่เขาใส่กัน แต่ใส่รองเท้าผ้าใบไม่ก็รองเท้าบูท อินดี้อยู่คนเดียว”

แม่-ลูก = เพื่อนกัน

“เราเลี้ยงลูกแบบเพื่อน อะไรที่เราเคยได้รับมาแล้วเราไม่ชอบ เราจะไม่ทำแล้วเด็กนะ เขาไม่ได้ฟังที่เราพูดหรอก เขาดูเราทำ มันจึงเป็นสิ่งที่เราเตือนตัวเองมากๆ เลยว่าถ้าเราจะสอนอะไรเขาเนี่ย ตัวเราทำได้ไหมล่ะ

เราอยากให้ลูกยอมรับเราใช่ไหม ดังนั้นอะไรที่เราทำไม่ดี เราก็ต้องยอมรับผิดเหมือนกัน เราต้องเข้าใจว่าถึงเราจะโตกว่าเราก็ทำผิดพลาดได้ ไอ้การมาบอกว่าเราเป็นแม่เราถูกทุกอย่างมันไม่เวิร์ก เพราะมันไม่มีใครไม่เคยทำพลาด สิ่งนี้คือสิ่งที่เราปลูกฝังเขาเสมอ

แล้วเราเลี้ยงลูกมาเราอยากให้เขาคุยกับเราได้ทุกเรื่อง ด้วยความที่เราถูกเลี้ยงมาแบบดุมาก ไม่อยากคุยกับแม่เลยเพราะเดี๋ยวโดนดุ มันก็เลยเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดกับลูกเรา เราต้องทำให้ลูกเราสบายใจที่จะเล่าเรื่องของเขา สิ่งนี้น่าจะเป็นความต่างระหว่างรุ่นเรากับรุ่นลูก

แต่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นตัวเองของเขานะ เราคิดว่าเราก็คือเรา ลูกก็คือลูก ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องคิดเห็นเหมือนกันทุกเรื่อง อย่างหลักๆ ที่เราสอนคือให้มีความรับผิดชอบ ไม่ทำผิดกฎโรงเรียน สอบให้ผ่าน และที่เน้นเป็นพิเศษคืออย่ามีปัญหากับครูที่โรงเรียน แล้วก็ให้ความร่วมมือกับเพื่อนๆ มิฉะนั้นหนูจะอยู่ยาก เท่านี้เอง ไม่ได้บังคับให้สอบได้คะแนนดีทุกวิชาอะไรแบบนั้น ปาร์คเกอร์นี่ไม่ได้ให้ไปเรียนพิเศษจนถึง ป.6 นะคะ จนเขามาขอไปเรียนเองนั่นแหละ แต่ปาร์คเกอร์เป็นเด็กที่รับผิดชอบอยู่แล้วค่ะ เราไม่ล้ำเส้น เพราะเราถือว่าอะไรที่เราไม่ชอบ ลูกเราก็ไม่น่าจะชอบเหมือนกัน”

แม่ตุ๊กและปาร์คเกอร์ ในงาน Being LGBTI in Asia  : Thailand Country Dialogue เมื่อเดือนมิถุนายน 2018
แม่ตุ๊กและปาร์คเกอร์ ในงาน Being LGBTI in Asia : Thailand Country Dialogue เมื่อเดือนมิถุนายน 2018

เส้นทางของ ‘ปาร์คเกอร์’

“ช่วงที่เขายังไม่คัมเอาต์ เขามีปัญหาอยู่พักนึงเหมือนกัน เราถึงรู้สึกเลยว่าช่วงวัยนี้ของเด็กที่เป็น LGBTQ+ คือช่วงเวลาที่ครอบครัวต้องอยู่เคียงข้างเขามากๆ มันเป็นช่วงเวลาที่เขากำลังค้นหาตัวเองว่าอยากเป็นอะไร หรือไม่อยากเป็นอะไร

เขาจะเริ่มรู้แล้วว่าเขาแตกต่าง อย่างปาร์คเกอร์จะเดินมาบอกว่าปาร์คเกอร์ไม่อยากเล่นกับเพื่อนผู้หญิง เพราะเขาชอบไม่เหมือนกัน เขาจะเล่นกับเพื่อนผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ แต่เขาก็ไม่ได้ไปสุดเท่าเด็กผู้ชาย เขาก็จะมาบ่นๆ ว่าไม่รู้จะไปอยู่กลุ่มไหน ตอนนั้นเราเริ่มกังวลใจเหมือนกันว่าเขาจะไม่มีสังคม แต่โชคดีที่เขาชอบดนตรี ทำให้มีที่ไป คือทำวงกับเพื่อน กลับมาบ้านก็ซ้อมดนตรี แล้วก็มีเล่นโชว์ที่โรงเรียนบ้างค่ะ

ซึ่งที่จริงก็มาคุยกันทีหลัง ปาร์คเกอร์บอกว่าที่ชอบดนตรีเพราะว่ามันไม่มีเพศ ใครก็เล่นได้ เขาเคยมาพูดกับเราว่าเขาไม่รู้จะไปอยู่กับกลุ่มไหน แต่พอมาเล่นดนตรีแล้วมันรู้สึกสบายใจ

แล้วที่เห็นชัดเลยคือช่วงมัธยม เขาจะเริ่มมาคุยกับแม่แล้วว่า เขาไม่อยากเป็นเด็กผู้หญิงแล้ว จนช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย เขามาบอกแม่ว่า ขอไม่แต่งหญิงแล้วได้ไหม คือเขารู้สึกว่าเขาเป็นผู้ชายมากกว่า ขอตัดผมสั้นและใส่ชุดผู้ชายได้ไหม

ตอนนั้นตกใจไหม ไม่ตกใจนะ แต่มันกังวล มันเริ่มมีความคิดแล้วว่าสังคมที่เขาจะต้องไปอยู่มันโอเคใช่ไหม อาจารย์เขา เพื่อนเขาจะว่ายังไง จะรับเขาได้ไหม จะต่อต้านรึเปล่า? เราเห็นกันตามข่าวนี่ว่าเด็กที่โชคร้ายบางคนโดนกลั่นแกล้ง เราบอกเขาเลยว่าวันแรกแต่งชุดนักศึกษาหญิงไปก่อนนะลูก แล้วไปถามอาจารย์มาว่าแต่งชุดผู้ชายได้ไหม ถ้าใส่ได้ แม่ซื้อชุดให้ พอรู้ว่าไม่มีปัญหา แม่ก็จัดไป”

'การเปลี่ยนแปลง' ที่ครอบครัวต้อง 'ปรับตัว'

“ตั้งแต่นั้นมาปาร์คเกอร์ก็แต่งตัวเป็นผู้ชาย แล้วเขาก็มาบอกว่าให้ปฏิบัติกับเขาเหมือนเป็นเด็กผู้ชาย ไม่ใช่เด็กผู้หญิงได้ไหม ซึ่งเราโอเคทุกอย่าง มันไม่ได้ยาก แต่ช่วงแรกๆ อาจต้องมีปรับตัวบ้าง ซึ่งบางทีเขาหงุดหงิดนะ แล้วครอบครัวเราก็มีทั้งคุณตาคุณยาย จนเราต้องปรับความเข้าใจกันว่าทุกคนที่บ้านเลี้ยงหนูเป็นเด็กผู้หญิงมาเป็นสิบๆ ปี วันหนึ่งมันเปลี่ยนไป ก็ขอให้แม่และคุณตาคุณยายปรับตัวหน่อย อย่าเพิ่งโกรธกัน

ยิ่งตอนที่เขาไปทำกิจกรรมกับกลุ่ม LGBTQ+ เขาจะยิ่งเห็นความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม เขาก็จะกระตือรือร้นในการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นมากจนอาจจะก้าวร้าวบ้าง ถ้าใครเห็นต่างจะแย้งด้วยความหงุดหงิด จนเราต้องบอกเขาว่าทุกอย่างมันต้องใช้เวลานะ ทั้งการเปลี่ยนแปลง ทั้งความคิดของคน เพราะฉะนั้นจะบอกลูกให้เข้าใจว่าคุณตาคุณยายรักเขานะ อาจจะยังตามไม่ทันบ้าง หรือยังไม่เข้าใจทั้งหมดบ้าง ก็ต้องให้เวลาครอบครัว เราใช้เวลาระยะนึงเลยค่ะกว่าทุกอย่างจะเข้าที่ ตอนนี้ปาร์คเกอร์ก็ใจเย็นขึ้นมากแล้วด้วย”

'ความห่วง' เป็นเหตุ

“เรามองว่าพ่อแม่ทุกคนอาจจะเป็นห่วงมากกว่า เราเห็นปัญหาจากคนรอบข้างหลายคนด้วย มีวัยทำงานบางคนมาปรึกษาเราว่าเขามีประสบการณ์คัมเอาต์ที่ไม่ดี บางคนกว่าครอบครัวจะยอมรับก็ใช้เวลานานมาก บางทีบอกที่บ้านไปแล้วแม่ช็อก แม่ไม่คุยด้วยเลย 6 เดือนได้ หรือบางครอบครัวลูกเป็นทรานส์แมน (Transman) ไล่ลูกออกจากบ้านเลย เราตกใจนะ คนนี้อายุยังไม่ถึง 20 เลยโดนไล่ออกจากบ้านแล้ว

กับวัยรุ่น เราจะบอกว่าอย่าไปดึงดัน แม่มองในมุมของพ่อแม่ พ่อแม่ทุกคนรักลูกนะ แต่ว่าพ่อแม่ถูกสอนมาแบบนี้ คนที่เป็น LGBTQ+ สมัยก่อนถูกสังคมตีตรารุนแรงมาก กลัวว่าถ้าหนูเจอแรงต้านแบบนั้น พ่อแม่ที่ไหนก็รับไม่ได้ เราเชื่อว่าพื้นฐานพ่อแม่ทุกคนรักลูก แล้วบางครอบครัวก็อาจจะคาดหวังตามความคาดหวังสมัยก่อนที่ว่าคนที่สมบูรณ์พร้อมคือคนที่แต่งงานและมีครอบครัว อันนี้คืออุดมคติของคนรุ่นเขาไง”

บอกพ่อแม่ยังไง? เมื่อรู้ตัวว่าเป็น LGBTQ+

“สำหรับวัยรุ่นที่เป็น LGBTQ+ ลองเกริ่นๆ กับพ่อแม่ก่อนว่าผู้ใหญ่เขารู้เรื่องพวกนี้มากน้อยแค่ไหน ว่าเขาเกลียด ต่อต้าน หรือรับได้ ถ้าเขายังพอเปิดใจ ก็ค่อยๆ พูดถึงความหลากหลายทางเพศ พูดถึงคนมีชื่อเสียงที่เขาประสบความสำเร็จ แล้วลองฟังดูว่าพ่อแม่มีทัศนคติยังไง แล้วค่อยบอกว่าตัวเองคิดแบบนี้นะ ดูปฏิกิริยาพ่อแม่ก่อน

ถ้าพูดออกไปว่าเราเป็นแบบนี้ แล้วเขาต่อต้าน ให้เราถอยออกมาก่อน บางทีเราอาจจะต้องให้เวลาพ่อแม่กลับไปทบทวน จากประสบการณ์ที่เราเคยทำกิจกรรมกับ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพนะคะ หลายครอบครัวยอมรับโดยปริยาย หมายถึงว่าเขารู้สึกว่าเขาทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าถามเขาว่าถ้าให้เลือกได้อยากให้ลูกกลับไปเป็นปกติ เขาก็เลือกให้ลูกกลับไปเป็นปกติ ซึ่งเราถอนหายใจเลยนะ คิดดูว่าเด็กที่เขามาได้ยินพ่อแม่พูดแบบนี้ มันจะมีกำแพงนะคะ

เรามองว่าคนเป็นลูกก็ไม่ได้อยากให้พ่อแม่เสียใจ แล้วถ้าเกิดพ่อแม่แสดงออกแบบนี้เขาก็รู้แล้วแหละ เขาจะรู้สึกถึงปมนะคะ หลายคนมาพูดกับเราว่าเขารู้สึกว่าเขาไม่มีค่า แค่เพราะเขาเป็น LGBTQ+ ต่อให้เรียนเก่ง ทำงานดีเลิศขนาดไหน พ่อแม่ก็ไม่รักหนูอยู่ดี”

'พ่อแม่' ก็ต้อง 'คัมเอาต์' เหมือนกัน

“การเปิดตัวกับพ่อแม่ว่ายากแล้ว บางครั้งการที่พ่อแม่คัมเอาต์ยากกว่าอีกนะ เราเปิดเพจ ‘LGBTQ+'s Mother: แม่ของลูกหลากหลายทางเพศ’ ตั้งใจจะให้คำปรึกษาผู้ปกครอง อยากให้เขาได้พูดถึงความรู้สึก ได้พูดคุยกัน แต่สารภาพเลยว่าเปิดเพจมา 2 ปีกว่า ไม่มีพ่อแม่คนไหนยอมมาปรึกษาเราเลยค่ะ เคยแม้กระทั่งไปทำกิจกรรมที่ชวนพ่อแม่ที่มีลูกหรือสงสัยว่าลูกเป็น LGBTQ+ มาคุยกัน มีคนตอบรับว่าจะมา แต่พอวันจัดงานไม่มีคนมาเลยก็มี เรามองว่าเขาอาจจะยอมรับในบ้าน แต่เขาไม่อยากเปิดตัว ที่จริงถามว่าทำไมเราถึงถูกเชิญไปเป็นวิทยากรบ่อย เพราะมันไม่มีใครออกมาเลยมั้งคะ มีแต่เรานี่แหละ (หัวเราะ)

ตัวเราเคยโดนถามว่า 'นี่เธอเลี้ยงลูกยังไงลูกถึงเป็นแบบนี้?' หนักสุดเคยมีคนโดนถามว่า 'ลูกเป็นทรานส์นี่ เอากันยังไง' เราแบบ ฮะ? กล้าถามด้วยเหรอ (หัวเราะ) ซึ่งเราก็พยายามบอกกับเด็กๆ ว่าในขณะที่หนูถูกสังคมตัดสินแล้ว พ่อแม่ก็ถูกตัดสินด้วยเหมือนกัน"

วันเวลาที่เสียไป ทดแทนได้ด้วยความ ‘เข้าใจ’

“จากประสบการณ์ตรง สมัยวัยรุ่น แม่มีเพื่อนเป็นเกย์ แล้วพ่อแม่เขาพาเข้าออกโรงพยาบาลจิตเวชเยอะมาก เรียกว่าไปมาหมดแล้วทั่วประเทศ เคยเป็นซึมเศร้า กินยาฆ่าตัวตาย เคยถูกใส่ชุดมัดแบบคนไข้จิตเภท ทะเลาะกันใหญ่โตมาตลอดจนโตเป็นผู้ใหญ่ อยู่มาวันนึงเขามีแฟนเป็นผู้ชาย แม่เขาจู่ๆ ก็รับได้ เลิกต่อต้าน ผูกข้อไม้ข้อมือ แล้วอยู่กับแฟนคนนี้มา 20 ปีแล้วค่ะ เหมือนจะจบดี แต่ช่วงเวลาที่ผ่านมา แทนที่เขาจะได้ใช้ชีวิตที่ดี กลับต้องมาเข้าออกโรงพยาบาล เพียงเพราะที่บ้านไม่ยอมรับ เรายังคิดเลยว่าทำไมแม่ไม่ยอมรับตั้งนานแล้วเนอะ ไม่งั้นคงมีความสุขกันไปแล้ว นี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่คุณตาคุณยายปาร์คเกอร์ยอมรับ เพราะเขาเคยเห็นเคสของเพื่อนเรามาก่อน

เราไม่รู้หรอกว่าคนอื่นคิดยังไง แต่สำหรับบางคน การที่ครอบครัวของเขายอมรับมันมีความหมายมากเลยนะ เราเป็นแม่คนเรายังนึกไม่ออกเลยว่าเราจะไม่ยอมรับลูกเราได้ยังไง ความสุขของเราคือเห็นลูกเรายิ้ม มีความสุข แค่นี้เอง เราคิดว่าเวลาที่มีค่าที่จะได้อยู่ด้วยกันไม่ได้มากนักหรอก โลกนี้มันไม่แน่นอน

เรามองดูลูกเราในวัยที่มันกำลังจะสวยงาม เบ่งบาน โตเป็นผู้ใหญ่เนี่ย ไม่ใช่ว่าเขาควรได้รับมือที่คอยประคองเขาไว้เหรอ เหมือนต้นไม้ที่อยากได้ปุ๋ย ถ้าอย่างนั้นเรามาเป็นคนรดน้ำพรวนดิน ให้ลูกเราได้เติบโตไปอย่างสวยงาม ไม่ดีกว่าเหรอคะ

เข้าหาลูกอย่างไร ไม่ให้เราห่างกันไป

“อย่างที่เราบอกว่าช่วงเวลาที่เขากำลังค้นหาตัวเองมันสำคัญมาก ตอนที่เขาบ่นว่าเข้ากับเพื่อนไม่ได้ เราก็พยายามชวนคุย และที่สำคัญคือเราจะไม่ตัดสิน ถ้าเรื่องนี้เราไม่สนใจเหมือนเขา เราจะแค่ให้เขาเล่าให้ฟัง ให้เขาเล่าสิ่งที่เขาเจอมาในแต่ละวัน แสดงความใส่ใจกับเขา แต่ถ้าเขาหงุดหงิดจริงๆ เราก็ต้องเข้าใจด้วย รอเขาพร้อมคุยก่อนค่อยว่ากัน แต่ต้องทำให้เขารู้ว่าเราใส่ใจนะ แต่ก็ไม่เร่งเร้าอะไรค่ะ ทุกคนต้องมีพื้นที่ส่วนตัว แต่ให้เขารู้ว่ามีเราอยู่ที่บ้าน และพร้อมรับฟังเขาเสมอ

เราคิดว่าที่บ้านควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กที่สุดแล้ว คิดดูทุกวันนี้เด็กไทยทำอะไรบ้าง ต้องเรียนพิเศษ ต้องสอบเข้า เหนื่อยมากๆ ยิ่งเด็กเป็น LGBTQ+ แล้วที่บ้านไม่ยอมรับ ยิ่งไม่ต้องมานั่งกังวลอีกเหรอ ว่าที่บ้านจะรู้ไหม พ่อกับแม่จะว่ายังไง เด็กไม่ควรจะเสียเวลากับการกังวลเรื่องพวกนี้ไหม แล้วเวลาเด็กมีปัญหาจากข้างนอกมา มันควรต้องเป็นพ่อแม่ไหมที่เด็กควรจะคิดถึงเป็นคนแรก เด็กควรจะคิดไหมว่า อ๋อ เดี๋ยวกลับบ้านไปพ่อแม่ก็โอ๋ฉัน ฉันจะไม่เป็นไร เด็กทุกคนควรจะรู้สึกแบบนี้ รู้สึกปลอดภัย อบอุ่น และไว้ใจคุณพ่อคุณแม่ของเขา”

วัยรุ่น LGBTQ+ กับความท้าทายที่ต้องการ 'การสนับสนุน'

“แล้ววัยรุ่นที่เป็น LGBTQ+ เขาจะไม่ได้แค่เผชิญแรงต้านจากสังคมอย่างเดียว แต่ยังต้องรับมือกับปัญหาสุขภาพของตัวเองด้วยนะคะ อย่างปาร์คเกอร์เป็นทรานส์ ปาร์คเกอร์ต้องเทกฮอร์โมน พ่อแม่ก็ต้องซัพพอร์ตถูกไหมคะ เราต้องพาเขาไปปรึกษาหมอ ต้องเทคฮอร์โมนยังไงถึงจะปลอดภัยที่สุด ต้องตรวจสุขภาพ มีค่าใช้จ่ายอีก แล้วยิ่งคนที่เป็นทรานวูเมน (Transwoman) อยากจะผ่าตัด อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเองทั้งหมดทุกกระบวนการ ครอบครัวก็ต้องซัพพอร์ตถูกไหมคะ อย่างน้อยคนที่บ้านต้องเป็นที่ปรึกษาได้ มันควรจะเป็นแบบนี้

เราพูดเสมอนะ สำหรับคนที่เป็น LGBTQ+ ถ้าคนรอบข้างยังไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ ให้อดทนเพราะมันใช้เวลา แต่ถ้ามันรุนแรง หรือทำยังไงก็ไม่เข้าใจสักที ให้ปล่อยค่ะ ให้มันเป็นปัญหาของเขา อย่าลืมว่าเราต้องเคารพตัวเอง เราไม่ได้ผิดปกติ เรามีคุณค่า เรารักตัวเองได้ก็เพียงพอ การคัมเอาต์ในพื้นที่ปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ ถ้ารอบตัวเรายังไม่มีคนที่เราไว้ใจ ให้ปล่อยไปก่อน แล้วใช้เวลาทำความเข้าใจกันค่ะ"

คุยกับลูกเรื่องเพศและ 18+

“นอกเหนือจากการไม่ยอมรับ คือการไม่พูดคุย ไม่สนใจที่ลูกเป็น LGBTQ+ ลูกพาแฟนมาแนะนำ นิ่ง คนอื่นถามว่าลูกเป็นยังไง นิ่ง อาจจะเป็นเพราะสังคมไทยไม่ค่อยคุยเรื่องเพศกันด้วย ซึ่งจริงๆ เราควรต้องแนะนำกับลูกได้ ตั้งแต่เรื่องเพศสภาพ เรื่องฮอร์โมน ไปจนถึงเรื่องเซ็กส์ที่ปลอดภัย

เด็กบางคนไม่คุยกับพ่อแม่ แล้วไปเทกฮอร์โมนเอง อันตรายนะคะ ที่ถูกต้องมันต้องมีการตรวจสุขภาพ เพราะร่างกายทุกคนไม่เหมือนกัน มันส่งผลกระทบต่อร่างกายได้มากมายเลย เรื่องพวกนี้พ่อแม่ไม่ควรละเลย บางทีพลาดไปแล้วมันเอาคืนไม่ได้นะ

เริ่มต้นอาจจะลองหารายการพวกนี้ในโซเชียลมีเดียดูด้วยกันก็ได้ มันยากจริงๆ สำหรับคนรุ่นแม่ ตัวแม่ก็ไม่เคยคุยกับพ่อแม่เหมือนกัน มันถือเป็นเรื่องต้องห้ามเนอะ แต่ที่จริงถ้าไม่คุยกับพ่อแม่จะให้ไปคุยกับใคร อยากให้คุณพ่อคุณแม่มองว่าเป็นเรื่องสุขภาพ ให้มองว่าเรื่องเซ็กส์กับเรื่องรสนิยมทางเพศไม่ใช่เรื่องผิด ไหนจะเรื่องความยินยอม (Consent) ความปลอดภัย โรคทางเพศสัมพันธ์ ปัญหาท้องในวัยเรียน มันมีเรื่องที่พ่อแม่ควรต้องเรียนรู้ และบอกกับลูกตั้งเยอะ”

ความสุขของเรา หรือ ความสุขของลูก

“ถามตัวเองก่อนเลยว่าเราคาดหวังอะไรจากการมีลูก ความคาดหวังของเรามันทำให้เขาไม่มีความสุขหรือเปล่า เราอยากให้เขาใช้ชีวิตอย่างมีความสุข หรือเราอยากให้เขาทำให้เรามีความสุข เรารักแบบครอบครอง หรือเรารักเขาและเราหวังให้เขามีชีวิตของเขา

ถ้าอยากให้เขามีความสุข คุณต้องเปิดใจก่อน เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่ลูกๆ อยากได้ยินที่สุดน่าจะเป็นประโยคที่บอกว่าพ่อแม่ไม่ได้ผิดหวังกับสิ่งที่เขาเป็น ไม่ว่าเขาจะเป็นยังไง เขาก็เป็นลูกของพ่อแม่เสมอ สิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กๆ รู้สึกอุ่นใจที่สุดแล้วค่ะ”

.

ผลงาน 'แม่ตุ๊ก'

อ่าน 'บ้านนี้มีความหลากหลาย : คู่มือการดูแลสุขภาวะของเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ' คู่มือการดูแลสุขภาวะของเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่มี 'แม่ตุ๊ก' เป็นหนึ่งในทีมสร้างสรรค์

Facebook Page : LGBTQ+'s Mother: แม่ของลูกหลากหลายทางเพศ

.

คำศัพทท์ LGBTQ+ น่ารู้ :

Aromatic / Asexual = การไม่ฝักใจทางเพศ และความรักโรแมนติก คือไม่สนใจในเรื่องเพศ หรือความดึงดูดทางเพศ เป็นความรู้สึกและอัตลักษณ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ บางคนอาจไม่สนใจเรื่องการมีคู่ครอง ในขณะที่บางคนมี โดยไม่มีเรื่องเพศหรือความรู้สึกทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง - bbc.com 

Come out = คำนี้เป็นศัพท์ที่มักแปลว่า การเปิดตัว หรือ สารภาพ ซึ่งไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะมาจากวลี Coming out ที่มาจากสำนวน Coming out of closet แปลว่า ‘ออกมาเสียจากตู้’ หมายถึงการไม่ได้ปิดบังหรือหลบซ่อนอีกต่อไป - dudeadam 

LGBTQIA+ = Lesbian (เลสเบี้ยน), Gay (เกย์), Bisexual (ไบเซ็กชวล), Transgender (ทรานเจนเดอร์), Queer (เควียร์), Intersex (อินเตอร์เซ็กส์ - คนที่กิดมามีลักษณะกายภาพที่บ่งบอกเพศชัดเจนไม่ได้ อาจเกิดมามีอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้งสองเพศ มีปริมาณฮอร์โมนหรือโครโมโซมเพศผิดปกติ ฯลฯ), Asexual (ผู้ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ) และ/หรือ Ally (พันธมิตร)

Non-Binary = อัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่ได้อยู่ในระบบ 2 ขั้วแบบหญิงชาย อาจรู้สึกผสมผสานทั้ง 2 เพศ หรืออาจไม่ได้รู้สึกว่าตนเป็นเพศไหนเลย ไม่มีเพศ - spectrumth.com

Transgender = แปลว่าคนข้ามเพศ หมายถึงบุคคลที่เปลี่ยนแปลงเพศของตัวเองแล้ว อาจเกิดจากการรับฮอร์โมนเพศตรงข้าม หรือการผ่าตัดแปลงเพศ - parentsone.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0