โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

"คอร์แซร์" รุดแก้ปัญหาขยะพลาสติกในไทย ชูเทคโนฯสมัยใหม่ "เปลี่ยนขยะเป็นน้ำมันชีวภาพ"

สยามรัฐ

อัพเดต 09 มิ.ย. 2564 เวลา 07.47 น. • เผยแพร่ 09 มิ.ย. 2564 เวลา 07.47 น. • สยามรัฐออนไลน์

นายจุสซี เวกโก ซาโลรันตา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คอร์แซร์ กรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องลงมืออย่างจริงจัง หากเราต้องการสร้างความแตกต่างและช่วยเยียวยามลภาวะจากขยะพลาสติกซึ่งเป็นปัญหารุนแรงที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ความรับผิดชอบส่วนใหญ่ตกเป็นของบริษัท ผู้ผลิต และรัฐบาล ที่ต้องร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยคอร์แซร์ให้ความสำคัญกับการประสานงาน การพัฒนา การจัดหาเงินทุน และการสร้างพันธมิตรกับหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมทั้งของรัฐบาลและเอกชน เพื่อช่วยให้องค์กรเหล่านั้นสามารถลดปริมาณการสร้างขยะและริเริ่มการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อโลกอย่างจริงจัง ซึ่งประโยชน์ในการดำเนินงานเหล่านี้ยังส่งผลถึงการสร้างผลกำไรหรือประโยชน์ต่อองค์กรอีกด้วย หากเราร่วมมือกันและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ โซลูชั่นทางวิทยาศาสตร์รุ่นล่าสุด และรูปแบบธุรกิจแนวใหม่ที่มีอยู่ทุกวันนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เราจะสามารถร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีกว่าได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้มลภาวะจากขยะพลาสติกกำลังทวีความรุนแรงเข้าขั้นวิกฤติทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบเกือบทุกแง่มุมของชีวิตเรา นับตั้งแต่น้ำในมหาสมุทรไปจนถึงน้ำที่เราใช้บริโภค ตั้งแต่อากาศที่เราหายใจไปจนถึงอาหารที่เรากิน ขยะพลาสติกสามารถสร้างปัญหาลุกลามเข้าสู่ชีวิตความเป็นอยู่ของเราและเข้าสู่ร่างกายของเราได้ในที่สุด ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสุขภาพของมนุษย์ซึ่งบางครั้งกลายเป็นโรคภัยที่รุนแรง รวมถึงการทำลายสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติที่มีความสำคัญ จนเป็นสาเหตุของการตายและสูญพันธุ์ของสัตว์หลายสายพันธุ์บนโลก

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในปัจจุบันคือการฝังกลบและไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากผู้คน ก่อให้เกิดขยะสะสมทั้งบนบกและท้องทะเล ซึ่งสร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง คอร์แซร์นำเสนอโซลูชั่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเปลี่ยนให้ขยะพลาสติกกลายเป็นน้ำมันชีวภาพขั้นสูง (Advanced Bio-oil) เทียบเท่าน้ำมันดิบ (Crude Oil Equivalent: COE) ซึ่งนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า เช่น น้ำมันเบนซินและดีเซล และสำคัญที่สุดคือเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกชิ้นใหม่ ดังนั้น วิธีการนี้จึงสามารถเปลี่ยนวัสดุเหลือทิ้งให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง พร้อมช่วยลดความจำเป็นในการใช้ทรัพยากรน้ำมันแบบเดิม ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม

นายจุสซี กล่าวว่า มลภาวะจากขยะพลาสติกยังทวีความรุนแรงขึ้นเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งมาพร้อมอุปสงค์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกต่อหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ปกป้องสุขภาพส่วนบุคคล ส่งผลถึงการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น อัตราการผลิตพลาสติกรายปียังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยมีรายงานการผลิตทั่วโลกอยู่ที่ 315 ล้านเมตริกตันต่อปี หากแนวโน้มยังคงเป็นเช่นนี้ ภายในปี ค.ศ. 2050 ขยะพลาสติกกว่า 12 พันล้านตันจะทับถมอยู่ในหลุมขยะฝังกลบและปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ เฉพาะในประเทศไทยมีการสร้างขยะพลาสติกมากกว่า 2 พันล้านกิโลกรัมต่อปี ซึ่งในปัจจุบันมีการนำไปรีไซเคิลในอัตราน้อยกว่า 10%

"เรามุ่งมั่นอย่างมากในการขจัดมลภาวะจากขยะพลาสติกซึ่งเป็นพิษต่อสภาพแวดล้อมของเมืองไทย คอร์แซร์ กรุ๊ป ยังคงค้นหาผู้คน บริษัท องค์กร และหน่วยงานรัฐบาลที่มีอุดมการณ์เดียวกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมมือกันสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนขยะพลาสติกที่ไร้ค่าให้กลายเป็นทรัพยากรที่สร้างผลกำไรได้อย่างยั่งยืน ปัจจุบัน เราทำงานร่วมกับบริษัทและองค์กรชื่อดังของไทยหลายแห่ง อาทิ ไมเนอร์ กรุ๊ป, เซ็นทารา โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท, ชาเทรียม โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท, โรงเรียนนานาชาติ โชรส์เบอรี่, บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นต้น และยังคงเปิดรับความร่วมมือกับทุกองค์กรที่ต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์อนาคตแห่งสิ่งแวดล้อมที่สะอาดปราศจากมลพิษเพื่อคนรุ่นต่อไปในวันข้างหน้า"

คอร์แซร์ เป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการโรงงานรีไซเคิลขยะพลาสติกให้กลายเป็นน้ำมันและผลิตภัณฑ์เคมีบนเนื้อที่ 6,400 ตารางเมตรในกรุงเทพฯ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเปลี่ยนขยะพลาสติก อาทิ ถุงพลาสติกใช้แล้ว วัสดุห่อหุ้มสินค้า และหีบห่อบรรจุภัณฑ์ ให้กลายเป็นน้ำมันกำมะถันต่ำ โรงงานมีกำลังการผลิตราว 180,000 ลิตรต่อเดือน และจะเพิ่มเป็น 600,000 ลิตรต่อเดือนในปี ค.ศ. 2021 ด้วยการขยายเนื้อที่โรงงานอีก 3,200 ตารางเมตร

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น