โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"อย่าไปยึดติดในความดีของเรา" - วินทร์ เลียววาริณ

THINK TODAY

เผยแพร่ 04 มิ.ย. 2562 เวลา 07.12 น.

พระไพศาล วิสาโล เป็นนักบวชระดับคุณภาพรูปหนึ่งของบ้านเรา ผมกับท่านเคยแลกเปลี่ยนหนังสือกัน ผมอ่านงานของท่านมาตลอด เอางานของท่านมาลงเสมอๆ

ข้อเขียนเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ตรงกับใจผม และเป็นเรื่องที่ผมอยากเขียน แต่ไม่เขียน เพราะหากผมเป็นคนเขียนเอง ก็… นะ…

จึงขออนุญาตใช้พระไพศาลเป็นโล่กำบัง ยกคำของท่านมาลงก็แล้วกัน ใช้พระคุ้มหัวน่าจะปลอดภัยกว่า

แต่ก็ไม่แน่ เดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ มาพนันกันมั้ยว่า พระคุ้มหัวได้จริงหรือเปล่า

วินทร์ เลียววาริณ

………………..

บทความโดยพระไพศาล วิสาโล

ในทางพุทธศาสนามองว่า มนุษย์เรานั้นทุกคนล้วนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ และรวมไปถึงสัตว์ด้วย พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อนมนุษย์ในปัจจุบัน แต่ทุกคนที่เรารู้จักในวันนี้ เคยเป็น พ่อ แม่ พี่ น้อง สามีภรรยา ในชาติใดชาติหนึ่ง ในวัฏสงสารอันไม่มีประมาณ นั้นก็คือความรู้สึกร่วมที่เรามีต่อกัน

นอกจากความเหมือนกันที่เราเป็นมนุษย์เหมือนกัน มีบรรพบุรุษเหมือนกัน หรือมีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้งแล้ว เราทุกคนยังอยู่ได้เพราะผู้อื่น ยิ่งในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความผาสุกของเราแต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลหรือน้ำพักน้ำแรงของคนทั้งโลก

นี่คือสำนึกใหม่ที่จะช่วยพัดพากระแสแห่งความโกรธเกลียดที่กำลังไหลบ่าทั้งในสังคมไทยและทั่วโลก กระแสความโกรธเกลียดนั้นเป็นกระแสที่มุ่งมองเห็นแต่ความต่างมากกว่าความเหมือน ต่างสีผิว ต่างภาษา ต่างศาสนา ต่างกระบวนการ ทั้งๆ ที่ความต่างนั้นเป็นส่วนเสี้ยวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความเหมือน แต่มนุษย์เราโดยธรรมชาติมักจะมองเห็น "ความต่าง" มากกว่า "ความเหมือน"

ตราบใดที่มนุษย์เรายังมองเห็นความต่างมากกว่าความเหมือน เราจะเป็นปฏิปักษ์ต่อกันได้ง่าย เพราะมนุษย์เราไม่มีทางที่จะเหมือนกันได้ 100% แต่การที่มนุษย์มีความแตกต่างแค่ส่วนเสี้ยว มีความเหมือนกันมากกว่า 90% ถ้าหากว่าเรามองเห็นแต่ความต่าง เราก็จะเห็นผู้อื่นเป็นคนละพวกกับเรา และจะนำมาสู่ความเหินห่างและความเป็นปฏิปักษ์กันในที่สุด

เราจำเป็นต้องมีมุมมองหรือทัศนคติที่ช่วยเสริมสร้างจิตสำนึกใหม่ที่ทำให้เราเห็นซึ่งกันและกัน เป็นเพื่อนมนุษย์มากกว่าเป็นคนที่แตกต่างกัน จำเป็นจะต้องมีความใจกว้าง ยอมรับความแตกต่างทางความคิด โดยตระหนักว่าแม้จะคิดต่างกัน แต่ก็มีอะไรที่เหมือนกันหลายอย่าง

ขณะเดียวกันก็ไม่ยึดติดในความคิด ไม่ด่วนสรุปว่าความเห็นของตนเท่านั้นที่ถูก ข้อมูลของตนเท่านั้นที่จริง เพราะเหตุว่าแม้ความเห็นของเราจะถูกก็จริง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าความเห็นของผู้อื่นจะผิดไปด้วย ในทางพระพุทธศาสนามีคำว่า 'สัจจานุรักษ์' เป็นเครื่องเตือนใจว่าแม้ความเห็นของเราจะถูก ข้อมูลของเราจะจริงแต่ก็อย่าไปด่วนสรุปว่าความเห็นของผู้อื่นที่ต่างจากเรานั้นผิด ข้อมูลของเขาที่ต่างจากเรานั้นไม่ถูกต้อง

ที่สำคัญคืออย่าไปยึดติดในความดีของเรา เพราะถ้าเรายึดติดในความดีของเรา เราก็จะมองคนอื่นไม่เหมือนเรา ว่าเป็นคนที่ผิด เป็นคนที่ไม่ถูกต้อง

ทุกวันนี้เรายึดติดในความคิดในความดีของเรามากเกินไป เราจึงมองคนอื่นที่ไม่เหมือนเรา ที่คิดต่างกับเราว่าเป็นศัตรู

หลวงพ่อเฟื่อง โชติโก เจ้าอาวาสวัดธรรมสถิต ซึ่งมรณภาพไปแล้ว ท่านกล่าวว่าความเห็นของเราแม้จะถูก แต่ถ้าเรายึดติดไว้ มันก็ผิด เพราะไม่มีอะไรที่จะยึดติดถือมั่นได้ และถ้าหากว่าเรายึดติด เราก็สามารถจะทำร้ายผู้อื่นในนามของความถูกต้องของเราได้

ที่สำคัญคือเราไม่ควรมองว่าผู้อื่นเป็นศัตรู ศัตรูของมนุษย์ไม่ใช่คน แต่คือความโกรธ ความเกลียด ความหลง เมื่อใดก็ตามที่เรามีความโกรธหรือถูกความโกรธเข้าครอบงำใจ ให้ระลึกว่าความเป็นมนุษย์ของเรากำลั่งถูกบั่นทอน

ถ้าเราตระหนักตรงนี้ เราจะไม่ยอมให้ความโกรธความเกลียดมาครองใจ เมื่อเผชิญหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่คิดต่างจากเรา และนี่คือภูมิคุ้มกันที่จะช่วยทำให้เราเผชิญกับกระแสแห่งความโกรธเกลียด สังคมไทยควรมีภูมิคุ้มกันด้วยจิตสำนึกดังกล่าว เพื่อที่จะสามารถก้าวข้ามกระแสแห่งความโกรธเกลียด ไปให้พ้นจากความความรู้สึกโกรธเกลียด กลัว ซึ่งกำลังไหลบ่าและครอบงำสังคมไทยในปัจจุบัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0