โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เวทมนตร์ของ ‘ภูมิ’ นักพัฒนาซอฟต์แวร์วัย 17 ปี ผู้เลือกออกจากโรงเรียนและมุ่งสู่ซิลิคอนแวลเลย์

The101.world

เผยแพร่ 28 มิ.ย. 2562 เวลา 08.18 น. • The 101 World
เวทมนตร์ของ ‘ภูมิ’ นักพัฒนาซอฟต์แวร์วัย 17 ปี ผู้เลือกออกจากโรงเรียนและมุ่งสู่ซิลิคอนแวลเลย์

ศุภณัฐ อเนกนำวงศ์ เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

โดยปกติแล้วเมื่อคนเรามีความฝันอยากทำอาชีพใด เราก็มักจะเดินตามเส้นทางการศึกษา เรียนให้ผ่านชั้นมัธยม สอบแข่งขันสู่มหาวิทยาลัย เพื่อเข้าเรียนในคณะที่ตรงกับสายอาชีพนั้นๆ ทว่า เมื่อพิจารณาโลกยุคใหม่ที่มีอาชีพหลากหลายกว่าสาขาวิชาเรียน เส้นทางแบบนี้จะยังสามารถใช้เดินไปสู่อาชีพได้ครอบคลุมหรือเปล่า

ย้อนกลับไปราว 3 ปีก่อน 'นักพัฒนาซอฟต์แวร์' นามว่า ภูมิปรินทร์ มะโน หรือ ภูมิ มีวัยเยาว์เป็นนักเรียนมัธยมต้นทั่วไป เขาเคยมีพฤติกรรม ‘ติดเกม’ คล้ายเด็กในรุ่นเดียวกัน เลือกที่จะโดดเรียนบ้างเป็นครั้งคราว โดยให้เหตุผลว่า "ไม่รู้จะเรียนไปทำไม?"

แต่ด้วยความสนใจด้านการเขียนโปรแกรม ภูมิจึงมีโอกาสเข้าร่วมและชนะการแข่งขันพัฒนาซอฟต์แวร์ในไทยหลากหลายรายการ เช่น การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 19 ภายหลังภูมิเริ่มเห็นแล้วว่า การศึกษาในโรงเรียนอาจไม่ตอบโจทย์ความสนใจและเป้าหมายของเขา ภูมิจึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนตั้งแต่ ม.4 เพื่อเริ่มท่องโลกแห่งการทำงานด้วยวัยเพียง 15 ปี

เขาทำงานในบริษัทสตาร์ทอัพไทยเป็นเวลา 1 ปี และย้ายไปทำงานบริษัทสตาร์ทอัพในเมืองแห่งเทคโนโลยีชื่อดังอย่างซิลิคอนแวลเลย์​ (Silicon Valley) ในตำแหน่ง Software Developer หรือ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ด้วยพลังและความสามารถของเขาเอง

สำหรับหลายคน คำว่า 'นักพัฒนาซอฟต์แวร์’ อาจฟังไม่คุ้นหูเท่ากับคำว่า ‘โปรแกรมเมอร์’ แท้จริงแล้วทั้งสองอาชีพทำหน้าที่เขียนโปรแกรมเหมือนๆ กัน แต่นักพัฒนาซอฟต์แวร์จะมีหน้าที่นำปัญหาของผู้ใช้มาคิด หาวิธีแก้ไข และรังสรรค์ซอฟต์แวร์ออกมาให้เรานำไปใช้ได้จริง และนี่คือหน้าที่ หรือเวทมนตร์ของภูมิ เด็กหนุ่มที่เลือกเดินออกจากเส้นทางการศึกษาในโรงเรียน

แม้จะเข้าสู่โลกการทำงานแล้ว ภูมิไม่ได้หยุดเรียนรู้แต่อย่างใด กลับกันเขามีอิสระในการศึกษาตามความต้องการและเป้าหมายที่เขาเลือกเอง ปัจจุบันด้วยวัย 17 ปี หลังจากกลับมาไทยเขาเริ่มถ่ายถอดสิ่งที่เชื่อ ความรู้และประสบการณ์ที่มีให้กับคนรุ่นเดียวกันและน้องๆ รุ่นต่อไป ผ่านกิจกรรมมากมาย เช่น Young Creator’s Camp ซึ่งเขานิยามไว้ว่า “ค่ายเปลี่ยนวัยมันส์ เป็น ‘นักสร้างสรรค์’ ใน 3 วัน” และใช้เวลาช่วงเย็นของวัน สอนชิวๆ ในคลาสพิเศษที่เปิดให้คนจับกลุ่มกัน 3-6 คน เพื่อเรียนในเรื่องใดก็ตามที่อยากเรียนรู้จากเขา แบบฟรีๆ

101 ชวนภูมิมานั่งคุยอย่างเปิดใจ ทั้งเรื่องชีวิตตัวตนในฐานะ ‘นักพัฒนาซอฟต์แวร์’ วัยเยาว์ ประเด็นเรื่องการศึกษาในมุมของคนที่เลือกเดินออกจากระบบ รวมถึงประสบการณ์การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ของภูมิ เพื่อถ่ายทอด ‘เวทมนตร์’ ที่เขามีสู่รุ่นต่อไป

 

ทำไมเราถึงหันมาสนใจด้านเขียนโปรแกรม

น่าจะเริ่มจากช่วงติดเกมชื่อ Minecraft ของในเกมมันเริ่มไม่พอ เลยคิดว่าจะดีกว่าไหมถ้าเราสร้างของใหม่ๆ ขึ้นมาเอง โดยไม่ต้องสนใจข้อจำกัดที่มีอยู่ในเกม เราเลยลองดู พอเห็นฝรั่งเขาเขียนโค้ดกัน ก็เลยคิดว่าถ้าลองเขียนโค้ดเองน่าจะเพิ่มของเข้ามาได้

ทำไปซักพักก็เริ่มอยากได้เงิน เลยลองเขียนเว็บขายของง่ายๆ พอได้เรียนรู้แล้วก็เริ่มเขียนแอพฯ ปกติได้ สมัยนั้นถ้าเขียนภาษา Java ได้ ภาษา C ได้ (ภาษาคอมพิวเตอร์) หรือเขียนเว็บได้ ก็ทำอะไรได้เยอะแล้ว

หลังจากนั้นก็ค่อยๆ เริ่มเบื่อเกม เรารู้สึกว่าการเขียนโปรแกรมมันสนุกกว่าเล่นเกมอีก เลยคิดว่า งั้นไม่เล่นเกมแล้วก็ได้ ที่บ้านก็ไม่ค่อยชอบให้เล่นเกมเท่าไหร่ พอเราทำตรงนี้แล้วก็สนุก ไม่ได้เล่นเกม เขาก็ค่อนข้างโอเค

 

 

ทำไมการเขียนโปรแกรมถึงดึงดูดเรามากกว่าการเล่นเกม

เล่นเกมมันจำกัดขอบเขตแค่ในเกม แต่ถ้าเขียนโปรแกรมมันเหมือนเรา ‘เสก’ อะไรก็ได้ในโลกความจริง สมมติว่าเดือนนี้ใช้เงินเยอะมาก แต่เราไม่รู้ว่าเราใช้ไปกับอะไร เราก็เขียนโปรแกรมให้อ่าน SMS ที่ธนาคารส่งมา แล้วก็ไปกรุ๊ปเป็นหมวด จะได้รู้ว่าเดือนนี้กินบิงซูไปเยอะ เดือนนี้ไปออนเซนบ่อย แค่นี้ก็ไม่ต้องมานั่งทำบัญชีเหมือนคนอื่นแล้ว

 

จากความสนใจเฉพาะของเรา ทำให้ชีวิตในโรงเรียนเป็นอย่างไร 

ตอนประถมที่ยังไม่ได้เริ่มเขียนโปรแกรม ชีวิตก็เหมือนเด็กปกติทั่วไป เป็นเด็กดีและเด็กเหี้ยในคนเดียวกัน คือบางครั้งไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ก็จะทำตัวแย่ๆ ไว้ก่อน ถึงช่วงมัธยมต้น เราก็ยังไม่รู้ว่าเราใช้ชีวิตไปทำอะไร

พอช่วง ม.3-ม.4 เราเริ่มมีของใหม่ให้สนใจ คือการเขียนโปรแกรม แล้วเรา enjoy กับมัน เรารู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่ในกระดานหมากรุก กระดานเดียวกันที่ทุกคนต้องอยู่ จบมัธยมแล้วก็เรียนมหา'ลัย เรียนมหา'ลัยเสร็จก็ทำงาน มันเป็นวงจรที่ทุกคนต้องอยู่กับมันไปเรื่อยๆ

พอได้มาเขียนโปรแกรม ความรู้สึกตอนนั้นคือ เราเหมือนมีเวทมนตร์บางอย่างที่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่จะมี แล้วเราสร้างอะไรแบบที่เราต้องการได้

 

จุดเปลี่ยนจริงๆ ที่เราเลือกมาเดินทางนี้คืออะไร

เราได้ไปเข้าค่ายชื่อ ‘ต่อกล้าให้เติบใหญ่’ หลังจบจากการแข่งประกวดซอฟต์แวร์ เป็นค่ายที่เปลี่ยนแนวคิดเรา จากที่คิดว่าเขียนโปรแกรมแล้วจะต้องสนใจเรื่อง technical อย่างเดียว ก็เปลี่ยนมาสนใจฝั่งโปรดักท์ เปลี่ยนไปแก้ไขปัญหาให้คนอื่น เราไม่เคยคิดว่าเป็นโปรแกรมเมอร์จะต้องสนใจเรื่องพวกนี้ คิดแค่ว่า เขียนโปรแกรม รับเงิน แล้วก็ใช้ชีวิตให้มีความสุข สิ้นเดือนก็ไปเที่ยว สิ้นเดือนก็รับตังค์ (หัวเราะ)

ในค่ายเราได้ทำโปรเจ็กต์ชื่อว่า FlipEd (ห้องเรียนกลับทาง) ตอนนั้นเราไม่ค่อยชอบวิธีที่เราเรียนอยู่ เราเลยลองคิดว่าจะดีกว่าไหม ถ้าเราเรียนแล้วมันมีการโต้ตอบ (interactive) เลยพยายามเอาวิธีการเรียนแบบ project-based และห้องเรียนกลับทาง มาทำให้กลายเป็นโปรดักท์ที่คุณครูสามารถใช้ได้

หลังจาก FlipEd ก็มีโปรเจกต์ชื่อ Axi Platform เราได้ไอเดียจากงาน Google I/O ที่เขาเปิดตัว Physical Web คืออุปกรณ์ทุกอย่างที่มีอยู่ในสาธารณะจะมีเว็บของตัวเอง เช่น เวลาเดินเข้าโรงพยาบาลก็จะมีเทคโนโลยีคอยถามว่า “จะจองคิวผู้ป่วยไว้เลยไหม?” เพื่อไม่ต้องไปต่อคิว

 

การทำโปรเจ็กต์ทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเลือกออกจากระบบการศึกษาด้วยหรือเปล่า 

เป็นส่วนสำคัญที่สุดเลย ตอนแรกที่เขียนโปรแกรม เราไม่ได้รู้สึกอยากลาออก คิดว่าเรียนไปด้วยก็ไม่เห็นเสียเวลาชีวิตมาก จบมาเอาวุฒิเท่ๆ ก็ไม่ได้แย่อะไร

ตอนแรกเป้าหมายเราก็แค่มีอาชีพ รับตังค์ แล้วก็ไปเที่ยว แต่พอทำได้โปรดักท์ เราเห็นว่ามันมีปัญหาอยู่รอบตัว อย่างตอนเด็กๆ ชอบได้ยินคนพูดว่า ‘ช่างแม่ง’ ‘ปัญหาแบบนี้เหรอ ช่างมันดิ’ ‘โรงพยาบาลต่อคิวเยอะ ก็ช่างมัน!’ หรือเวลาระบบเว็บอะไรล่ม ‘ก็ช่างมัน!

เราเกลียดคำพวกนั้น รู้สึกว่ามันไม่ใช่ มนุษย์เป็น Free Thinking Entity เป็นคนที่มีความคิดความอ่านของตัวเอง ทำไมต้องมาทำตัวเป็น Deterministic Machine ทำตัวเหมือนเป็นคอมพิวเตอร์ อะไรที่มันมีขั้นตอนชัดเจนก็ให้คอมฯ ทำไปสิ

 

คิดว่าปัญหาที่ภูมิเรียกว่า deterministic machine เกิดจากอะไร

เหมือนเราไม่ได้ก้าวพ้นจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม คือในยุคนั้นเราพยายามแบ่งของต่างๆ เป็นส่วน มีคนดูแลสายพาน มีคนดูแลเครื่องจักร มีคนดูแลพาร์ทต่างๆ จนมาถึงยุคดิจิทัลแล้วแท้ๆ แต่เราว่ามันก็ยังมีสิ่งนั้นอยู่

ระบบการศึกษายังเอาวิธีคิดแบบยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมมาใช้แบ่งคนออกเป็นส่วนๆ แล้วก็ให้คนนึงเก่งแค่เรื่องเดียว ตอนนี้จะมีคำว่า T-shape คือคนที่เป็น generalist มีความรู้กว้างๆ กับคนที่เป็น specialist คือมีความรู้ลึกๆ เราว่าระบบการศึกษาให้ความสำคัญกับ specialist มากเกินไป มันไม่เหมือนยุคก่อนแล้ว

ตอนนี้เราเป็นโปรแกรมเมอร์ เราดูทั้งด้านโปรดักท์และด้านธุรกิจ หรือยกตัวอย่างอื่น เช่น นักดนตรีหลายคนเริ่มทำเครื่องดนตรีด้วยตัวเอง หรือเริ่มทำดนตรีด้วยโค้ดแล้ว

ถ้าเราบอกว่ามันต้องมีวิทย์-คณิต กับศิลป์-คำนวณ มันจะไม่มีสายที่เรียกว่า นักดนตรีคอมพิวเตอร์เลย นี่คือสิ่งที่ระบบการศึกษาไม่ให้ความสำคัญ คือการมองว่าทุกศาสตร์เป็นศาสตร์เดียวกัน หรือความ cross-disciplinary

 

แม้จะมีเด็กบางส่วนที่ไม่ได้ตั้งใจเรียน หรือให้ความสำคัญกับการศึกษาในห้องเรียน คิดว่าทำไมระบบการศึกษาถึงยังกล่อมเกลาเด็กได้ขนาดนี้

ถึงนักเรียนจะไม่ตั้งใจเรียน แต่สภาพแวดล้อมมันยังเอื้อให้เขาเห็นโลกในมุมมองนั้น ถ้าเด็กที่เกิดมาในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างเปิด เด็กก็ย่อมมีความอยากที่จะ explore แต่พอเจอสภาพแวดล้อมอย่างนี้ ก็อาจกลายเป็นว่า เออ เราเก่งแค่อย่างเดียวก็พอ

 

กลัวที่จะออกมาจากเส้นทางกระแสหลักไหม 

เราไม่กลัวอะไรเลย อันนี้เป็นความรู้สึกแบบหัวรุนแรง (radical) ของเราอย่างหนึ่ง คือถ้าจะโดนรถชนตาย เราก็ต้องโดนรถชนตายตั้งแต่เมื่อวานแล้ว เพราะฉะนั้นทุกการตัดสินใจที่เราทำ เราคิดมาดีแล้ว

เราเลยรู้สึกว่ามันไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น เพราะตอนเราเรียนเราก็ไม่ตั้งใจขนาดนั้นอยู่แล้ว ถึงฝืนไปก็คงไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี ฉะนั้นก็คงไม่ต่างกันมากถ้าเอาเวลาไปทุ่มกับสิ่งที่เราสนใจ

 

ตอนนั้นเราคุยกับพ่อแม่ยังไง

คุยกันบนพื้นฐานของสิ่งที่เกิดขึ้นจริง (evidence-based) มากๆ พยายามหาตัวอย่างว่า เราแข่งอันนี้มาแล้วชนะ เราทำอันนี้ได้ ทำอันนั้นได้

พ่อแม่ก็พยายามไปไกล่เกลี่ยคนที่โรงเรียน เช่น ขอให้ภูมิไม่ต้องเข้าไปเรียนแล้วเข้าไปสอบได้ไหม แต่ก็ไมได้ ตอนนั้นพ่อแม่เลยเปลี่ยนมาอยู่ข้างเราเลย เพราะระบบการศึกษามันยังไม่ยืดหยุ่นเลย แล้วทำไมลูกต้องอยู่กับอะไรแบบนี้ หลังจากนั้นพ่อแม่เราก็พาไปลาออก

 

หลายคนคงตั้งคำถามหรือแสดงความเห็นกับทางเลืองของภูมิเยอะ ภูมิทำยังไงกับความเห็นเหล่านั้น

เราว่าเราก็ต้อง respect ในความคิดของเขา ประเทศไทยมี 60 ล้านกว่าคน ประเทศก็กว้าง ร้อยพ่อพันแม่ เขาอาจจะอยู่ในพื้นที่ของเขา ซึ่งมันจริงในบริบทของเขา แต่มันอาจจะไม่จริงในบริบทของเรา

เรายอมรับว่า เราจะพาตัวเองไปอยู่ในระบบใหม่ๆ ที่ไม่จำกัดอยู่กับระบบการศึกษาในโรงเรียน เพราะเราเชื่อว่าการมีการศึกษา ไม่เท่ากับวุฒิการศึกษา

 

 

เริ่มเข้าไปสำรวจโลกการทำงานตอนไหน

ประมาณ 2-3 เดือนหลังจากที่เราลาออก เราก็เข้า Meetup เยอะ แล้วไปเจอโครงการ The Internship เห็นว่าเป็นโครงการที่ให้เด็กมหา'ลัยปี 2-4 เข้าไปฝึกงาน หลังจากอ่าน FAQ ที่เขียนว่า ‘เด็กมัธยมสมัครได้ไหม’ เขาบอกถ้ากล้าก็มา เราก็ไม่รู้ว่าประชดหรือเปล่า

พอส่งไปก็ประหม่านิดนึง เพราะคนรอบข้างก็ดูเหมือนมีอายุ ใส่ชุดนักศึกษากันหมด เราเลยใส่ชุดนักศึกษาปลอม เสื้อเชิ้ตปลอม กางเกงปลอม ซึ่งมันดูกลืนๆ (หัวเราะ) ตอนเข้าไปสัมภาษณ์ก็ตื่นเต้นหน่อย แต่พอเขาอ่าน Resume ก็เห็นและยอมรับ เราเลยเลือกฝึกงานที่บริษัท iTAX ที่ทำโปรแกรมคำนวณภาษี เพราะว่าแม่เราใช้อยู่ แล้วเห็นว่ามันชอบเด้งบ่อยๆ เลยอยากลองเข้าไปแก้ดู

 

ได้เจออะไรที่ท้าทายตัวเราบ้าง

เราว่ามันเซอไพรส์มากกว่าท้าทาย เพราะตอนเราเข้าไป พี่พนักงานคนอื่นยังไม่เคยเขียน library (ชุดคำสั่ง) หนึ่งที่ชื่อว่า React จากเด็กฝึกงานปกติ เลยกลายเป็นคนสอนงาน หลังจากนั้นก็ช่วยส่วนที่เป็นระบบหลังบ้านของบริษัทให้ ซึ่งตอนนี้ก็เหมือนจะยังใช้กันอยู่

 

เริ่มไปทำงานที่บริษัทต่างประเทศได้อย่างไร

ช่วงนึงทำงานที่บริษัท OmniVert ไปจัดงานอีเวนต์แล้วได้รู้จักพี่ทีมงานคนหนึ่ง ภายหลังเขาย้ายงานจากไทยไปที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา แล้ว refer เราให้พี่เจ้าของบริษัท เขาเลยทักมาสัมภาษณ์เรา ก็คุยกันค่อนข้างถูกคอ เลยได้เข้าทำงาน

 

ฟังดูแล้ว เหมือนว่าการไม่โฟกัสวุฒิการศึกษาจะเป็น‘ความพิเศษ’ ของวงการนี้ด้วย

มี 2 อย่าง อย่างแรกคือ trust หรือความเชื่อใจ อย่างที่สองคือ knowledge หรือความรู้ พอได้การ refer หรือว่าพอเรา active ในวงการ คนจะเชื่อใจเรา พอเรามีประวัติใน GitHub (เว็บอัพโหลดโค้ด) เยอะๆ คนก็เชื่อใจ​ แต่ถ้าเป็นเรื่องความรู้ คือเวลาเราสัมภาษณ์งาน แล้วต้องพูดเชิงเทคนิค เราก็จะเล่าสิ่งที่คิดในหัว ยิ่งเราเขียนโปรแกรมได้ถูก เขาก็รับเรา

แต่ก็ใช่ มันเป็นสิทธิพิเศษในวงการเรา ที่คนเขาไม่ค่อยแคร์เรื่องวุฒิ เพราะบางครั้งเด็กจบจากมหา'ลัยท็อปมา ได้วุฒิก็จริง แต่เวลาเขียนโปรแกรมจริงๆ บางคนกลับทำไม่ได้

 

บริษัทที่ว่าทำเกี่ยวกับอะไร

บริษัททำโฆษณา 2 มิติ ให้กลายเป็น 3 มิติ 360 องศา ที่คนดูแล้วจะรู้สึกว่ามันป๊อปมากกว่า เราก็ทำให้คนที่เป็น publisher และแบรนด์อย่าง Facebook, Google, New York Times และ Wall Street Journal วิธีการคือเอารูป 2 มิติ มาผ่าน AI ผ่าน Machine Learning ทำให้มันกลายเป็น 3 มิติ ใช้คณิตศาสตร์​ค่อนข้างเยอะ

 

หน้าที่ของภูมิในบริษัทคืออะไร

บริษัทมีวัฒนธรรมนึง คือทุกคนมีความเป็นเจ้าของ (ownership) เยอะมาก เพราะฉะนั้นเราจะไม่ได้โดนจำกัดแค่หน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง

ตำแหน่งระบุว่าเราเป็น Software Developer สังเกตว่ามันไม่ได้บอกลึกลงไปว่าทำอะไร เราทำได้ทุกอย่าง ไม่มีใครสั่งงานเรา จะมีระบบที่เรียกว่า Streaming Tasks หรือว่างานที่ไหลเข้ามาเรื่อยๆ เราไม่ต้องของานใคร แค่เลือกงานแล้วเขียนโปรแกรม แล้วดูว่าต้องสื่อสารอะไรกับคนในทีมบ้าง ทำให้เรามีอิสระหรือมี autonomy ไม่เหมือนทำงานในบริษัทใหญ่ๆ

 

ได้ทำหรือได้เห็นอะไรจากการไปซิลิคอนแวลเลย์บ้าง

ตอนไปซานฟรานฯ ในขณะพี่หลายคนไปเที่ยว เราก็จะบ้าการ Meetup เจออะไรเราก็เข้ามันทุกอัน เราพบว่าซานฟราน มันไม่ใช่สถานที่ แต่มันเป็นผู้คน (หัวเราะ) ส่วนใหญ่คนอเมริกันก็ไม่ได้เยอะ มีคนจีน คนอินเดีย คนที่มาจากหลายเชื้อชาติ จากปกติที่หลายคนจะมีภาพจำว่า คนชาตินี้จะเก่งหรือไม่เก่ง แต่พอไปซานฟรานฯ เราพบว่าทุกคนเก่งหมดเลย เหมือนเราโง่อยู่คนเดียว

ทุกคนบ้ามาก มีความกระตือรือร้นกับสิ่งที่เขาทำ อย่างครั้งนึงที่ไป Meetup เรื่องเครื่องคลื่นสมอง เขาเอาแว่น VR มาต่อกับตัวคลื่นสมองและทำ Machine Learning สมมติว่าถ้าเราคิดถึงต้นไม้ มันจะมีต้นไม้โผล่มาใน VR เรารู้สึกว่าโลกเราไปได้ขนาดนี้แล้วเหรอ เหมือนดูหนังเวทมนตร์

แล้วทุกคนเขาถ่อมตัวมาก เขาติดอะไร ก็จะมาบอก “ยูช่วยสอนอันนั้นหน่อย” แล้วเปิดคลาสสอนในร้านเบียร์เลย ทุกคนเปิดกว้างมาก แต่กลับกัน คนไทยเรามีวัฒนธรรมอย่างนึงคือเราไม่เสือก สมมติถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จัก เราจะต้องไป formally greet ก่อน แต่ถ้าเป็นซานฟราน ทุกคนเสือกกันฉิบหาย (หัวเราะ)

 

การทำงานในไทยกับที่โน่นต่างกันอย่างไร นอกจากที่เล่ามา

การเป็นสตาร์ทอัพ อาจไม่ได้ต่างกันมาก แต่เรื่องอื่นๆ ก็มีเยอะอยู่ ยกตัวอย่างเรื่อง Streaming Task ที่บอกไป มันให้ความเชื่อใจเยอะมาก เราเป็นคนกำหนดเองว่างานต้องเสร็จวันนี้ แล้วเราต้องประชุมกันครั้งนึงตอน 9 โมง 10 โมง ไม่มีใครมา supervise เรา บางทีเรามาแช่ออนเซ็น แล้วขึ้นมานั่งทำงานต่อยังได้

มันไม่มีคำว่า “คนไหนทำอะไรได้” ด้วยนะ ไม่เคยทำก็ลองทำได้ กลับกันในไทย จะมีความเซฟมาก จะเหมือนกั้นไว้ให้เราว่า เฮ้ย จะทำได้เหรอ? มีคนนี้มาช่วยไหม? แต่ที่นี่ไม่มีเลย จะเล่นอะไรก็เล่นไป มีอะไรเสนอก็มาบอก เพราะว่าเรามี OKR (Objective Key Result) หรือการตั้งเป้าหมายไว้เพื่อวัดผล เช่น OKR เดือนนี้คือดึงแบรนด์ดังๆ มา ทุกคนทำอะไรก็ได้ แค่ทำให้มันได้ตามเป้าหมาย เราก็จะรู้ว่าความสำคัญของตัวเราอยู่ตรงไหน ที่นี่มัน genuine มาก เราให้ตังค์คุณแล้ว คุณก็ทำออกมาให้ดีแล้วกัน เราเชื่อใจคุณ

 

ที่เขากล้าเชื่อใจเพราะทุกคนเก่งกันหมดหรือเปล่า

ทุกคนแม่งเก่งกันฉิบหายเลย…​ ยกเว้นเรานะ ถ้าคนหนึ่งติดอะไร คนอื่นจะช่วยได้ อย่างเราจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Full-stack Web Development (การพัฒนาเว็บไซต์) ถ้าคนไหนมีปัญหาก็ทักมาได้ มันทำให้รู้สึกปลอดภัย พังไม่เป็นไร ไม่ต้องกลัว เดี๋ยวภูมิก็รีวิวให้ได้ ในทางกลับกัน เราก็ไม่กลัวว่าจะทำพัง เพราะเดี๋ยวจะมีพี่คนหนึ่งที่เก่งด้านนี้มากๆ ช่วยดูให้เอง

เราไม่ต้องกลัวว่าเราจะเจ็บ เพราะทุกคนจะไม่ปล่อยให้เราเจ็บ ทุกคนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มันไม่มีการแข่งขัน ไม่รู้จะแข่งไปทำไม เงินก็ได้เท่ากัน

 

ความเป็นทีมมันต่างจากไทยยังไง

ในไทย เราเคยได้ยินภาพจำอย่างการประจบสอพลอหัวหน้า แต่ที่นี่มันไม่มีหัวหน้า เพราะว่า CTO (Chief Technology Officer) ก็เขียนโค้ดแบบเรา มานั่งช่วยเราแก้บัคอยู่เลย ไม่มีลำดับขั้น (hierarchy) เหมือนตำแหน่งมีไว้แค่นั้น

มีความพีคอย่างหนึ่งคือ ตอนเราจะกลับ CEO เจ้าของบริษัทยังมาช่วยเรากวาดห้องถูพื้นอยู่เลย คือมันไม่มี hierarchy ในระดับนั้นเลย ชอบมาก

 

หลังจากออกมาพักใหญ่ แล้วลองมองย้อนกลับไปยังระบบการศึกษาของไทย รู้สึกอย่างไรบ้าง

เรารู้สึกว่ามันไม่มี end goal หรือ ‘เป้าหมายสูงสุด’ เหมือนเราเดินไปเรื่อยๆ แล้วไม่เห็นว่าเป้าหมายสุดท้ายมันอยู่ตรงไหน ตอนเรียนคณิตศาสตร์ เพื่อนเราหรือน้องๆ ชอบถามว่า คณิตศาสตร์​เรียนไปทำไม คำถามนี้เราเจอทุกวัน สิ่งที่เราทำ เราจะไม่ตอบ แต่จะเขียนโปรแกรมให้ดู​ (พูดพร้อมกับโชว์ภาพสามมิติให้ดู)

 

 

อย่างอันนี้คือคลื่นน้ำ ซึ่งเราไม่ได้ใช้โปรแกรมวาดเลย ใช้คณิตศาสตร์ทั้งหมด น้องก็สงสัยว่าเป็นไปได้ยังไง เราก็จะเล่าว่า อันนี้คือสมการคลื่นน้ำนะ ของพวกนี้ทุกอย่างสามารถ express ได้ด้วยสูตรคณิตศาสตร์ที่เรียนในมัธยม เช่น absolute

เรารู้สึกว่าการศึกษาไทยไม่ค่อยมีอะไรแบบนี้ อะไรที่มันจับต้องได้ เหมือนเราเรียนเพื่อเป้าหมายที่มัน artificial มากๆ เช่น เพื่อสอบเข้ามหา'ลัย เพื่อได้เกรดดีๆ เพื่อให้พ่อแม่ภูมิใจ มันไม่ใช่เป้าหมายจริง แต่เป็นแค่แรงจูงใจ เหมือนซอมบี้ แล้วเอาเนื้อมาวางไว้ตรงหน้าตัวเอง แล้วก็เดินไปเรื่อยๆ

 

อธิบายคำว่า ‘end goal’ ให้ฟังหน่อย

เราคิดว่าว่า end goal มี 2 อย่าง คือ เป้าหมายระยะสั้น (short-term goal) กับเป้าหมายระยะยาว (long-term goal) อย่างแรกคือเป้าหมายที่ทำให้เราเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เช่น เราอยากได้คลื่นน้ำแบบเท่ๆ เราก็ต้องเข้าเรียนคณิตศาสตร์บางส่วน

ส่วนเป้าหมายระยะยาว เรียกอีกอย่างว่า อิคิไก (ikigai) หรือสิ่งที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ เช่น สำหรับเรา เรามีชีวิตอยู่เพื่อแก้ไขปัญหาอะไรบางอย่าง เพราะตอนที่เราเป็นเด็ก เราเจอกับคำว่า ‘ช่างมัน’ ‘ช่างแม่ง’ มาเยอะ เจอปัญหาอะไรก็บอกว่าให้ ‘ช่างแม่ง’ เสี้ยนตำยังบอกว่า ‘ช่างแม่ง’ เลย ทั้งๆ ที่เราแก้มันได้ เหมือนไขควงอยู่ตรงหน้า แต่ไม่มีใครอยากใช้มัน

เราเลยรู้สึกว่า end goal มันสำคัญมากกับการทำให้เราใช้ชีวิตแบบมีความหมาย เราไม่ได้ใช้ชีวิตแบบอยู่ๆ ไปแล้วก็ตาย คนชอบมาบ่นกันว่า เด็กๆ ไม่ตั้งใจเรียน เด็กๆ ไม่มีเป้าหมายชีวิต แต่จริงๆ แล้วเป็นเพราะเราไม่ให้ความสำคัญกับมันมากพอหรือเปล่า

 

ที่เลือกทางเดินแบบนี้ เพราะเชื่อว่าการศึกษาเกิดขึ้นได้นอกห้องเรียนหรือเปล่า

ใช่ เราได้เรียนรู้มากกว่าที่เราเรียนในโรงเรียนหรือในมหา'ลัย เพราะเราสงสัยเอง จากนั้นก็เข้าไปอ่าน เกิดเป็นต้นไม้ความรู้ที่เราสร้างขึ้นมา ไม่เหมือนหลักสูตรหรือมหา'ลัยที่มันแห้งมากๆ ว่าต้องเรียนตามคนออกแบบหลักสูตร ทำให้เราเรียนรู้ทุกอย่าง ไม่ใช่แค่ทุกวัน แต่ตลอดเวลาเลยก็ว่าได้

 

 

อย่างวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่เพิ่งบรรจุในหลักสูตรมัธยม ในฐานะที่เราเป็นคนทำงานด้านนี้คิดเห็นอย่างไร

ตอนนี้เราว่าหลักสูตรโอเค เห็นแนวคิดที่ดี แต่พอคนสอนเขาไม่เห็นเป้าหมายว่าทำไปเพื่ออะไร บวกกับเขาไม่ได้อิน เขาก็ไม่รู้ว่าต้องสอนยังไง เหมือนครูคอมฯ บางโรงเรียนที่ให้นักเรียนคัดลอกลงสมุด เป็นตัวอักษรขะยึกขะยือ เด็กก็คัดลอกไปตามนั้น ไม่รู้ว่าเนื้อหาจริงๆ คืออะไร

ตอนที่เราทำ ‘สอนชิวๆ’ เราเลยพยายามให้เรียนแบบ project-based (ใช้โปรเจ็กต์เป็นตัวนำ) เช่น น้องอยากทำเครื่องร่อนส่งยาข้ามโรงพยาบาล เราก็จะถามว่ามันต้องมีส่วนประกอบอะไร พอน้องเสนอมา เราก็แนะนำว่าเทคโนโลยีอะไรที่ต้องใช้และเป็นไปได้ แล้วก็ช่วยกันเลือก มันอาจต้องใช้ 10 อย่าง เราก็จะถามต่อว่าอยากรู้กี่อย่างวันนี้ พอสอนแบบนี้ ข้อจำกัดมันไม่มีที่สิ้นสุด

 

อะไรคือความเป็นครูสำหรับภูมิ ในฐานะที่ตอนนี้ก็เป็นผู้สอนด้วย

เราไม่ได้ให้แค่ความรู้ แต่เราให้เส้นทาง (journey) ที่เคยเดินมาแล้วกับเขาด้วย เราช่วยตอบสนอง end goal บางอย่างของเขา อย่างตัวเราเองก็เคยติดเกมมาก่อนจะสนใจการเขียนโปรแกรม ปัญหาไม่ใช่ว่าเรารู้เยอะขนาดไหน แต่อยู่ที่เรามีวิธีเล่าเรื่องที่ดีขนาดไหน ใช้การอุปมาอุปไมย การใช้ตัวอย่าง การเอาของมาให้ลองเล่นจริงๆ หรือว่าการวางสตอรี่ เราทำได้ดีขนาดไหน

 

ที่เราออกมาจัดสอนเอง เพราะประสบการณ์ที่เรามีในโรงเรียนหรือเปล่า

ระบบการศึกษามันก็ไม่ได้แย่หรอก คนจบมาหลายคนไปได้ดีก็มีเยอะ แต่สำหรับเรา เราแค่ไม่อยากเป็นเหมือนคนอื่นๆ ที่ต้องไปตาม flow หรือเส้นทางที่วางไว้แล้ว เราอยากเดินตามทางที่เราต้องการ

 

จากประสบการณ์ในซิลิคอนแวลเลย์ และการสอนนักเรียนเป็นกลุ่มของภูมิ การรวมตัวเป็นคอมมูนิตี้ดูจะสำคัญมาก ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

เรามองว่าเป้าหมายชีวิตเราเป็นเหมือนพีรามิด มี 3 ส่วน ฐานแรกคือการเขียนโปรแกรม เรารู้สึกว่าเขียนโปรแกรมมันสนุก มันแก้ปัญหาตัวเองได้ ฐานที่สองคือเรื่องการทำโปรดักท์ เราเลยต้องเชื่อมั่นในความเจ็บปวด ทุกความเจ็บปวดที่เราเจอ คนอื่นก็เจอ คนอื่นจะได้ไม่ต้องมาเจ็บแบบที่เราเคยเจ็บ

ส่วนฐานสูงสุดคือการทำคอมมูนิตี้ เราเชื่อว่าวันนึง เราก็อาจจะตาย อาจไม่ได้อยู่ไทยแล้ว หรือเราอาจจะโดนทหารอุ้มไปซะก่อน เราจำเป็นที่จะต้องหาคนที่มาสานต่อ และถ่ายทอดในแง่ของ mindset และ value ต่อไป เราอยากให้คนในยุคต่อไป ไม่ได้แค่ทำงานเพื่อให้ได้เงิน สิ้นเดือนไปเที่ยว แล้วก็ตาย เราอยากให้เขารู้สึกว่ามันมี purpose บางอย่างที่สูงกว่านั้น

 

กิจกรรมที่เคยจัดมีอะไรบ้าง จุดประสงค์คืออะไร

งานแรก *The Stupid Hackathon *ตอนนี้เราจัดเป็นปีที่ 3 มันมาจากความหัวร้อน hackathon คืองานที่ให้โปรแกรมเมอร์มารวมตัวกันสร้างอะไรซักอย่าง ปกติโปรแกรมเมอร์จะเขียนตามคำบอก แต่โปรแกรมเมอร์ก็มีความคิดสร้างสรรค์เยอะ เลยต้องมีงานที่มารองรับความบ้าหรือปล่อยผี ในงานเราให้สร้างของที่ไร้สาระ ปัญญาอ่อนที่สุด ใครปัญญาอ่อนสุดชนะ เรามีเป้าหมาย คือไม่อยากให้โปรแกรมเมอร์เป็นคนเขียนตามคำบอก แต่ให้คิดว่าเป็น ‘นักเวทมนตร์’ อะไรขึ้นมาก็ได้

คุณค่าแบบนี้ทำให้เราจัด Young Creators Camp (YCC) หรือค่ายนักสร้างรุ่นเยาว์ เพราะเห็นเด็กๆ บ่นว่ากับเราว่า “เป็นโปรแกรมเมอร์เงินเดือนได้เยอะเปล่า?” เราก็บอก “โอเค เยอะอ่ะมันเยอะ แต่จะทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์เพื่ออะไร?” น้องบอกว่า “ก็เงินมันเยอะไงพี่ ไม่งั้นผมไม่ทำหรอก” ซึ่งเราว่ามันไม่ใช่ อยากให้น้องเปลี่ยน mindset แบบนี้

 

ที่มา : Young Creators Camp (YCC)

 

เราเลยอยากให้เด็กๆ ที่ยังมี perception ที่ดีต่อโลกนี้อยู่ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นคนเปลี่ยนแปลงประเทศ ไม่ต้องรอรัฐบาล ไม่ต้องรอใครทั้งนั้น เป็น ‘นักเวทมนตร์’ ที่สร้างอะไรมาแก้ปัญหาได้

นำไปสู่งานสุดท้าย คืองาน 'CodePlearn' (โค้ดเพลิน) จะอยู่ใน area เด็กเล็ก จากที่คนชอบบอกว่าเด็กเป็นวัยที่เหมาะสมจะรู้อะไรใหม่ๆ เราเลยจัดงานให้เด็กๆ มาโค้ดแบบเพลินๆ ให้ลองเล่น Minecraft หรือว่าลองเล่นของเล่นโค้ด (Coding Toys) เปลี่ยนความรู้สึกว่าโปรแกรมมิ่งมันดูน่ากลัว หรือเหมือนอย่างหนังแฮกเกอร์ที่ต้องเป็นจีเนียสอะไรแบบนั้น

อยากถ่ายทอดอะไรแบบนี้ให้กับเด็กๆ เขาอาจไม่ได้เป็นโปรแกรมเมอร์ก็ได้ แต่น้องๆ จะรู้สึกว่าการเขียนโปรแกรมเป็นทางเลือกนึงที่มันสนุก เลยกลายเป็น 3 งานที่ตอบโจทย์แต่ละช่วงวัย

 

ที่มา : The Stupid Hackathon

 

ประเทศนี้มีพื้นที่ให้สิ่งเหล่านี้แค่ไหน 

มีพี่คนนึงเขาพูดเรื่องประกวด ประเทศเรามีประกวดเยอะ ประกวดนางงาม ประกวดมารยาท แต่ทำไมมันไม่มีพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ความสนใจด้านอื่น ไม่มีพื้นที่ให้เขามาปล่อยของ พื้นที่ที่มีเรารู้สึกว่ามันจำกัดเฉพาะบางสายไป

 

มันไม่มีหรือว่ามันหายไป เพราะอะไร

เรียกว่ามันไม่มีตั้งแต่แรกดีกว่า

อาจจะดูแรงนะ แต่เราว่ามันมาจากความ hierarchy ในประเทศไทย คนที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดอยู่บนสุด แล้วคนนั้นก็ไม่ได้เป็นคนที่ครีเอทีฟด้วย ผู้บริหารหรืออีลีทบางทีจะไม่เห็นปัญหา แต่คนทำงานอย่างเราจะเห็น เลยรู้สึกว่าประเทศนี้เปิดพื้นที่ความคิดสร้างสรรค์ให้แค่ชนชั้นสูงที่มีอำนาจตัดสินใจ แต่ไม่ค่อยมาถามคนชั้นทำงาน

 

เจออุปสรรคอะไรในการทำงานเหล่านี้บ้าง

เราว่าไม่ค่อยมีการซัพพอร์ต ถึงจะมีสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ที่ทำเรื่องสตาร์ทอัพ แต่มันไม่ค่อยมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการพัฒนาคน

ในโลกอุดมคติของเรา คือเราสามารถเขียนแผนส่งให้รัฐบาลได้ ว่าเราทำเพื่อ solve ปัญหานี้ รัฐบาลก็ให้เงินมา เราว่ามันใช้ภาษีได้คุ้มกว่าเรือดำน้ำอะไรนั่นอีก แต่มันต้องการความเชื่อใจ

เรื่องการสนับสนุนนี่เป็นอุปสรรคมากๆ ช่วงเราทำค่าย กลางวันเราต้องโทรตามสปอนเซอร์ พอช่วงเที่ยงคืนถึงตี 4 ถึงเป็นเวลาทำงานของเรา เรามีเวลาทำงานแค่ 4 ชั่วโมง ที่เหลือคือดีลสปอนเซอร์กับทำแผน ซึ่งมันแย่มาก

 

ภูมิพูดถึงคำว่า‘end goal’ บ่อยมาก แล้วอะไรคือ end goal ของภูมิในระยะยาว

เราชอบใช้คำนี้ “build products and foster communities to enhance people's lives” (สร้างสรรค์โปรดักท์และส่งเสริมคอมมูนิตี้เพื่อปรับปรุงชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น)

เป้าหมายจริงๆ ของสิ่งที่เราทำ คือการพัฒนาชีวิตผู้คนด้วยเทคโนโลยี เราเชื่อว่าการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา เราสามารถป้องกันเคสที่จะเกิดขึ้นกับทุกคนได้ เช่น จากที่เราต้องไปบอกทุกคนว่า อย่าแซงคิว คนแซงคิวเป็นคนเลว เราแค่เขียนโปรแกรมว่า ถ้าถึงคิวให้เปิดเตือนให้หน่อย ก็จะไม่มีใครมายืนต่อติวแซงคิวกัน

คนมันจะเหี้ย มันเหี้ยอยู่แล้ว แต่ถ้าเราเขียนโปรแกรมเพื่อกันไม่ให้คนเหี้ยปกครองบ้านเมืองได้ ก็อาจจะช่วยได้เยอะหน่อย (หัวเราะ)

 

อยากฝากอะไรถึงคนรุ่นเดียวกันไหม

คนที่เป็นนักเรียน นักศึกษา อย่าคิดว่าตัวเองเป็นแค่นั้น ให้คิดว่าตัวเองเป็นคนที่พร้อมแก้ปัญหาอะไรก็ได้ เรามีศักยภาพเยอะมาก พอโตไป สิ่งเหล่านี้จะหายไปจากตัวเรา เพราะเราไม่สามารถ cherish ความคิดอะไรในวัยเด็กได้ เพราะฉะนั้นคิดอะไรได้ตอนนี้รีบทำ ตอนนี้เรายังมีพื้นที่ปลอดภัยอยู่

ถ้าเราโตไปแล้ว เราต้องมาคิดว่าพ่อแม่เราจะอยู่ดีไหม เราต้องหาเงินไปเลี้ยงดูคุณย่าที่ต้องผ่าตัดตา ส่งเงินให้น้องเรียน มันมีประเด็นหลายอย่าง เราจะบ้าบิ่นแบบตอนเด็กไม่ได้แล้ว

อย่าจำกัดตัวเองอยู่กับคำไม่มีกี่คำ ให้คิดว่าเราเป็นคนๆ นึงที่มีเป้าหมายสูงสุด อย่างเราอยากจะแก้ปัญหาชีวิตของผู้คน หรือเราอยากจะทำให้เด็กทุกคนยิ้มได้ ถ้ามีเป้าหมายตรงนี้ จะทำให้เราเรียนรู้อะไรก็ได้ แล้วเราจะสนุกกับมัน

จากที่มันโคตรฝืนเลย กูอ่านไปทำไมเดี๋ยวก็ลืม แต่สมมติเปลี่ยนเป็นอ่านเพื่อเขียนโปรแกรม เรานั่งอ่านแคลคูลัสได้เป็นวันๆ ไม่รู้สึกเบื่อเลย เพราะอ่านแล้วก็ลองไปใส่สูตรเขียนโปรแกรม ‘เชดโด้ ทำงี้ได้ด้วย’ มันสนุก

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0